อวิชชาสูตร แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๑
คุณอุไรวรรณ กราบท่านอาจารย์ และผู้ร่วมสนทนาธรรมทุกท่านค่ะ วันนี้ วันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ พระสูตรที่จะนำมาสนทนากันในวันนี้ คือ มัคคสังยุต อวิชชาวรรคที่ ๑ อวิชชาสูตร จากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๕ ภาคที่ ๑
คำว่า อวิชชาสูตร ก็คงรู้จัก อวิชชา กันเป็นอย่างดีแล้ว เพราะฉะนั้น อวิชชาสูตร นี้ก็เป็นสูตรที่ว่าด้วย อวิชชาเป็นหัวหน้า เป็นหัวหน้าของอะไร อวิชชา ก็เป็นหัวหน้าของอกุศล ขณะเดียวกัน และวิชชาก็เป็นหัวหน้าของกุศล ในอวิชชาสูตรมีความหมายอย่างนั้น ทีนี้คำแปลที่ให้ไว้ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศล และกุศลคือถ้าแปลอย่างนี้ เวลาอ่านแล้วอาจจะงง เพราะฉะนั้นก็เรียบเรียงใหม่ว่า ว่าด้วยอวิชชาเป็นหัวหน้าของอกุศล และวิชชาเป็นหัวหน้าของกุศล ความก็เหมือนกัน แต่ว่า คำขยายเปลี่ยนที่เท่านั้น
ก็ขอเชิญอ่านพร้อมกันเลย
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 1
ว่าด้วยอวิชชา และวิชชาเป็นหัวหน้าแห่งอกุศล และกุศล
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
[๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งมั่นผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.
[๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา เป็นหัวหน้าในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความละอายบาป ความสะดุ้งกลัวบาป ความเห็นชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้รู้แจ้ง ประกอบด้วยวิชชา ความดำริชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความเห็นชอบ เจรจาชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริชอบ การงานชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาชอบ การเลี้ยงชีพชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานชอบ พยายามชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพชอบ ระลึกชอบย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามชอบ ตั้งมั่นชอบย่อมบังเกิดมีแก่ผู้มีระลึกชอบ.
จบอวิชชาสูตรที่ ๑
อรรถกถามัคคสังยุต ในมหาวารวรรค
อวิชชาวรรคที่ ๑
พึงทราบวินิจฉัยในอวิชชาสูตรที่ ๑ แห่งมหาวรรค. (๑)
บทว่า ปุพฺพงฺคมา ได้แก่ เป็นหัวหน้าด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย ๑ ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย ๑. บทว่า สมาปตฺติยา ความว่า เพื่อการเข้าถึง เพื่อการได้สภาพ เพื่อความเกิดขึ้น. บทว่า อนฺวเทว อหิริกํ อโนตฺตปฺปํ ความว่า ก็อหิริกะ ตั้งอยู่ด้วยอาการแห่งความไม่ละอาย และอโนตตัปปะ ตั้งอยู่ด้วยอาการแห่งความไม่กลัวนั่นใด อวิชชานี้นั้น ย่อมเกิดขึ้นร่วมกับอหิริกะ และอโนตตัปปะนั้น เว้นอหิริกะ และอโนตตัปปะนั้นเสีย หาเกิดขึ้นได้ไม่. บทว่า อวิชฺชาคตสฺส ความว่า มิจฉาทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ผู้เข้าถึง คือประกอบด้วยอวิชชา. บทว่า มิจฺฉาทิฏฺิ ได้แก่ความไม่เห็นตามเป็นจริง คือความไม่เห็นธรรมเครื่องนำสัตว์ให้พ้นทุกข์. บทว่า ปโหติ คือย่อมมี ได้แก่ย่อมเกิดขึ้น. แม้ในมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น