ค่อยๆ เข้าใจความต่างของจิตขณะที่มีปรมัตถ์หรือบัญญัติเป็นอารมณ์
อ.กุลวิไล กราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงสภาพธรรมที่เป็นอสังขาริก และ สสังขาริกในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ ก็เป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดตามประเภทของจิตนั้นๆ
อ.กุลวิไล อย่างกรณีที่ว่า มิทธเจตสิกก็เป็นสภาพที่โงกง่วง ถ้าหากขณะที่เราง่วงนอน แน่นอนว่าจิตไม่มีกำลัง แม้แต่จะฟังธรรมก็จะเหนื่อยอ่อนเพลีย ก็จะมีปัจจัยให้จิตนั้นไม่ควรการงาน และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ไม่ควรแก่การงานด้วย ขณะนั้นก็พอจะทราบถึงความที่มีถีนะ และมิทธะเกิดร่วมด้วย แต่อย่างในชีวิตประจำวัน ถ้าจิตที่ไม่มีกำลังแต่ไม่ถึงขนาดขั้นง่วงนอน แต่เป็นจิตที่เป็นอสังขาริก
ท่านอาจารย์ สสังขาริกไม่จำเป็นต้องมีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเกิดก็ได้ ไม่เกิดก็ได้
อ.กุลวิไล ที่ท่านแสดงถึงว่ามีถีทุกะเกิดร่วมด้วย จะมีเฉพาะสสังขาริกบางประเภทเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ บางกาล สสังขาริกนั้นก็มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางคราวสสังขาริกนั้นไม่มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย
อ.กุลวิไล อย่างบางคราวที่ไม่มีถีทุกะเกิดร่วมด้วย และเป็นสสังขาริก
ท่านอาจารย์ ก็ให้เข้าใจว่าหมายความถึงถีนเจตสิก ๑ และมิทธเจตสิก ๑ ซึ่งทั้งสองเจตสิกจะแยกกันไม่ได้เลย เมื่อถีนเจตสิกเกิด มิทธเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย ก็เลยเรียกว่า “ถีทุกะ” เวลาที่ทุกคนรู้สึกท้อถอยมีไหม นั่นคืออะไร ต่างกับขณะที่ไม่ท้อถอย ก็แสดงว่า ต้องมีเจตสิกที่ทำให้อาการอย่างนั้นเกิดขึ้นเท่าที่พอจะรู้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถที่จะไปรู้ความต่างอย่างละเอียดระหว่างอสังขาริกกับสสังขาริก แต่พอที่จะทราบกำลังของสภาพธรรมที่เกิดว่าสภาพธรรมนั้นเกิดเองตามการสะสม โดยที่ว่าไม่ได้อาศัยความลังเล ความไม่แน่ใจคิดไปคิดมา หรือไม่ได้อาศัยการชักจูงของใครเลย อย่างคนที่โกรธๆ ง่ายๆ เขาจะรู้เลยไม่ต้องมีใครชวนเลย ไม่น่าโกรธก็โกรธ ขณะนั้นก็จะเห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะอาศัยการสะสมมามีกำลังที่จะเกิด แต่บางกาลก็ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ก็แสดงให้เห็นว่าบางคนอาจจะเรื่องนี้ก็ไม่เห็นจะน่าโกรธเลย ต้องมาบอกว่าทำไมจะไม่น่าโกรธเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และเขาก็รู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้น นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น และได้ฟังธรรม และจะความเข้าใจลักษณะของจิตนั้นก็พอที่จะเห็นได้ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน แต่ถ้าความเป็นจริงก็กำลังเรียกชื่อตามที่จำไว้ แต่ว่าสภาพธรรมนั้นก็ดับแล้ว ไม่มีทางที่จะรู้ตัวจริงของสภาพธรรมจนกว่าสติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะจะเกิด ไม่มีการคิดนึกเลย แต่รู้ลักษณะ ข้อสำคัญคือมีลักษณะแล้วรู้ลักษณะก่อนที่จะคิด เพราะว่าถ้าขณะใดที่คิดคงยากที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่คิด เพราะว่าแม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏก็ยังไม่รู้เลยว่านามธรรมต่างกับรูปธรรมยังไง เพราะฉะนั้น ก็จะต้องค่อยๆ เข้าใจความต่างของขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์กับขณะที่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์
ผู้ฟัง สภาพธรรมตรงนี้ไม่ได้ปรากฏกับตัวเองบ่อยๆ นัก ก็เพียงชั่วขณะเดียวที่เบื่อที่จะโกรธ แต่พอได้ยินคนพูดก็โกรธเหมือนเดิมอีก
ท่านอาจารย์ กว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็นานอย่างนี้ คิดบ้างอะไรบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่าง จนกว่าจะมีปัจจัยที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเป็นแล้ว
ที่มา ...