จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
โดยตรงรูปารมณ์ หรือวัณณะ รูปายตยนะ ยาวหรือสั้นไม่ได้ แต่อาศัยวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นเครื่องกำหนดวัดว่า ยาวหรือสั้น
นี่จะต้องเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์ หรือรูปายตนะ หรือวัณณะให้ถูกต้องแล้ว ว่าที่เคยเข้าใจมานั้นถูกหรือผิด ที่เห็นว่าเป็นโต๊ะ แล้วกำหนดหมายรู้ว่า ยาวหรือสั้น แท้ที่จริงแล้ว รูปายตนะ คือ สี สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นสี เป็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ยาว ไม่สั้น แต่ว่าอาศัยวัตถุที่ตั้งของสีเป็นเครื่องกำหนดว่า ยาวหรือสั้น แต่เฉพาะรูปารมณ์ รูปายตนะ หรือวัณณะเองยาวสั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าอาศัยปฐวีธาตุ เป็นอุปาทายรูป เพราะฉะนั้นอาศัยธาตุซึ่งเป็นที่ตั้งของรูปายตนะหรือรูปารมณ์นั่นเองเป็นเครื่องกำหนดว่า ยาวหรือสั้น แต่รูปายตนะแล้วไม่ยาว ไม่สั้น ถูกไหมคะ ใครจะคิดอย่างนี้บ้าง แต่ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น“สักกายทิฏฐิ” คือ ความเห็นผิดในกาย ในสิ่งที่ประชุมรวมกัน ยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้ารูปารมณ์ หรือรูปายตนะ หรือสีสันวัณณะต่างๆ ไม่ปรากฏ จักขุวิญญาณจะไม่มี ไม่มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีสภาพธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
หรือถ้าจะกล่าวโดยนัยอ้อม ก็คือจักขุวิญญาณไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ซึ่งหมายถึงว่า จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นสภาพธรรมที่จริง เป็นสัจธรรม เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และต้องระลึกที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ยาว ไม่สั้น แต่ว่าอาศัยวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นเครื่องกำหนดความยาว ความสั้น เพราะฉะนั้นตัวสีสันวัณณะจริงๆ นั้น เป็นแต่เพียงรูปที่สามารถปรากฏทางตาเท่านั้น จึงจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุใดๆ ได้
7009 รูปหรือสีที่ปรากฏทางตาต่างจากขณะคิดว่าสีเขียว
ท่านอาจารย์ นิมนต์เจ้าค่ะ
พระ อาตมาฟังธรรมของโยมมานาน คำว่า “รูป” หรือสี สิ่งทั้งหมดที่ปรากฏทางตา เรียกว่า สี แต่ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตาสีเขียว นาม สภาพที่ปรากฏทางตา เรียกว่าสี แต่ที่ว่าสีเขียว นามธรรมเห็นดับ อาตมาพิจารณาจะถูกต้องเปล่า เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปจึงจะรู้ว่า สีเขียว จิตถึงคิดว่าเป็นสีเขียว
ท่านอาจารย์ ทางมโนทวารวิถีอาศัยสัญญา ความจำเกิดขึ้นนึกถึงสีนั้นเจ้าค่ะ
พระ คือว่าสภาพทั้งหมดในโลกนี้เรียกว่า สิ่งที่ปรากฏ ที่เรียกว่าสี คือสมมติขึ้น สัญญาจำว่าสี แต่เป็นสภาพจริงทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏได้ทางตาเรียกว่ารูป จะสีเขียว สีแดงเกี่ยวกับการนึกคิด สัญญาทางใจ อย่างนี้ถูกไหมครับ
ท่านอาจารย์ ถูกเจ้าค่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ และจักขุวิญญาณที่เพียงเห็น อย่าลืมค่ะ เพียงเห็น จักขุวิญญาณไม่รู้อะไรเลย จักขุวิญญาณเท่านั้นไม่รู้ว่ากำลังเห็นอะไร เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณทำกิจเห็น เพียงเห็นเท่านั้นเอง แต่การที่จะรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่ใช่จักขุทวารวิถี แต่ต้องเป็นมโนทวารวิถีหลังจากจักขุทวารวิถีดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่จะฟังธรรมโดยละเอียดมีประโยชน์เกื้อกูลแก่การรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่คลาดเคลื่อน