พึงทราบความเป็นมิจฉาด้วยสามารถความไม่จริง และไม่นำสัตว์ให้พ้นทุกข์นั่นแล. ชื่อว่า องค์แห่งความเป็นมิจฉาเหล่านี้ ย่อมมี เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรม ๘ ด้วยประการฉะนี้. ส่วนองค์แห่งมิจฉัตตะทั้งหลายเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมไม่เกิดในขณะเดียวกัน ย่อมเกิดในขณะต่างๆ กัน. ถามว่าอย่างไร. ตอบว่า เมื่อใดจิตประกอบด้วยทิฏฐิ เมื่อยังกายวิญญัติให้ตั้งขึ้น ย่อมเกิดเมื่อนั้น ก็ย่อมมีองค์ ๖ คือ มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มิจฉาสังกัปปะ (ความดำริผิด) มิจฉาวายามะ (ความพยายามผิด) มิจฉาสติ (ความระลึกผิด) มิจฉาสมาธิ (ความตั้งมั่นผิด) มิจฉากัมมันตะ (การงานผิด) . เมื่อใด จิตไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เมื่อนั้นมีองค์ ๕ เว้นมิจฉาทิฏฐิ. เมื่อใดสององค์เหล่านั้นแล ย่อมยังวจีวิญญัติให้ตั้งขึ้น เมื่อนั้นย่อมมีองค์ ๖ หรือองค์ ๕ ตั้งอยู่ในมิจฉาวาจา ในฐานะมิจฉากัมมันตะ ชื่อว่า อาชีวะนี้ เมื่อกำเริบ ย่อมกำเริบในกายทวาร และวจีทวาร ในทวารใดทวารหนึ่งเท่านั้น หากำเริบในมโนทวารไม่. เพราะฉะนั้น องค์ ๖ หรือองค์ ๕ เหล่านั้นแล ย่อมมีด้วยอำนาจมิจฉาชีวะว่า เมื่อใด จิตเหล่านั้นแล ย่อมยังกายวิญญัติ และวจีวิญญัติให้ตั้งขึ้น โดยมุ่งถึงอาชีวะ เมื่อนั้นกายกรรม จึงชื่อว่า มิจฉาชีวะ วจีกรรม ก็อย่างนั้น. ก็เมื่อใดจิตเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้น เพราะไม่ยังวิญญัติให้ตั้งขึ้น เมื่อนั้นย่อมมีองค์ ๕ ด้วยสามารถแห่งมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ และมิจฉาสมาธิ หรือองค์ ๔ ด้วยสามารถแห่งมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น ดังนั้น องค์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เกิดในขณะเดียวกันทั้งหมด ย่อมเกิดในขณะต่างๆ กันอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
ในสุกกปักข์ บทว่า วิชฺชา ได้แก่ รู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน. แม้ในวิชชานี้ พึงทราบความที่วิชชาเป็นหัวหน้า โดยอาการ ๒ คือ ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย ๑ ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย ๑. บทว่า หิโรตฺตปฺปํ ได้แก่ ความละอายบาป และความกลัวบาป. ในธรรม ๒ อย่างนั้น หิริ ตั้งอยู่ด้วยอาการแห่งความละอาย โอตตัปปะ ตั้งอยู่ด้วยอาการแห่งความกลัว. นี้เป็นความสังเขปในข้อนี้. ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวในวิสุทธิมรรคแล้วแล. บทว่า วิชฺชาคตสฺส ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ย่อมเกิดมีแก่ผู้เข้าถึงคือ,,,,ประกอบด้วยวิชชา. บทว่า วิทฺทสุโน ได้แก่ ผู้รู้แจ้งคือบัณฑิต. บทว่า สมฺมาทิฏิ ได้แก่ความเห็นตามเป็นจริง คือความเห็นนำสัตว์ให้พ้นทุกข์.
แม้ในสัมมากัมมันตะเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. องค์ ๘ เหล่านี้ย่อมมีเพื่อความเกิดแห่งกุศลธรรมด้วยประการฉะนี้. องค์แม้ ๘ เหล่านั้น ย่อมไม่เกิดพร้อมกันในขณะแห่งโลกิยมรรค แต่ย่อมเกิดพร้อมกันในขณะแห่งโลกุตตรมรรค. ก็แลองค์ ๘ เหล่านั้น ย่อมมีในมรรคอันประกอบด้วยปฐมฌาน ส่วนในมรรคอันประกอบด้วยทุติยฌานเป็นต้น ย่อมมีองค์ ๗ เท่านั้น เว้นสัมมาสังกัปปะ.
