จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
ถ้ามิฉะนั้นจะหลงทาง การปฏิบัติจะผิดจะคลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่กุศล ไม่สงบ ก็เข้าใจว่าเป็นสมถภาวนา หรือว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นอกุศล เป็นมิจฉามรรค ไม่ใช่สัมมามรรค
เพราะฉะนั้นจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะรู้ว่า จิตดวงใดเป็นชาติอะไร เพื่อไม่สับสนที่สติจะระลึกรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง
มีข้อสงสัยไหมคะ ในเรื่องชาติทั้ง ๔ อย่าลืมนะคะไม่ว่าจะเป็นจิตดวงใดต้องทราบว่า เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา
7151 เข้าใจประเภทก่อน เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่รู้ยาก
ถาม อาจารย์ยังไม่ได้พูดถึงกุศลจิตมีเท่าไร อกุศลจิตมีเท่าไร วิบากจิตและกิริยาจิตมีเท่าไร อาจารย์ก็ยังไม่ได้บอก
ท่านอาจารย์ ขอให้เข้าใจประเภทไว้ก่อน แล้วเข้าใจด้วยว่า เป็นสิ่งที่รู้ยาก ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตจริงๆ โดยมากมักจะถามกันว่า ทำอย่างนี้เป็นกุศลหรืออกุศล คิดอย่างนี้เป็นกุศลหรืออกุศล จะรู้ได้อย่างไรคะ จิตเกิดไปแล้วดับไปแล้ว แล้วกุศลจิตและอกุศลจิตก็เกิดดับสลับกันรวดเร็วมาก และถ้าไม่ศึกษาโดยเหตุโดยผลจริงๆ ย่อมจะถือกุศลเป็นอกุศลก็ได้ หรือย่อมจะถืออกุศลเป็นกุศลก็ได้ ซึ่งผู้ที่ศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะเหตุว่าถ้าประมาทแล้วจะเข้าใจสภาพธรรมผิด ซึ่งจะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ผิด แล้วจะทำให้เข้าใจว่าพ้น คือว่าหลุดพ้นจากกิเลส แล้วแต่ว่าผิดเป็นมิจฉาวิมุติ มิจฉาญาณ เพราะเหตุว่าไม่สามารถทำให้ดับกิเลสได้จริงๆ นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ค่ะ
เพราะฉะนั้นเรื่องของกุศลและอกุศลเป็นเรื่องที่สำคัญนะคะ สำคัญถึงแค่ไหน สำคัญถึงขั้นที่ควรจะประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลว่า ต่างกับจิตที่เป็นอกุศล ถ้ามิฉะนั้นแล้ว อาจจะเข้าใจว่า เป็นกุศล ซึ่งความจริงไม่ใช่กุศล
เพราะฉะนั้นแทนที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะละอกุศล ก็กลับจะเพิ่มอกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่จะรู้ชื่อว่า มีกี่ดวง หรือกี่ประเภท อย่างไร แต่ควรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเกิดขึ้นพร้อมสติสัมปชัญญะ
7152 ถวายไข่พระแก้วมรกต เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล
ที่มีท่านผู้ฟังถามเรื่องถวายไข่พระแก้วมรกตว่า เป็นกุศลหรืออกุศล นี่ก็เป็นคำถามหนึ่งในหลายๆ คำถามว่า อย่างนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องพิจารณาไหมจึงจะทราบว่า เป็นกุศลหรืออกุศล หรือว่าตอบได้ง่ายๆ
ผู้ฟัง ผมจะตอบตามที่ได้อ่านของคุณนีน่า ซึ่งท่านพูดเป็นคติดีว่า ขณะที่เอาไข่ไปถวายพระแก้วนั้นไม่ได้บุญ ไม่เป็นกุศล แต่ที่เป็นบุญจริงๆ ก็ขณะที่ กราบไหว้พระแก้ว ขณะนั้นเป็นบุญ จิตเป็นกุศล เพราะขณะนั้นอ่อนน้อมต่อผู้ควรที่อ่อนน้อม
ท่านอาจารย์ พระแก้วมรกตชอบไข่หรือ น่าคิดไหม คนที่จะเอาไข่ไปถวาย ควรที่จะเริ่มคิดว่า ทำไมถึงจะถวายไข่ ต้องมีเหตุมีผล อยู่ดีๆ เอาไข่ไปถวาย ก็ต้องหมายความว่า ผู้นั้นเข้าใจว่าพระแก้วมรกตชอบไข่
ผู้ฟัง เป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ถูกหรือผิด พระแก้วมรกตชอบไข่
ผู้ฟัง ผิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ฟัง ขณะที่เอาไข่ไปถวาย ขณะนั้นไม่เป็นกุศล เมื่อไม่เป็นกุศลก็ต้องเป็นอกุศลเท่านั้น แต่ขณะที่เป็นกุศลจริงๆ คือ ขณะที่กราบไหว้ ขณะนั้นเป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ต้องมีเหตุผล มีพระแก้วมรกต แต่ต้องรู้ว่า คืออะไร
ผู้ฟัง ถ้าไม่นึกว่า พระแก้วมรกตชอบไข่ ก็ไม่เอาไข่ไปถวาย ถ้าไม่เอาไข่ไปถวาย ก็ไม่มีโอกาสที่จะกราบพระแก้ว
ท่านอาจารย์ ดูเหมือนจะไม่ได้บุญ ใช่ไหม ถ้าไม่ถวายไข่ แต่ความจริง คิดดีๆ ว่า เป็นบุญหรือเป็นอกุศลที่เข้าใจว่า พระแก้วมรกตชอบไข่
7153 ความวิจิตรของจิตชาติต่างๆ โดยสัมปยุตตธรรม
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงลักษณะของจิตซึ่งวิจิตรต่างๆ กัน โดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งจำแนกออกโดยชาติ ๔ ชาติ คือ เป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่ง เป็นกุศลจิตประเภทหนึ่ง เป็นวิบากจิตประเภทหนึ่ง เป็นกิริยาจิตประเภทหนึ่ง
ไม่ว่าจะได้ยินชื่อจิตอะไร ควรที่จะได้ทราบว่า จิตนั้นๆ เป็นชาติอะไร ถ้าเป็นอกุศลก็ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา ถ้าเป็นกุศล ก็ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา ถ้าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ซึ่งกรรมมี ๒ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ เพราะฉะนั้น วิบากก็เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑
อย่าพูดสั้นๆ ว่า อกุศล ถ้าท่านมุ่งหมายถึงผลของอกุศล แต่จะต้องพูดว่า อกุศลวิบาก เพราะอกุศลวิบากเป็นผลของอกุศล และกุศลวิบากเป็นผลของกุศล กุศลวิบากไม่ใช่กุศล กุศลวิบากเป็นผลซึ่งมาจากเหตุ คือ กุศล ดังนั้น กุศลเป็นเหตุ และกุศลวิบากเป็นผล ต้องพูดให้เต็ม เพื่อจะได้ไม่สับสน
และสำหรับจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะเป็นสังขารธรรม ซึ่งส่วนมากกิริยาจิตเป็นของพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ท่านดับอกุศลและกุศล ยังคงมีแต่วิบากซึ่งเป็นผลของอดีตกุศลและอกุศล และกิริยา ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดวิบากหลังจากที่เป็น พระอรหันต์แล้ว
7154 กุศลธรรม - อกุศลธรรม - อัพยากตธรรม
เมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมโดยชาติที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ในบางแห่งท่านผู้ฟังจะได้ยินศัพท์อื่น คือ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา ซึ่งควรที่จะได้เข้าใจความหมายของธรรมทั้ง ๓ คือ
ธรรมที่เป็นกุศล กุสลา ธมฺมา ธรรมที่เป็นอกุศล อกุสลา ธมฺมา และธรรมที่เป็นอัพยากตะ อพฺยากตา ธมฺมา
ความหมายของอัพยากตธรรม คือ ธรรมใดๆ ที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต
เพราะฉะนั้น โดยชาติมี ๔ คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ โดยธรรมหมวด ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม
7155 ธรรมหมวด ๓ โดยนัยของปรมัตถธรรม ๔
ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ และนิพพานปรมัตถ์ ๑ โดยประเภทของธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล และธรรมที่เป็นอัพยากตะ สำหรับจิตทั้งหมด วิบากจิตและกิริยาจิตเป็นอัพยากตธรรม สำหรับเจตสิก วิบากเจตสิกและกิริยาเจตสิกเป็นอัพยากตธรรม เพราะวิบากจิตและวิบากเจตสิก กิริยาจิตและกิริยาเจตสิก ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล จึงเป็นอัพยากตธรรม รูปธรรม คือ รูปปรมัตถ์ทั้งหมด ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น รูปปรมัตถ์ทุกรูปเป็นอัพยากตธรรม นิพพานปรมัตถ์ ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น นิพพานปรมัตถ์เป็นอัพยากตธรรม
7156 ธรรมทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล ธรรมนั้นเป็นอัพยากต