7010 ความปรารถนาลามกที่ทำอาการต่างๆ ให้มนุษย์เลื่อมใส
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ และจักขุวิญญาณที่เพียงเห็น อย่าลืมค่ะ เพียงเห็น จักขุวิญญาณไม่รู้อะไรเลย จักขุวิญญาณเท่านั้นไม่รู้ว่ากำลังเห็นอะไร เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณทำกิจเห็น เพียงเห็นเท่านั้นเอง แต่การที่จะรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่ใช่จักขุทวารวิถี แต่ต้องเป็นมโนทวารวิถีหลังจากจักขุทวารวิถีดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่จะฟังธรรมโดยละเอียดมีประโยชน์เกื้อกูลแก่การรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่คลาดเคลื่อน
ซึ่งข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุ วิภังคนิทเทส ปาปิจฉตานิทเทส อธิบาย “ความปรารถนาลามก” ซึ่งทำอาการต่างๆ ให้พวกมนุษย์เลื่อมใส มีข้อหนึ่งที่กล่าวว่า
แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า “เราย่อมสละปริยัติ” ดังนี้ เป็นต้น ด้วยคำว่า
เมื่อเราตรวจดูหมวด ๓ แห่งธรรม อันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกายอยู่ มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่า “ปริยัติ” ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
นี่คือผู้ที่มีปัญญาทราม แต่ด้วยความปรารถนาลามก ก็ปรารถนาจะให้บุคคลอื่นเห็นว่า ตนเป็นผู้มีปัญญา เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า
ชื่อว่า “ปริยัติ” ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ เพราะเหตุว่าแสดงว่าตนเองปฏิบัติ และมรรคนั่นแหละมาแล้ว พร้อมด้วยฤทธิ์
นี่เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม แต่ปรารถนาจะให้คนอื่นเห็นว่า “ต้องปฏิบัติ แล้วสละปริยัติ” เพราะเหตุว่าการสนใจในปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ ดังนี้
ย่อมแสดงซึ่งความที่ตนเป็นคนมีปัญญามาก โดยการกล่าวอย่างนั้น ก็เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า “ย่อมทำลายพระศาสนา” ชื่อว่า “มหาโจรเช่นกับบุคคลนี้ย่อมไม่มี” เพราะว่าบุคคลผู้ทรงพระปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ หามีไม่
ท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ของการศึกษาปริยัติ หรือเห็นว่าไม่สมควรจะศึกษา
ถาม คำพูดอันนี้ผมได้ยินมากทีเดียว แต่เพิ่งจะรู้เมื่ออาจารย์ยกอรรถกถาขึ้นมาว่า ผู้ที่พูดเช่นนี้ เป็น “มหาโจรปล้นพุทธศาสนา” แท้ที่จริงมีพระสายกัมมัฏฐานมากรูปทีเดียวว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์นี้ จะต้องปฏิบัติอย่างเดียว ปริยัตินี้ทำให้พ้นทุกข์ไม่ได้ คำพูดอย่างนี้มีอยู่ในพระสายกัมมัฏฐานมากมาย และท่านพูดบ่อยเสียด้วย
