ต้องการที่จะดีมากกว่าคนอื่น


    อ.วิชัย ก็มีเรื่องสารัมภะ ความแข่งดี ซึ่งในอรรถกถาาก็กล่าวถึงว่า การแข่งดีโดยการที่เป็นฝ่ายอกุศลอย่างหนึ่ง เป็นฝ่ายกุศลอย่างหนึ่ง ท่านก็ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลก็อย่างเช่น ถ้าเห็นบุคคลอื่นประดับเครื่องประดับ แล้วก็อยากจะทำให้ยิ่งกว่านั้น ท่านก็อธิบายความแข่งดีว่าการกระทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ถ้าเป็นฝ่ายของกุศล ท่านก็อธิบายเกี่ยวกับเรื่องบุคคลที่ถวายภัตตาหารหนึ่งที่ ก็มีเจตนาที่จะถวายให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น หรือภิกษุที่เรียนหนึ่งนิกาย เห็นภิกษุอื่นเรียนหนึ่งนิกาย ก็ใคร่จะเรียนสองสามนิกายขึ้นไป ก็อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่าลักษณะของความแข่งดี ดูลักษณะคล้ายๆ จะไม่ดี จะเป็นทางฝ่ายอกุศล แม้จะคิด

    ท่านอาจารย์ แข่งดีจริงๆ หมายความถึงว่าต้องการที่จะดีมากกว่าคนอื่นถึงใช้คำว่า “แข่งดี” เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นอกุศลที่เห็นได้ชัดก็คือว่าอย่างที่คุณวิชัยกล่าว ถ้าเห็นเขามีเครื่องประดับมากๆ ก็อยากจะแข่งดีคือมีให้มากกว่าเขา ทั้งสองบุคคลยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แล้วก็ยังไม่หมดสิ้นสังสารวัฏฏ์ ยังไม่หมดกิเลสแน่นอน แต่ว่าบางคนก็อาจจะมีปัจจัยที่จะทำให้มีความคิดในทางกุศลที่จะเพิ่มขึ้น แต่ว่าถ้าเป็นในลักษณะของการที่จะเป็นอกุศล บุคคลนั้นก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นกำลังคิดอย่างนั้นด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะเหตุว่า เราใช้คำว่าดี แต่จริงๆ ถ้ามีแข่งก็ไม่น่าจะดีเลย เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสอยู่ แต่กิเลสก็จะทำให้ปรากฏออกมาต่างกันเป็นละกษณะสองอย่างคือ แข่งกันในทางอกุศลที่จะมีเครื่องประดับมากๆ หรือแข่งในทางกุศล ก็ยากที่จะเข้าใจเพราะว่าสภาพของจิตเป็นสภาพที่ละเอียด ที่ใช้คำว่า “ซับซ้อน” ไม่ได้ หมายความว่าจิตหนึ่งดวงซับซ้อน แต่หมายความว่าการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วซับซ้อน ทำให้เราเข้าใจผิดได้ คิดว่าเวลาที่มีความสำคัญตน สภาพของจิตไม่สบายเลย แล้วทำไมทรงแสดงว่ามานะ หรือความสำคัญตนไม่ได้เกิดกับโทสะ ทั้งๆ ที่เวลาที่มีความสำคัญตนขณะไหน ความรู้สึกต้องไม่สบายแน่นอน แต่ว่าที่ยังมีมานะ มีความสำคัญตนเพราะว่ามีโลภะ มีความยึดติดในสภาพนั้นว่าเป็นเรา ซึ่งไม่ใช่ความเห็นผิดแต่ว่าเป็นลักษณะของมานะฉันใด เวลาที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่เกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก ยิ่งยากที่จะรู้ แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ตรงเมื่อไหร่ ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ว่าการตรงต้องตรงตามลำดับ คือตรงโดยการที่รู้ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมหรือไม่ใช่สภาพรู้ ยังไม่สามารถที่จะถึงหิริโอตตัปปะของลักษณะของกุศลจิต หรือว่าอหิริก อโนตตัปปะของลักษณะของอกุศลจิต เพียงแต่ว่าลักษณะนั้นทำให้เราสามารถที่จะอบรมความรู้ว่าเป็นสภาพธรรมดับเร็วมากทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จะกล่าวได้เลยว่าทันทีที่สติระลึกตามความเป็นจริงสิ่งนั้นดับแล้ว เพียงแต่ว่าสะสมความรู้ว่ากำลังระลึกลักษณะรู้ หรือว่าลักษณะที่ไม่ใช่ลักษณะรู้ฉันใด การที่จะรู้ละเอียดถึงสภาพธรรมที่เป็นการแข่งดีที่ใช้ว่ามี ๒ อย่าง เราก็ต้องพิจารณาว่าถ้าเป็นลักษณะของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่มากๆ จะแข่งดีในทางอกุศล แต่ถ้าเป็นลักษณะของผู้ที่เบาบางหรือว่าคิดไปในเรื่องของกุศล แต่ก็ยังมีอกุศลเจือปนที่ทำให้แข่งดี ซึ่งความจริงเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องละ ที่ลืมไม่ได้เลย พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อละอกุศล และจนถึงละกุศล ทั้งหมดเลย ตัวอย่างที่คุณวิชัยพูดก็ต้องแยก ถ้าเป็นลักษณะที่แข่งดีต้องเป็นอกุศล แต่แข่งในทางกุศล หรือว่าในทางอกุศลที่ท่านกล่าวไว้ แต่ลักษณะของการแข่งดีจะเป็นกุศลไม่ได้ แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องรู้สภาพจิตของตัวเอง เพราะเหตุว่า มานะจริงๆ แล้วละเอียดมาก ผู้ที่จะดับมานะได้คือผู้ที่ถึงอรหัตตมรรคถึงจะดับได้ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นมานะอย่างหยาบๆ แต่มานะอย่างละเอียด มานะของพระอนาคามีเป็นต้น ผู้ที่เป็นปุถุชนก็คงคิดไม่ถึงว่าจะมีได้อย่างไร ในลักษณะไหน

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าเป็นการกระทำที่ยิ่งกว่านั้นด้วยกุศลจิตก็ไม่เรียกว่าแข่งดี

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นแข่งดีต้องเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาอย่างคนที่เห็นว่าคนอื่นถวายทานเพียงที่เดียว แต่ว่ามีศรัทธาที่จะถวายเพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่าน้อยไป ควรจะถวายมากกว่านั้น หรือว่าของที่ถวายเป็นของที่ไม่ประณีต และก็อยากจะให้สิ่งที่ได้ถวายเป็นของที่ประณีตเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุหรือผู้รับ ขณะนั้นก็ไม่ใช่การแข่งดี แต่ว่าถ้าแข่งดีที่ท่านกล่าวไว้ก็มี ๒ อย่าง ที่ว่าแข่งดีในทางอกุศลเรื่องของเงินทอง ทรัพย์สิน เครื่องประดับ และก็แข่งดีในทางกุศล แต่แข่งดีก็ยังคงเป็นแข่งดี ซึ่งแข่งดีต้องเป็นอกุศล แต่ว่าศรัทธาที่เกิดขึ้นที่เห็นว่าควรจะถวายอาหารที่ประณีตขึ้นหรือว่ามากกว่านั้นก็เป็นกุศลศรัทธา เพราะเหตุว่า เราคิดถึงเรื่องแข่งดีซึ่งเป็นลักษณะของมานะ ความจริงอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นมีอกุศลเกิดแทรก


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 167


    หมายเลข 9906
    3 ก.ย. 2567