ในองค์ ๗ เหล่านั้น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เพราะในมหาสฬายตนสูตร ในมัชฌิมนิกาย ท่านกล่าวว่า ความเห็นของผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ความเห็นอันนั้น ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิของผู้นั้น ความดำริของผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ความดำริอันนั้น ย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะของผู้นั้น ความพยายามของผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ความพยายามอันนั้น ย่อมเป็นสัมมาวายามะของผู้นั้น ความระลึกของผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ความระลึกอันนั้น ย่อมเป็นสัมมาสติของผู้นั้น. ความตั้งใจมั่นของผู้เป็นอย่างนั้นอันใด ความตั้งมั่นอันนั้น ย่อมเป็นสัมมาสมาธิของผู้นั้น. ก็แล ในเบื้องต้นกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของผู้นั้น ก็ย่อมบริสุทธิ์ด้วยดี ดังนี้. ฉะนั้น โลกุตตรมรรค ก็ย่อมประกอบด้วยองค์ ๕ เท่านั้น ดังนี้. ผู้นั้นพึงถูกเขาต่อว่า ในสูตรนั้นแลว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่เห็นคำนี้ว่า อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ย่อมถึงความเจริญเต็มที่แก่ภิกษุนั้นอย่างนี้ ดังนี้. ส่วนข้อที่ท่านกล่าวว่า ปุพฺเพว โข ปนสฺส นั้น ท่านกล่าวแล้วเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ จำเดิมแต่วันที่บวชแล้ว ในข้อนี้ท่านแสดงความหมายไว้ดังนี้ว่า ก็จำเดิมแต่วันที่บวชแล้ว กายกรรมเป็นต้นอันบริสุทธิ์ ย่อมบริสุทธิ์ยิ่งนัก ในขณะแห่งโลกุตตรมรรคดังนี้.
แม้คำใด อันท่านกล่าวในอภิธรรมว่า ก็ในสมัยนั้นแล มรรคย่อมประกอบด้วยองค์ ๕ คำนั้นท่านกล่าวเพื่อแสดงในระหว่างกิจอย่างหนึ่ง. ก็ในกาลใด บุคคลละการงานผิดแล้ว ย่อมยังการงานที่ชอบให้บริบูรณ์ในกาลนั้น.
มิจฉาวาจา หรือมิจฉาชีวะ ย่อมไม่มี สัมมากัมมันตะ ย่อมให้บริบูรณ์ในองค์ที่เป็นตัวการทั้งหลาย ๕ เหล่านี้คือ ทิฏฐิ ๑ สังกัปปะ ๑ วายามะ ๑ สติ ๑ สมาธิ ๑. ก็สัมมากัมมันตะ ชื่อว่า ย่อมให้บริบูรณ์ได้ด้วยสามารถแห่งวิรัติ แม้ในสัมมาวาจา และสัมมาอาชีวะ ก็มีนัยนี้แล. คำอันท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ เพื่อแสดงในระหว่างกิจนี้. ส่วนในขณะแห่งโลกิยมรรค ย่อมมีองค์ ๕ แน่. แต่วิรัติไม่แน่ เพราะฉะนั้น ท่านไม่กล่าวว่ามีองค์ ๖ แต่กล่าวว่า มีองค์ ๕ เท่านั้น ด้วยประการฉะนี้. ก็บัณฑิตพึงทราบว่า โลกุตตรมรรคย่อมมีองค์ ๘ เพราะความสำเร็จแห่งสัมมากัมมันตะเป็นต้น เป็นองค์แห่งโลกุตตรมรรค ในสูตรหลายสูตร มีมหาจัตตารีสกสูตร เป็นต้น อย่างนี้ว่า ก็ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมีจิตเป็นอริยะ หาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ การงด การเว้น การเว้นขาด จากกายทุจริต ๓ คือเจตนาเครื่องงดเว้นไม่กระทำ การไม่ทำอันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะนี้ ย่อมเป็นโลกุตตรมรรค เป็นอริยะหาอาสวะมิได้ ดังนี้. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสมรรคมีองค์ ๘ นี้ เจือด้วยโลกิยะ และโลกุตตระ.
