จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมุลจิต ก็ย่อมมีโมหเจตสิก สภาพธรรมซึ่งไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มีอหิริกะ สภาพธรรมที่ไม่ละอายในอกุศล มีอโนตตัปปะ สภาพธรรมที่ไม่เกรงหรือกลัว หรือไม่เห็นโทษของอกุศล และมีอุทธัจจเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่สงบ ไม่ให้จิตสงบในอารมณ์ที่ปรากฏ อกุศลเจตสิกทั้ง ๔ ก็เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นก็ไม่ยกขึ้นมากล่าวว่า จะทำให้เห็นว่า โลภมูลจิตนั้นต่างกันเป็น ๘ ประเภท เป็น ๘ ดวง
เพราะฉะนั้นจึงยกเฉพาะธรรมซึ่งจะทำให้เห็นความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ว่า ทิฏฐิเจตสิกบางครั้งก็เกิดกับโลภมูลจิต และบางครั้งก็ไม่เกิดกับโลภมูลจิต แต่ทิฏฐิเจตสิกซึ่งเป็นความเห็นผิด จะไม่เกิดกับจิตอื่นเลย นอกจากโลภมูลจิตเท่านั้น
เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิตจึงมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท และไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔ ดวง
นี่เป็นเหตุซึ่งเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์และทิฏฐิคตวิปปยุต์
ซึ่งความเห็นผิดมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ความเห็นผิดอย่างมาก คือ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่เห็นได้ชัด และความเห็นผิดซึ่งละเอียด เช่น ความเห็นผิดว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี นั่นเป็นความเห็นผิดขั้นหยาบ ซึ่งรู้ได้ว่า ไม่ใช่เหตุผลเลย เพราะเมื่อมีเหตุ ก็ต้องมีผล หรือผลที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ย่อมมาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุแล้ว ผลก็ย่อมเกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อมีกรรมก็ย่อมเป็นเหตุให้วิบากเกิดขึ้น หรือว่าวิบากที่กำลังเกิดในขณะนี้ ก็ย่อมเป็นผลของกรรมในอดีต เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ถ้าใครมีความเห็นผิด คลาดเคลื่อนว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี อย่างนั้นจะชื่อว่า ความเห็นถูกไม่ได้
เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่มีความเห็นอย่างนั้น มีความเชื่ออย่างนั้น ขณะนั้นเป็นความเห็นผิด ซึ่งขณะใดที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ยินดีในความเห็นผิดนั้น พอใจยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น
เพราะฉะนั้นทิฏฐิจะเกิดกับจิตอื่นไม่ได้ นอกจากโลภมูลจิต
7313 ตัวอย่างของโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์
และสำหรับตัวอย่างที่ว่า ขณะไหนที่เป็นความเห็นผิด เวลาที่เกิดความคิดความเห็นเช่นนั้นขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เคยคุยกับเพื่อนฝูงบ้างไหมคะ ตายแล้วเกิดไหม ทำดีได้ดีหรือเปล่า หรือว่าทำชั่วต่างหากได้ดี
นั่นแหละค่ะเป็นเรื่องของการเห็นผิด ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกาย คือ ความประพฤติที่ผิด หรือวาจา คำพูดที่ผิด ถ้าความเห็นผิดในขณะนั้นไม่เกิดขึ้น จะไม่เป็นปัจจัยให้มีคำพูดอย่างนั้นได้ หรือจะไม่ทำให้เกิดความคิดความเห็นอย่างนั้นได้
เพราะฉะนั้นในโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มี ๔ แล้วก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และขณะไหนประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะว่าทุกท่านทราบว่า นอกจากความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เห็นได้ชัด ก็ยังมีความเห็นผิดซึ่งมีอยู่เป็นประจำ ถ้าตราบใดที่บุคคลนั้นยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล คือ มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสักกายทิฏฐิ หรือเป็นอัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นทุกท่านก็กลัวใช่ไหมว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง จะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์หรือเปล่า เคยคิดบ้างไหมคะ
โลภะเป็นสภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ อย่าลืมว่า ขณะใดที่มีความยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของทิฏฐิ ถ้าเป็นลักษณะของทิฏฐิแล้ว เป็นสภาพที่เห็นผิด ยึดถือในความเห็นที่ผิด ขณะนั้นเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์
เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ฟังตื่นขึ้นมา แล้วก็เห็นสิ่งที่พอใจ หรือเกิดคิดนึกถึงความต้องการเรื่องหนึ่งเรื่องใด วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ในขณะนั้นเป็นอะไรคะ ลองคิดดู ว่าจะเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตจ ต้องเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เพราะว่าในขณะนั้นไม่ได้มีความยึดถือ หรือยึดมั่นความเห็นใดๆ เป็นแต่เพียงโลภะ ความติดข้อง ความพอใจในสิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์อยู่ในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นก็ยังดี ใช่ไหมคะ ซึ่งมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีแต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งความเห็นผิดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าทำให้หลงผิด ไม่สามารถที่จะหันกลับมาสู่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกได้
