ปัจจุบันสามารถเจริญปัญญาจนถึงขั้นฌานได้ไหม
ผู้ฟัง พรหมวิหาร ๔ พระโพธิสัตว์เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
อ.อรรณพ เราก็ต้องเข้าใจพรหมวิหารก่อน วิหารก็คือเครื่องอยู่ ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่อันประเสริฐหรือของพรหมๆ ก็คือผู้ประเสริฐ ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของผู้ประเสริฐ ที่ว่ามีอยู่ ๔ ประการก็คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือผู้ที่มีอัธยาศัยที่เป็นกุศล ที่จะมีเมตตาต่อสัตว์ บุคคลอื่น มีกรุณาในสัตว์ บุคคลต่างๆ มีมุทิตาพลอยยินดีกับการได้รับวิบากที่ดีของสัตว์ บุคคลต่างๆ และก็มีความมั่นคงไม่หวั่นไหวเมื่อสัตว์บุคคลอื่นได้รับกรรมซึ่งเป็นไปตามกรรม เพราะฉะนั้น นี่คือกุศลจิตในชีวิตประจำวันซึ่งมีเล็กๆ น้อยๆ ส่วนผู้ที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขามากขึ้น ก็คือเริ่มสะสมเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ตามความเป็นจริงก่อนจนกว่าที่จะมีกำลัง
ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันของคนปัจจุบันสามารถจะเจริญปัญญาจนถึงขั้นฌานได้ไหม
ท่านอาจารย์ ฌานคืออะไร
ผู้ฟัง ฌานเป็นเครื่องเผากิเลส
ท่านอาจารย์ นั่นแหละ ฌานคืออะไร ถ้ายังไม่รู้แล้วจะเจริญได้ไหม ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าได้หรือเปล่า เพราะเจริญไปแล้วก็ไม่รู้ว่าฌานคืออะไร
ผู้ฟัง เป็นความสงบๆ แนบแน่น
ท่านอาจารย์ ระดับไหน
ผู้ฟัง สงบมาก ถ้าอย่างนั้นในชีวิตประจำวันไม่น่าจะเจริญฌาณได้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคลได้ไหม ในครั้งอดีตกับในครั้งนี้ต่างกันมาก เพราะฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย สำหรับเมตตา พรหมวิหารยังไม่ต้องถึงฌาน เจริญคืออย่างไร
ผู้ฟัง เจริญก็คือสะสมให้มากขึ้น
ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่
ผู้ฟัง เมื่อมีสภาพธรรมปรากฏ
ท่านอาจารย์ เช่น
ผู้ฟัง เช่นเมื่อมีผู้ที่เขาไม่มีความสุข คือมีความหวังดีอยากให้เขามีความสุข
ท่านอาจารย์ ต่อ
ผู้ฟัง ต่อสัตว์ ต่อบุคคล
ท่านอาจารย์ งูเห่าได้ไหม
ผู้ฟัง ต้องมีปัญญา ไม่เช่นนั้นมีโทษ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าต้องเจริญ ต้องอบรม และเป็นเรื่องของใจของเราที่จะรู้ว่าเมตตาคืออย่างไร มีความเป็นมิตร ไม่ใช่มีความเป็นพิษ แมงป่องได้ไหม งู มด ทุกอย่างที่มีชีวิต มีเมตตาคืออย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตา รู้ลักษณะของเมตตา และก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้นเมตตาอะไร ไม่เมตตาอะไร สัตว์ชนิดไหน คนชนิดไหนด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าเมตตาแม้ในชีวิตประจำวันเจริญขึ้นแค่ไหนก่อนที่จะกล่าวถึงฌานจิต
ผู้ฟัง เมตตาคนพาลได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าจะเจริญก็คือต้องมีเมตตาคือเป็นมิตร หวังดี ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน แต่ไม่ใช่เป็นไปกับคนพาล
ที่มา ...