ทานสูตร และ ราชาสูตร
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ทานสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้ จัมปานคร ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวเมืองจัมปามากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้ฟังมานานแล้ว ขอได้โปรดเถิด พวกกระผมพึงได้ฟังธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาค
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายพึงมาในวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถาในสำนักพระผู้มีพระภาคแน่นอน
อุบาสกชาวเมืองจัมปารับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ลุกจากที่นั่ง อภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ต่อมาถึงวันอุโบสถ อุบาสกชาวเมืองจัมปาพากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแล และทานเช่นนั้นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี
โดยมากพยัญชนะที่ท่านจะได้ยินได้ฟัง คือ คำว่าผล กับคำว่า อานิสงส์ ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ในที่ทั่วไป แต่เวลาที่พูดถึงความบริสุทธิ์ของจิต หรือความบริสุทธิ์ของธรรม ในพระสูตรนี้ได้แยกความหมายของคำว่า ผล กับคำว่า อานิสงส์ เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะได้พิจารณาว่า ทานที่ท่านได้กระทำแล้ว จะเป็นทานประเภทที่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก หรือว่ามีผลมาก และมีอานิสงส์มาก
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา แต่แม้กระนั้นในเรื่องความลึกซึ้ง ความละเอียด ความวิจิตรของธรรม ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ทรงพยากรณ์ไว้เป็นการแน่นอนและแจ่มแจ้ง ไม่ใช่คิดเอง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน
ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์
ดูกร สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจะได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
ดูกร สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งหวังการสั่งสมให้ทาน ไม่คิดว่า ตายไปแล้วจะได้เสวยผลทานนี้แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์
ดูกร สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
อย่างนั้นพระเจ้าข้า
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปถึงผลของทานของบุคคล ซึ่งให้ทานโดยไม่หวังผล มีข้อความว่า
ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจะได้เสวยผลทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้
แม้จะไปเกิดวนเวียนอยู่ในสวรรค์ เทวโลกชั้นต่างๆ ก็ตาม แต่ถ้าไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์แล้ว ทานที่ให้นั้น ก็ไม่ใช่ทานที่ทั้งมีผลมากและมีอานิสงส์มาก เป็นทานที่มีผลมากจริง แต่ว่าไม่มีอานิสงส์มาก
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้
นี่เป็นทานที่มีผลมาก แต่อานิสงส์ไม่มาก
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ด้วยความคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
นี่ถึงชั้นดุสิต ที่ให้เพราะเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่หุงหากิน และก็เป็น สมณพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤๅษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤๅษี วามกฤๅษี วามเทวฤๅษี เวสสามิตรฤๅษี ยมทัคคิฤๅษี อังคีรสฤๅษี ภารทวาชฤๅษี วาเสฏฐฤๅษี กัสสปฤๅษี และภคุฤๅษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
ไม่ว่าเทวโลกชั้นไหนก็ตาม ก็ยังเป็นภพภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยู่นั่นเอง
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤๅษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤๅษี วามกฤๅษี วามเทวฤๅษี เวสามิตรฤๅษี ยมทัคคิฤๅษี อังคีรสฤๅษี ภารทวาชฤๅษี วาเสฏฐฤๅษี กัสสปฤๅษี และภคุฤๅษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
ท่านผู้ฟังที่ให้ทานแล้วจะไปสู่ภูมิไหน ทราบได้ไหมว่า จะไปสู่สวรรค์ชั้น จาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ หรือว่าชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ถ้าขอไปเกิดที่สวรรค์ชั้นนิมมานรดี แต่เหตุของการให้ไม่สมควรที่จะทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จะเกิดที่นั่นได้ไหม และสำหรับความวิจิตรของจิต ถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก จะเห็นว่า บุคคลอื่นนั้นไม่สามารถพยากรณ์ได้เลยว่า บุคคลนี้จะเกิดที่ไหน เป็นผลของกุศลกรรมขั้นใด เพราะเหตุว่าความวิจิตรของจิตมากเหลือเกิน ต่างกันไปตามอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และแม้ในบรรดาพระอริยบุคคลด้วยกัน ความวิจิตรของจิตก็ต่างกันมาก ทำให้เกิดในภพภูมิต่างกันไปตามเหตุที่ได้สะสมมาด้วย
ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์
ดูกร สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนอย่างฤๅษีในครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤๅษี วามกฤๅษี วามเทวฤๅษี เวสสามิตรฤๅษี ยมทัคคิฤๅษี อังคีรสฤๅษี ภารทวาชฤๅษี วาเสฏฐฤๅษี กัสสปฤๅษี และภคุฤๅษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจ และโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้
ดูกร สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เป็นการเจริญกุศล ขัดเกลาจิต เจริญสติด้วยในขณะนั้น เป็นเหตุให้บรรลุอริยสัจธรรมเป็นลำดับขั้น ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อจุติก็จะเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
นี่เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะฉะนั้น การให้ทานของท่านในครั้งก่อนๆ ให้ผลมากได้ แต่จะมีอานิสงส์มากด้วย ก็ต้องเจริญสติเพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงขั้นที่จะไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
นี่เป็นความต่างกันของการให้ ซึ่งแต่ก่อนถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเวลาให้ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะที่ให้ทานก็สามารถละคลายการยึดถือสภาพของนามและรูปในขณะนั้น รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และปัญญาก็จะรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสตาปัตติสังยุต ราชาสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ์เสวยราชสมบัติเป็นอิสสราธิบดีในทวีปทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือ ได้เป็นสหายของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอแวดล้อมไปด้วยหมู่นางอัปสร เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ณ สวนนันทวันในดาวดึงส์พิภพนั้น ท้าวเธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเยียวยาอัตภาพ อยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาได้ด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มแม้ผ้าที่เศร้าหมอง เธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้นเธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของพวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี่เป็นประการที่ ๑ ประการต่อไป มีข้อความว่า
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
นี่เป็นธรรมประการที่ ๒ ต่อไปประการที่ ๓ และ ๔
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เหล่านี้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การได้ทวีปทั้ง ๔ กับการได้ธรรม ๔ ประการ การได้ทวีปทั้ง ๔ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว ๑๖ หน ของการได้ธรรม ๔ ประการ
เพราะฉะนั้น อะไรมีอานิสงส์มาก
สำหรับการให้เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท บางท่านคอยโอกาสว่า มีทรัพย์สินมากๆ แล้วจะให้ แต่ถ้าท่านให้ทานแม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย แม้เป็นสิ่งซึ่งดูเหมือนกับว่าจะไม่มีประโยชน์ หรือว่าไม่มีความหมายสำหรับท่าน แต่ว่าเป็นประโยชน์หรือว่ามีความหมายมากสำหรับผู้รับ แม้เป็นสัตว์เดรัจฉาน ในขณะที่ให้ ก็เป็นกุศลจิต เป็นกุศลกรรม
ที่มา ...
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร