กินททสูตร (การให้)


    เรื่องของทาน ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต กินททสูตรข้อ ๑๓๗ - ๑๓๘ เทวดาทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    บุคคลให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไร ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัย ชื่อว่า ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรม ชื่อว่าให้อมฤตธรรม

    มีหลายสิ่งที่จะให้ได้ ท่านอาจจะคิดว่าท่านมีทุกอย่าง แต่อาจจะเป็นไปได้ไหมที่บางวันท่านขาด และท่านก็ต้องการ เพราะว่าในบางสถานที่ ในบางแห่ง ถึงแม้ว่าท่านจะมีเงินทอง อาหารไม่มีได้ไหม เพราะฉะนั้น ทุกท่านมีโอกาสที่จะเป็นทั้งผู้รับและเป็นทั้งผู้ให้ด้วย ซึ่งถ้าท่านได้เจริญกุศลอย่างนี้อยู่เสมอ ก็ย่อมจะเกื้อกูลบุคคลอื่นทุกๆ ด้าน และทุกๆ ทางด้วย

    สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาวรรค อรรถกถากินททสูตร มีข้อความอธิบายว่า

    สำหรับข้อที่ว่า บุคคลให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้กำลัง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง เพราะเหตุว่าบุคคลแม้ว่าจะมีกำลังมาก แต่ถ้าไม่ได้บริโภคอาหาร ก็ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ แต่ว่าครั้นบริโภคแล้ว ถึงจะเป็นผู้ที่มีกำลังทราม ก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยกำลัง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง

    คนที่แข็งแรง ไม่รับประทานอาหาร ๒ - ๓ วัน ๒ - ๓ มื้อ ยังมีเรี่ยวมีแรง แข็งแรงอยู่ได้ไหม ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่ไม่มีกำลัง ไม่มีเรี่ยวแรง แต่ครั้นได้รับประทานอาหารแล้ว ก็ย่อมมีกำลังขึ้น การให้อาหาร จึงชื่อว่าให้กำลัง ไม่ว่าสัตว์เล็ก สัตว์น้อยทั้งหลาย คำข้าว ๒ คำ ๓ คำ ที่จะทำให้มีเรี่ยวแรงขึ้น มีกำลังขึ้น ถ้าท่านจะเจริญกุศล ก็สละให้ได้f

    สำหรับบทที่ว่า ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ ในอรรถกถามีข้อความว่า

    เพราะเหตุว่าบุคคลถึงจะมีรูปดี แต่นุ่งผ้าขี้ริ้ว หรือว่าไม่ใส่เสื้อผ้า ก็ต้องมีรูปที่น่าตำหนิ ไม่น่าดู ผู้ที่ใส่เสื้อผ้านั้น ก็น่าดู งดงามดังเทพบุตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ

    นอกจากเสื้อผ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ให้แล้วจะทำให้ผู้ได้รับน่าดู ก็ยังเป็นความจำเป็นสำหรับบางท่านที่ไม่มีเสื้อผ้า ถ้าท่านพอที่จะสละเกื้อกูลให้บุคคลนั้นได้ ก็ควรจะสละ ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์น้อยสำหรับท่าน ไม่ค่อยได้ใช้ แต่ก็เป็นประโยชน์มากสำหรับบุคคลอื่น

    ข้อต่อไป

    บทว่า ให้ยวดยาน คือ ผู้ให้ยวดยาน คือ ช้าง เป็นต้น ก็บรรดายวดยานเหล่านั้น ยานช้างย่อมไม่เหมาะแก่สมณะ ยานม้าก็ไม่เหมาะเหมือนกัน การไปด้วยรถก็ไม่เหมาะ ยานนี้ คือ รองเท้า เหมาะแก่สมณะ ผู้รักษากองศีล เพราะฉะนั้น ผู้ให้ร่ม รองเท้า ไม้เท้าคนแก่ เตียง และตั่งก็ดี ผู้แผ้วถางทาง ทำบันได ทำสะพาน ตบแต่งเรือก็ดี ทั้งหมดจัดเป็นผู้ให้ยานทั้งนั้น

    ข้อที่ว่า ชื่อว่าให้ความสุข เพราะนำสุขอันเกิดจากยานพาหนะมาให้

    ข้อที่ว่า ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ

    ข้อที่ว่า ให้จักษุ ความว่า ผู้ให้ประทีป ชื่อว่าให้จักษุ เพราะในเวลามืด แม้คนมีดวงตาก็มองเห็นรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ให้ประทีป ชื่อว่าผู้ให้จักษุ ย่อมได้แม้สมบัติ คือ ทิพยจักษุ เหมือนพระอนุรุทธเถระ

    สำหรับข้อต่อไปที่ว่า ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่างทีเดียว คือ ให้กำลัง เป็นต้น มีอธิบายว่า

    ดังเช่นภิกษุผู้เที่ยวไปบิณฑบาต ๒ - ๓ บ้าน ไม่ได้อะไรๆ กลับออกมาแล้วก็ดี หรือว่าผู้ที่อาบน้ำในสระที่เย็น เข้าไปสู่ที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงสักครู่หนึ่ง ลุกขึ้น แล้วนั่งอยู่ก็ดี ย่อมได้กำลัง ดุจบุคคลอื่นนำมาใส่เข้าไว้ให้ในกาย

