น้อมที่จะเห็นโทษของความไม่รู้ และอบรมเจริญความรู้ขึ้น


    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าโลภะเป็นเหตุ หมายถึงความติดข้องนี้เป็นเหตุ ติดข้องในรูป รส กลิ่น เสียง เป็นเหตุทำให้เกิดโทสะเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ดับเป็นสมุทเฉท ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ก็มีปัจจัยที่จะให้โทสะเกิด ไม่ได้หมายความว่าจะมีโลภะแล้วถึงจะมีโทสะภายหลัง แต่การสะสมสืบต่อทั้งหมดเป็นอุปนิสสยปัจจัย

    ผู้ฟัง แสดงว่าสิ่งที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่คือตัวเหตุที่จะให้เกิดโทสะหรือ

    ท่านอาจารย์ มิได้ ไม่ใช่ตัวรูป แต่เป็นตัวการสะสมของโลภะหรือโทสะ คำว่า “นิสสย” แปลว่าที่อาศัย “อุปปะ” แปลว่ามีกำลัง ก็ลองคิดดู เพียงแค่ลืมตาแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ โลภะมาจากไหน ถ้าไม่มีพืชเชื้อที่สะสมมา มีกำลังที่จะเกิดเพียงแค่เห็น หรือแม้แต่โทสะซึ่งเป็นปฏิฆานิสสัยความขุ่นใจที่สะสมไว้บ่อยๆ เพียงแต่ได้ยินเสียง เพียงเสียงปรากฏ เป็นปกตูนิสสยปัจจัยที่อาศัยที่มีกำลังที่ทำให้โทสะความขุ่นใจเกิดได้ ไม่มีใครต้องไปทำอะไร แต่ทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาตามลำดับเราจะรู้ได้เมื่อไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วมีอะไร ก็มีธรรมซึ่งไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป และรูปเป็นรูปไม่ได้เกี่ยวข้องกับจิตเลย แยกกันไปเลย ส่วนนามธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิด และรู้อารมณ์ และก็ทำหน้าที่ของตนๆ แต่ปัจจัยที่จะให้จิตประเภทไหนเกิดก็มีครบ มิฉะนั้นแล้วเราก็จะไม่รู้ถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่าเมื่อรู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างแล้ว สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเป็นปัจจัยโดยสถานใดแก่กัน และกันที่จะทำให้มีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น คุณสุกัญญาพอใจที่จะให้มีโทสะง่ายๆ บ่อยๆ มากๆ เพียงแค่เห็น ยังไม่รู้จักก็เกิดโทสะแล้ว หรือว่าเห็นว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะก็คือเมตตา เราจะเห็นได้ว่าถ้าเราสะสมความเมตตา เราจะมีความเป็นเพื่อน มองเห็นใครก็ตามแต่ แทนที่จะไปเดือดร้อนกังวลหรือไม่สบายใจกับรูปร่าง สัณฐาน ความประพฤติหรือกิริยาอะไร แต่ถ้ามีการสะสมการเป็นเพื่อน เราจะมีความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนทันทีได้ มีความเข้าใจ มีความเห็นใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือ

    ผู้ฟัง แต่ว่า สะสมมา ก็ยากมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะดับกิเลสอย่างไร เห็นไหม เรามุ่งไปที่สติปัฏฐาน เรามุ่งไปที่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วกิเลสพวกนี้ยังมีอยู่เต็ม แล้วต้องดับหมดด้วย ทั้งหมด แล้วถ้าเกิดว่องไว รวดเร็ว แล้วก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไป เพราะฉะนั้นการฟังธรรม การพิจารณาเข้าใจโดยแยบคาย ประโยชน์ก็คือว่าเป็นผู้ที่มีศีลทางกาย ทางวาจาเพิ่มขึ้น ซึ่งศีลก็ต้องมาจากใจ ถ้าใจไม่ดี คำพูดที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตา กรุณา เห็นใจผู้อื่นมีไม่ได้เลย จะมีคำพูดที่เราอาจจะไม่รู้สึกตัว หัวเราะเยาะเย้ย รวดเร็ว และก็ง่ายดาย และก็ไม่รู้ด้วยว่าขณะนั้นสะสมแล้วเป็นอกุศลแล้ว และเราก็ศึกษาธรรมเพื่อที่จะไปขัดเกลาแต่ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วผู้ที่ได้ประโยชน์จากธรรมจริงๆ ก็คือเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และก็ไม่ใช่เราจะไปพยายาม

    แต่ปัญญาที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูกว่ากุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไร ก็จะทำหน้าที่เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีโทสะมากๆ แล้วอยากไม่มีโทสะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ตามความอยาก ทุกคนก็ไม่มี แต่ต้องเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ที่ทรงตรัสรู้ เป็นปัญญาที่สามารถทำให้คนที่ได้ฟังพระธรรม สามารถที่จะน้อมใจไปที่จะเห็นโทษของอกุศลของความไม่รู้ และอบรมเจริญความรู้ตามลำดับขั้นด้วยโดยที่รู้ความเป็นอนัตตาว่าฝืนไม่ได้ ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 158


    หมายเลข 9771
    31 ส.ค. 2567