อักขณสูตร
ซึ่งโอกาสที่จะได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ให้ประพฤติปฏิบัติตามนั้น เป็นโอกาสที่ยากอย่างยิ่ง
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อักขณสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมกล่าวว่า โลกได้ขณะจึงทำกิจๆ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้
๘ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าประกาศแล้ว แต่บุคคลผู้นี้ เข้าถึงนรกเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ นี้มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑
โอกาสยากไหมที่จะได้ฟังพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงประกาศ ทรงแสดง ถ้าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ และไม่ได้อยู่ในสมัยที่ พระธรรมยังสมบูรณ์อยู่ครบถ้วน ไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจในเหตุผลที่จะประพฤติปฏิบัติตาม สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ นี้มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑ คือ เมื่อบุคคลผู้นี้เข้าถึงนรกเสีย
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรม อันพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง ... แต่บุคคลผู้นี้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๒
ถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง สติไม่สามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้เข้าถึงปิติวิสัยเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๓
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้เข้าถึงเทพนิกายผู้มีอายุยืน ชั้นใดชั้นหนึ่งเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๔
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่ในพวก มิลักขะ ไม่รู้ดีรู้ชอบ อันเป็นสถานที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาไปมา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๕
เลือกไม่ได้เลยว่า ท่านจะอยู่ในสมัยไหน ในขณะไหน ขณะนี้อยู่ในสมัยที่ พระธรรมของพระผู้มีพระภาคยังครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ ที่จะได้ศึกษาปฏิบัติตาม แต่ต่อไปไม่ทราบว่า จะเป็นขณะและสมัยที่ท่านจะได้ประพฤติพรหมจรรย์ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยันต์ที่บูชาแล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่ผุดเกิดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ กระทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนประชุมชนให้รู้ตาม ไม่มีในโลก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๖
ถ้าท่านจะพิจารณาบุคคลบางท่านในสมัยนี้ ใกล้ต่อการที่จะคิดและเชื่อว่า ผลวิบากแห่งกรรมดี กรรมชั่วไม่มี ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัย ในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ คือ ไม่มีโอกาสที่จะได้อบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ฯลฯ แต่บุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท แต่เขามีปัญญาทราม บ้า ใบ้ ไม่สามารถรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุภาษิต ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๗
การที่จะทราบว่า บุคคลใดมีปัญญาทราม หรือว่าไม่มีปัญญาทราม คือ พิจารณาสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล สามารถที่จะรู้ในสุภาษิตและทุภาษิตได้หรือไม่ ถ้าเข้าใจผิด เห็นว่า คำพูดที่ไม่ถูกต้องเป็นทุภาษิตนั้น เป็นของจริง ของถูก ก็เป็นเครื่องชี้ว่า เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม ซึ่งก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัย ในการที่จะเจริญอบรมมรรคมีองค์ ๘ ได้
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง ตถาคตอุบัติแล้วในโลก เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ธรรมอันนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ อันพระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว แต่พระตถาคตมิได้แสดง ถึงบุคคลผู้นี้จะเกิดในมัชฌิมชนบท และมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ ทั้งสามารถจะรู้อรรถแห่งสุภาษิตและทุภาษิตดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้มิใช่ขณะมิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๘
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลอันมิใช่ขณะ มิใช่สมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ๘ ประการนี้แล ฯ
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ มีประการเดียว ประการเดียวเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และธรรมอันตถาคตทรงแสดง เป็นธรรมนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ พระสุคตเจ้าทรงประกาศแล้ว และบุคคลนี้เกิดในมัชฌิมชนบท ทั้งมีปัญญา ไม่บ้าใบ้ สามารถเพื่อจะรู้อรรถแห่งสุภาษิต และทุภาษิตได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ประการเดียว.
