อกุศลธรรม ๙ กอง แผ่นที่ 2 ตอนที่ 8


    อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องชาดกซึ่งแสดงให้เห็นว่า การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้ยากที่จะทำอะไรบ้าง เช่น ยากที่จะสละวัตถุให้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นก็ยากแล้ว แต่สิ่งที่ยากกว่าการให้ก็ยังมีอีก มีใครคิดได้ไหมว่า อะไรเป็นสิ่งที่ยากกว่าการให้

    เรื่องของการสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้ ก็ยากที่จะเอ่ยหรือ ที่จะกระทำ แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นก็ยังมี อะไรที่ยากกว่านั้น ซึ่งบางท่านหลังจากที่ได้ฟังชาดกนี้แล้ว อาจจะกล่าวว่า คิดไม่ถึงว่าจะเป็นอย่างนั้น

    อรรถกถา สัตตกนิบาตชาดก อรรถกถาทสัณณกชาดกที่ ๖ มีข้อความว่า

    ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เป็นเสนกบัณฑิตอำมาตย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นอายุรบัณฑิตอำมาตย์ และท่านพระสารีบุตรเป็นปุกกุสบัณฑิต ของพระเจ้าพรหมทัต

    ครั้งนั้น บุตรของราชปุโรหิตได้มาเฝ้าพระราชา เมื่อเห็นอัครมเหสีของพระราชา ก็มีจิตปฏิพัทธ์ นอนอดอาหาร เมื่อพระราชาทรงทราบก็ทรงมอบพระอัครมเหสีให้ ๗ วัน แล้วให้นำมาส่งคืน แต่ปรากฏว่าบุตรของราชปุโรหิต และพระมเหสีต่างมีจิต รักใคร่กัน และพากันหนีไปเมืองอื่น

    ฟังดูเป็นนิยายน้ำเน่าสำหรับยุคนี้สมัยนี้ แต่เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น เรื่องเน่าคงไม่มี ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ในอดีตชาติ และเป็นเรื่องจริง ชีวิต ของท่านพระอานนท์ ชีวิตของพระผู้มีพระภาค ชีวิตของท่านพระสารีบุตร ของท่านพระมหาโมคคัลลานะ และของบุคคลอื่นๆ ในครั้งนั้น ซึ่งผู้ที่ยัง ไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ไม่ไปไหน นอกจากมีสังสารวัฏฏ์สืบต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น บุคคลนั้นบ้าง บุคคลนี้บ้าง จนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน อาจจะเป็นท่านผู้ฟังที่นี่ ใครคนหนึ่งคนใดก็ได้ แล้วก็จำเรื่องของตัวเองในอดีตไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าเป็นใคร ที่ไหน

    พระราชาทรงโศกเศร้าจนประชวรหนัก หมอหลวงทั้งหลายก็ไม่สามารถ รักษาได้ พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระราชาไม่ทรงมีโรคอะไร นอกจากเสียพระทัยที่ไม่ทรงเห็นพระมเหสี จึงคิดอุบายแก้ไข โดยจัดแสดงการกลืนดาบให้พระราชาทอดพระเนตร เมื่อพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นชายคนหนึ่งกลืนดาบแก้วที่คมกริบยาว ๓๓ นิ้ว จึงตรัสถามอายุรบัณฑิตว่า สิ่งที่ทำยากกว่าการกลืนดาบนี้มีไหม

    อายุรบัณฑิตในครั้งนั้น ซึ่งในชาติสุดท้ายเป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลว่าการพูดว่าเราจะให้นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่านั้น

    คิดดู ให้ไปกลืนดาบคมกริบยาว ๓๓ นิ้ว ยังง่ายกว่าการที่จะพูดว่า จะให้ นี่คือการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งแสนยากจริงๆ ที่จะสละได้ ให้ทำอะไรก็ยังง่ายกว่าการพูดว่าจะให้ ด้วยความโลภ ติดข้อง จึงทำให้พูดไม่ได้

    เป็นความจริงไหม ทุกท่านพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวัน วันนี้พูดคำนี้บ้างหรือยัง หรือว่าปีหนึ่ง เดือนหนึ่งจะพูดสักกี่ครั้ง

    พระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ก็ทรงพิจารณาพระองค์

    นี่คือบัณฑิต ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังสิ่งใดทั้งหมด เมื่อฟังแล้วพิจารณาตน

    พระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ก็ทรงพิจารณาพระองค์ว่า พระองค์ได้ตรัสออกไปแล้วว่า จะให้พระมเหสีแก่บุตรของราชปุโรหิต พระองค์ก็ ทรงสามารถกระทำกรรมที่ทำได้ยากแล้ว

    คือ สามารถเอ่ยปากตรัสให้พระมเหสีแก่บุตรของราชปุโรหิต แสดงว่าพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่ยาก

    ความเศร้าโศกในพระราชหฤทัยก็เบาบางไปแล้วหน่อยหนึ่ง

    เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก

    พระองค์ทรงดำริว่า แต่กรรมอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าการพูดว่า เราจะให้ของสิ่งนี้แก่ผู้อื่นนั้น ยังมีอยู่หรือไม่หนอ

    พูดก็ยาก แต่อะไรจะยากกว่าพูด

    พระราชาจึงตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า

    สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการบอกว่าเราจะให้นั้นยังมีอยู่หรือ

    มีอะไรที่ทำได้ยากกว่านั้นอีก

    ลำดับนั้นปุกกุสบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวาย จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