เมื่อศึกษาธรรมต่อไปควรที่จะได้ทราบถึงคำจำกัดความ หรือคำนิยามของศัพท์แต่ละคำ เพื่อจะได้เข้าใจธรรมถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน เช่น คำว่า อัพยากตธรรม หมายถึงธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องของจิตประเภทใดๆ เรื่องของเจตสิกประเภทใดๆ เรื่องของรูปประเภทใดๆ เรื่องของนิพพาน จะต้องทราบว่า เมื่อจำแนกโดยธรรมหมวด ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม รูปทั้งหมดไม่ใช่กุศลและอกุศล จึงเป็นอัพยากตะ นิพพาน ไม่ใช่กุศลและอกุศล จึงเป็นอัพยากตธรรมสำหรับจิตและเจตสิกใดที่ไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลเจตสิกและไม่ใช่อกุศลเจตสิก ก็ต้องเป็นอัพยากตธรรม ตลอดทั้ง ๓ ปิฎก และในอรรถกถา เพื่อที่จะได้เข้าใจชัดเจนถึงความมุ่งหมาย ซึ่งบางครั้งผ่านคำว่า อัพยากตธรรมบ่อยๆ ก็ควรที่จะได้รับทราบความหมายว่า อัพยากตธรรมนั้น ได้แก่ธรรมอะไรบ้าง
ถ้าจะถามให้ละเอียดเป็นเรื่องๆ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยธรรมหมวด ๓ เป็นอะไร สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร เป็นอัพยากตธรรม
เสียงที่ปรากฏทางหูเป็นอะไร โดยธรรมหมวด ๓ เป็นอัพยากตธรรม
จิตเห็นที่กำลังเห็น โดยธรรมหมวด ๓ เป็นอะไร เป็นอัพยากตธรรม
เพราะเหตุใด เพราะเป็นวิบากจิต จิตใดที่ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ต้องเป็นอัพยากตจิต และธรรมอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็เป็นอัพยากตะ
กิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เป็นอัพยากตธรรม
ลักษณะของกิริยา คือ จิตนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก
กิริยาจิตมีหลายดวง ไม่ใช่มีดวงเดียว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิต ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต
ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรกทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรกทางมโนทวาร แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่กุศลหรืออกุศลจะเกิดขึ้น กุศลและอกุศลจะเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ หรือแม้แต่จิตเป็นภวังค์อยู่ จะมีการเกิดขึ้นรับผลของกรรมทางหนึ่งทางใด จิตจะเกิดขึ้นรับผลของกรรมเป็นวิบากจิตทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทางโดยทันทีไม่ได้ ต้องมีจิตดวงหนึ่งซึ่งเกิดก่อน เป็นกิริยาจิต ยังไม่ใช่วิบาก ยังไม่ใช่ผลของกรรม แต่กระทำกิจคิดถึง นึกถึง หรือรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่ปสาท เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ใช่วิบาก เพราะยังไม่ได้เห็นจริงๆ ยังไม่ได้ยินเสียง เพียงแต่รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวารไหน ปสาทไหน เพราะฉะนั้น จึงเป็นกิริยาจิต
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิต ๒ ดวง กิริยาจิตทั้งหมดมี ๒๐ ดวง แต่ว่าจะค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น กิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ก็แล้วแต่ประเภทอีกว่า เป็นพระอรหันต์ที่ได้ฌานจิตหรือไม่ได้ฌานจิต ได้ถึงอรูปฌานจิตหรือได้เพียงรูปฌานจิต เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสกะ ไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นความสงบที่เป็นอัปปนาสมาธิ ก็ไม่มีฌานจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต
แต่สำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรือไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีกิริยาจิต ๒ ดวงที่เป็นวิถีจิตดวงแรกทางปัญจทวาร คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และ วิถีจิตดวงแรกทางมโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิต
7158 เห็นความวิจิตรของจิตซึ่งมีหลายประเภทหรือไม่
เห็นความวิจิตรของจิตไหม ซึ่งกำลังเกิดดับเวลานี้หลายประเภทสืบต่อกัน และจิตเกิดขึ้นเพียงขณะละ ๑ ดวง ทีละ ๑ ดวง หรือว่าทีละ ๑ ขณะเท่านั้น
ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท จิตตวรรคที่ ๓ ข้อ ๑๓ มีข้อความว่า
ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตอันไปในที่ไกล ดวงเดียวเที่ยวไป หาสรีระมิได้ มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย ชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร
แสดงให้เห็นว่า จิตนี้เกิดขึ้นทีละ ๑ ดวง คือ ทีละ ๑ ขณะเท่านั้น แต่ว่าเพราะการเกิดดับสืบต่อกันเป็นจิตประเภทต่างๆ ตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จึงจำแนกจิตออกได้หลายนัย คือ จำแนกออกได้โดยชาติ เป็น ๔ ชาตินัยหนึ่ง และจำแนกออกได้โดยภูมิ คือ โดยขั้นหรือโดยระดับของจิตอีกนัยหนึ่ง ซึ่งโดยนัยของภูมินั้นมี ๔ ภูมิ หมายความถึงขั้นหรือระดับของจิตมี ๔ ขั้น คือ จิตที่เป็นกามาวจรภูมิประเภทหนึ่ง จิตที่เป็นรูปาวจรภูมิประเภทหนึ่ง จิตที่เป็นอรูปาวจรภูมิประเภทหนึ่ง จิตที่เป็นโลกุตตรภูมิประเภทหนึ่ง
นี่เป็นการจำแนกจิตโดยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตามระดับขั้นของจิตเป็น ๔ ขั้น ซึ่งขั้นที่ต่ำที่สุด คือ กามาวจรจิต หรือกามาวจรภูมิ
สำหรับความหมายของกามาวจรจิต ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า กามาวจร ๔ นัย ว่า
นัยที่หนึ่ง บทว่า กามาวจรํ ได้แก่ จิตอันนับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย
คือ เป็นจิตที่อยู่ในขั้นของกาม ใช้คำเต็มว่า กามาวจร แต่สามารถตัดบทหลังออกเหลือเพียง กามะ หรือ กาม เท่านั้นได้ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นกามาวจร จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นจิตขั้นกาม เป็นกามาวจรจิต
7160 รูปาวจรจิต - อรูปาวจรจิต - โลกุตตรจิต
ขณะนี้เอง ไม่ได้พ้นไปจากทุกๆ วันนี้เลย จิตไม่ได้ขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่งที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่าขั้นกาม เพราะเป็นไปในความสงบที่มีรูปเป็นอารมณ์ตามที่ได้กล่าวถึงแล้วในเรื่องของสมถภาวนาว่า ถ้าจิตสงบมั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ มีรูปเป็นอารมณ์ ขณะนั้นจิตพ้นจากระดับของกาม เป็นระดับของรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่สงบแนบแน่นในอารมณ์ แต่ว่ามีรูปเป็นอารมณ์ และถ้าเป็นระดับที่สูงกว่านั้นอีก คือ จิตที่เป็นความสงบมั่นคงแนบแน่นในอารมณ์ที่ไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้น อารมณ์นั้นย่อมละเอียดกว่ารูป จิตที่ถึงขั้นนั้น ระดับนั้น เป็นอรูปาวจรจิต
และยังมีจิตที่ประณีตกว่าจิตที่เป็นอรูปาวจรจิต คือ จิตที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน เป็นโลกุตตรจิต
เพราะฉะนั้น จิตจึงต่างกันโดยภูมิ คือ ระดับขั้นของจิต เป็น ๔ ประเภท คือ เป็นกามาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง และโลกุตตรจิตประเภทหนึ่ง
7161 สามารถที่จะพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หรือไม่
ท่านผู้ฟังสามารถที่จะพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าให้จิตของท่านพ้นจากกามาวจรจิต เป็นรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิตได้ไหม ถ้าไม่อบรมเจริญสมถภาวนาและสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาภาวนา
เพราะฉะนั้น ให้ทราบระดับของจิตของแต่ละท่านตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นไป ยังอยู่ในขั้นที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
คำว่า กาม มี ๒ อย่าง คือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑
กิเลสกาม ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภะ ความยินดี ความพอใจ เป็นเจตสิก เป็นกิเลสซึ่งมีลักษณะที่ติด ที่ยินดี ที่พอใจ นั่นคือกิเลสกาม หมายความถึง โลภเจตสิก
ส่วนอีกความหมายหนึ่ง ได้แก่ วัตถุกาม
ชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่า อันสัตว์ใคร่ หมายความว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา
เพราะฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งในกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ไม่พ้นจากกิเลสกามตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ แล้วแต่ว่า กิเลสกามนั้นจะเป็นความยินดีพอใจในวัตถุกามขั้นใด
สำหรับในกามาวจรภูมิ ซึ่งได้แก่ กามาวจรจิต เป็นจิตที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างไม่คลาย และอย่างเหนียวแน่น แม้ว่ารูปจะปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือ ชั่วขณะที่กระทบตา เสียงก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยเหลือเกิน คือ ชั่วขณะที่กระทบกับโสตปสาท ดับไปแล้ว หมดแล้ว กลิ่นก็เช่นเดียวกัน เป็นปริตตธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อย ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบจมูก รสก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบกับชิวหาปสาท ชั่วขณะที่ชิวหาวิญญาณลิ้มรสที่น่าพอใจ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กระทบสัมผัสกาย ก็เป็นปริตตธรรม คือ เป็นธรรมที่สั้นเหลือเกิน เล็กน้อยมาก ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบกับกายปสาทและดับไป แต่ไม่ประจักษ์ความเล็กน้อยของสภาพธรรมเหล่านี้ จิตจึงมีความยินดีพอใจเหลือเกิน
เช่น ในขณะนี้ไม่ได้มีแต่รูปซึ่งปรากฏทางตา เสียงก็มี เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งก็ปรากฏชั่วขณะเล็กน้อย ทีละนิดทีละหน่อย เล็กน้อยจริงๆ แต่เพราะเกิดดับสืบต่อจนไม่ปรากฏความเล็กน้อยของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เสียงปรากฏแล้วก็หมด ขณะที่กำลังเห็น เห็นเสียงไม่ได้ ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงไม่มีปรากฏรวมอยู่ในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ฉันใด ขณะที่ได้ยิน ชั่วขณะที่ได้ยิน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ได้รวมอยู่ในเสียงนั้นเลย เพราะฉะนั้น เป็นชั่วขณะเล็กน้อยของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏสืบต่อ และเมื่อมีกิเลสกาม มีความยินดีพอใจในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ไม่มีวันที่จะหมด ซึ่งจะรู้ได้ว่า รูปใดก็ตามที่เป็นที่พอใจ เห็นแล้วก็น่าจะหมดแล้ว พอใจที่ได้เห็น ก็ควรที่จะเพียงพอแล้ว แต่หาพอไม่ เพราะว่าอยากจะเห็นอีกบ่อยๆ เช่นเดียวกับเสียง เสียงใดที่เป็นที่พอใจ เมื่อเสียงนั้นปรากฏให้พอใจแล้วก็น่าจะอิ่ม หรือว่าน่าจะพอแล้ว แต่ก็ยังไม่พอ ยังอยากจะได้ยินเสียงนั้นอีก
กลิ่นก็เช่นเดียวกัน รส ท่านที่เคยชอบรสอาหารชนิดหนึ่งชนิดใด บริโภคครั้งเดียวพอไหม หรือว่าอยากจะบริโภคซ้ำแล้วซ้ำอีกบ่อยๆ เพราะมีความติด มีความยินดี มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นประจำ และทุกๆ วัน และก็ซ้ำอยู่นั่นเอง คือ ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตาในลักษณะใด ก็อยากจะเห็น สิ่งนั้นเองบ่อยๆ แต่ว่าจะเห็นอยู่ตลอดเวลานี้ได้ไหม เป็นไปได้ไหม ก็ไม่ได้ และที่ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่า เบื่อ หรือว่าอย่างไร แต่เพราะเหตุปัจจัย ทำให้เห็นอยู่ตลอดเวลาไม่ได้
หรือแม้แต่รสที่ว่า แสนอร่อย ถูกปาก ถูกใจ รับประทานเรื่อยๆ ไปไม่หยุด ได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน ต้องมีเวลาที่จะหยุด เพราะว่าเมื่อหยุดรสที่พอใจแล้ว ก็ไปพอใจในกลิ่น หรือว่าไปพอใจในเสียง หรือว่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา จะต้องมีการพอใจในรูปบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะบ้าง สลับกันอยู่เรื่อยๆ
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050