กปิลสูตร และ ยโสชสูตร


    ขอกล่าวถึงเรื่องกรรมที่บางท่านประมาทแล้วในครั้งพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ

    ข้อความใน อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อรรถกถากปิลสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะเสด็จปรินิพพานแล้ว กุลบุตร ๒ พี่น้องออกบวชในสำนักแห่งสาวกทั้งหลาย ผู้พี่ชื่อว่าโสธนะ ผู้น้องชื่อว่ากปิละ ท่านทั้งสองมีมารดาชื่อว่าสาธนี มีน้องสาวชื่อว่าตาปนา ทั้งมารดาและน้องสาวนั้นบวชในสำนักนางภิกษุณี

    เห็นได้นะคะว่า บวชหมดทั้งครอบครัว ทั้งมารดา น้องสาว และบุตรชายทั้ง ๒ ก็ต้องเป็นผู้มีศรัทธามากทีเดียว แต่ควรจะไม่ประมาทในเรื่องของอกุศล

    ในบรรดาพระภิกษุทั้งสองนั้น พระผู้พี่คิดว่า เราจะบำเพ็ญวาสธุระ คือ ธุระเป็นเครื่องอบรมตน คือ วิปัสสนาภาวนา ดังนี้แล้ว ก็อยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์และอาจารย์ทั้งหลายเป็นเวลา ๕ ปี ไปสู่ป่าและได้บรรลุพระอรหัต

    พระกปิละคิดว่า เรายังหนุ่มอยู่ก่อน ในเวลาแก่แล้วเราจะบำเพ็ญแม้วาสธุระดังนี้ แล้วก็เริ่มคันถธุระ ได้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกแล้ว พระกปิละนั้นมีบริวาร เพราะอาศัยปริยัติ เพราะอาศัยบริวาร ลาภก็เกิดขึ้น พระกปิละนั้นเมาด้วยการเมาในการที่ตนเป็นพาหุสัจจะ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต มีความสำคัญว่าตนรู้ แม้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ กล่าวสิ่งที่เป็นกัปปิยะที่ภิกษุเหล่าอื่นกล่าวแล้วว่าเป็นอกัปปิยะ คือเป็นสิ่งที่ไม่สมควร กล่าวสิ่งที่สมควรว่าไม่สมควร แม้สิ่งที่เป็นอกัปปิยะเป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ แม้สิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ

    ศึกษามาก แต่ถ้าเมาด้วยลาภสักการะ เพราะเหตุใดจึงกล่าวผิดจากที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้น่าคิดมากทีเดียว

    ต่อแต่นั้น พระกปิละนั้นอันภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักโอวาทอยู่ โดยนัยว่า คุณกปิละ ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น ก็เที่ยวขู่ตะคอกภิกษุทั้งหลายด้วยคำทั้งหลายว่า พวกท่านเหมือนกับคนมีกำมือเปล่า จะรู้อะไร ดังนี้เป็นต้นอยู่นั้นแล

    ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้ แม้แก่พระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชายของท่าน แม้พระโสธนเถระนั้นก็ได้เข้าไปหาพระกปิละนั้นแล้วได้กล่าวว่า อย่าได้พูดแม้สิ่งที่เป็นกัปปิยะ ฯลฯ สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ. พระกปิละนั้นก็ไม่สนใจคำของพระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชาย

    ลำดับนั้น พระโสธนเถระได้กล่าวกะพระกปิละว่า

    ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือ ๒ คำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น (เพราะว่าถ้าท่านผู้อนุเคราะห์จะพึงกล่าวให้มากไปกว่านั้น) ก็จะพึงมีโทษในสำนักของพระอริยะได้

    แม้แต่การที่จะเตือน หรือการที่จะกล่าว ถ้าพูดมากกว่าที่ควรจะพูด ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ คือ ไม่ได้เข้าใจเจตนาจริงๆ ของผู้พูด เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังเป็นอกุศล ก็ย่อมไม่เห็นว่า สิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้นท่านที่รู้สภาพธรรมแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า

    ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือ ๒ คำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น

    นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของจิต ซึ่งจะต้องระวังว่า สำหรับผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วก็เกิดอกุศลไปใหญ่โต เพราะฉะนั้นผู้พูดก็ยุติเสีย เพื่อจะไม่ให้ผู้ฟังเกิดอกุศลมากไปอีก

    ท่านพระโสธนะกล่าวว่า อาวุโส ท่านพระนั้นเองจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง ดังนี้แล้วก็หลีกไป.

    จำเดิมแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รักก็ทอดทิ้งพระกปิละนั้นเสีย.

    พระกปิละนั้นเป็นผู้ประพฤติชั่ว มีภิกษุประพฤติชั่วแวดล้อมอยู่ วันหนึ่งคิดว่า เราจะลงอุโบสถ แล้วก็ขึ้นสู่อาสนะอันประเสริฐ จับพัดอันวิจิตร พอนั่งลงก็พูดขึ้น ๓ ครั้งว่า อาวุโสทั้งหลาย ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นี้หรือ.

    ครั้งนั้น แม้ภิกษุรูปหนึ่งก็ไม่ได้พูดว่า ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ข้าพเจ้า ทั้งก็ไม่ได้พูดว่าปาติโมกข์ย่อมควรแก่พระกปิละนั้น หรือแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.

    ลำดับนั้น พระกปิละนั้นก็พูดว่า เมื่อปาติโมกข์พวกเราฟังก็ดี ไม่ฟังก็ดี ชื่อว่าวินัยไม่มีหรอก ดังนี้ แล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะ.

    พระกปิละนั้นทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะให้เสื่อมถอย คือ ให้พินาศแล้วด้วยประการฉะนี้.

    ในกาลต่อมา ท่านพระโสธนเถระก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง. พระกปิละแม้นั้นก็มรณะแล้วก็บังเกิดในอเวจีมหานรก มารดาและน้องสาวของท่านที่มีความเห็นตามท่าน และด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในนรก.

    ซึ่งในสมัยเดียวกัน ในขณะนั้นก็มีเรื่องของบุคคลอื่นที่ได้กระทำกรรมต่างๆ กันด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถากปิลสูตรมีว่า

    ก็ในกาลนั้น บุรุษประมาณ ๕๐๐ คนทำบาปกรรมทั้งหลาย

    เห็นได้ว่า กรรมของแต่ละชีวิต แต่ละชาติ แต่ละคนก็ต่างกันไป สำหรับบุรุษประมาณ ๕๐๐ คนทำบาปกรรมทั้งหลาย มีการฆ่าชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีวิตด้วยความเป็นโจร ถูกมนุษย์ชาวชนบทติดตาม หนีไปอยู่ ได้เข้าไปสู่ป่า ไม่เห็นที่กำบังหรือที่นั่งอะไรในป่านั้น ได้เห็นภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ไม่ไกล ไหว้แล้วก็กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกกระผม.

    พระเถระกล่าวว่า ที่พึ่งเช่นกับศีลสำหรับท่านทั้งหลายไม่มี ขอให้ท่านทุกคนจงสมาทานเบญจศีล. โจรเหล่านั้นรับคำแล้วก็สมาทานศีล.

    พระเถระกล่าวว่า บัดนี้ พวกท่านเป็นผู้มีศีลแล้ว เมื่อท่านทั้งหลายแม้ถูกปลงชีวิตของตนให้พินาศอยู่ ท่านทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้ายใจ คือ อย่าโกรธ

    คือไม่ทำร้ายใจของตนเอง ด้วยการไม่โกรธ

    ซึ่งพวกโจรเหล่านั้นรับคำแล้ว

    เวลาที่รับศีล ควรจะไม่โกรธ ดีไหมคะ

    ครั้งนั้น ชาวชนบทเหล่านั้นมาถึงแล้วก็มองหาอยู่ข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ก็ได้พบโจรเหล่านั้น แล้วพากันปลงชีวิตเสียสิ้นทุกคน โจรเหล่านั้นกระทำกาละแล้ว คือสิ้นชีวิตแล้ว ก็บังเกิดในสวรรค์

    ถ้าใครสามารถทำอย่างโจรได้ คือว่า กำลังถูกฆ่าอยู่ ก็ไม่โกรธ ขณะนั้นผลของกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติเป็นชนกกรรม ทำให้กุศลวิบากจิตปฏิสนธิในสวรรค์