พระ ที่อาตมาศึกษามาตั้งแต่เป็นฆราวาสทุกสำนัก อาตมาฟังวิทยุ สำนักไหนดี ไป เต็ม ลำบาก ทำจนหมดปัญญา สุดปัญญา สมาธิทำจนเป็นไข้มาลาเรีย ไม่รู้ เอาเลือดเข้าแลกเพื่อให้ได้สมาธิ ทำจนหมดปัญญา คิดว่า ศาสนาไม่มีอะไรเลย ต่อมาฟังอาจารย์กิตติ นิยายอิงธรรม แต่อาจารย์สุจินต์ก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็ทนฟังจนเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็หมดปัญหา ชีวิตอาตมาเท่าที่ผ่านมา เกิดชาติใดฉันใดเป็นกุศลที่ทำ ขอให้เจอนักปราชญ์ แล้วก็เจอจริงๆ ชีวิตอาตมาปลื้มใจที่สุดเจออาจารย์สุจินต์ ชุบชีวิตอาตมาขึ้นมา ปลื้มใจมาก เพราะลำบากมาก ไปทุกสำนัก เพราะว่าอาตมาเกิดมาเป็นคนโลภมาก กลัวตาย สาเหตุที่ไปเพราะกลัวตาย ยังสร้างกุศลน้อย อยากจะสร้างบุญเยอะๆ ไปทุกสำนัก ทำเท่าไรๆ ก็ไม่ได้ เบื่อ ที่มาได้นี่อาศัยโยมอาจารย์สุจินต์ อาตมาก็ไม่รู้จะทดแทนอะไร หมดที่จะแทน คือ ปฏิบัติตาม วันพระ ๑๕ ค่ำ ทุกวันอุโบสถ ก็อุทิศส่วนกุศลให้ ทั้งๆ ที่อาจารย์ก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็แผ่เมตตาให้อาจารย์พบความสุข เพราะชีวิตอาตมาอาศัยอาจารย์จึงรอดมาได้
ท่านอาจารย์ ขอกราบนมัสการอนุโมทนาเจ้าค่ะ
7011 ผู้มีปัญญาทรามย่อมกล่าวว่าเราย่อมสละปริยัติ
ท่านอาจารย์ จากข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุ วิภังคนิทเทส ปาปิจฉตานิทเทส อธิบาย “ความปรารถนาลามก” ที่เป็นเหตุให้ทำอาการต่างๆ ให้พวกมนุษย์เลื่อมใส ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วในข้อที่ว่า
แม้ผู้มีปัญญาทราม ก็จะนั่งในท่ามกลางอุปัฏฐากทั้งหลาย กล่าวอยู่ว่า “เราย่อมสละปริยัติ” เพราะเมื่อเราตรวจดูหมวด ๓ แห่งธรรม อันยังสัตว์ให้เนิ่นช้าในมัชฌิมนิกาย มรรคนั่นแหละมาแล้วพร้อมด้วยฤทธิ์ ชื่อว่า “ปริยัติ” ไม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากสำหรับพวกเรา การสนใจในปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
มีผู้ที่กล่าวอย่างนี้นะคะ แต่ว่าผู้ที่กล่าวอย่างนี้ เป็นผู้ที่มีปัญญาทราม ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า มีใครที่จะคิดว่า ท่านรู้ทุกอย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยไม่ต้องศึกษาบ้างไหม เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหมคะ ที่ใครจะกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ยาก และบรรลุได้เร็ว ซึ่งผู้ที่มีปัญญาทรามกล่าวว่า “เราย่อมสละปริยัติ”
เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ที่กำลังเกิดดับ ลองคิดดูซิคะ ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น สภาพธรรมที่แท้จริงที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และกำลังเกิดดับ
ในขณะที่กำลังเห็น เมื่อศึกษาเรื่องวิถีจิต ก็ทราบได้ว่า ขณะเห็นเป็นวิบากจิต แล้วเมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตดับไป สันตีรณจิตดับไป ซึ่งเป็นวิบาก โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา แล้วต่อจากนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าไม่ใช่กุศลก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือถ้าไม่ประกอบด้วยโลภะ หรือโทสะ ก็เป็นโมหมูลจิต รู้ไหมล่ะคะว่า ที่กำลังเห็นนี้ รู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ปรากฏกับจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นการเห็นสิ่งที่ปรากฏ และสภาพรู้ก็ดับ และสิ่งที่ปรากฏก็ดับ แล้วก็ไม่ใช่มีแต่เห็น ที่คิดว่าเห็นนี้ แท้ที่จริงมีกุศลหรืออกุศลที่เป็นชวนวิถี เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรม รู้ชัดว่า เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ การที่จะประจักษ์ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ รู้ว่า ไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ และทั้งนามธรรมและรูปธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