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใด เกิดในมนุษย์โลกแล้ว เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรม ไม่เข้าถึงขณะ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าล่วงขณะ
ชนเป็นอันมากกล่าวเวลาที่เสียไปว่า กระทำอันตรายแก่ตน พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในกาลบางครั้ง บางคราว การที่พระตถาคตเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๑ การได้กำเนิดเป็นมนุษย์ ๑ การแสดงสัทธรรม ๑ ที่จะพร้อมกันเข้าได้ หายากในโลก
ชนผู้ใคร่ต่อประโยชน์ จึงควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น ที่ตนพอจะรู้ จะเข้าใจสัทธรรมได้ ขณะอย่าล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะบุคคลที่ปล่อยเวลาให้ล่วงไป พากันยัดเยียดในนรก ย่อมเศร้าโศกอยู่ หากเขาจะไม่สำเร็จอริยมรรค อันเป็นธรรมตรงต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้ เขาผู้มีประโยชน์อันล่วงเสียแล้ว จักเดือดร้อนสิ้นกาลนาน เหมือนพ่อค้าผู้ปล่อยให้ประโยชน์ล่วงไป เดือดร้อนอยู่ ฉะนั้น
คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม จักเสวยแต่สังสาร คือ ชาติ และมรณะสิ้นกาลนาน
ส่วนชนเหล่าใด ได้อัตภาพเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อพระตถาคตประกาศสัทธรรม ได้กระทำแล้ว จักกระทำ หรือกระทำอยู่ ตามพระดำรัสของพระศาสดา ชนเหล่านั้นชื่อว่าได้ประสพขณะ คือ การประพฤติพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมในโลก
ชนเหล่าใด ดำเนินไปตามมรรคาที่พระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว สำรวมในศีลสังวรที่พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว คุ้มครองอินทรีย์ มีสติทุกเมื่อ ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ตัดอนุสัยทั้งปวงอันแล่นไปตามกระแสบ่วงแห่งมาร ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะ ถึงฝั่ง คือ นิพพานในโลกแล้ว
จบสูตรที่ ๙
ทุกท่านกำลังอยู่ในขณะที่สามารถจะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้ แต่ชาติต่อไป ไม่ทราบใช่ไหมว่าจะอยู่ในขณะ ในสมัยที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานได้หรือไม่ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทั้งขั้นของทาน ศีล และการเจริญสติปัฏฐานด้วย ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดในสุคติภูมิ และ สามารถที่จะอยู่ในขณะ และสมัยที่จะอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ต่อไปได้
ปัญญาจะต้องเจริญอบรม จนกระทั่งเป็นความรู้ชัด และผลของการอบรมเจริญปัญญานั้น คือ ละคลายความไม่รู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และเพิ่มความรู้ชัดขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึกรู้
ที่มา ...
- ขันติวาทีดาบส (ขันติบารมี)
- กามชาดก (ไม่ประมาทในการเจริญกุศล)
- ติลมุฏฐิชาดก (เป็นผู้ที่ว่าง่าย)
- พระสารีบุตรปรินิพพาน
- พึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
- คามนิจันทชาดก
- ทานสูตร และ ทานวัตถุสูตร
- คันธารชาดก (ผู้สะสมสิ่งของ)
- รัฏฐปาลสูตร (ชีวิตของท่านพระรัฐปาละ)
- กุมารลิจฉวีสูตร
- ชนสูตร (เรื่องพราหมณ์ชรา ๒ คน)
- กัณหทีปายนจริยา (สัจจบารมี)
- สัปปุริสสูตร (เรื่องการพูด)
- เรื่องพระสุขเถระ
- ทานบารมี
- อัสสุสูตร (สังสารวัฏฏ์)
- รสพระธรรม
- ฤกษ์ดี (สุปุพพัณหสูตร)
- วิโรจนอสุรินทสูตร และ สุภาษิตชยสูตร
- โกกาลิกสูตร
- พระโสณโกลวิสเถระ
- เสรีสูตร
- มหากัสสปสูตร
- อักโกสกสูตร (ความโกรธ)
- มหาสุญญตสูตร (ความประพฤติที่เหมาะสม)
- พระโลสกติสเถระ (อรรถกถาโลสกชาดก)
- ให้แล้วไม่เสียดาย (ทสัณณกชาดก)
- มิตตามิตตชาดก
- เจติยราชชาดก
- กินททสูตร (การให้)
- สัจจกนิครนถ์โต้วาทะ
- โสณนันทบัณฑิตจริยา
- อกิตติจริยา (ศีลบารมี)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 1 (ธาตุวิภังคสูตร)
- พระเจ้าปุกกุสาติ 2 (ธาตุวิภังคสูตร)
- กกจูปมสูตร (การคลุกคลี การเป็นผู้ว่าง่าย)
- จะเป็นคนดีหรือพระโสดาบัน
- ปังกธาสูตร และ ปุปผรัตตชาดก
- ผลของความประมาท (เขตตูปมาเปตวัตถุ)
- เจ้ากรรมนายเวร
- มีธรรมเป็นที่พึ่ง (มหาปรินิพพานสูตร)
- กปิลสูตร และ ยโสชสูตร
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๑ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ ๒ (ทรงบำเพ็ญพระบารมี)
- ตอบแทนมารดาบิดา
- เรื่องอตุลอุบาสก (ความโกรธ)
- ธนัญชานีสูตร (ฆ่าความโกรธ)
- ทานสูตร และ ราชาสูตร
- นักฟ้อนนามว่า นฏคามณิ และ เรื่องนางรัชชุมาลา
- ภิสชาดก
- มาตุโปสกสูตร และ พหุภาณีสูตร
- หัตถกสูตร (เรื่องหัตถกเทพบุตร)
- อักขณสูตร
- อาสีวิสสูตร (อสรพิษ ๔ จำพวก)
- อิณสูตร