เป็นตัวตนที่ไม่อยากจะโกรธ
ผู้ฟัง ขันติจะเกิดกับปัญญาหรืออย่างไร หรือว่าเป็นอย่างไร ตรงนี้สภาพธรรมเป็นอย่างไร
อ.อรรณพ ขันติก็มีหลายระดับขั้น ขันติ ความอดทน อดกลั้นในวาจาที่ไม่ดีของผู้อื่น ในขณะนั้นก็เป็นขันติ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดเป็นขันติมากๆ เลย เพราะว่าขณะนั้นรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้นขันติที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นขันติบารมี แล้วก็เป็นตบะอย่างยิ่ง
ท่านอาจารย์ ขอยกตัวอย่างเรื่องของคุณแก้ว กำลังโกรธ ขันติอยู่ตรงไหน มีโอกาสจะเกิดไหม แต่ถ้ามีก็ขณะนั้นรู้ว่าเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอนสภาพนั้นกำลังเกิดขึ้นเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นคือแค่นั้นนิดเดียว แต่ขันติยิ่งกว่านั้นขณะที่โกรธเกิดขึ้น อยากจะไม่โกรธ หรือรู้ตามความเป็นจริงว่านั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขันติอย่างไหน เพราะฉะนั้นขันติก็คือไม่เป็นไปตามกำลังของโลภะหรือความต้องการที่จะไม่ให้โกรธ พยายามหาวิธีต่างๆ ที่จะไม่โกรธ นั่นเป็นแล้วตามกำลังของโลภะ ไม่ใช่ขันติเลย เพราะเหตุว่าเป็นเราที่ต้องการที่จะไม่โกรธ แต่ขันติจริงๆ อกุศลกำลังปรากฏให้เห็น และมีขันติที่จะอดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นตามความเป็นจริงว่าป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ลักษณะนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย
ขันติเป็นตบะอย่างยิ่งที่จะเผาความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ เมื่อความโกรธเกิดขึ้นเราเป็นไปด้วยตัวตนที่ไม่อยากจะโกรธ อยากจะให้ความโกรธนั้นหมดไป หรือขันติที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถจะเห็นถูก เข้าใจถูก ว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นความอดทนจริงๆ เพราะรู้ว่าไม่ง่ายที่จะเกิดใช่ไหม ต้องเป็นความอดทนที่จะเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปไม่อยากจะให้สิ่งนั้นมี อยากจะให้หมดไปเร็วๆ
ผู้ฟัง ตรงที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาแยกตรงนี้หมายความถึงว่าขณะที่ขันติอยากจะหาหนทางที่จะอดกลั้น อดทนในเรื่องความโกรธ อันนั้นเป็นโลภะ
ท่านอาจารย์ คือพอที่จะเข้าใจความจริง คือเราจะไม่วิจัย วิจารณ์สภาพธรรม แต่จะเข้าใจลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอะไรอย่างถูกต้อง แทนที่จะมาใคร่ครวญคิดว่านั่นเป็นนี่ นี่เป็นนั่น
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าเวลาโกรธเกิดขึ้น ถ้ามีขันติความอดทนเป็นกุศลเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะนั้นเป็นสภาพที่ไม่ดี ขณะที่เห็นถูกว่าลักษณะนั้นเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นระดับหนึ่ง แต่ระดับที่มีความอดทนที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เวลาที่เราพูดถึงโทสะ เราก็เอ่ยลักษณะหยาบกระด้าง ขุ่นเคืองประทุษร้ายหลายๆ อย่าง นั่นเป็นเรื่องราว แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏตัวจริงคืออาการหยาบกระด้างดุร้าย ความอดทนที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นความอดทนที่มากกว่า ที่จะหันไปทางให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล เพราะเหตุว่าแม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่การที่จะดับการเห็นผิดที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้
ผู้ฟัง ขณะที่กำลังโกรธก็มีหลายระดับที่ว่า ถ้าเผื่อไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องโกรธก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึง แต่ว่าขณะที่เราได้ยินเรื่องโกรธว่าโกรธไม่ดี หรือว่าอาการโกรธนี่เกิดทำให้ปวดหัว หรือว่าเราตาพล่า หรือว่าเราใจสั่นอะไรอย่างนี้ เราไปนึกถึงโทษของโกรธ แต่ขณะที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงตรงนี้ ปัญญาไปรู้สภาพของโกรธว่าโกรธเกิดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล อะไรทั้งสิ้น อันนั้นเป็นเรื่องของปัญญา แต่ว่าเรายังคงติดอยู่ในตอนที่ว่า จะหาทางให้ดับโกรธได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เรื่องของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดหลากหลายละเอียดมาก แม้แต่การคิดนึกจะเกิดคิดอย่างไร เห็นโทษไม่อยากจะมีก็คือรักตัว เพราะว่าไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น บางคนจะไม่รู้ตัวเลย ศึกษาธรรมเพราะรักตัว ไม่อยากจะไม่ให้ตัวมีอย่างนั้นตัวมีอย่างนี้ที่เป็นอกุศล ไม่อยากจะให้ตัวมีความเก่งหรือมีความรู้ นั่นก็คือด้วยความรักตัว กว่าจะเป็นผู้ที่ตรงเพื่อรู้เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นเอง และปัญญาที่เห็นถูกก็จะทำหน้าที่ของเขา เพราะเหตุว่าปัญญาไม่มีโทษเลย ทุกอย่างที่มีปัญญาเป็นผู้นำก็จะนำไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ด้วยความรักตัว พอโกรธเกิดแล้ว ทำร้ายตัวเองนะ รักตัวขึ้นมาแล้ว เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ต้องเข้าถึงความลึกซึ้งของธรรม แม้อริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ บางคนก็จะคิดถึงอริยสัจที่ ๓นิโรธว่าเป็นนิพพานเท่านั้นใช่ไหม แต่ว่าจริงๆ แล้วทั้ง ๔ นี่ลึกซึ้ง แม้แต่สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับซึ่งเป็นทุกข์ขณะนี้ก็ลึกซึ้ง เพราะว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาก็เห็นไม่ได้
ที่มา ...