มีใครที่จะบอกว่า ไม่ยาก และสามารถที่จะรู้ได้เร็ว เพราะฉะนั้นถ้าใครกล่าวอย่างนั้น จะเป็นผู้ที่มีปัญญา หรือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาทราม โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ใช่ยุคสมัยของผู้ที่สามารถจะบรรลุเร็ว ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถจะได้ยินได้ฟังพระธรรมเพียงสั้นๆ แล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม แทงตลอดในลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว
ถ้าเป็นในลักษณะนั้น บุคคลนั้นเป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล แล้วยุคนี้สมัยนี้ จะเป็นสมัยของอุคฆฏิตัญญูบุคคล และวิปัญจิตัญญูบุคคลหรือเปล่า ซึ่งทุกท่านก็ทราบได้นะคะ แม้แต่เพียงได้ยินคำว่า นามธรรม สภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ในขณะที่เห็นในขณะนี้เอง ในขณะที่ได้ยินในขณะนี้เอง ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ในขณะที่กำลังคิดนึก เพียงแต่ที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้จริงๆ ทีละอย่าง โดยไม่ปรากฏรวมกัน ต้องอาศัยการฟังและพิจารณา เมื่อเข้าใจแล้ว สติจะได้ค่อยๆ เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าจะสามารถระลึกได้มากเลย
7012 จุดประสงค์ของการฟังธรรมเพื่อเป็นอาหารให้สติเกิด
เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการศึกษาธรรม ไม่ว่าจะเป็นการฟัง การอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะให้เป็นอาหารให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้เพื่อทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลซึ่งไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล และไม่ใช่วิปัญจิตัญญูบุคคล แต่เป็นผู้ที่เป็นเนยยบุคคล คือ เป็นผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยช้า ไม่ใช่โดยเร็ว
แต่ละวิปัสสนาญาณที่จะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องอบรมเจริญนานจริงๆ กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณที่ ๑ ซึ่งเป็นการประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธาตุ เป็นรูปธาตุ ทางมโนทวารทีละลักษณะ หมดความสงสัยในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร แล้วก็วิปัสสนาญาณไม่ใช่มีแต่เพียงนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งก็แสดงให้เห็นกำลังของกิเลสซึ่งสะสมมามากเหลือเกิน ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ที่กำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ ทุกคนมีตาที่กำลังเห็น กำลังเผชิญหน้ากับปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังได้ยินเสียง เป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ กำลังเผชิญหน้ากับเสียง มีสภาพรู้เสียงในขณะที่เสียงปรากฏ แต่โมหเจตสิก หรืออวิชชา เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้แม้สิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่
เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาสำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่อดทนและรู้จริงๆ ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ถ้าใครกล่าวว่าง่าย ผู้นั้นจะพูดผิดหรือพูดถูก