7340 มองเห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน สิ่งของ เป็นความเห็นผิดหรือไม่
ถาม ในชีวิตประจำวัน ขณะที่สติไม่เกิด มองเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นสิ่งของอะไรอย่างนี้ อันนี้จะเป็นความเห็นผิดที่เป็นทิฏฐิสัมปยุตหรือเปล่าไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ถ้าความเห็นผิดเกิดขึ้นในขณะนั้นว่า นี่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แน่นอน ใครจะบอกว่าไม่ใช่ นี่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ ก็ไม่ยอมค่ะ ยังยึดถือว่า ต้องมีสัตว์ มีบุคคล ขณะที่มีความยึดถือ มีความเห็นอย่างนั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด แต่เวลาปกติธรรมดา มีการพอใจในรสอาหาร เวลารับประทานอาหาร ไม่ได้มีความคิดเรื่องนี้เลย เป็นแต่ลักษณะของความยินดีพอใจที่เกิดขึ้นในรสที่กำลังลิ้ม
เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีการแยกพระโสดาบันกับปุถุชนได้เลย เพราะเหตุว่าพระโสดาบันบุคคลเป็นผู้ที่ดับมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด ไม่เกิดอีกเลย ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดความเห็นผิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระโสดาบันบุคคล ยังมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ไม่มีความเห็นผิด
ผู้ฟัง อย่างในขณะนี้ สภาพที่ปรากฏทางตา ก็เห็นว่าเป็นสิ่งของ อย่างเห็นว่าเป็นเก้าอี้ เพราะว่าสติไม่เกิด ในขณะที่เห็นว่าเป็นสิ่งของ แต่ทีนี้อาจารย์บอกว่า เป็นเพียงสภาพของรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เก้าอี้ ก็เชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ประจักษ์แจ้งว่า อันนี้เป็นเพียงรูปธรรม แต่ยังเห็นว่าเป็นเก้าอี้อย่างนี้ จะเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ในขณะนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังมีอนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังมีสักกายทิฏฐิ ที่เป็นอนุสัยกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับ ความหมายของอนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ดับหมดแล้ว ใช่ไหมคะ อย่างเวลาที่นอนหลับสนิท ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันบุคคลมีทิฏฐานุสัย คือ ความเห็นผิดอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นกระทำกิจการงาน แต่ว่ายังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัจจัยที่จะให้ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิดเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
7341 เห็นแล้วรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิก็ได้
การที่เวลาเห็นแล้ว รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะนั้นไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิก็ได้ ไม่ใช่สักกายทิฏฐิ เพราะเหตุว่าแม้พระอรหันต์เห็นก็ยังรู้ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ถ้ามิฉะนั้นแล้วพระอรหันต์ก็ยังต้องมีสักกายทิฏฐิอยู่ ใช่ไหมคะ แต่แม้แต่ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลก็ดับมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดทุกประเภทไม่เกิดอีกเลย แต่เมื่อพระโสดาบันบุคคลเห็น ดับไปแล้ว ก็มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีการไปยับยั้งว่า ไม่ให้นึกถึง ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่านี่เป็นจิตนิยาม เป็นธรรมเนียมของจิต ซึ่งการรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จะต้องรู้ทั้ง ๒ ทวาร คือ เมื่อรู้สี รูปารมณ์ทางจักขุทวารดับไปแล้ว ทางมโนทวารจะเกิดขึ้นรับรู้สีนั้นต่อ เวลาที่ได้ยินเสียงทางโสตทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิด ดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็จะรู้เสียงนั้นต่อ ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏ ชวนวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทั้ง ๒ ทวาร คือ ทางทวารหนึ่งทวารใดในปัญจทวาร แล้วก็ทางมโนทวาร หลังจากภวังคจิตที่เกิดคั่น ดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้นสักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิด อย่าลืมค่ะ ไม่ใช่เป็นการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า ขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิเสมอไป
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สักกายทิฏฐิเสมอไปค่ะ เป็นวิถีจิต เป็นธรรมเนียมของจิตที่จะเกิดดับสืบต่อกัน
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าสติไม่เกิด ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น ...
