การแข่งดี
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า เราคิดถึงเรื่องแข่งดีซึ่งเป็นเรื่องของมานะ ความจริงอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็จะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นมีอกุศลเกิดแทรก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ขณะที่กำลังถวายทาน และก็ไม่มีความรู้สึกว่าแข่งดี แต่มีความสำคัญตนไหม นี่ก็อีกอย่างหนึ่งซึ่งพร้อมที่จะเกิด ขณะไหนก็ได้ในลักษณะที่ต่างกัน ถึงจะไม่ใช่ในลักษณะแข่ง เพราะว่าไม่ได้แข่ง แต่ว่าเวลาที่ถวายก็มีความสำคัญตนได้ว่าเราได้ถวายสิ่งที่ประณีต เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการที่จะได้รู้จักลักษณะของอกุศลในลักษณะต่างๆ
อ.อรรณพ เรื่องแข่งดี ท่านได้แยกเป็น ๒ ประเภท ฝ่ายอกุศล และกุศล ถ้าแข่งดีด้วยมานะ เครื่องประดับอย่างนี้เป็นต้น ก็มีมานะเป็นในทางอกุศล หรือว่าแข่งดีที่ดูเหมือนเป็นไปในทางกุศล แต่ว่าด้วยมานะ ที่ท่านบอกว่าการแข่งดีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำที่ทวีคูณไปกว่านั้นด้วยอำนาจแห่งมานะจัดเป็นอกุศล อย่างเช่นบรรพชิตที่เห็นบรรพชิตเหล่าอื่นเล่าเรียนหรือว่ากล่าวธรรมมีประมาณเท่าใด ความแข่งดีที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำที่ทวีคูณขึ้นไปยิ่งกว่านั้นด้วยอำนาจแห่งมานะจัดเป็นอกุศล ส่วนคฤหัสถ์ ความแข่งดีที่เกิดขึ้นเพราะเห็นคนอื่นถวายสลากภัตร ๑ ที่ แล้วตนเองประสงค์จะถวาย ๒ หรือ ๓ ที่ จัดเป็นกุศล และสำหรับบรรพชิตเมื่อได้ทราบว่าภิกษุเรียน ๑ นิกายแล้วความแข่งดีเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยมานะ แต่เพราะได้เห็นภิกษุอื่นนั้นเรียนแล้ว ๑ นิกาย แล้วประสงค์จะครอบงำความเกียจคร้านของตนอย่างเดียว เรียนเอา ๒ นิกายจัดเป็นกุศล
อ.ธิดารัตน์ ที่ท่านแสดงไว้ว่าแต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาความแข่งดีที่เป็นอกุศล เพราะความแข่งดีที่เป็นอกุศลนี้ย่อมเกิดขึ้นทำร้ายจิต ทำให้จิตไม่ผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต คือโดยความหมายนี้หมายถึงว่าแข่งดีนี้เป็นอุปกิเลส ท่านก็เลยหมายถึงว่าแข่งดีในที่นี้จัดเป็นอกุศลอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ยังไงก็ต้องเป็นอกุศลถ้าเป็นการแข่งดี ก็จะสังเกตได้ถ้าเราเรียนด้วยความเป็นตัวตน จะเกิดการแข่งดีไหม มีความสำคัญในตนเอง ต้องการที่จะรู้มากกว่า ประโยชน์ก็คือว่าไม่ได้ละอกุศลเลย ไม่ได้ขัดเกลากิเลส
ที่มา ...