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า อกุศลนี้มีมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของความต้องการ เรื่องของโลภะในลาภบ้าง ในยศบ้าง ในสักการะบ้าง ในชื่อเสียง ด้วยความยึดมั่นในความเป็นตัวตน ต้องการทุกอย่างเพื่อตัว แม้แต่การที่จะให้บุคคลอื่นกล่าวชม ก็เป็นสิ่งที่พอใจ
นี่ก็แสดงให้เห็นความยึดมั่นในขันธ์ ซึ่งได้แก่นามธรรมและรูปธรรมซึ่งยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคจริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา ไตร่ตรอง เมื่อเข้าใจแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่ใช่สาวก ฟังแล้วไม่ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็ยังต้องพิจารณาว่า ท่านอยู่ในประเภทไหนบ้างแล้ว คือ เป็นผู้ที่ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็สนใจ แต่ว่านอกจากจะฟัง พิจารณา เข้าใจ สนใจแล้ว ยังน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย
ตลอด ๔๕ พรรษา เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดความยินดี หรือยินร้าย หรือกุศล เป็นชีวิตประจำวันทุกขณะ การได้ยินเสียงที่ปรากฏ เกิดความยินดี หรือยินร้าย หรือว่าเป็นกุศล เป็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟัง แล้วพิจารณา แล้วเข้าใจ แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม คือ ระลึกในขณะที่เห็น เพื่อที่จะศึกษาให้ประจักษ์จริงๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วจึงจะเข้าใจคุณประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดง เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยละเอียด ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะสละปริยัติ เพราะเห็นว่า ผู้ที่ศึกษาหรือสนใจปริยัติย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
7013 ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะมองไม่เห็นตัวเองตามความเป็นจริง
ซึ่งจะขอกล่าวถึงลักษณะของผู้ที่มีความปรารถนาลามกลักษณะอื่นๆ ซึ่งพระธรรมทั้งหมดนี้จะเกื้อกูลอุปการะ ถ้าบุคคลใดยังมีกิเลสซึ่งแฝงลึกอยู่ในจิตใจ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด คงจะไม่มีใครรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง มักจะมองเห็นบุคคลอื่นมากกว่าตัวเอง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ นอกจากจะเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ชัดเจน แล้วยังไม่เลือกว่า จะเป็นแต่เฉพาะบุคคลอื่น แม้แต่ตัวเอง ถ้ารู้ว่า ขณะใดเป็นอกุศล การรู้สภาพธรรมถูกต้องด้วยปัญญาตามความเป็นจริง ย่อมเห็นโทษของอกุศลนั้น แล้วละได้
ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส ปาปิจฉตานิทเทส อธิบายความปรารถนาลามก ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆ ให้บุคคลอื่นเลื่อมใส มีข้อความว่า
สำหรับคนที่ไม่มีศรัทธา แต่พอถึงวันที่พวกมนุษย์ไปวัด ก็ปัดกวาดลานพระเจดีย์ ล้างอาสนะ เกลี่ยทราย รดน้ำมหาโพธิ์
ปกติไม่มีศรัทธาเลย แต่พอถึงวันที่พวกมนุษย์ทั้งหลายไปวัด ก็กระทำกิจซึ่งทำให้คนอื่นเห็นว่า เป็นผู้ที่มีศรัทธาในการปัดกวาดลานพระเจดีย์ ล้างอาสนะ เกลี่ยทราย รดน้ำมหาโพธิ์
นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่ง สำหรับบางท่าน
แม้ผู้ทุศีล ก็ยังเข้าไปหาพระวินัยธร และเล่าเรื่องที่รังเกียจว่า บางครั้งเดินไปทำให้โคตกใจ ทำให้หญ้าขาด หรือว่าบางครั้งก็เผลอสติ บ้วนน้ำลาย ทำให้แมลงซึ่งอยู่ในที่นั้นย่อมตาย เพราะฉะนั้น ก็กราบเรียนถามพระวินัยธรว่า เป็นอกุศลกรรมหรือเปล่า ซึ่งพระวินัยธรท่านก็ต้องยกเจตนาขึ้นว่า
