ค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ


    ท่านอาจารย์ คนที่โกรธแล้วไม่รู้ ก็คงจะเป็นยังไง ไม่รู้ว่าโกรธ แต่ถ้าโลภะเกิดแล้วไม่รู้ว่าโลภก็มีใช่ไหม ทั้งๆ ที่มีโลภะก็บอกว่าไม่มี แต่พอบอกว่าโกรธ จะบอกว่าเขาไม่โกรธเลย เขาก็คงจะคิดว่าความโกรธนั้นหมายถึงสภาพธรรมที่ใหญ่โตโกรธจัดๆ อย่างนั้นเขาพอจะรู้ได้ แต่ถ้าขุ่นใจหรือแค่รำคาญใจ แค่รำคาญใจบางคนเขาจะบอกว่าเขามีมาก เขาไม่ได้โกรธใครอย่างสาหัส หรือว่ามากมายใหญ่โตเลยแต่รำคาญ อาจจะรำคาญคนหรือถ้าขณะนั้นไม่ใช่มีคนอื่นเลย รำคาญใจตัวเองมีไหม ขณะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เป็นลักษณะของปฏิฆะที่ทำให้รู้ได้ นี่ก็คือว่าสภาพธรรมที่ทรงใช้คำก็เพื่อที่จะให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ นั่นเอง

    ผู้ฟัง รำคาญใจไม่ใช่กุกกุจจะหรือคะ

    ท่านอาจารย์ รำคาญใจ ขณะนั้นเกิดร่วมกับโมหะหรือเกิดร่วมกับโทสะ โดยชื่อ เราใช้คำว่า “รำคาญใจ” แต่ใครจะใช้คำแปลว่าอย่างไร แล้วก็ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมในขณะนั้นเป็นอย่างไร เวลารำคาญใจนี่สบายใจไหม แล้วถ้าเป็นโมหะจะเกิดร่วมกับความรู้สึกประเภทไหน โมหะต้องเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา (อทุกขมสุข) แต่ถ้าเป็นความรำคาญใจในขณะนั้น เวทนาก็เป็นโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น เราคงอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้เพื่อพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพื่อเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ไม่ใช่ไปคิดถึงคำที่ได้บัญญัติไว้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร ขณะนั้นเป็นอะไร แต่ตัวจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นเป็นระดับนั้นเกิดขึ้นแล้ว ใครจะใช้คำอะไรแล้วแต่ภาษา แต่ว่าเปลี่ยนลักษณะของระดับของความขุ่นใจไม่ได้ แต่ว่าจะใช้คำอะไรก็เป็นเรื่องของภาษา แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือว่าลักษณะนั้นเกิดแล้ว มีลักษณะอย่างนั้นแล้ว ปรากฏเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องของโมหมูลจิตก็เป็นเรื่องที่คงจะต้องต่อจากโทสมูลจิต เพราะเหตุว่า ก็มีวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ มีอุทธัจจสัมปยุตต์ด้วย แต่ว่าสำหรับธรรมดาปกติ เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้นต้องมีทั้งโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ทั้ง ๔ ต้องมีเกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท แต่ว่าแล้วแต่ว่าลักษณะนั้นปรากฏหรือเปล่า อย่างขณะโกรธมีโมหะเกิดร่วมด้วย มีอหิริกะ อโนตตัปปเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอุทธัจจะเกิดร่วมด้วย แต่อะไรปรากฏ โทสะ ลักษณะของโทสะเป็นปฏิฆะกระทบกระทั่ง เจตสิกที่เป็นอกุศลที่จะเกิดร่วมกับโทสะ คืออิสสาเป็นความริษยาในสิ่งที่คนอื่นมี มัจฉริยะ (ความตระหนี่ ความหวงแหน) ไม่ต้องการให้สิ่งที่เรามี สาธารณะให้คนอื่นมาร่วมใช้สอย และกุกกุจจะ (ความรำคาญใจ) เพราะฉะนั้นลักษณะของความรำคาญใจเป็นกุกกุจจเจตสิก แต่ไม่ใช่โทสเจตสิก เพราะฉะนั้นเวลาที่โทสเจตสิกเกิดร่วมกับโทสะ จิตนั้นเป็นโทสมูลจิต จะปราศจากโทสเจตสิกไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่โทสมูลเจตสิกหรือโทสมูลจิตเกิด จะต้องมีอิสสาหรือมัจฉริยะหรือกุกกุจจะ เกิดร่วมด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น และถ้าขณะใดมีอิสสาเกิดร่วมด้วย ก็ไม่มีมัจฉริยะ กุกกุจจะเกิดร่วมด้วย มัจฉริยะเกิดกับโทสะ ขณะนั้นก็ไม่มีอิสสา และกุกกุจจะ เกิดร่วมด้วย ขณะใดที่กุกกุจจะเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ไม่มีอิสสาเจตสิก และมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่เป็นการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากของจิต ต้องเป็นการค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจึงจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่กล่าวถึงได้ มิฉะนั้นก็เป็นแต่เพียงชื่อ เพราะแม้ขณะนี้เห็นกับได้ยินก็เหมือนพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้หลงเข้าใจผิดว่าเจตสิกประเภทนั้นอาจจะเกิดกับเจตสิกประเภทนั้นๆ ก็ได้ โดยการที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงประเภทของเจตสิกนั้นๆ ว่าเกิดกับจิตประเภทไหน


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172


    หมายเลข 9964
    3 ก.ย. 2567