ฉันทะ-อิทธิบาท ๔
ผู้ฟัง ฉันทะเป็นเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นฝ่ายกุศลก็ได้ใช่ไหม
อ.ธีรพันธ์ ก็ต้องแยกว่าฉันทะเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ว่าอกุศลไม่ทั้งหมด เว้นโมหมูลจิต ๒ ประเภท ประเภท ๑ ก็คือวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ คือมีความสงสัยเกิดร่วมด้วย และก็อุทธัจจะสัมปยุตต์ ขณะนั้นจิตก็ซัดส่ายฟุ้งซ่าน ขณะนั้นไม่มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่เป็นโมหมูลจิต ๒ ประเภท นี้ ไม่มีใครที่พอใจจะสงสัยเพราะเกิดขึ้นมาเอง ความลังเลสงสัยในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นจริงอย่างไร ไม่มีใครมีความพอใจที่จะสงสัยอย่างนั้น
แต่ว่าฉันทะจะไปเกิดกับโลภมูลจิตก็ได้ โทสมูลจิตก็ได้พอใจที่จะโกรธ พอใจที่จะผูกโกรธ พอใจที่จะยินดีติดข้อง และฉันทะก็ไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง นอกนั้นฉันทะเกิดได้หมด
ผู้ฟัง ฉันทะอยู่ในหมวดธรรมของอิทธิบาท ๔ อย่างนี้จะเป็นฝ่ายกุศล
อ.ธีรพันธ์ ถ้าเป็นอิทธิบาทต้องเป็นไปเพื่อความสำเร็จ หรือเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ฉันทะที่เกิดกับระดับจิตที่เป็นอกุศลไม่ได้เป็นฉันทะที่เป็นไปเพื่อความสำเร็จ ถ้าเป็นอิทธิบาทต้องเป็นไปเพื่อความสำเร็จ จะไม่เป็นไปกับอกุศลจิตต้องแยกประเภทกัน เกิดกับกุศลก็จริง เกิดกับอกุศลก็จริง แต่ต้องรู้ว่าไม่เกิดกับอกุศลประเภทไหนด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดกับโลภมูลจิต และโทสมูลจิตถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นฝ่ายกุศลเกิดร่วมด้วยมีปัญญาก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย ไม่มีปัญญาก็มีฉันทะเกิดร่วมด้วย
อ.ธิดารัตน์ กล่าวถึงอิทธิบาท “อิทธิ” หมายถึงว่าเป็นฤทธิ์หรือความสำเร็จต่างๆ และก็เป็น “บาท” เฉพาะหรือว่าเบื้องต้น เป็นธรรมที่ทำให้สำเร็จขั้นฌานก็ได้ หรือว่าสำเร็จมรรคผลก็คืออย่างธรรมที่เป็นฝ่ายของโพธิปักขิยธรรม ก็คือทำให้บรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นตั้งแต่ธรรมที่เป็นไปเริ่มต้นตั้งแต่สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมที่ทำให้บรรลุฌานมรรคผล ในขณะนั้นก็ต้องมีอธิบดีซึ่งมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาเป็นอธิบดีในขณะนั้น
ส่วนคำว่า “อิทธิบาท ๔” ท่านแสดงไว้ว่าเป็นกุศลอย่างเดียวเท่านั้น และก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่จะบรรลุฌานได้ก็ต้องประกอบไปด้วยปัญญา หรือผู้ที่บรรลุมรรคผลได้ก็ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบด้วยปัญญา
ที่มา ...