ชื่นชมยินดีในกุศลของผู้อื่น


    ผู้ฟัง อยากเรียนถามเรื่อง “อนุโมทนา” มีความสงสัยอยู่ว่าถ้าเป็นกุศลที่เรากระทำ จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันนี้ก็เป็นเหตุของกุศลที่จะทำให้เกิดผลของกุศลในภายหลัง แต่เมื่อคนอื่นทำกุศล แล้วเรามีจิตอนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่อนุโมทนาในกุศลของคนอื่น จิตที่อนุโมทนาเป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็มีบ้าง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่อนุโมทนา ขณะนั้นที่อนุโมทนาในกุศลของบุคคลอื่นเป็นจิตที่เป็นกุศลหรือเปล่าที่อนุโมทนา

    ผู้ฟัง ตามที่ศึกษามาใช่ แต่จริงๆ ตามสภาพของตัวเราเอง ขณะจิตที่เรากล่าวคำว่าอนุโมทนาด้วยทุกครั้งไม่ได้เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำที่กล่าว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพจิต ดอกไม้ที่บูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุสวยไหม

    ผู้ฟัง สวย

    ท่านอาจารย์ คิดถึงผู้ที่จัดทำหรือเปล่า คิดถึงผู้ที่มอบดอกไม้ให้หรือเปล่า ขณะนั้นถ้าเกิดกุศลอนุโมทนา ก็ไม่เพียงแต่สวย แต่ถ้าไม่มีผู้จัดทำ และไม่มีดอกไม้ จะไม่มีสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง เราสามารถจะอนุโมทนาในกุศลจิตของแต่ละบุคคลได้เสมอ เมื่อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่เพียงแต่สวย แต่ยังคิดถึงกุศลจิตของผู้ที่จัดทำ ท่านที่มาแต่เช้า จะเห็นว่าดอกไม้เสร็จเรียบร้อย เพราะฉะนั้น ผู้จัดจะต้องใช้เวลาจัดนานสักเท่าไหร่ ในการนำมาซึ่งดอกไม้นั้นด้วย หรือแม้แต่อาหารหรือทุกอย่าง สวนดอกไม้เรียบร้อยอะไรทุกอย่าง อนุโมทนาในกุศลจิตของบุคคลอื่นหรือเปล่า และขณะที่กำลังอนุโมทนา จิตขณะที่อนุโมทนาเป็นกุศลหรือเปล่า ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการที่เราต้องกล่าว อนุโมทนาๆ แต่จิตขณะนั้นผ่องใสเมื่อระลึกถึงสิ่งที่ดีความดีของบุคคลอื่น

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ แล้วสภาพธรรมก็เกิดด้วยเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลที่สะสมมา อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวจะให้คิดถึงผู้จัดหรือผู้บริจาค สำหรับตัวดิฉันเองก็ยังคิดไม่ได้ถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่อนุโมทนาหรือ

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว อนุโมทนา ก็ไม่ได้คิดลึกซึ้งเหมือนท่านอาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิดถึงกุศลจิตของผู้ทำหรือ ตื่นแต่เช้าไหม เรากำลังนอนหลับสบาย ทุกก้านที่จัด และก็ใส่ลงไปในแจกัน เพื่ออะไร เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ขณะนั้นจิตของเราเป็นกุศลหรือเปล่า ที่เห็นในกุศลของคนอื่น แต่ถ้าจะไปคิดว่าเขากำลังมีโลภะที่กำลังจัดดอกไม้ให้สวยๆ ขณะนั้นจิตของเราก็เป็นอกุศล ไม่ได้คิดถึงกุศล

    ผู้ฟัง การอนุโมทนาในกุศลจิตของผู้อื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ต้องด้วยคำพูด เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเห็นความดีของคนอื่น และชื่นชมอนุโมทนาในความดีนั้น

    ผู้ฟัง แล้วเราก็รู้ว่าสิ่งนี้คือกุศล

    ท่านอาจารย์ ต้องเรียกชื่อหรือเปล่า หรือว่าถ้าไม่เรียกอย่างนี้ไม่ใช่กุศล เราไม่ทำ หรือยังไง หรือต้องเป็นกุศลก่อน รู้ก่อนถึงจะทำ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การศึกษาธรรม จะศึกษาให้เข้าใจความต่างของกุศลจิต และอกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตก็ต้องประกอบ ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ก็จะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ และกุศลก็จะต้องเป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด เราก็จะเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าทานนั้นไม่ใช่เพียงแต่การให้วัตถุสิ่งของ ขณะใดที่สละสิ่งใดเป็นประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น แม้แต่ธรรม แม้แต่การให้อภัย ก็ทำให้บุคคลอื่นมีความสุข เขาไม่ต้องเดือดร้อนเพราะความโกรธของเราหรือเพราะความคิดเบียดเบียนของเรา

    ผู้ฟัง ในวันนี้ ขณะที่เราฟังธรรม อย่างน้อยๆ จะต้องมีกุศลจิตแน่นอน และต้องมีสภาพของกุศลที่จะให้ผู้อื่นสามารถอนุโมทนาได้

