ถ้ามีความมั่นคงก็จะรู้ลักษณะที่เกิดแล้วว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ขอเรียนถามถึงการฟังธรรมจะมีเหตุอย่างไร ที่ทำให้บางครั้งโทสะกล้ากว่าเดิมก็มี ประมาณเท่าเดิมก็มี น้อยหรือไม่ล่วงก็มี มันมีหลายแบบ
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมก็ทำให้คุณศุภักษร ได้รู้ลักษณะของโทสะของตนเองว่าไม่ได้เป็นเหมือนกันทุกครั้ง บางครั้งก็โทสะเล็กน้อย บางครั้งก็โทสะมากก็มาเป็นเล็กน้อยอีกได้ แล้วก็เล็กน้อยก็ไปเป็นมากอีกก็ได้ เพราะเหตุว่า ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดโทสะ ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ วันนี้เราเป็นคนสงบเสงี่ยม วันรุ่งขึ้นเราจะเป็นยังไง หรือตอนไม่เย็นอาจจะมีเหตุการณ์ซึ่งไม่สามารถจะระงับได้ ก็ได้
เพราะฉะนั้น ที่ถามเรื่องละเอียด และก็หยาบ ก็แสดงให้เห็นว่าคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยนอกจากตัวเอง พระธรรมที่ทรงแสดง เราอาจจะบอกว่าเราอ่าน และก็เห็นว่าลักษณะของโทสะหลายอย่าง ตั้งแต่เริ่มขุ่นนิดๆ จนกระทั่งมีอาการออกทางสีหน้า อาจจะหน้าแดงจนกระทั่งมีการลุกขึ้นหยิบไม้ขว้างปา ตัวสั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นก็เป็นสิ่งที่ได้ประมวลไว้ว่าจริงๆ แล้วก็สภาพของโทสะก็ทำให้เกิดลักษณะอาการต่างๆ ได้ แต่ใครรู้ ไม่ใช่ว่าเวลาเราไปอ่านอย่างนั้นแล้วเราก็เข้าใจหมด แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมเกิด เราต้องมานั่งเทียบว่าเหมือนหน้านี้ บรรทัดนี้ที่กล่าวไว้ว่ากำลังขุ่นนิดๆ หรือเพิ่มขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การศึกษาธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรม เพื่อที่จะละคลายความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ความขุ่นใจเล็กน้อย บางทีอาจจะไม่สังเกต มีมากในวันหนึ่งๆ เริ่มตื่นขึ้นมา นิดๆ หน่อยๆ เกือบไม่รู้สึกเลย และก็จะมีวาจาซึ่งออกมาจากความรู้สึกนั้นด้วย แต่วาจาที่ออกมา ถ้าเป็นผู้ที่สังเกต รู้ความต่างแล้ว วาจาที่ประกอบด้วยโทสะ น้ำเสียง และคำพูดกับวาจาที่ประกอบด้วยเมตตา ต่างกันแน่นอน
เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็จะรู้สึกตัวเอง ว่าจากโทสะที่มีแล้วยังไม่ได้เอ่ยคำพูดอะไรเลย กับการพูดซึ่งต้องพูด แต่ในลักษณะติเตียนหรือว่าพูดในลักษณะที่สอนแล้วก็เข้าใจ และอภัยให้ด้วย แทนที่จะติเตียนแล้วบอกว่าคราวหน้าจะไม่ทำอย่างนี้ นั่นก็คือไม่ได้ติเตียน แต่ก็คือให้เขารู้ว่าขณะที่เขาทำ เป็นอย่างนั้น หรือว่าบางคนเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็ยังคิดต่อไปอีก คนนี้เป็นอย่างนี้ตลอดเลย บอกตั้งหลายครั้งก็ยังไม่เชื่อ ก็เป็นเรื่องที่ยาวไปอีกด้วยกำลังของโทสะซึ่งก็ไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น จะมีระดับที่ขุ่นเคืองใจเล็กน้อย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น เริ่มรู้ เริ่มเห็นว่าแม้แต่เพียงนั่งเฉยๆ ขณะนี้ก็รำคาญก็ได้ เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ หม่นหมอง หรือว่าเป็นทุกข์ หรือรำคาญ จะด้วยประการใดๆ ก็แล้วแต่ เบื่อๆ ก็มี รำคาญก็มี นี่ก็เป็นลักษณะของโทสะทั้งหมด แต่เป็นอย่างที่ยังไม่ถึงการที่จะประทุษร้าย และก็ไม่ได้แสดงออกมาด้วยกายด้วยวาจา