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปคิดถึงว่า ถ้าโจรมาฆ่าก็จะไม่โกรธ ไม่ต้องเป็นโจรก็ได้ ใครก็ได้ ไม่ต้องฆ่าก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แล้วก็ไม่โกรธ ขณะนั้นถ้าจุติจิตเกิด แล้วกุศลจิตซึ่งเกิดก่อนจุติจิต เป็นชวนะสุดท้าย จะเป็นชนกกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิได้ แต่ต้องไม่โกรธจริงๆ เพราะเห็นประโยชน์ของความไม่โกรธ และเห็นโทษของความโกรธ เป็นไปได้ถ้าจะไม่โกรธเสียเดี๋ยวนี้ และก็ต่อๆ ไป เพราะเหตุว่าจะปฏิสนธิจิตเมื่อไรไม่ทราบ ปฏิสนธิสำหรับชาติหน้าจะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่ทราบ ถ้ากระทำอยู่เสมอจนกระทั่งเป็นอาจิณณกรรม ก็จะทำให้หวังได้ว่า กรรมนั้นก็จะทำให้เกิดในสวรรค์ได้

    บรรดาโจรเหล่านั้น โจรผู้เป็นหัวหน้าได้เป็นเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้า โจรนอกนี้ได้เป็นบริวารของเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้านั่นเอง ท่านเหล่านั้นท่องเที่ยวกลับไปกลับมาอยู่ ให้พุทธันดรหนึ่งสิ้นไปในเทวโลก แล้วเคลื่อนจากเทวโลกในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย

    คือในสมัยของพระพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้

    เทพบุตรผู้เป็นหัวหน้าได้ถือปฏิสนธิในท้องแห่งภรรยาของชาวประมงผู้เป็นหัวหน้าสกุล ๕๐๐ สกุล ในบ้านชาวประมงซึ่งมีอยู่ที่ประตูเมืองสาวัตถี เทพบุตรพวกนี้ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาของชาวประมงที่เหลือทั้งหลาย เขาเหล่านั้นได้ถือปฏิสนธิและออกจากครรภ์ในวันเดียวกันนั้นเองด้วยประการฉะนี้

    นี่อีกภพหนึ่งชาติหนึ่ง จากหลายๆ ชาติ จากสมัยของพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะซึ่งเป็นโจร จนกระทั่งถึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ และในที่สุดก็ได้เกิดในสกุลของชาวประมง

    ครั้งนั้น แม้ภิกษุชื่อว่ากปิละก็มาเกิดเป็นปลาสีเหมือนทอง แต่ปากเหม็นในแม่น้ำอจิรวดีด้วยเศษกรรมที่เหลือจากการเกิดในนรก.

    เป็นพระภิกษุชาติหนึ่งชาติใด แล้วก็เกิดในนรก แล้วก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็มีรูปร่างที่วิจิตรมาก คือ เป็นปลาสีเหมือนทอง แต่ปากเหม็น

    ต่อมาวันหนึ่ง เด็กชาวประมงเหล่านั้นทั้งหมดถือเอาแหไปจับปลา แล้วจับได้ปลาทองตัวนั้น

    สหายทั้ง ๕๐๐ คนนั้นได้นำปลานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตร เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นปลาสีทอง ก็ทรงดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทราบเหตุที่ปลานี้มีสีทอง ดังนี้ ก็รับสั่งให้ถือปลานั้นไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาที่ปลาอ้าปากขึ้น พระเชตะวันก็มีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง

    ใครจะรู้ไหมคะ อกุศลวิบากจะเกิดขณะไหน สำหรับผู้ที่อยู่ ณ พระวิหารเชตวันในขณะนั้น

    พระราชาทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร ปลาจึงเกิดเป็นปลามีสีทอง และเพราะเหตุไร กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร ปลานี้เป็นภิกษุพหูสูต ผู้เรียนจบปริยัติ ชื่อว่ากปิละ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เป็นผู้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายซึ่งไม่เชื่อถ้อยคำของตน เป็นผู้ทำศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสื่อมไป เพราะกรรมที่เธอทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นให้เสื่อมไป เธอจึงบังเกิดในอเวจีมหานรก และก็มาเกิดเป็นปลาในบัดนี้ด้วยเศษแห่งวิบาก ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมที่เธอได้กล่าวพุทธพจน์ สรรเสริญพระพุทธคุณเป็นเวลานาน เธอจึงได้วรรณะเช่นนี้ เพราะเหตุที่เธอได้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น.