    นี่คือประโยชน์ของที่พักอาศัย ถ้าท่านไม่มีบ้านเลย จะทราบว่า ความเดือดร้อน ความไม่สะดวกสบาย ความยากลำบากนั้น มีสักแค่ไหน แต่เพราะเหตุว่าท่านมีที่พักที่อาศัยจนชิน จนอาจจะไม่ได้รู้สึก ไม่ทราบเลยว่า ขณะที่มีที่พักที่อาศัยนั้น เป็นสิ่งที่สะดวกสบาย ทำให้มีกำลัง หรือว่าท่านที่ออกจากบ้านไปไหนมา เหนื่อยมาก กลับถึงบ้านเป็นอย่างไร พักผ่อนสักครู่หนึ่ง อาบน้ำสักหน่อยหนึ่ง ก็รู้สึกว่า มีกำลังขึ้น

    นอกจากเรื่องของกำลัง ก็ยังมีประโยชน์ข้อต่อไป ที่ว่า

    ภิกษุผู้เที่ยวไปในภายนอก อายตนะ คือ วรรณะที่กาย ย่อมเสื่อมไปด้วยแดดและลม ภิกษุผู้เข้าไปสู่ที่อยู่อาศัย ปิดประตูแล้ว นอนสักครู่หนึ่ง ความสืบต่อแห่งวิสภาคะย่อมสงบ

    ร้อนจากข้างนอก พอเข้าไปถึงข้างใน ความร้อนจากข้างนอกก็สืบต่อไปชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็หมด เพราะรูปเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้น ก็มีชั่วระยะหนึ่งซึ่งสืบต่อ แต่พอเข้าไปสู่ที่พัก ความสืบต่อแห่งวิสภาคะย่อมสงบ

    ความสืบต่อแห่งสภาคะย่อมก้าวลง วัณณายตนะ ชื่อว่า เป็นดุจบุคคลนำมาใส่เข้าไว้

    ผิวพรรณก็กลับสดชื่นผ่องใสขึ้น ไม่เหมือนกับเวลาที่ตากแดด ตากลมอยู่ข้างนอก นี่เป็นประโยชน์ของการให้ที่พักอาศัย

    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    ก็เมื่อเที่ยวไปภายนอก คือ ผู้ที่ไม่มีที่พักอาศัยนั้น หนามย่อมแทงที่เท้า กระทบที่ขา ตอย่อมกระทบ อันตรายมีสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น และโจรภัยย่อมเกิด เมื่อเข้าไปสู่ที่อยู่อาศัย ปิดประตูนอนเสีย อันตรายทั้งหมดเหล่านั้นย่อมไม่มี เมื่อสาธยายธรรม ธรรมปีติสุขย่อมเกิดขึ้น เมื่อมนสิการกัมมัฏฐาน ความสุขอันเกิดจากความสงบย่อมเกิดขึ้น

    แต่เมื่อเที่ยวไปข้างนอก เหงื่อย่อมไหลออก นัยน์ตาพร่า ในขณะที่เข้าไปสู่เสนาสนะ เตียง และตั่ง เป็นต้น ย่อมไม่ปรากฏ แต่เมื่อนั่งสักครู่หนึ่ง ความผ่องใสแห่งตาย่อมเป็นดุจบุคคลนำมาใส่เข้าไว้ให้ ประตู หน้าต่าง เตียง และตั่ง เป็นต้น ย่อมปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ก็ผู้ใดให้ที่อยู่อาศัย ผู้นั้นชื่อว่า ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

    สำหรับข้อสุดท้ายที่ว่า ผู้ให้ธรรม ชื่อว่าให้อมตะ ท่านเปรียบกับผู้ที่ให้โภชนะอันประณีต ผู้ที่ยังบาตรให้เต็มด้วยโภชนะอันประณีต ชื่อว่าให้อมระ คือ ให้ความไม่ตาย ให้ชีวิต

    สำหรับธรรมนั้น ในอรรถกถาแสดงว่า ผู้ใดพร่ำสอนธรรม กล่าวอรรถกถา บอกบาลี แก้ปัญหาที่ถามแล้ว บอกกัมมัฏฐาน ฟังธรรม ทั้งหมดนี้ชื่อว่า พร่ำสอนธรรม ก็ธรรมทานนี้เท่านั้น พึงทราบว่า เลิศกว่าทานทุกอย่าง ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมทาน ชนะซึ่งการให้ทั้งปวง

    เพราะเหตุว่าการให้ธรรม ให้ความเข้าใจในธรรมนั้น เป็นเหตุที่จะให้บุคคลนั้นเจริญกุศล เจริญสติ เจริญปัญญายิ่งๆ ขึ้น

    ความยินดีในธรรม ชำนะซึ่งความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาชำนะซึ่งทุกข์ทั้งปวง

    แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ ควรให้ เป็นการขัดเกลาจิตใจ เป็นการไม่พอกพูนอกุศล

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