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มเข้าใจธรรมก็จะเห็นสภาพที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน เริ่มเข้าใจแต่ยังคงเป็นชื่อ หรือว่ายังคงเป็นเรา แต่เริ่มที่จะไม่สนใจในอย่างอื่น แต่ว่ากำลังมีลักษณะแต่ละลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะอย่างนั้นจริงๆ แต่ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ จนกว่าจะอาศัยการฟังด้วยความละเอียด จึงรู้ว่าแม้ขณะที่กำลังฟังก็ยังมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดปรากฏ แต่ปกติแล้วก็คือว่าเกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมาก ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าไม่มีเราที่จะปล่อย หรือว่าไม่มีเราที่จะไม่ปล่อย นั่นคือผิดแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่ปล่อยก็คือเรากำลังจงใจพยายามด้วยความเห็นว่าเป็นเราที่จะจงใจ ถ้าจะปล่อยก็คือว่าก็เป็นเราอีกนั่นแหละที่ปล่อยไปซึ่งความจริงไม่ได้ปล่อยอะไรเลย เพราะเหตุว่า สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้ว แต่ไปคิดว่าปล่อย ใช่ไหม นี่ก็เป็นความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ก็คือว่ารู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ มีลักษณะแต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วจึงได้ปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ถ้ามีความมั่นคงอย่างนี้ก็จะรู้ลักษณะที่เกิดแล้ว ไม่คิดถึงลักษณะที่ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น วันนี้จะมีโทสะระดับไหน แต่ละคนรู้เอง และเวลาที่โทสะเกิดกำลังจะพูด ก็รู้เองอีกว่ากุศลเปลี่ยนคำพูดนั้นหรือเปล่า หรือว่าเหมือนเดิม หรืออาจจะมีกำลังเพิ่มขึ้นก็ได้ ก็เป็นธรรมที่ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่ปัญญาเริ่มเข้าใจถูก แม้ในคำว่า “ธรรม” แม้ว่ายังไม่ประจักษ์ในลักษณะที่เป็นธรรมแต่ก็คุ้นเคยที่จะเข้าใจว่าไม่มีเรา ทั้งหมดเป็นธรรม
ผู้ฟัง เรื่องโทสะก็พอจะรู้ตัวว่าสะสมมาเยอะ แล้วก็เกิดไว พอเริ่มมีลักษณะที่รู้ตัวก็มีการวิรัติ แต่ถ้าอยู่ตรงนั้นอีกสักนิดเดียวก็จะเกิดขึ้นมาอีก ตรงนี้มันคืออะไร
ท่านอาจารย์ อนัตตา นี่คือเรายังไม่ได้คุ้นเคย ยังไม่ได้มีความมั่นคงว่าทุกขณะจิต สภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจิต เจตสิก รูป เป็นอนัตตา ใครจะทำอะไรทั้งหมดตามการสะสม จะเบือนหน้าหนี หรือจะโต้ตอบ หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด แต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา นี่คือธรรม ให้เข้าใจในความเป็นธรรมทุกอย่าง ถ้าสงสัยตรงนี้ไม่เป็นธรรมแล้วใช่ไหม นี่คือยังไม่มั่นคง คุณศุภักษรแต่ก่อนไม่หลีกเป็นธรรมหรือเปล่า และกำลังหลีกเดี๋ยวนี้เป็นธรรมหรือเปล่า
ที่มา ...