ทุกคนตอบได้หมด แต่ยังเป็นเรา


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้อธิบายเรื่องวิบากจิตที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วท่านอาจารย์ก็สรุปว่าถึงจะฟังสักแค่ไหน ถ้าหากว่าลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ไม่ปรากฏก็จะมีผลน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ ผลอะไรที่ว่าน้อยมาก

    ผู้ฟัง ผลที่จะเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นวิบากกรรม ทั้งๆ ที่เข้าใจอย่างนี้ ท่านอาจารย์ก็บอกว่านั่นเป็นเพียงเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ธรรมนี่จริงตลอด ไม่ผิดเลย ขณะนี้กำลังเห็น ตอบตามตำราได้ใช่ไหม เป็นอะไร เป็นวิบาก นี่คือคำพูดที่คุณประทีปพูดเมื่อกี้นี้ รู้หมดอกุศลจิตมี ๑๒ เวลาที่อกุศลกรรมได้กระทำแล้วจะให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ประเภท รู้อีก แล้วก็รู้ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นวิบาก กำลังได้ยินก็เป็นวิบาก กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายก็เป็นวิบาก แต่รู้จริงๆ หรือเปล่าว่าไม่ใช่เรา คำว่า“วิบาก”หมายความว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นสภาพของจิตซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงเป็นเรื่องที่มีหลายระดับ ฟังเข้าใจแต่ยังคงเป็นเราอยู่ พิสูจน์ได้เลย ถ้าถามทุกคนตอบได้หมด แต่ก็ยังเป็นเรา ยังไม่ได้เป็นธรรม และยังไม่ได้รู้ความต่างของวิบาก กุศลกับอกุศลด้วย เพราะว่าโดยชื่อทราบใช่ไหม หลังเห็นแล้วก็ต้องคิด แล้วก็คิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ด้วยโลภะติดข้องต้องการหรือด้วยโทสะ ที่เรากำลังศึกษาเรื่องโทสะ ถ้าเราจะเพียงแต่กล่าวจำนวนไม่มีประโยชน์เลยใช่ไหม ทุกคนก็รู้กุศลจิตมี ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ประเภท แค่นี้จบ แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องความเข้าใจในเหตุ และในผลจนกระทั่งชีวิตประจำวันซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่าเป็นวิบากขนาดไหน เป็นกุศลขณะไหน เราก็ต้องแยกให้ถูกต้อง แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นว่าชั่วขณะที่เห็นโดยนัยของพระสูตร จะไม่กล่าวโดยละเอียดถึงจิตประเภทอื่นซึ่งเกิดสืบต่อ แต่ในขณะที่เห็นแล้ว มีการพอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่เห็น แล้วที่ทรงแสดงไว้เร็วกว่าที่เราคิด ยังไม่ทันเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพียงลักษณะนั้นปรากฏ โลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลจิตก็เกิดแล้ว อันนี้จะรู้ได้ยังไง ถ้าสติสัมปชัญญะไม่ได้อบรมที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ว่าจะทรงแสดงประเภทของธรรมใด เช่น จิตจะแสดงถึงลักษณะของจิต เจตสิกแต่ละประเภทก็แสดงลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท ให้เราไม่สับสนว่าเวทนาความรู้สึกไม่ใช่โลภะ ความรู้สึกเป็นอย่างหนึ่ง และความติดข้องต้องการที่เกิดร่วมกันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดเราเรียน เราเข้าใจ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของสภาพธรรมเฉพาะแต่ละอย่างๆ ซึ่งทรงแสดงโดยละเอียดกว่าที่ใครจะเข้าใจได้ เพราะว่าไม่ใช่เพียงแต่ทรงแสดงเรื่องของลักษณะ แต่ทรงแสดงกิจของสภาพธรรมนั้น อาการที่ปรากฏของสภาพธรรมนั้น และเหตุใกล้ให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ฟังก็เริ่มจะเห็นความห่างไกลของปัญญาระดับฟัง กับระดับที่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม มีคำที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก คุณธิดารัตน์จะยกข้อความที่ลึกซึ้งนี้ให้ผู้ฟังได้ฟังด้วย ถ้าจะได้รู้จักตัวของเราเองจริงๆ ฟังธรรมแล้วปัญญาของเราแค่ไหน


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 169


    หมายเลข 9924
    1 ก.ย. 2567