เวลาที่โทสะเกิด แล้ว อยากไม่มีโทสะ


    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องของโทสะ ซึ่งคำถามของคุณสุกัญญาก็เกี่ยวกับโทสะ เพราะว่าความอดทนในคนอื่น หรือว่าในกิเลสของตัวเองก็ต้องหมายความว่ามีความไม่พอใจที่จะมีกิเลสในขณะนั้น แล้วจะอดทนต่อกิเลสของตัวเอง และของคนอื่นได้อย่างไร ความจริงคำถามนี้ถ้าจะคิดก็น่าสงสัยได้หลายอย่าง อดทนต่อกิเลสของตัวเองหมายความว่ายังไง ไม่อยากให้กิเลสเกิดหรือยังไง

    ผู้ฟัง คือไม่มีสติปัญญาที่เพียงแต่จะระลึกได้ถึงอกุศลนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เข้าใจความหมายของคำว่า “อดทน” จริงๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรม ทุกคนที่กำลังอยู่ที่นี่ ทราบไหมว่ากำลังอดทน อากาศก็ร้อน แต่ทุกคนก็ยังอยู่ด้วยความอดทน แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงว่าขณะนี้กำลังมีความอดทน แต่ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะไม่มีธรรมฝ่ายอกุศลเกิดร่วมด้วยเลย สภาพธรรมละเอียดมาก แม้แต่คำ"อดทน"ที่เราคิดถึงเรื่องกิเลส และความอดทนต่อความไม่ดีของคนอื่นหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ความอดทนละเอียดกว่านั้นอีก คือแม้ขณะนี้ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด แม้อากาศร้อน ขณะนั้นก็ยังเป็นความอดทนประการหนึ่งที่จะไม่บ่น หรือว่าไม่เดือดร้อนหรือว่าอาจจะไม่รำคาญใจ แต่ว่ายาก เพราะจริงๆ แล้วขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ แต่ละคนจะมีความอดทนอะไรบ้างเกือบจะไม่รู้เลย บางคนก็ต้องอดทนเพราะกำลังอยากฟังเรื่องของโทสะมากๆ หรือว่าบางคนก็อาจจะคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่างๆ เวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็อาจจะขุ่นเคืองใจก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าความอดทนเป็นขณะที่กุศลจิตเกิด แล้วขณะนั้นก็แล้วแต่ว่าจะอดทนต่ออะไร ต่อสภาพของสิ่งแวดล้อม ต่อคำพูดของคนอื่น ต่อกิเลสของตัวเองที่ใคร่จะได้ฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่จะทำให้ปัญญาเกิดหรืออะไรก็ตามแต่ เรื่องของโทสะฟังมาตั้งหลายอาทิตย์แล้วไม่จบสักที แต่ฟังไปโทสะก็เกิดแล้วก็เกิดอีกอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันที่จะหมดไปได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องอดทนต่อการฟังด้วยดี ด้วยการเห็นประโยชน์ว่าแม้แต่การที่จะฟังธรรมก็ยังต้องอดทนเลย เพราะฉะนั้น ที่คุณสุกัญญาถาม กิเลสของเราเองที่ไม่พอใจอะไรในขณะนี้มีบ้างไหม และการที่ฟังธรรมก็เป็นการอดทนที่จะเข้าใจให้ถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะแม้ว่าเราจะรู้เรื่องของโทสะมาก บ่อยๆ หลายอาทิตย์ หรือว่าในพระไตรปิฎกทุกเล่มก็จะมีเรื่องของโทสะด้วย เรื่องของอกุศลก็จะต้องปรากฏที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง แต่โทสะก็ยังมี เพราะฉะนั้น เราสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องได้ว่าการที่เราจะต้องฟังแล้วฟังอีกก็เป็นขันติบารมี เป็นความอดทนที่จะได้เข้าใจธรรม และแม้จะบอกว่าโทสะเป็นสภาพธรรม แต่เวลาที่โทสะเกิดก็ไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างที่เราได้ศึกษามา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการฟังก็ต้องมีการพิจารณา และก็ต้องมีการเข้าใจธรรมในขณะที่ฟัง กำลังเข้าใจเรื่องของลักษณะของโทสะ แต่เวลาที่โทสะเกิด มาแล้ว อยากไม่มีโทสะ หรือว่าจากการฟังที่เราฟังด้วยความอดทนมานาน เริ่มที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่เป็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม คือแต่ก่อนเวลามีโทสะ ก็ไม่อยากมีโทสะเลย และก็อาจจะใจร้อน และก็ถามว่าเมื่อไหร่จะไม่มีโทสะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ให้ทราบว่า สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็ต้องเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ไม่มีเรา และอาจจะมีลักษณะของสภาพธรรมหลายอย่าง โทสะหรือเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก หรือเมตตา กรุณา หรืออะไรก็แล้วแต่มีปัจจัยทำให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ประโยชน์ของการฟังคืออดทนต่อไปอีก เพราะรู้ว่าด้วยอาศัยความอดทนที่เป็นขันติบารมีนี่เองที่จะทำให้วันหนึ่งเราก็สามารถที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่เลือก เพราะว่าถ้าเลือกเมื่อไหร่ก็มีความเป็นเรา เมื่อกี้นี้มีความเป็นเราหรือเปล่า เห็นไหม แต่เราไม่รู้สึกเลย เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว อกุศลมีมาก แล้วก็ละเอียด แต่กว่าจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะฟังเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และมีความเข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร มีปัจจัยก็เกิด แต่ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลที่เกิดส่วนใหญ่ ปกติจะไม่พอใจถ้าเป็นโทสะ ถ้าเป็นโลภะก็ไม่ค่อยจะรู้สึก แต่ถ้าเป็นโทสะจะไม่พอใจ แต่ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ประโยชน์คือสามารถเริ่มเห็นถูก เข้าใจถูก ในลักษณะนั้นว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และก็เป็นสภาพธรรมที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดแล้วจึงปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย นี่คือขันติ ขณะนี้ก็กำลังเป็นบารมีที่จะทำให้สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ในวันหนึ่ง


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 173


    หมายเลข 9971
    3 ก.ย. 2567