จบอรรคกถาอวิชชาสูตรที่ ๑
(๑) บาลีเป็น มหาวารวรรค
คุณอุไรวรรณ เชิญค่ะ คุณประเชิญ
อ.ประเชิญ ในอวิชชาสูตรนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสูตร ที่มาจากพระโอษฐ์ของพระภูมิภาค ซึ่งท่านก็ได้เอารวบรวมไว้ ในสังยุตตนิกายมหาวารวรรค ซึ่งท่านผู้เป็นพระเถระทั้งหลาย มีท่านพระมหากัสสปะ เป็นต้น ท่านได้รวบรวม เรียบเรียง เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการสาธยายในยุคนั้น ในการทรงจำ เพราะฉะนั้นท่านก็จะจัดเป็นหมวดหมู่ อย่างในเรื่องมรรค ท่านก็จะรวมเป็นมรรค ในวรรค มัคคสังยุตต์ แล้วก็จะแยกเป็นวรรคๆ มากมาย ก็จะมีเรื่องอินทรีย์ อิทธิบาท โพชฌงค์อะไรทั้งหลาย ท่านก็จะมีแยกไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการศึกษา ในการสาธยายของผู้ที่ศึกษา
ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องชีวิตประจำวันทั้งนั้น โดยเฉพาะเรื่องของอวิชชา ที่เป็นหัวหน้าพร้อมทั้งสัมปยุตตธรรม ที่เป็นบริวารมากมาย ที่เกิดร่วมด้วย มรรคที่มาเกิดร่วมที่เป็น บริวารของอวิชชาก็ตั้ง ๕ องค์ เมื่ออวิชชาเกิดขึ้น ความดำริก็ผิด ความพยายามก็ผิด เป็นต้น นั่นก็เป็นเรื่องของความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งก็มีอวิชชาเป็นหัวหน้า ส่วนนัยตรงกันข้าม ฝ่ายกุศล เวลาวิชชาเกิดขึ้น ก็มีหัวหน้า แล้วก็โดยองค์มรรคที่ท่านกล่าวถึง ๕ องค์ ที่เป็นโลกิยะในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นโลกุตตระก็จะครบ ๘
ข้อความในอรรถกถา บางท่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย ซึ่งถ้าหากว่า ได้ศึกษาจากพระสูตร และอรรถกถาบ่อยๆ ก็จะทำให้คุ้นเคย และทำให้ไม่ยากในการศึกษา ซึ่ง ณ ที่มูลนิธิแห่งนี้ เราก็ได้มีการสนทนาทุกวันเสาร์อยู่แล้ว ก็หลายท่านก็เริ่มพอที่จะคุ้นเคย และเริ่มที่จะเข้าใจในภาษา ในพระไตรปิฎกมากขึ้น เพราะว่าท่านแปลมาจากภาษาบาลี และบางทีก็เป็นภาษาในสมัยโบราณ ซึ่งก็เป็นภาษาของธรรม ถ้าหากว่ามีความคุ้นเคย ได้อ่านบ่อยๆ ได้ฟังบ่อยๆ ก็จะเป็นผู้ที่คุ้นเคย และเข้าใจมากขึ้น
ซึ่งในหน้าแรกนี้ เรียกว่าพระบาลี มาจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค ส่วนในแผ่นที่ ๒ แผ่นที่ ๓ ก็จะเป็นคำขยายความ ของอรรถกถาจารย์ ที่ท่านขยายความไว้ ซึ่งอรรถกถานี้ ดั้งเดิมที่เรียกว่ามูลอรรถกถานี้ ก็คือเป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ท่านขยายความไว้ ก็จะมีการสืบทอดกันมา ตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล แต่ว่าไม่ได้ยกขึ้นสู่การทำสังคายนา หรือว่าไม่ได้ยกขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ ครั้งก็ไม่เรียกว่าพระบาลี เพราะฉะนั้นคำขยายความอธิบาย หรือเรื่องที่ท่านขยายความให้เข้าใจมากขึ้น ก็จะเรียกว่ามีมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว เรียกว่าปกิณณกกถา ปกิณณกเทศนา ก็จะมี เป็นที่ทราบกันในตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นในยุคหลัง ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านอาจารย์รุ่นหลังท่านก็ได้ เรียบเรียงเอาคำขยายความจาก ผู้ที่มีความรู้ ตั้งแต่ยุคที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย มารวบรวมเป็นคำขยายความในแต่ละสูตรๆ เข้ามา ซึ่งในพระไตรปิฏกฉบับมูลนิธิมหามกุฏ ท่านก็รวมเอาอรรถกถาขยายความ มาอยู่เป็นเล่มเดียวกัน แล้วก็ต่อเป็นสูตรๆ ไปเลย ในบางฉบับนั้นท่านก็แยก คือส่วนพระไตรปิฎก ท่านก็แยกไปเลย ๔๕ เล่ม และอรรถกถาท่านก็แยกไป
