เมตตา


    ผู้ฟัง กลับมาที่เมตตา ในขณะที่เราระลึกรู้ว่าเรามีความโกรธ แล้วเมื่อเราเห็นโทษของโทสะ ก็จะทำให้ความโกรธตรงนั้นน้อยลง เราจะโทษตัวเองในขณะที่โทสะเกิด เราไม่ได้โทษคนที่เป็นปฏิปักษ์เลย เราก็มัวแต่ไปโกรธเอาๆ แต่เขาก็สบายดี นั่งฟังธรรมดี แต่ใจเรานี่ไปโกรธเขา เพราะฉะนั้น ถ้าได้เห็นโทษของตัวเอง โทสะจะน้อยลง

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องละเอียด และก็ต้องสอดคล้อง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องถือว่าใครจะถืออย่างไร เราจะถืออย่างนี้ หรือคนอื่นจะถืออย่างนั้น หรือจะถือตามเขาดี หรืออย่างไร ธรรมก็คือธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงเมตตา ต้องไม่ลืมกรุณา มุทิตาอุเบกขาด้วย ถ้าเมตตาตัวเอง กรุณาตัวเองหรือเปล่า มุทิตาตัวเองหรือเปล่า อุเบกขาตัวเองหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำใดก็ตามในพระไตรปิฎก ต้องพิจารณาตามความเป็นจริงด้วย เวลาที่เราเกิดไม่มีเมตตา ขาดเมตตา เกิดความโกรธขึ้น หรือความคิดที่จะไม่ให้คนอื่น ไม่มีความเมตตา แต่ว่าเมตตาตัวเองก่อนทำยังไง ที่จะทำให้เกิดเมตตาคนอื่น ก่อนนี้ ก่อนที่จะเมตตาตัวเอง โทสะนั้นไม่ชอบใคร มีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเป็นโทสะ ไม่ชอบใคร

    ผู้ฟัง บางทีก็ไม่ชอบโต๊ะ เราเกิดเตะขึ้นมาแล้วมันเจ็บ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่เกี่ยวกับเมตตาแล้ว โทสะคือโทสะ เมตตาเป็นเมตตา โทสะเกิดโดยที่ว่าไม่ต้องมีสัตว์ บุคคลได้ แต่ถ้าเมตตามีสัตว์ บุคคล

    อ.ธิดารัตน์ ขอสนทนาด้วยในข้อนี้ เมตตาตัวเองรู้สึกว่าจะใช้กันเยอะมากซึ่งจริงๆ แล้วมาพิจารณาดู ท่านก็แสดงว่าเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในสัตว์ทั้งหลายคือต้องเป็นสัตว์อื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา เพราะในขณะบุคลที่กำลังเมตตาก็คือบุคคลนั้นกำลังมีเมตตาจิตซึ่งเป็นกุศลจิตเกิดอยู่ เพราะฉะนั้น ก็คือเป็นผู้ที่มีเมตตา และก็เมตตากับคนอื่น ก็คือเป็นมิตร เป็นเพื่อนกับบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น การที่จะใช้คำว่าเมตตาตัวเอง คิดว่าคงจะใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจะใช้ว่าบุคคลนั้นกำลังมีเมตตากับสัตว์อื่น หรือบุคคลอื่น อย่างนี้คิดว่าจะถูกต้องกว่า

    ท่านอาจารย์ และถ้าจะพิจารณาโดยละเอียดที่จะกล่าวว่าเมตตาในตนก่อนความจริงไม่ใช่ ข้อความว่า “มีตนเป็นพยาน” หมายความว่าเรารักสุข คนอื่นก็รักสุข เราเกลียดทุกข์ คนอื่นก็เกลียดทุกข์ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจว่าเหมือนกัน เราก็จะมีความเมตตาในบุคคลอื่นได้ ว่าเขาเองก็ต้องรักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน ทำไมเราจะไปเพิ่มทุกข์ให้เขา

    อ.ธิดารัตน์ และถ้าเป็นการพิจารณาที่ว่าจะให้เมตตาเกิด ควรจะปรารภตนเอง และปรารภผู้อื่น

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีเมตตาต่อตนเอง แล้วอย่างที่กล่าวเมื่อกี้นี้ ก็น่าจะพิจารณาให้ละเอียดขึ้น เช่นเข้าใจว่าเวลาที่เกิดโกรธคนอื่น ไม่เมตตา ก็กลับมาคิดถึงตัวเองว่าถ้าเราสะสมความโกรธนี้ เราก็จะมีมาก นี่ไม่ได้คิดถึงคนอื่น คิดถึงตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเมตตาจริงๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ไม่ใช่เพื่อเรา จะได้ไม่สะสม หรือว่าเพื่อเราจะได้เป็นคนดี แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นเพื่อคนอื่น เมตตาบุคคลอื่นปรารถนา ให้คนอื่นมีความสุข ปรารถนาให้เขาพ้นจากทุกข์ ยินดีด้วยในความเจริญของเขา ในสิ่งที่เขาได้ และมีความเป็นอุเบกขาคือไม่หวั่นไหวถ้าไม่สามารถที่จะเป็นไปในเมตตากรุณา ก็คือว่าสัตว์ทั้งหลายก็ต้องเป็นไปตามกรรม แต่ว่าไม่ได้เพื่อตัวเรา ต้องเป็นสัตว์บุคคล


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 159


    หมายเลข 9776
    31 ส.ค. 2567