    คนทั้งหลายไม่รักษาคำที่พูดไว้ คำที่พูดออกไปนั้นก็ไม่มีผล และผู้ใดให้ปฏิญญาไว้แล้ว ก็บั่นทอนความโลภได้ การบั่นทอนความโลภของผู้นั้นนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ และการให้ปฏิญญานั้น

    นี่เป็นเรื่องของสัจจะ ความจริงใจ ความตรงต่อความคิดหรือคำที่ได้กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพูดแล้วว่าจะให้ สิ่งที่ยากกว่าก็คือให้จริงๆ ไม่ใช่ว่าพูดแล้ว แต่ให้ไม่ได้ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า อะไรยากกว่า เวลาที่มีศรัทธาเกิดขึ้นก็พูดให้ได้ แต่พูดแล้วไม่ให้ก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดแล้ว และก็ให้ ย่อมทำสิ่งที่ยาก คือ ไม่เพียงแต่พูด แต่มีสัจจะ มีความจริงใจ สามารถกระทำตามที่ได้พูดแล้วด้วย

    เหตุอย่างอื่นทุกอย่างเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด

    ความจริงก็เป็นความจริงทุกกาลสมัย แม้ในสมัยโน้นจนถึงสมัยนี้

    เมื่อพระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วก็ทรงพิจารณาว่า พระองค์ตรัสไปแล้วว่า จะให้พระเทวีแก่บุตรของปุโรหิต และพระองค์ก็ได้ให้พระเทวีตามที่ตรัสแล้ว พระองค์จึงได้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกก็เบาบางลงกว่าเดิม

    นี่คือผู้ที่พิจารณาตนเอง และเห็นว่าพระองค์สามารถสละ คือ ตรัสแล้ว และ ได้กระทำตามพระวาจาที่ได้ตรัสแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นความสามารถของพระองค์ ยิ่งกว่าการกลืนดาบที่คมกริบยาว ๓๓ นิ้ว

    ลำดับนั้น พระองค์ได้มีพระปริวิตกว่า คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดกว่า เสนกบัณฑิตไม่มี เราจักถามปัญหานี้กะเสนกบัณฑิต

    ซึ่งในพระชาติสุดท้ายก็เป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    พระองค์จึงตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า

    สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการให้สิ่งของนั้นมีอยู่หรือ

    พูดว่าให้ แล้วก็ให้ จะมีอะไรที่ยากกว่าการให้สิ่งของนั้น

    เสนกบัณฑิตเมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึงกล่าวคาถาที่ ๖ ว่า

    คนควรให้ทาน จะน้อยหรือมากก็ไม่ว่า แต่ผู้ใดครั้นให้แล้ว ไม่เดือดร้อนใจ ในภายหลัง (คือ ไม่เสียดาย ไม่เศร้าโศก) การไม่เดือดร้อนใจนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ยากกว่าการกลืนดาบ ยากกว่าการพูดว่าจะให้สิ่งของ และยากกว่าการให้สิ่งของ ที่รักนั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมดเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้

    จริงไหม พูดว่าจะให้ พูดแล้ว และให้ด้วย แต่ให้แล้วเสียดาย จะทำอย่างไรกับโลภะซึ่งติดตามการให้ได้ ทั้งๆ ที่ให้ไปแล้วก็ยังเสียใจ เศร้าโศก หรือเสียดาย ในภายหลัง

    เมื่อพระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ก็ทรงพิจารณาจิตของพระองค์ ซึ่งเมื่อให้พระเทวีแก่บุตรของปุโรหิตไปแล้วก็เศร้าโศก ซึ่งไม่สมควรเลย และ ทรงพิจารณาว่า หากพระเทวีพึงมีความเสน่หาในพระองค์ ก็คงไม่ทอดทิ้งอิสริยยศนี้หนีไป แต่เมื่อพระเทวีไม่มีความเสน่หาในพระองค์หนีไป จะมีประโยชน์อะไรที่ทรงเศร้าโศก

    เมื่อพระองค์ทรงมีพระดำริดังนี้ ความเศร้าโศกทั้งหมดก็หายไป เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งตกจากใบบัวฉะนั้น ในทันใดนั้นพระองค์ทรงไร้พระโรค ทรงพระเกษมสำราญ เมื่อจะทรงสดุดีพระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า

    อายุรบัณฑิตแก้ปัญหาแล้ว และปุกกุสบัณฑิตก็แก้ปัญหาแล้ว ส่วน เสนกบัณฑิตครอบปัญหาหมดทุกข้อว่า คนให้ทานแล้ว ไม่ควรเดือดร้อนใจภายหลัง อย่างที่เสนกบัณฑิตพูด

    ก็พระราชาครั้นทรงทำการสดุดีแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่เสนกบัณฑิตนั้น

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา ทรงประกาศสัจจธรรมทั้งหลายแล้ว ทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจจธรรม ภิกษุผู้ใคร่ลาสิกขาเพราะการยั่วยวนของภรรยาเก่า ซึ่งในอดีตกาลครั้งนั้นเป็นพระเจ้าพรหมทัต ก็ได้บรรลุโสตาปัตติผล อายุรบัณฑิตได้เป็นพระมหาโมคคัลลานเถระ ปุกกุสบัณฑิตได้เป็นพระสารีบุตรเถระ ส่วนเสนกบัณฑิตได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2066



    หมายเลข 164
    2 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