ซึ่งในฉบับนี้ก็เป็น ฉบับที่สะดวกสำหรับคนในยุคนี้ ที่ว่าไม่ต้องไปเรียนภาษาบาลี ท่านก็แปลมาเรียบร้อย และอรรถกถาก็ไม่ต้องแยกเล่ม อยู่ในเล่มเดียวกันนี้ ก็สะดวกในการศึกษา ซึ่งก็มีข้อความ เนื้อหา ที่ควรกับการสนทนามากมาย ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตประจำวันด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่มีพยัญชนะ ที่เป็นภาษาบาลีมากมาย แต่นั้นก็คือเป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิตประเภทต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าหากว่าสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ก็จะรู้ว่าธรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ในตำรา หรือไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล ที่ไหน และธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเรา สักครู่หนึ่งคงจะได้ทราบในรายละเอียด และคำขยายความจากท่านอาจารย์ และท่านวิทยากร
คุณอุไรวรรณ ค่ะ มีท่านใดจะสนทนาช่วงนี้ไหม อันที่จริงพระสูตรนี้เหมือนสั้น แต่มีความสำคัญมาก แล้วก็ลึกซึ้งมาก อวิชชานี้น่ากลัวมาก เป็นหัวหน้าแห่งอกุศลทั้งมวล เชิญคุณสุกัญญา
ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ค่ะ อริยมรรคที่กล่าวว่า ๕,๖ แล้วก็ ๘ ต่างอย่างไร ในพระสูตร
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็น ๕ ก็เว้นวิรตี ๓ แต่ว่าเวลาที่วิรตีเกิด จะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๓ ก่อนที่จะถึงโลกุตตรมรรค เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่ใช่โลกุตตรจิต วิรตีจะเกิดเพียงทีละหนึ่ง จึงรวมเป็น ๖ เมื่อเกิด แต่ถ้าไม่เกิดก็ คือ ๕ และ ๘ ก็คือ พร้อมกัน เมื่อเกิดกับโลกุตตรจิต
ผู้ฟัง แล้ววิรตีนี้มันคือ
ท่านอาจารย์ เจตสิก ๓ ประเภท สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวาจา คือ ขณะที่เว้นวจีทุจริต สัมมากัมมันตะ เว้นการงานที่เป็นทุจริต และก็สัมมาอาชีวะ เว้นกาย วาจาทุจริตที่เนื่องกับอาชีพ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ค่ะ แล้วก็อย่างอริยมรรค ๕ ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่กล่าวว่าเกิดขึ้นในชีวิตจริงๆ นี่เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ๕ คือ อะไรก่อน แล้วถึงจะรู้ว่าเกิดขึ้นเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ก็มีสัมมาทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ คืออย่างไร ก็ต้องไปทีละองค์ๆ แต่ว่าขณะนี้ เรากำลังพูดถึงพระสูตรในมัคคสังยุต คือการประมวลรวบรวมธรรมเป็นหมวดหมู่ เพราะฉะนั้นในเรื่องของมรรค ก็หมายความถึง หนทางที่ถูกกับหนทางที่ผิด หนทางที่มีอวิชชานำไป กับหนทางที่มีวิชชานำไป เราอาจจะไม่รู้สึกตัวว่าเกิดมาแล้ว เรากำลังอยู่ในหนทาง แล้วแต่ว่าจะเป็นหนทางที่ถูก หรือว่าหนทางที่ผิด เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ที่เกิดมาแล้วจะไม่เป็นไป ไม่มี แต่ไม่รู้เลย
เพราะฉะนั้นทำไมในสูตรนี้ กล่าวถึงอวิชชาสูตร แสดงให้เห็นว่า เรารู้หรือเปล่าว่าเรามีอวิชชา หรือว่าเกิดมาไม่เคยรู้เลย ว่าปัญญารู้อะไร และอวิชชาไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงวิชชาให้เราเข้าใจถูกต้อง ว่ามีมากระดับไหน ก็จะทำให้เราค่อยๆ เห็นถูก มีปัญญาที่จะรู้ว่า การที่จะมีทางที่ถูกได้ ก็ต้องด้วยความเห็นถูก คือสัมมาทิฏฐิ เพราะเหตุว่าทางมี ๒ ทาง ทางถูกกับทางผิด แม้ในการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ที่ไม่มีความเห็นถูกเลย แล้วสามารถที่จะเดินทางที่เห็นถูกได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกในขั้นแรก แล้วต่อไปมรรคองค์อื่นๆ ก็เจริญ อย่างถ้าไม่มีความเห็นถูกเลย จะมีการดำริ คิดในทางที่ถูกไหม ทุกวันเราคิดในทางที่ถูกหรือในทางที่ผิด แต่เราก็ไม่รู้อีก ต่อเมื่อใดมีอกุศลจิตเกิด อย่างโลภะเกิด รู้ไหมว่ามีอวิชชาด้วย ไม่รู้เลย เวลาที่โทสะเกิด รู้ไหมว่ามีอวิชชาด้วย ก็ไม่รู้อีก