    ท่านอาจารย์ อะไรคะ

    ผู้ฟัง ก็กุศลที่เราประกอบในวันนี้

    ท่านอาจารย์ นั่งอยู่ตรงนี้ฟังธรรม คนอื่นอนุโมทนา ซึ่งความจริงต่างก็อนุโมทนาในกัน และกันได้ เพราะว่าทุกท่านที่มาฟังด้วยกุศลจิต ไม่อย่างนั้นก็ไปที่ไหน ก็สนุกสนานรื่นเริงดี มีวงศาคณาญาติ เพราะว่าแต่ละบ้านก็มีพี่ มีน้อง มีบุตร มีหลาน มีความบันเทิงต่างๆ แต่ว่าสามารถที่จะละสิ่งเหล่านั้น แล้วก็มาเพื่อฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็อนุโมทนาทุกท่านที่สามารถที่จะมา และฟังพระธรรมได้ ขณะนี้ก็เป็นอนุโมทนาแล้ว

    ผู้ฟัง นั่นคือลักษณะสภาพจิตของผู้อนุโมทนา แต่ว่ากำลังกราบเรียน ถามท่านอาจารย์ถึงลักษณะจิตที่เราเป็นผู้ทำกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็ผู้อนุโมทนาไงคะ

    ผู้ฟัง ลักษณะของการอุทิศส่วนกุศล จำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีชีวิตอยู่หรือว่าล่วงลับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาใช้คำว่า อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเขาอาจจะรู้ได้ แต่ว่าสำหรับบุคคลอื่นซึ่งยังไม่สิ้นชีวิต ถ้าเขาอาจจะรู้ได้ทางอื่น เราก็คงไม่ต้องอาศัยทางนี้ใช่ไหม ไม่ต้องอาศัยทางประกาศว่าอุทิศส่วนกุศลนี้ให้บุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ทำกุศลแล้ว ใครจะอนุโมทนาก็ย่อมได้ทั้งนั้นเลย โดยที่เราไม่ต้องบอก เขาก็อนุโมทนาได้ แต่ถ้าเราเจาะจงให้บุคคลใด เราก็กล่าวถึงบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่คนนั้นยังไม่สิ้นชีวิต แล้วเราทำกุศล เจาะจงให้บางบุคคลได้ร่วมอนุโมทนา มารดาบิดาก็ได้ เราก็ไปกราบเรียนท่านว่าเราได้ทำกุศลอย่างนี้ เพื่อท่านจะได้อนุโมทนา เพราะวันหนึ่งๆ ลูกหลานทำอะไรบ้างก็ไม่รู้ ไปทำสิ่งที่ไม่ดีเยอะเลย สนุกสนาน แต่ว่าสิ่งที่ดี ถ้าท่านเป็นผู้ที่หวังดีอนุโมทนาในกุศล อยากให้บุตรหลานได้เจริญทางฝ่ายกุศล เราก็ไปเรียนท่านว่าวันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง ถ้าคุณสุกัญญายังมีมารดา บิดา ก็บอกว่าวันนี้ไปเรียนธรรมตอนเช้า กลับกี่โมง อย่างนี้อะไรก็ได้ นั่นคืออุทิศส่วนกุศล หมายความว่าให้ท่านได้อนุโมทนาสำหรับบุคคลซึ่งยังมีชีวิตยู่ แต่ถ้าบุคคลที่ไม่มีชีวิตแล้ว ล่วงลับไปแล้ว ก็อุทิศโดยการทำกุศล และอุทิศเป็นคำพูดให้ท่านได้ล่วงรู้ ไปหาท่านก็ไม่ได้ ก็เพียงแต่ทำเท่าที่จะให้ท่านรู้ได้

    ผู้ฟัง แล้วอย่างเช่น เราเป็นเพื่อนกัน อย่างวันอาทิตย์เราไม่มีโอกาสมา แต่เพื่อนเรามีโอกาสมา เราก็มีจิตอนุโมทนาในกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง โดยเขาก็ไม่ได้มาบอกเรา

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เป็นกุศลจิตของเราซึ่งเกิดจากการอนุโมทนายินดีด้วยในกุศลของคนอื่น ไม่ต้องใครรู้เลย อีกอย่างหนึ่งที่คุณสุกัญญากล่าวถึง และใครหลายๆ คนก็มักจะพูดว่า ได้บุญหนึ่งแก้ว ได้หรือว่าจิตเป็นกุศล อันนี้เป็นจุดที่สำคัญมากเลย เพราะว่าบางคนจะถามว่าได้บุญไหม ถ้าบอกว่าได้ก็ทำ ถ้าบอกว่าไม่ได้ก็ไม่ทำ เพราะว่าหวังได้ แต่ขณะนั้นไม่เป็นบุญเลยทั้งหมด แต่ถ้าเป็นกุศลจิต อันนี้ใครก็จะเอาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วไปที่อื่น ให้ล้มหายไปไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนั้นเกิดแล้ว สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป ซึ่งจะทำให้กุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมนั้นเกิดตามควร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่คำนึงถึงว่าได้บุญ เลิกคิดเรื่องนี้ เอามาทำไม โลภะได้หนึ่งแก้ว หรือว่าวันนี้ได้สองแก้ว แต่ความจริงจิตเป็นกุศลหรือเปล่า อันนี้น่าคำนึงถึง เพราะว่าอกุศลจิตเป็นอย่างหนึ่ง และกุศลจิตก็เป็นอย่างหนึ่ง อกุศลจิตก็เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม และกุศลจิต ก็ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ก็เป็นกุศลได้

    ผู้ฟัง ความรู้สึกของผมถ้าอนุโมทนาในกุศล อย่างเช่นจัดดอกไม้สวย หรืออุตส่าห์มาฟังธรรม ก็ขออนุโมทนาในกุศล

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ไม่ต้องขอ อนุโมทนาคือจิตยินดีด้วยในกุศลของบุคคลนั้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 170


    หมายเลข 9936
    1 ก.ย. 2567