จากขั้นฟังจนถึงขั้นรู้ตัวจริงว่าเป็นธรรม


    ก็คงจะทบทวนกันบ้าง เพราะว่าไม่ทราบว่าที่ฟังไปแล้ว เราพอจะเข้าใจแล้วก็ไม่ลืม เป็นความรู้ของเราเอง เช่นถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ถ้าถามว่าโทสะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ตอบว่ายังไง ทุกคนบอกว่าง่ายมาก เพราะเหตุว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ และโทสะขณะที่กำลังโกรธก็คือกำลังรู้สิ่งที่กำลังโกรธ ถ้าไม่มีการรู้จะโกรธในสิ่งนั้นไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่า เป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าเมื่อโทสะเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ถ้าโดยปรมัตถธรรม โทสะเป็นอะไร เจตสิก ถ้าโดยขันธ์ เปลี่ยนมาเป็นโดยขันธ์ โทสะเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ เพราะว่าโทสะนี่ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น โทสะก็เป็นสังขารขันธ์ โทสะเป็นเหตุหรือไม่ใช่เหตุ เป็นเหตุ เหตุมีเท่าไหร่ เหตุมี ๖ เป็นอกุศลเหตุ ๓ และเป็นโสภณเหตุ ๓ สำหรับเหตุก็ได้แก่เจตสิก ๖ ดวงเท่านั้น ถ้าพูดถึงประเภทของเจตสิก ธรรมที่เป็นเหตุจริงๆ ได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และก็ทางฝ่ายโสภณก็เป็นอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เข้าใจใช่ไหม แต่รู้ลักษณะของธรรมที่กล่าวหรือเปล่า เข้าใจตอบได้ว่าโทสะเป็นนามธรรมโดยชื่อ แต่เวลาที่ลักษณะของโทสะเกิด สภาพที่เป็นนามธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของสภาพธรรมของโทสะ แต่ปัญญาไม่รู้ความจริง คือไม่รู้ลักษณะที่เป็นโทสะว่าเป็นธรรม แล้วก็เป็นนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาขั้นฟังให้เข้าใจยังไม่พอ ต้องเป็นขั้นที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น และความเข้าใจจากการฟัง เราฟังมาแล้วว่าโทสะไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เวลาที่ลักษณะของโทสะเกิด ไม่มีปัจจัยพอที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม ด้วยเหตุนี้การฟังบ่อยๆ คือให้ทราบว่าทุกคำที่ได้ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่อให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้จะกล่าวว่าโทสะ ก็ไม่ใช่เพียงเพื่อให้จำว่าเป็นเจตสิก และก็เกิดกับจิต แต่ว่าเวลาที่โทสะเกิด เมื่อไหร่สติเกิด คือกำลังที่โทสะเกิดนั่นเอง ก็มีความเข้าใจถูกต้องว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ถ้าไม่เป็นอย่างนี้เราก็รู้เพียงแค่ตำราตลอดชีวิต แล้วเมื่อไหร่ที่โทสะเกิดก็เป็นเราไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมอกุศลหรือเป็นกุศล ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นจิตหรือเป็นเจตสิก ก็แสดงให้เห็นว่าปัญญาของเราขั้นฟังมาก แต่ขั้นที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจที่มั่นคง แต่ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม เพราะเหตุว่ากล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าโทสะเกิดในขณะนี้ นึกถึงชื่อ นึกถึงเรื่อง ก็นึกถึงคำไปอีก ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ความต่างว่าขณะนั้นเป็นขั้นจำเรื่องราวที่ได้ฟังจนกว่าจะถึงกาลที่กำลังเข้าใจลักษณะนั้น ซึ่งทุกคนก็จะติดตรงนี้ว่าขณะที่กำลังจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจะเป็นลักษณะอย่างไร เพราะเหตุว่าไม่ใช่ขั้นฟังเท่านั้น แต่ขณะนี้ถ้าเข้าใจถูกต้องว่ามีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ อันนี้เริ่มหันมาถึงลักษณะที่กำลังมีในขณะนี้ คือเมื่อกี้นี้ฟังเรื่องราวทั้งหมดเลย แต่ขณะนี้กำลังกลับมาที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ และก็สิ่งนั้นก็ตรงตามที่ทรงแสดง เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ถ้าเราละเลย ทำไมมาพูดกันอีกแล้วในวันนี้ คราวที่แล้วก็พูด วันไหนๆ ก็พูดๆ จนกว่าจะเข้าใจถูกต้องจริงๆ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาในขณะที่กำลังฟังก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องไปที่เรื่องราวหรือชื่อเสียง ตรงลักษณะนี้ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเริ่มที่จะเข้าใจความเป็นธรรมของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าทางใจก็มีเรื่องราว มีความคิดนึก มีเรื่องอะไรต่างๆ แสดงให้เห็นว่าผู้ฟังมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าจะต้องอบรมความรู้มากแค่ไหนที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เป็นความจริงหรือเปล่า ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง วิริยะความพากเพียรหรือความอดทนก็ไม่ใช่เรา ขณะที่กำลังฟังก็ทรงแสดงไว้ว่ามีเจตสิกอื่นๆ เช่น วิริยเจตสิก อโลภะ อโทสเจตสิก ในขณะที่ฟัง แต่ลักษณะนั้นๆ ก็ไม่ได้ปรากฏ ต่อเมื่อใดลักษณะนั้นปรากฏ และสติรู้ลักษณะนั้น เมื่อนั้นก็จะเข้าใจความหมายที่พระองค์ทรงแสดงว่าทุกอย่างเป็นธรรม และผู้ที่ฟังไตร่ตรองที่จะอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อยในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่ใช้คำว่า “ทีละเล็กทีละน้อย” นี่จริงไหม สำหรับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี่ยืนยันได้เลยใช่ไหมว่าทีละเล็กทีละน้อยแค่ไหน กว่าที่จะเริ่มเข้าใจจริงๆ ว่าลักษณะนี้ก็เพียงปรากฏทางตา คนตาบอดไม่เห็น กี่ภพกี่ชาติก็เหมือนอย่างนี้ และถ้าชาติไหนที่ไม่มีจักขุปสาท สิ่งนี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งนี้ปรากฏก็เข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ยากไหม ยากที่สุด ต้องใช้คำว่ายากที่สุด ที่ไม่มีอะไรจะยากกว่านี้ เพราะว่าแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ฉลาดรู้เรื่องราวทางโลกมากมาย แต่ไม่ใช่ความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 171


    หมายเลข 9954
    31 ส.ค. 2567