ในขณะนั้นมีเจตนาหรือไม่ เมื่อไม่มีเจตนาที่จะฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลกรรม เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นก็ดีใจว่า ตัวเองได้กระทำสิ่งที่ปราศจากเจตนา
เพราะฉะนั้นก็ดูเสมือนเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องของวินัย ถึงกับไปกราบเรียนพระวินัยธรให้ทราบถึงความประพฤติ ซึ่งก็ทำให้มนุษย์ทั้งหลายมีความเลื่อมใสว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีความสนใจในพระวินัย
แม้ผู้ที่ศึกษาน้อย แต่ว่ามีความปรารถนาลามก ก็อ้างว่าบุคคลนั้น บุคคลนั้น บุคคลนั้นเป็นศิษย์
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแก่ใคร อย่างไร ในวันไหนก็ได้ทั้งนั้น ตามการสะสมของกิเลส
แม้ผู้ที่ยินดีด้วยหมู่คณะ ก็ทำเป็นไม่ยินดีในหมู่คณะ ไปพักกลางวันเสียที่โคนไม้ สุดเขตแดนแห่งวิหาร
แม้ผู้ที่เกียจคร้านก็ยังอ้างว่า มีแสงสว่างใหญ่ในเวลาจงกรมในมัชฌิมยาม
พูดได้ทุกอย่าง จะเห็นกำลังของอกุศลว่า เวลาที่มีความปรารถนาลามกเกิดขึ้น จะมีการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจาต่างๆ ที่จะให้บุคคลอื่นเลื่อมใส
แม้ผู้ที่หลงลืมสติก็ยังอ้างว่า เรียนพระสูตรนิกายนั้นๆ ในกาลโน้นๆ ในสมัยโน้นๆ ส่วนภิกษุอื่นยังปากให้ส่ายเพื่อถามปัญหา เป็นราวกะแพะ
ก็ยังว่าคนอื่นต่อไปอีกนะคะ เวลาที่บุคคลอื่นถามปัญหา และสำหรับผู้ที่
แม้มีจิตไม่ตั้งมั่น ก็ถามถึงเรื่องการเจริญสมถะ เช่น อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ และแสดงว่าได้สมาบัติ
ต้องแสดงไหมคะ ใครได้อะไร ถ้าใครแสดง น่าคิดไหมคะ แสดงทำไม จุดประสงค์อะไร หรือว่าเพื่ออะไร และโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กล่าวว่า การสนใจในปริยัติ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ เป็นผู้ที่ย่อมสละปริยัติ เพราะว่าไม่เห็นคุณของปริยัติ
แต่ว่าสำหรับท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรมโดยละเอียด จะทำให้ระลึกถึงข้อความที่ได้ยิน ได้ฟัง และก็ไม่ใช่เพียงระลึกถึงเท่านั้น ยังเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมทั้งการสำเหนียก สังเกต ค่อยๆ เกิดขึ้น จนกว่าจะเป็นปัญญาที่ถึงขั้นที่จะแทงตลอดในลักษณะที่ไม่ใช่นามธรรมและรูปธรรมได้
ต้องค่อยๆ เป็นไปตามปกติ ตามความเป็นจริง ตามชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน จึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง
มีข้อสงสัยอะไรบ้างคะในเรื่องนี้
7014 ผู้ที่ฟังธรรมโดยย่อแล้วบรรลุอรหันต์รู้ทั่วถึงธรรมของพระพุทธเจ้าหรือยัง
ถาม ในพระไตรปิฎกท่านมักจะกล่าวว่า ให้รู้ทั่วถึงธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บุคคล มีอุคฆฏิตัญญูเป็นต้น เสร็จแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
อยากจะถามว่า พระอรหันต์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อ แล้วได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์นั้น รู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วหรือยัง
ท่านอาจารย์ ธรรมของพระผู้มีพระภาค จะเกินตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีไหมคะ
บุคคลนั้นมีตา กำลังเห็น มีหูที่ได้ยิน มีจมูกที่ได้กลิ่น มีลิ้นที่ลิ้มรส มีกาย มีใจ เหมือนบุคคลในครั้งนี้ ไม่ว่าจะอีกกี่หมื่นปีกี่ล้านปีก็ตาม
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050