ระดับของความติดข้อง


    ในขณะที่ถ้าเป็นแต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ ธรรมดา ปกติทั่วๆ ไป จะมีใครรู้บ้างว่าเป็นโลภะแล้ว เวลารับประทานอาหาร อาหารยังไม่ได้เข้าปากเลย เดินไปเป็นโลภะประเภทไหน ใช่ไหมคะ และถ้าอาหารนั้นอร่อยมาก พอใจ รับประทานคนเดียวหมดเลยก็จะเห็นได้ว่าลักษณะของโลภะความติดข้องก็เพิ่มขึ้น เมื่อมีอาการที่ปรากฏต่างจากปกติซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ ขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าเป็นวิสมโลภะ โลภะที่ไม่สม่ำเสมอไม่ปกติ เพราะฉะนั้นอุปกิเลสทั้งหลายก็จะปรากฏลักษณะสภาพของเจตสิก ซึ่งถ้าเป็นโลภะความติดข้องก็มีต่างระดับจนกระทั่งถึงกระทำทุจริตกรรม

    เพราะฉะนั้น ความติดข้องนี่มีมาก แล้วแต่ว่าจะติดข้องด้วยความเห็นผิดหรือเปล่า ถ้าติดข้องด้วยความเห็นผิดก็จะมีลักษณะของอุปาทาน หรือว่าอุปาทานก็แสดงละเอียด แม้ว่าจิต ๗ ขณะที่เป็นชวนะ ขณะที่ ๑ เป็นตัณหา ขณะต่อไปเป็นอุปาทาน เพราะฉะนั้น เรื่องธรรมเป็นเรื่องละเอียด เราก็ศึกษาตามท่านที่ได้ทรงแสดงไว้ แต่ว่าการที่จะเข้าใจก็จะต้องเข้าใจตามที่ท่านกล่าวโดยนัยที่ท่านแสดงด้วยว่าถ้าแสดงอย่างนี้ก็คือชวนะที่ ๑ ซึ่งเพิ่งเกิดเป็นขณะแรก ก็จะยังไม่มีกำลังเท่ากับขณะหลังๆ

    ด้วยเหตุนี้ถ้าจะกล่าวโดยนัยของตัณหาอุปาทานก็มีหลายนัย ถ้าโดยละเอียดก็คือว่า แม้แต่ชวนะที่ ๑ ก็เป็นตัณหา แต่ว่าชวนะหลังๆ ต่อไปก็เป็นอุปาทาน แต่จริงๆ ก็คือเราสามารถที่จะรู้ได้ก็เมื่อมีอุปกิเลสที่แสดงให้เห็นว่าเป็นกิเลสที่เกิดจนกระทั่งปรากฏลักษณะที่สามารถจะรู้ได้ อย่างภิชฌาวิสมโลภะ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165


    หมายเลข 9856
    3 ก.ย. 2567