คำสอนที่ถูกต้องมีลักษณะอย่างไร
ผู้ฟัง โทสะกับโกธะอันเดียวกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ก็เป็นชื่อ แต่ความจริงคือลักษณะของสภาพธรรมที่ขณะนั้นไม่เป็นสุข แล้วก็ขุ่นใจ อาจจะเล็กน้อยมากจนกระทั่งเราไม่รู้สึก เช่น ขณะที่เราว่าใคร ขณะนั้นรู้ไหมว่าโทสะหรือโกธะหรืออะไร ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อ แต่ลักษณะขณะนั้นจะรู้ไหมว่าเพราะไม่พอใจ ขณะนั้นจึงมีคำพูดอย่างนั้น แล้วลักษณะของสภาพธรรมสำคัญกว่าชื่อ เพราะว่าชื่อจะมีมาก มีคำว่าปฏิฆะ มีคำว่าโกธะ มีคำว่าโทสะ มีคำว่าพยาปาท แต่สรุปแล้วก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เป็นสุข ขณะนั้นความรู้สึกไม่สบายใจ แล้วก็ระดับต่างๆ กันด้วย ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจเล็กน้อย เพียงว่าหรือติ ถ้าไม่ว่าก็แค่ติ แค่ตินิดเดียวจะรู้หรือไม่ว่าเป็นโทสะ
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าพวกเราไม่ได้เรียนในทางโลก ไม่ได้ถูกสอนให้ถือศักดิ์ศรี ตระกูล ชาติเชื้อของเราเอง จะทำให้เรารู้สึกเข้าใจคำว่าโทสะ หรือคำว่าอัตตาง่ายขึ้นไหม อาจารย์บางคนที่สอนธรรมเคยพูดว่าสอนพวกปริญญาสอนยากเพราะติดทางโลกกันเยอะ สอนเด็ก ป. ๔ ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร สอนง่ายกว่า ฟังดูก็มีเหตุมีผล หมายความว่านอกจากเข้าใจในศัพท์แล้ว ไม่ทราบว่าอาจารย์จะมีข้อวิเคราะห์ยังไง
ท่านอาจารย์ คำสอนมีมากมาย แต่คำสอนที่เลิศประเสริฐถูกต้องที่สุดคือคำสอนของพระอรหันตสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าเราจะถูกสอนมายังไงก็ตาม เราก็ควรจะพิจารณาว่าผู้สอนมีจุดประสงค์อะไร สอนให้เรามีศักดิ์ศรีเพื่อให้เราเป็นคนดี หรือว่าสอนให้เรามีศักดิ์ศรีเพื่อให้เราทะนงตนสำคัญตน นี่ก็ขึ้นอยู่กับเราด้วย ถ้าเราสะสมมาที่จะเข้าใจความมุ่งหมายของผู้ที่สอน ก็จะต้องรู้ว่าสอนเพื่อให้ประพฤติดี ถ้าจะให้มีศักดิ์ศรีก็คือว่าศักดิ์ศรีด้วยความดี ไม่ใช่ว่าเมื่อมีศักดิ์ศรีแล้วประพฤติชั่ว แล้วศักดิ์ศรีนั้นจะมีความหมายอะไรใช่ไหม เพราะฉะนั้น ทั้งหมดคำสอนที่ถูกต้องที่สุด ก็คือว่าให้เป็นผู้ที่กุศลจิตเกิด เพราะว่าทุกคนหลีกเลี่ยงอกุศลไม่ได้เลย แม้แต่คำสอนทั้งหลายที่เป็นไปในเรื่องเชื้อชาติหรือว่าในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหมด ถ้ารับไม่ดีก็มีความสำคัญตน มีเข้าใจผิด แต่ถ้าความเข้าใจถูกต้องว่าประเพณีนั้นๆ มีพื้นฐานคำสอนมาจากคำสอนของใคร สำหรับชาวพุทธ ประเพณีพื้นฐานทั้งหมดก็มาจากคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่เด็กเคารพผู้ใหญ่ นี่ก็คำสอนที่แสดงให้เห็นว่าควรบูชาหรือควรแสดงความเคารพผู้ที่ควรเคารพโดยวัย หรือว่าโดยฐานะ โดยความรู้ โดยอะไรทั้งหมด เพื่อความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะว่าบางคนถ้าสูงวัยก็ไม่เคารพคนที่อ่อนวัย แต่ว่าจริงๆ แล้วเคารพในอย่างอื่นได้ ในฐานะ ในความรู้ ในคุณความดี ในอะไรได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็ต้องพิจารณาว่าเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อกระทำความดี
ที่มา ...