ศึกษาพระธรรมก็เพื่อให้เห็นธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาแนะนำว่าควรจะเข้าใจในลักษณะใดที่เหมาะสมกับการอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เห็นความวิจิตรของความคิดไหม คุณเด่นพงศ์ก็คิด และพูดตามความคิด และก็คุณประทีปก็พูด และคิดตามความคิด ทุกคนขณะนี้ก็คิดต่างๆ กันไป เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วก็คือความคิดนั่นเอง ถึงเวลาจริงๆ ความคิดอย่างนี้จะเกิดหรือเปล่า แม้แต่ความคิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ ก็แค่คิดใช่ไหม หมดแล้ว และอะไรจะเกิดก็คือเกิด แล้วแต่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้คิดขณะนั้นเป็นอย่างไร คงจะไม่ซ้ำกับที่คิดอย่างนี้ตอนนี้มีปัจจัยที่จะคิดอย่างนี้ เวลาที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็มีปัจจัยที่จะให้คิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ต่างก็ไม่อยากให้โทสะเกิด ไม่อยากให้โลภะเกิด แต่เมื่อเวลาจริงๆ ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้แล้ว แต่เมื่อเวลาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ให้เกิด

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปไม่ได้แล้วคิดทำไม ในเมื่อเป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นไปไม่ได้อย่างนั้น ความเข้าใจในขั้นการฟังเท่านั้นเองที่จะทำให้เรามีความคิดที่เหมาะสมกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นเพราะไม่รู้จริงๆ มีใครจะรู้ว่ามีอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เมื่อไม่รู้จริงๆ ขณะนี้ก็สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ไม่มีหนทางอื่นเลยหรือที่จะลดน้อยโทสะลง ผมก็ไม่ชอบเหมือนทุกคน

    ท่านอาจารย์ แล้วบังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง คงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ยิ่งไม่ชอบยิ่งเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็เป็นความกรุณาของท่านอาจารย์ แต่ถึงเวลาจริงๆ จะจำได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เฉพาะขณะ เฉพาะขณะเดี่ยวนี้เอง เฉพาะหน้าอะไรจะเกิด ก็คือเมื่อมีปัจจัยก็ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น เมื่อมีปัจจัยก็คิดอย่างนั้น เมื่อมีปัจจัยก็พูดอย่างนั้น ทุกอย่างไม่พ้นจากการสะสมเลย

    อ.วิชัย การศึกษาพระธรรมก็ให้เห็นถึงธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ศึกษาเลยก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมที่มีจริงๆ แต่เรายังมีความสำคัญอยู่ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขาอยู่ แต่เมื่อศึกษาแล้ว แม้แต่โทสะเองก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย โทสะที่เคยสั่งสมมาแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเก็บไว้อยู่ ยังมีอยู่แล้วค่อยเกิดขึ้น แต่ว่าธรรมเมื่อถึงพร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ก็เกิดขึ้น อย่างเช่นโทสะเองซึ่งเป็นสภาพที่ประทุษร้าย ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในขณะที่ประสบอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา และลักษณะของโทสะเอง เมื่อเกิดแล้วก็ยังมีธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย อย่างเช่นอิสสา มัจฉริยะ และก็กุกกุจจะ ซึ่งธรรมเหล่านี้ก็เกิดขึ้นพร้อมกับโทสะ แต่ก็ไม่ใช่เกิดพร้อมกันทั้งหมด แต่เกิดขึ้นทีละประเภท แต่บางคราวก็ไม่เกิด ก็แล้วแต่ปัจจัยนั้นๆ ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 172


    หมายเลข 9970
    3 ก.ย. 2567