ขณะที่ไม่รู้ลักษณะ ขณะนั้นก็คือคิดเรื่องสิ่งที่เราจำไว้


    ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อเกิดขึ้นก็หมดไปแล้ว แต่เราก็ยังตรึกนึกถึงสภาพธรรมเหล่านั้นซึ่งหมดไปแล้ว อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายในส่วนนี้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้มีอะไรที่ยังเหลืออยู่บ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง จริงๆ ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย เมื่อเช้านี้มีอะไรที่ยังเหลืออยู่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มี เดี๋ยวนี้มีอะไรที่ยังเหลืออยู่ไหมคะ

    ผู้ฟัง จริงๆ ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เราจะเห็นความจริงว่า ปัญญาของเราที่เข้าใจธรรมมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่เริ่มได้ยินได้ฟังก็ยังไม่สามารถประจักษ์เท่าที่เรากล่าวว่า เมื่อวานนี้ไม่มีแล้ว ไม่เหลือแล้ว และเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว ไม่เหลือแล้ว ถ้าเรากล่าวอย่างนี้หมายความว่าเป็นความจริง แต่ว่าปัญญาของเรายังไม่ถึงระดับที่จะประจักษ์แจ้งในความจริงนั้น เพราะเหตุอย่างที่คุณสุกัญญากล่าว มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เมื่อไร ที่ไหน ก็เหมือนกันหมด แม้เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง จะพูดถึงอะไร ถ้าพูดถึงสีสันวัณณะก็กำลังปรากฏ ถ้าพูดถึงเสียง เสียงก็ปรากฏ ถ้าพูดถึงแข็ง แข็งก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่จะไม่มีธรรมเป็นไปไม่ได้เลย แต่ไม่คุ้นเคยกับลักษณะของธรรมเลยสักลักษณะเดียว เพียงแต่ฟังชื่อ แล้วก็เข้าใจ แต่ลักษณะจริงๆ ของธรรม ก็มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป แม้แต่ขณะนี้เสียงก็เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เห็นก็มี ความจริงก็เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป แข็งก็มี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้วถึงจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราศึกษาว่า มีธรรมเป็นปรมัตถธรรมเพียง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วปรากฏ ก็มีจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมซึ่งเป็นจิตกำลังทำหน้าที่ของจิต การฟังก็ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจอย่างมั่นคง พอจะเริ่มรู้ลักษณะของตัวจริงของสภาวธรรมที่กำลังเห็นว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่สามารถเห็น สามารถรู้ สามารถคิด

    เพราะฉะนั้น การฟัง ฟังแล้วฟังอีกเรื่องเก่า และสิ่งที่มีปรากฏก็เหมือนเดิม กี่แสนชาติโกฏิกัปป์มาแล้วก็เป็นอย่างนี้แหละ คือ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ฟังเรื่องนี้จนกว่าจะรู้ขณะที่ต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดซึ่งเป็นสติปัฏฐาน กับขณะที่หลงลืมสติ และก็จะรู้ว่า ขณะที่คิด เราคิดด้วยความจำ เราจำอะไรเราก็คิดอย่างนั้น เราจำสิ่งที่เราเห็นตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ได้ไปจำเรื่องของคนอื่นเลย เพราะเราไม่รู้ ไม่เคยเห็นเรื่องนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิด ก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ชั่วขณะที่คิดแล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจญาณ ก็จะทำให้รู้ด้วยความมั่นใจว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่รู้ลักษณะ ขณะนั้นก็คือคิดเรื่องสิ่งที่เราจำไว้ เพราะฉะนั้น บางคนก็จะเห็นได้ว่า แม้ว่ามีลักษณะกำลังปรากฏ แต่หลงลืมสติ ต่างกับขณะที่กำลังรู้ลักษณะ และปัญญาที่จะอบรมเจริญจนกระทั่งประจักษ์การเกิดขึ้นของธรรม ก็ด้วยการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    บางคนก็สงสัยว่า นี่เป็นหนทางจริงๆ หรือ แค่นี้ที่กำลังเห็น ที่กำลังแข็ง แต่จะรู้อะไร จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็มีหนทางนี้หนทางเดียว คือ ค่อยๆ เข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏก็อย่างนี้แหละ ทำให้เราไม่ติดยึดมั่นในนิมิตอนุพยัญชนะ และก็รู้ขณะที่เรากำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ว่า ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา บางคนก็สงสัยว่า เสียงนี้หรือ เสียงแค่นี้หรือที่จะต้องรู้ ขณะที่ได้ยินเสียง มีใครได้ยิน นอกจากสภาพธรรมที่เกิดแล้วได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การจะรู้ความจริง ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย มีความมั่นใจ มีความมั่นคงว่าปัญญาที่จะรู้ความจริงก็คือรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ จะผิดได้อย่างไร เพราะจะรู้อะไร จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จะรู้เสียง จะรู้กลิ่น จะรู้รส จะรู้สิ่งที่มีจริงๆ ก็ต้องรู้ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด และเมื่อนั้นจะรู้ว่า ชั่วขณะที่สติเกิด กำลังเริ่มจะค่อยๆ ชินกับลักษณะของสภาพธรรม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 165


    หมายเลข 9865
    3 ก.ย. 2567