เพราะฉะนั้นจึงแสดง อวิชชาสูตร ให้เห็นว่าสภาพของอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่เกิดขึ้น จะขาดอวิชชาไม่ได้เลย และเราก็อาจจะไม่รู้ว่า อวิชชาอยู่ที่ไหน อย่างบางคนก็ถามว่า อวิชชาไม่รู้อะไร แม้ไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดในการฟังพระธรรม เพราะว่าพระธรรมที่เป็นจริง และทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง ละเอียดมาก เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัย ทีละหนึ่งขณะจิต อย่างรวดเร็วมาก แม้ขณะนี้ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็เริ่มเห็นอวิชชา ใช่ไหม ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็เป็นอวิชชา เพราะไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ สืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งเหมือนกับอยู่ในโลกของนิมิตจริงๆ ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังกล่าวถึงแม้อวิชชา เพียงแต่เริ่มที่จะฟังให้เข้าใจ ว่าขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศล ขณะนั้นต้องมีอวิชชาด้วย
ผู้ฟัง อาจารย์ค่ะ เวลาอกุศลเกิดขึ้น เรามักไม่ค่อยรู้ตัว แต่ถ้าเกิดว่าคนอื่นเขาพูดให้เราฟังไม่พอใจ หรือทำกิริยาอย่างนี้ เรารู้สึกเห็นชัดเจนกว่า
ท่านอาจารย์ ตอนที่ว่าเห็นชัดเจนกว่า เห็นตอนไหน
ผู้ฟัง เห็นตอนที่เขาแสดงออกมา
ท่านอาจารย์ คนอื่นใช่ไหม
ผู้ฟัง คนอื่น
ท่านอาจารย์ หมายความว่าเราเห็นอกุศลของคนอื่นชัด แต่ว่าไม่เห็นอกุศลของตนเอง อันนี้เป็นความถูกต้อง ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์จึงได้กล่าวว่า เวลาที่เรามีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเรื่องที่เป็นอกุศลทั้งหลาย อย่างวันนี้มีเรื่องที่เป็นอกุศลเยอะเลย ถ้าอ่านหนังสือพิมพ์หรือว่าสนทนากัน ก็เป็นเรื่องของอกุศล ขณะนั้นไม่รู้ว่าจิตของผู้ได้ยิน ผู้รู้เรื่องนั้นถูกเบียดเบียนแล้ว คือเป็นอกุศลตามไปด้วย เพราะฉะนั้นรู้แต่เรื่องอกุศลทั้งนั้นเลย แต่ขณะนั้นลืมว่าจิตที่กำลังรู้อกุศลนั้น ถูกเบียดเบียนด้วยอกุศลแล้ว นี่เป็นความละเอียดที่จะต้องฟังพระธรรม ให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว จิตขณะนั้นเป็นอะไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่ใช่แต่เฉพาะขณะที่เป็นเรื่องเป็นราว แม้ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ หลังจากเห็น ซึ่งเป็นผลของกรรมทำให้ต้องเห็น ดับไปแล้ว ขณะต่อไปถ้าไม่ศึกษา จะไม่ทราบเลย เป็นอกุศลแล้ว
เพราะฉะนั้นสะสมอกุศลไว้มากแค่ไหน จะรีบร้อนให้อกุศลที่สะสม หมดไปโดยรวดเร็วเป็นไปไม่ได้เลย แต่อาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น เป็นสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นก็จะเดินในทางของสัมมาทิฏฐิ คือเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แม้แต่การรู้ว่า แต่ละคนสะสมอวิชชา ความไม่รู้ มามากเพียงใด รู้แค่นี้ก็จะเป็นความเห็นถูก ที่จะไม่ทำให้ไปหาทางอื่น ที่จะดับกิเลส โดยปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง อาจารย์คะ แล้วคนที่เขามีความเห็นผิด ในลำดับเบื้องต้น ก็ทำให้มันผิดไปหมดทุกอย่าง ทำอย่างไรให้เริ่มต้นเห็นถูก เมื่อเริ่มใหม่ๆ ใหม่มาก ไม่เคยได้ยิน ได้รู้ ไม่เคยมาที่นี่เลย