หยุดเพียงแค่เห็นแล้วไม่เป็นคน


    ผู้ฟัง ถ้าอย่างลักษณะนี้เหมือนกับเราเพิกเฉยต่อบุคคลอื่นไหม

    ท่านอาจารย์ มีเราเพิกเฉย แต่ขณะที่กำลังเป็นเรากำลังเพิกเฉยไม่ได้รู้ความจริงว่าไม่มีเรา เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่ใช่ให้เราเริ่มจะไปวิพากษ์วิจารณ์ถ้าทำอย่างนี้จะเป็นกุศล จะเป็นอกุศล นั่นคือเราเป็น แต่ความจริงจิตมีปัจจัยเกิดแล้วดับ นี่คือฟังจนกว่าจะถึงกาลที่สามารถจะรู้ว่าขณะนี้เริ่มด้วยการเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ปะปนกัน ตามความเป็นจริง อย่างทางตาก็อาจจะพูดถึงบ่อยๆ เพราะว่าหลงลืม เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ พยัญชนะที่ใช้คำว่า “รูปารมณ” หรือว่า “รูปารมณ์” ความหมายๆ ความถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตาหมายความว่าเมื่อมีจิตเห็นต้องมีสิ่งนี้ปรากฏจะมีสิ่งอื่นไม่ได้เลย แยกชัดเลย ไม่ได้บอกว่าทางตาเห็นคน แต่สิ่งที่เห็นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้น นี่คือความจริง เพราะฉะนั้นโลกของความจริงที่กว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากการฟังพิจารณาเข้าใจแต่ละชาติ จนกระทั่งเมื่อกล่าวถึงรูปารมณ์เราสามารถจะรู้ได้ทันที ว่าหมายถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาก็จะอบรมเจริญจนประจักษ์ความจริงซึ่งเกิดแล้วดับ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ สิ่งที่เราเรียนทั้งหมดไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนามธรรม รูปธรรม เรื่องสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และชาติหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ชาติหน้าก็คงจะได้ยินอีก ก็เป็นเรื่องของการสะสมความเข้าใจถูกความเห็นถูก โดยไม่ใช่มีเรากำลังสะสม แต่ให้ทราบตามความเป็นจริงว่าขณะที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็จะค่อยๆ สะสมความเห็นถูกไปจนกว่าจะรู้ความต่างกันขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด ซึ่งก็เป็นปกติด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นธรรมดา เป็นปกติ แต่ว่ามีความรู้ความเห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง มิฉะนั้นก็จะมีตัวเรา ถ้าอย่างนั้นเราก็กลายเป็นคนไม่เดือดร้อนอะไร กลายเป็นไม่สนใจในคนอื่น ใครที่แม้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแต่ก็ยังรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไรด้วย ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเรา เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น จะให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็น แล้วก็ไม่ต่อไปถึงสิ่งนั้นปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานอย่างไร เป็นบุคคลใด เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทั้งหมดในชีวิตก็คือจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ค่อยๆ รู้จุดประสงค์ของการฟังว่าเพื่อสะสมความเข้าใจที่จะละความไม่รู้ และก็ละความติดข้อง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161


    หมายเลข 9819
    31 ส.ค. 2567