ปัจจัยที่ทำใหัเกิดความโกรธ
ผู้ฟัง ทุกคนมีปัจจัยภายในของโทสะคืออะไร แล้วปัจจัยภายนอกคืออะไร โทสะจึงเกิดซึ่งคล้องกับที่ท่านอาจารย์พูดว่าโดยไม่เลือก เกิดก็ต้องเกิด มันเกิดจากปัจจัยภายนอกด้วย
อ.วิชัย แต่ละท่านก็มีอุปนิสัยแตกต่างกัน บางท่านก็เป็นผู้ที่มักโกรธ คือเห็นหรือประสบอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเพียงเล็กน้อยก็โกรธ เพียงคำพูดเล็กน้อยก็โกรธ อันนี้ให้เห็นถึงว่าอัธยาศัยที่สะสมมาเป็นผู้ที่มักโกรธ หรือบางท่านสะสมมาที่จะเป็นผู้ที่สามารถอดทนต่อบุคคลอื่นหรือต่อสภาวะแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้ อันนี้ก็เห็นถึงอุปนิสัยภายในที่สั่งสมมาที่จะเป็นผู้ที่มีความอดทน ไม่เป็นผู้ที่มักโกรธ อันนี้ก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่สั่งสมมาที่เรียกว่าเป็นอุปนิสัยซึ่งเป็นปัจจัยภายใน
ส่วนปัจจัยภายนอก ก็หมายถึงว่าคลุกคลีกับผู้ที่มักโกรธ ก็มีการสั่งสมสมาคมกับผู้ที่มักโกรธ ก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะมีการคลุกคลีกัน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธได้ หรือว่าไปประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา อันนี้ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่ให้เกิดความโกรธได้
ผู้ฟัง อาจารย์วิชัยให้ประเด็นที่น่าจะสนทนา คือ ๑. คลุกคลีกับผู้ที่มักโกรธ อันนี้จะทำให้เรามักโกรธอย่างไร ๒. อารมณ์ซึ่งไม่น่าพอใจเกิดจากอะไร อันนี้ลึกซึ้งมากทั้งสองข้อ
อ.วิชัย ก็เห็นถึงการสั่งสมการสมาคมกับบุคคลต่างๆ อย่าง เช่นถ้าเรามีสหายผู้ซึ่งมักโกรธ เมื่อคบสมาคมก็อาจจะมีคำแนะนำชักชวนให้กระทำอย่างนี้ ต้องกล่าวโต้คืน หรือว่าต้องโกรธ หรือว่าต้องกระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นการตอบโต้ต่างๆ อันนี้ก็แสดงให้เห็นถึงมีการชักจูงต่างๆ ซึ่งปกติแล้วเราสามารถอดทนได้ แต่เมื่อคบกับมิตรที่ไม่ดีก็อาจจะมีการชักชวนต่างๆ ให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี ก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้ความโกรธที่สั่งสมมาเกิดขึ้นได้โดยคำชักชวน การสมาคม เห็นบ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยให้ความโกรธเจริญขึ้นได้ หรือถ้าประสบอารมณ์สิ่งไม่น่าปรารถนาก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง อย่างเช่นถ้าได้ยินคำด่าว่าเรา ไม่น่ายินดีใช่ไหม หรือว่าอาจจะมีทรัพย์สินเสียหายขึ้นมา อันนี้ก็เป็นสิ่งไม่น่ายินดี นี่ก็คือประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธขึ้นได้
ท่านอาจารย์ เวลาที่โทสะเกิด เพราะความคลุกคลี ก็คงจะเห็นในชีวิตประจำวันยุคนี้คือ เด็กนักเรียนตีกันใช่ไหม ก็เพราะเหตุว่า คลุกคลี และก็มีการคิดว่าสมควรที่จะทำอย่างนั้น ก็ชักชวนกันทำ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าลำพังคนเดียวก็อาจจะไม่คิดอย่างนั้น แต่เวลาที่มีเพื่อนฝูง และมีความคิดเห็นอย่างนั้นก็ชักชวนกันไปในทางที่ทำให้พยาบาท อาฆาต และประทุษร้ายกัน แต่จริงๆ แล้วถ้าจะคิดถึงสภาพของปรมัตถธรรม ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น มีอนุสัยกิเลสที่สะสมมานานแสนนาน รวมทั้งปฏิฆานุสัยซึ่งหมายความถึง การสะสมของความขุ่นเคืองใจหรือโทสเจตสิกนั่นเอง เพราะฉะนั้น ปกติธรรมดาถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจ โทสะจะเกิดไหม ไม่เกิดใช่ไหม หรือใครเห็นสิ่งที่น่าพอใจสะสมมาจนกระทั่งแม้เป็นสิ่งที่น่าพอใจก็ยังไม่พอใจได้ นั่นก็เป็นอัธยาศัยพิเศษ แต่ว่าตามปกติธรรมดา ถ้าเราเห็นสิ่งที่พอใจเราจะติดข้อง และถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเราก็จะไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังไม่ทันจะรู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร นี่คือความแรง ความมีกำลังของอกุศล สิ่งที่ได้สะสมมาซึ่งเป็นอนุสัยกิเลส หมายความว่า เป็นสิ่งที่สะสมอยู่ในจิตยังไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานเลย แต่มีกำลังที่จะทำให้อกุศลเจตสิกเกิดขึ้นได้ ถ้าตราบใดที่อนุสัยนั้นยังไม่ได้ดับ
เพราะฉะนั้น เมื่อมีอารมณ์กระทบไม่ว่าจะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ตามแต่ เช่น เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขณะนั้นเมื่อการรู้อารมณ์นั้นๆ ดับไปแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้จิต ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี ก็พอใจ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี ก็ไม่พอใจ โดยที่ยับยั้งไม่ได้เลย นี่คือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ให้ทราบว่าเริ่มเกิดตั้งแต่อารมณ์กระทบ โดยที่อารมณ์นั้นยังไม่ทันรู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร เพียงแต่เป็นสิ่งที่กระทบแล้วเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โทสมูลจิตก็เกิดขึ้น และเมื่อรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ลองคิดดูถึงการที่จิตเกิดดับสลับการอย่างเร็วมาก ทั้งๆ ที่เห็นเหมือนไม่ดับเลย แต่ทางใจก็เริ่มเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ คือคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ความโกรธก็มาอีก จากทางตาที่เพียงเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ แต่พอถึงกาลที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ความไม่พอใจก็ติดตามมาเป็นเรื่องเป็นราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ มากมาย เพราะเหตุว่า เราไม่ได้เพียงรู้สิ่งที่ปรากฏ ยังจำเรื่องราวของสิ่งนั้นไว้ด้วย
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อในวันหนึ่งก็เต็มไปด้วยสภาพธรรมที่มีจริงเกิดดับ และก็เรื่องราวสมมติบัญญัติที่ทรงจำในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าจะสะสมโลภะหรือโทสะมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และก็ยังกิเลสอีกมากมาย ที่พูดอย่างนี้ ก็เพื่อจะให้เห็นว่าวันหนึ่งๆ เราอยู่ในห้วงของอกุศล หรือจมอยู่ในอกุศลธรรมมากแค่ไหน นี่เฉพาะโทสะ โลภะไม่ต้องนับ
ที่มา ...