อย่างนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เพราะไม่รู้ และรู้ว่าไม่รู้ จึงฟังเพื่อให้รู้ แต่คนที่ไม่รู้ และก็ไม่รู้ว่าไม่รู้ ไม่ฟังเลย เพราะว่าไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง ไม่รู้อะไรมากมายเหลือเกิน จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม จึงค่อยๆ มีความเข้าใจถูก เห็นถูกขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการฟัง ตลอดชีวิตไม่ขาดการฟัง เพราะเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เข้าใจความจริง ของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ได้เลย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้กำลังเผชิญหน้าก็ไม่รู้ นี่คืออวิชชาที่สะสมมาจนกระทั่งไม่สามารถที่จะเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ ถ้ารู้ว่ามีอวิชชามากขนาดนี้ หนทางที่จะทำให้วิชชาเกิดขึ้น คืออะไร ฟังให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นฟังเพื่อที่จะให้หมดกิเลสทันทีหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่อาศัยปัญญาที่ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เข้าใจขึ้นนั่นเอง จะเป็นหนทางที่จะค่อยๆ ละความไม่รู้
คุณอุไรวรรณ มีท่านใดจะร่วมสนทนาในช่วงนี้ไหมคะ อวิชชานี้น่ากลัว เป็นความไม่รู้ แม้กระทั่งไม่รู้อะไร เชิญคุณบุษบงรำไพค่ะ
ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์ที่เคารพค่ะ เวลาที่ได้ยินคำว่า อกุศล รู้สึกว่าจะรังเกียจเขาว่า เรามีอกุศล แต่จริงๆ แล้วฐานะอย่างเราเป็นปุถุชน อกุศลก็ต้องมีอยู่อย่างมากๆ เลย จะเป็นอย่างนั้นใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อกุศลรังเกียจอกุศล ไม่ได้รู้เลย ว่าแท้ที่จริงขณะนั้น เรารังเกียจ ไม่ใช่ความเห็นถูกที่รู้ว่าอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วขณะนั้นก็ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความดำริถูก ความเห็นถูกใดๆ เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษา จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้ ว่าเวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา แต่มีความรังเกียจไปหมดเลย รังเกียจอกุศล ในขณะเดียวกันชอบกุศลไหม ถ้ารังเกียจอกุศล เพราะความไม่รู้ ยังมีความเป็นเราอยู่
ผู้ฟัง คืออันนี้มันเป็นระดับของขั้น ที่เริ่มอบรมขึ้นมา จนกระทั่งเข้าใจแล้วว่า ไม่มีตัวตนตามที่เรียน ว่าเป็นธรรมทุกอย่าง แต่ด้วยความที่ยังไม่คุ้นเคยกับความไม่มีตัวตน ก็จะไปโกรธ ไปโมโหในอกุศล ตรงนี้เป็นประจำอยู่อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะมีปัญญา ฟังธรรมเพื่อเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ฟังแล้วก็มีเราแทรกเข้ามาตลอดเวลา เมื่อไรจะเป็นอย่างนั้น เราทำไม่ได้ เราต้องอย่างนี้อย่างนั้นตลอด ก็คือไม่ได้เข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังทุกครั้ง เพื่อไม่ใช่เราที่ฟัง ฟังแล้วไม่ใช่เพื่อเราจะทำอย่างนั้น หรือจะเป็นอย่างนี้ แต่ฟังเพื่อให้รู้ความจริงว่าทั้งหมดเป็นธรรม ไม่มีเราเลย
ผู้ฟัง มานั่งฟังนี่ก็ดูเหมือนจะเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่จริงๆ พฤติกรรมของเรา เปล่าเลยท่านอาจารย์ มันจะมีแทรกอยู่อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวตลอด
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นความลึกซึ้งของธรรม แสดงให้เห็นความลึกซึ้งของปัญญา ถ้ามิฉะนั้นแล้วพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะไม่มีการที่จะไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะแสดง เพราะความลึกซึ้งของธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับสัตว์โลก ซึ่งมีแต่ต้องการ หนทางใดซึ่งเป็นความต้องการให้ตัวเอง ทำหมดทุกอย่าง แต่หนทางที่จะรู้แล้วละ นี่ยาก เพราะเหตุว่าต้องเป็นปัญญา ต้องอดทน ต้องเห็นประโยชน์
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์ จะมาสรุปเอาเลยว่า รู้แล้วว่าไม่มีตัวตน แล้วก็ไม่ฟังเลย ตรงนี้เป็นไปไม่ได้เลย มันขั้นเข้าใจเท่านั้น
ท่านอาจารย์ อวิชชาอีกแล้ว ทางผิดอีกแล้ว กี่ภพ กี่ชาติ อีกแล้ว ที่เป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ทีนี้พอพูดถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์กล่าว น่าสนใจตรงที่บอกว่า ไม่รู้ แล้วก็ยังไม่รู้อีกว่า ไม่รู้อะไร ตรงนี้ก็ลึกซึ้งจริงๆ เพราะว่าไม่รู้ และก็ไม่รู้ด้วยว่า ตัวไม่รู้อะไร
ท่านอาจารย์ ตอนนี้ตอบได้ด้วยตัวเองแล้วใช่ไหม ว่าไม่รู้อะไร ลองตอบดู ไม่รู้อะไร
ผู้ฟัง ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมอะไร ตอบได้ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แต่สภาพธรรมอะไร
ผู้ฟัง ที่กำลังปรากฏ และเกิดขึ้นแล้วดับไป
ท่านอาจารย์ อะไรกำลังปรากฏ เกิดขึ้นแล้วดับไป
ผู้ฟัง จิต เจตสิก รูป
ท่านอาจารย์ ไปๆ มาๆ ก็ชื่อ เห็น ง่ายไหม ไม่รู้อะไร ไปคิดถึงธรรม ถึงจิต ถึงเจตสิก ถึงรูปซึ่งเกิดดับ แต่ขณะนี้ เห็น ไม่รู้ความจริงของเห็น ไม่รู้ความจริงของ ได้ยิน ไม่รู้ความจริงของ คิดนึก ไม่รู้ความจริงของธรรมที่มีในขณะนี้ กว่าจะตรง ที่จะรู้ว่าอวิชชาไม่รู้อะไร กำลังเห็นนี่ไม่รู้ ในธรรมที่กำลังปรากฏ และในสภาพที่กำลังเห็น นี่คือจะได้รู้ ว่า เมื่อปัญญารู้ ปัญญารู้อะไร ต้องตรงกัน เวลาไม่รู้ ก็ไม่รู้ในสิ่งนี้แหล่ะ เพราะฉะนั้นเวลารู้ก็รู้สิ่งนี้แหล่ะ ที่ตอบไม่ผิด แต่ว่าตรงจริงๆ คือ ชัดเจนมากคือ ไม่รู้อะไร ถ้าใครถามว่าขณะนี้ไม่รู้อะไร ต่อจากนี้ไปก็ตอบได้แล้วใช่ไหม
อะไรที่ปรากฎขณะนี้คือไม่รู้ว่า เห็นเป็นธรรม ไม่รู้ว่าได้ยินเป็นธรรม ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฎทางตาเป็นธรรม เพียงฟังเริ่มเข้าใจ แต่ตัวสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่า ปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าถึง ปฏิปัตติ ลักษณะที่เป็นธรรม ตั้งแต่ขั้นฟังแล้วเริ่มเข้าใจก่อน ถ้ายังไม่มีการเข้าใจจริงๆ ก็ไม่มีทางที่สัมมาสติจะเกิดแล้วก็ระลึก แม้สภาพธรรมปรากฎ เหมือนไม่ได้หายไปเลย เห็น มีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสติเกิดระลึกได้แน่ เพราะกำลังมี
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ แสดงว่า อวิชชา สะสมมาเนิ่นนานมากจนกระทั่ง ถึงแม้ฟังก็ต้องใช้เวลาฟังอีกเยอะมาก
ท่านอาจารย์ ใครจะประมาณ ใครจะเอาจำนวนมาวัด ไม่มีทางเลย แต่จะวัดได้ขณะที่กำลังเห็น สติสัมปชัญญะเกิดหรือหลงลืมสติ ความเข้าใจที่เกิดเมื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฎ จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ละคลายความไม่รู้ได้อย่างไร เพราะเหตุว่าการเกิดของอวิชชา และอกุศล ละเอียดไหม ถ้าไม่ทรงแสดงจะไม่รู้เลยว่า เห็นเป็นอย่างหนึ่ง แม้เห็นแล้วอกุศลจิตเกิดสืบต่อ ซึ่งไม่ใช่เห็น อย่างไม่รู้ตัวเลยใช่ไหม แล้วก็ละเอียดมากจนไม่รู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ปัญญารู้ ก็ละเอียดมากอย่างนี้แหล่ะ แล้วก็ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปอย่างนี้แหล่ะ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย แทนที่จะเป็นอวิชชา วิชชาก็เกิดแทน