จะมีชีวิตแบบไหนก็ตาม ควรสะสมปํญญา
ผู้ฟัง ในสภาวะของชีวิตของแต่ละบุคคลก็จะไม่เหมือนกัน บุคคลที่อยู่ในความทุกข์ และความขัดสน ถึงแม้จะมีโอกาสฟังธรรม ก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะมีเหตุ และปัจจัยที่จะเกื้อกูลเขาให้สามารถที่จะมีกุศลหรือบำเพ็ญกุศล หรือสละในขั้นทานได้
ท่านอาจารย์ ทำไมห่วงเรื่องทาน กุศลอื่นก็มี ศีลเป็นมหาทาน ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ทำร้ายไม่มีประโยชน์เลย
ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าสภาวะของแต่ละบุคคลที่ประสบกับทุกข์เคราะห์กรรมอะไรทั้งหลายจะมาปิดกั้นการฟังธรรมหรือการศึกษาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องมาจากอดีตกรรมที่สะสมมาแล้ว บุคคลหนึ่งซึ่งไม่น่าจะลืมคือสุปปพุทธกุฏฐิ ขอทานโรคเรื้อน ยากจน ขัดสนแสนสาหัส ตัวอย่างที่จะรู้ว่าใครขัดสนมากน้อยแค่ไหนก็ต้องชีวิตของสุปปพุทธกุฏฐิ ซึ่งทั้งยากจนด้วย และก็ยังเป็นโรคร้ายด้วย วันหนึ่งๆ คืนหนึ่งๆ รู้สึกว่าจะนอนน้อยมาก เพราะว่าร่างกายต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ในที่สุดก็ได้ฟังพระธรรม และก็ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ใครจะมีชีวิตแบบไหนก็ตามแต่ สะสมปัญญา เพราะเราไม่รู้ชีวิตข้างหน้าของเราว่าจะเป็นแบบไหน แต่ว่าถ้ามีปัญญามีโอกาสได้ฟังพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรม ถึงกาลที่จะค่อยๆ เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่างสุปปพุทธกุฏฐิ ก็คงไม่คิดว่าตัวเองจะถึงความเป็นพระโสดาบันเมื่อได้เฝ้าได้ฟังธรรมในชีวิตที่ยากไร้ลำบากมาก ใครเป็นคนจน คนที่ไม่มีกุศลธรรมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีทรัพย์สมบัติก็เหมือนจน เพราะว่าไม่พอโลภะไม่เคยทำให้พอเลย
ที่มา ...