    นี่คือผลของกรรมที่วิจิตร

    ต่อไปเป็นข้อความที่แสดงโทษของบรรพชิตผู้ไม่อบรมตน ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็ผู้ใดผู้หนึ่งสละเพศคฤหัสถ์ ถ้าแม้บวชด้วยการเข้าถึงเหตุสักว่า การปลงผมและการนุ่งผ้าย้อมฝาดเป็นต้น ถ้าหากว่าเป็นคนปากกล้า คือว่าเป็นผู้พูดคำหยาบ ยินดีในการเบียดเบียน เพราะพอใจในความเบียดเบียนอันมีประการต่างๆ เป็นผู้ประดุจเนื้อร้าย เพราะเป็นผู้ที่เช่นกับเนื้อร้าย เพราะไม่มีหิริโอตตัปปะ โดยที่แท้บุคคลเห็นปานนี้ ได้แก่ ภิกษุที่ยินดีในการทะเลาะเพราะเป็นคนมีปากจัด ถูกโมหะธรรมรึงรัดแล้ว เพราะถึงความงมงายในการที่จะรู้แจ้งซึ่งอรรถแห่งสุภาษิต ย่อม ไม่ทราบแม้ซึ่งคำที่ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักกล่าวแล้ว ไม่รู้จักพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ไม่รู้จักพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แม้ตนจะกล่าวอยู่โดยประการต่างๆ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ชีวิตของภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นชีวิตชั่ว

    ข้อความต่อไปน่าพิจารณา ซึ่งมีข้อความว่า

    ท่านทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้สามัคคีกัน เว้นบุคคลนั้นเสีย และอย่าถึงความขวนขวายน้อยด้วยเหตุสักว่าการเว้นภิกษุนั้นเท่านั้น แต่โดยที่แท้แล ท่านทั้งหลาย จงกำจัดบุคคลนั้นผู้เป็นเพียงดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อออกเสีย คือว่า จงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อนั้นโดยไม่ต้องใยดีประดุจหยากเยื่อ และจงคร่าบุคคล ผู้เพียงดังแกลบ ประดุจราชบุรุษคร่าคนจัณฑาลซึ่งเป็นโรคเรื้อนมีแผลแตกไหลออก ผู้เข้าไปท่ามกลางแห่งกษัตริย์เป็นต้น คือว่าท่านทั้งหลายจงจับบุคคลนั้นที่มือหรือ ที่ศีรษะแล้วคร่าออกไป เหมือนอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะจับปาปบุคคลนั้น ที่แขนดึงออกไปจากซุ้มประตูภายนอกแล้วใส่ลูกดาล (กุญแจ) เสีย แม้ฉันใด ท่านทั้งหลายก็จงคร่าบุคคลนั้นเสียฉันนั้น

    ถามว่า เพราะเหตุไร

    ตอบว่า ชื่อว่าสังฆารามเขาสร้างไว้สำหรับผู้มีศีลทั้งหลาย ไม่ได้สร้างไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่ทุศีล ต่อแต่นั้นไป ท่านทั้งหลายจงขับบุคคลลีบ ผู้ไม่ใช่สมณะ ซึ่งถือตัวว่าเป็นสมณะออกไปเสีย เหมือนอย่างว่า ข้าวลีบทั้งหลายแม้ปราศจากข้าวสารในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนข้าวเปลือก เพราะมีแกลบอยู่ข้างนอก ฉันใด ปาปภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้เว้นจากคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนกับภิกษุด้วยบริขารมีผ้ากาสาวะเป็นต้นในภายนอก พระผู้มีพระภาคจึง ตรัสเรียกว่า ปลาปา คนลีบ ท่านทั้งหลายจงคร่าบุคคลลีบเหล่านั้นเสีย คือ จงโปรยไป ได้แก่กำจัดบุคคลลีบเหล่านี้เสีย ซึ่งไม่ใช่สมณะโดยปรมัตถ์ แต่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ ในภาวะสักว่าเพศ ครั้นกำจัดผู้มีความปรารถนาลามก ผู้มีอาจาระ และโคจรอันลามกได้แล้วอย่างนี้ เธอทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้ว มีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วมด้วยบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย


    ในที่สุดแห่งพระเทศนา บุตรชาวประมงจำนวน ๕๐๐ เหล่านั้น ถึงความสังเวช สลดใจ ปรารถนาจะทำที่สุดทุกข์ ได้บรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาค ต่อกาล ไม่นานเลย ก็กระทำที่สุดทุกข์ได้ ได้เป็นผู้มีการบริโภคเป็นอันเดียวกันกับ พระผู้มีพระภาค ด้วยการบริโภคธรรมคืออเนญชวิหารสมาบัติ

    ไม่ใช่เพียงแต่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ท่านเหล่านั้น ยังได้บรรลุถึงจตุตถฌานโดยจตุกกนัยด้วย

    แต่ก่อนที่ท่านเหล่านี้จะบรรลุอรหัตตผล ท่านเหล่านี้ก็มีความประพฤติที่ ท่านเองเกิดความสลดใจ ดังข้อความใน ขุททกนิกาย อุทาน ยโสชสูตร ข้อ ๗๑ มีข้อความโดยย่อว่า

    ชาวประมง ๕๐๐ คนนี้ หลังจากที่บวชแล้ว สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ก็สมัยนั้น พระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะเป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ได้ส่งเสียงอื้ออึง

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ใครนั่นมีเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้าแล้วตรัสถามว่า เพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระยโสชะก็ได้ กราบทูลให้ทรงทราบ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราประณามเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา

    สมควรไหมที่จะตรัสอย่างนั้น

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไป ทางวัชชีชนบท เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทโดยลำดับ ถึงแม่น้ำวัคคุมุทานที กระทำกุฎีมุงด้วยใบไม้ เข้าจำพรรษาอยู่ใกล้แม่น้ำวัคคุมุทานที

    มาเฝ้าด้วยความหวังที่จะได้นมัสการ ได้ฟังพระธรรม แต่ต้องผิดหวังกลับไป เพราะการกระทำของตนเอง ที่ส่งเสียงดังอื้ออึงมากในขณะที่จัดเตรียมเสนาสนะกับภิกษุซึ่งเป็นเจ้าถิ่น

    ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะเข้าจำพรรษาแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า

    ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงใคร่ประโยชน์ ทรงแสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ประณามเราทั้งหลาย

    เห็นว่าเป็นความผิดของพวกท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของพระผู้มีพระภาคเลย

    ท่านกล่าวต่อไปว่า

    พระผู้มีพระภาคพึงทรงใคร่ประโยชน์แก่เราทั้งหลายผู้อยู่ประการใด ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด

    คือ ทราบว่าพระมหากรุณาที่ทรงอนุเคราะห์ อนุเคราะห์เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อทราบว่าเป็นความมุ่งหมายของพระองค์ ท่านก็กล่าวเตือนพวกภิกษุของท่านว่า ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด

    ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะแล้ว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ทุกๆ รูปได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเอง

    นอกจากจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังสามารถได้ฌานสมาบัติด้วย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็บรรดาภิกษุเหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงประณามอย่างนี้ แม้รูปเดียวก็มิได้ ให้คำตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงประณามข้าพระองค์ด้วยเหตุ เพียงเสียงดัง หรือมิได้ให้คำอะไรๆ อื่น ด้วยพุทธคารวะ

    คือ ไม่โต้ตอบเลยทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เป็นความผิดของท่านเอง

    ภิกษุทั้งหมด เมื่อรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคจึงกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วพากันออกไป

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระภิกษุทั้งหลายท่านก็เสียใจ เพราะการที่ท่านมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ก็ด้วยความคิดว่า พวกเราจักเฝ้าพระศาสดา จักฟังธรรม จักอยู่ในสำนัก พระศาสดา แต่พวกเรามายังสำนักพระศาสดาผู้เป็นครูเห็นปานนี้ กระทำเสียงดัง นี้เป็นโทษของพวกเราเท่านั้น พวกเราถูกประณามเพราะโทษ เราไม่ได้อยู่ใน สำนักพระศาสดา ไม่ได้ชมพระโฉมมีวรรณะดังทองคำอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส รอบด้าน ไม่ได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ

    และพวกท่านก็พิจารณารู้ว่า

    เราถูกประณามเพราะอาศัยความอนุเคราะห์ ไม่ใช่ถูกประณามเพราะหวังความขวนขวายเป็นต้นของตน

    คือ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงประณามเพราะว่าทรงพอพระทัยที่จะประณาม แต่ทรงประณามเพื่อจะอนุเคราะห์

    เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาค ผู้หนักในธรรม ผู้ทรงประณามเพราะเหตุเพียง ทำเสียงดัง จึงควรบูชาพระองค์ด้วยสัมมาปฏิบัติเท่านั้น คือ เราจะบำเพ็ญ อปัณณกปฏิปทา ด้วยการประกอบสติสัมปชัญญะในที่ทุกสถาน

    เมื่อเราอยู่โดยประการใด พระผู้มีพระภาคพึงเป็นผู้มีพระทัยยินดี คือ อันพวกเราพึงให้พอพระทัยด้วยสัมมาปฏิบัติบูชา

    แสดงให้เห็นว่า ทุกท่านที่เกิดระลึกได้ในความผิดของตนเอง ก็มีโอกาสรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์เรื่องอะไร คือ ทรงอนุเคราะห์เพื่อให้ทุกท่าน มีสัมมาปฏิบัติ เมื่อเกิดการระลึกได้ ก็เริ่มสัมมาปฏิบัติได้

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงพระนครเวสาลีแล้วประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้กล่าวถึงข้อความอีกตอนหนึ่งที่ว่า

    ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พระองค์ย่อมไม่ทรง ไม่ยินดีเพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ หรือเสนาสนะอันไม่เป็นที่สบาย หรือความที่พวกมนุษย์ไม่มีศรัทธาเป็นต้น หรือแม้การประทับอยู่นานด้วยทรงพระดำริว่า อยู่เป็นผาสุกเพราะความสมบูรณ์ ก็ไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย

    ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ใด มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้นตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานศีล บรรพชา หรือบรรลุโสตาปัตติมรรคเป็นต้น พระองค์จึงประทับอยู่ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นตั้งอยู่ในสมบัติเหล่านั้น

    นี่เป็นเหตุผลที่ประทับในที่ต่างๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปจากสาวัตถี ก็เพราะว่าในกาลนั้นพระองค์ไม่มีพุทธกิจที่จะพึงกระทำในพระนครสาวัตถี จึงได้ เสด็จไปทางกรุงเวสาลี

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับที่พระนครเวสาลีแล้ว ก็ทรงทราบด้วยพระทัยว่า ท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว พระองค์ตรัสให้ ท่านพระอานนท์ให้ภิกษุรูปหนึ่งไปหาท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้น และให้บอกว่า พระผู้มีพระภาครับสั่งให้หาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้นก็ได้ เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะที่พระองค์ประทับนั่งอยู่ด้วยอเนญชสมาธิ (คือ จตุตถฌานโดยจตุกกนัย) ท่านพระยโสชะและภิกษุทั้งหลายก็นั่งอยู่ด้วย อเนญชสมาธิเช่นเดียวกับพระองค์ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

    เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากอาสนะ กระทำ ผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ราตรีรุ่งอรุณ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า

    คือ ไม่ทราบเลยว่า ท่านพระยโสชะและภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นบรรลุอรหันต์ และได้ฌานสมาบัติ และไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะประทับนั่งด้วยสมาบัติใด ภิกษุเหล่านั้นก็อยู่ด้วยสมาบัตินั้นตลอด ตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น แล้วตรัสกับท่าน พระอานนท์ว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้าว่าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้มีประมาณเท่านี้ก็ไม่พึงปรากฏแก่เธอ ดูกร อานนท์ เราและภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ทั้งหมด นั่งแล้วด้วย อเนญชสมาบัติ

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

    ภิกษุใดชนะหนาม คือ กาม ชนะการด่า การฆ่า และการจองจำได้แล้ว ภิกษุนั้นมั่นคงไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ภิกษุนั้นย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์ ฯ

    เกิดมาทั้งชาติ ทุกชาติๆ หวั่นไหวมากเหลือเกินในเรื่องสุขและทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระที่ไม่หวั่นไหวในสุขในทุกข์ คิดดู เมื่อไรจะถึงอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อบรม เจริญปัญญาจริงๆ

    แต่จะเห็นได้ว่า ถ้ายังเป็นผู้ที่ประมาทในเรื่องของกรรมแม้เล็กๆ น้อยๆ ถ้ากรรมนั้นให้ผล ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า แม้เป็นภิกษุพหูสูต มีบริวาร มีลาภสักการะ ก็ยังเกิดในนรก และเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1801

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1802

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 148
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