ท่านอาจารย์ เวลานั้นไม่มีความเห็นใดๆ ไม่มีการยึดถือ ยึดมั่นในสักกายะว่า เป็นเราหรือเป็นตัวตน สิ่งที่เป็นของเที่ยงแท้ ไม่เกิด ไม่ดับ หรืออะไรอย่างนั้น
ผู้ฟัง มิจฉาทิฏฐิกับสักกายทิฏฐิต่างกันอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ว่า สักกายทิฏฐิเป็นความเห็นผิดธรรมดา ซึ่งไม่กั้นมรรคผลและสวรรค์ เพราะเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือในสิ่งที่ประชุมรวมกัน แล้วก็ไม่รู้ถึงความไม่เที่ยง ความเกิดดับของสิ่งนั้น มิจฉาทิฏฐิอื่นๆ เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี
7342 เวลานี้มีมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นรูปร่างสัณฐาน
ท่านอาจารย์ เวลานี้มีมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่าคะ กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นรูปร่างสัณฐาน
ถาม เมื่อพูดถึงเรื่องมิจฉาทิฏฐิ ผมก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องเรียนถาม เพราะว่าเมื่อ ๒ – ๓ วันนี้ ผมได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยท่านพระภิกษุที่มีชื่อ พออ่านๆ ไปแล้ว ปรากฏว่า ในความเห็นของผมเข้าลักษณะของมิจฉาทิฏฐิ เพราะท่านปฏิเสธนรก สวรรค์ โลกหน้าทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ผู้ฟัง แล้วท่านจะอยู่ได้อย่างไร แล้วท่านเป็นภิกษุที่มีชาวบ้านนับถือมากมายด้วย ลักษณะของท่านที่แสดงออกมา ท่านแสดงว่า นรก สวรรค์ในโลกหน้านั้นไม่มี แต่มันอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ก็เป็นพระไตรปิฎกอีกชุดหนึ่ง
ผู้ฟัง อย่างนี้ก็หมายความว่า ปฏิเสธพุทธศาสนาทั้งสิ้นเลย เพราะว่ามูลฐานของพระพุทธศาสนานั้น เราจะอยู่ที่การกระทำความดี และผลที่จะได้รับทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งก็หมายรวมถึงโลกหน้าด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีโลกหน้า ไม่มีนรก สวรรค์ในโลกหน้าแล้ว ผมว่าปฏิเสธพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง อันนี้ผมก็อยากจะนำมาเรียนถามว่า ลักษณะอย่างนี้จะเข้าเป็นลักษณะมิจฉาทิฏฐิหรือไม่
ท่านอาจารย์ ตอบแล้วใช่ไหมคะ เป็นมิจฉาทิฏฐิค่ะ
7343 ทำไมใช้คำเดียวกันเรียกสิ่งนี้ว่านาฬิกา
ถาม …
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังเห็นไหมคะ นี่อะไร เรียกชื่อถูกใช่ไหมคะ ทำไมถึงใช้คำเดียวกันเรียกสิ่งนี้ว่า “นาฬิกา” ทั้งๆ ที่เห็น รู้ และไม่เรียกว่านาฬิกาก็ได้ ใช่ไหมคะ หรือว่าต้องเรียก สิ่งนี้ปรากฏทางตา เมื่อเห็นแล้ว หลังจากเห็นแล้ว มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน และอาจจะนึกถึงคำว่า “นาฬิกา” เวลาที่ถามว่า เห็นอะไร ทุกท่านใช้คำเดียวกันหมด คือ ตอบว่า “นาฬิกา” ทราบไหมว่า ทำไมจึงพูดอย่างนั้น
ผู้ฟัง เพราะความเชื่อ ความยึดถือสมมติสัจจะนั้น เมื่อเรียกว่า “นาฬิกา” แล้ว ทุกคนก็จะได้เข้าใจว่า มีรูปร่างอย่างนั้นๆ และมีหน้าที่อย่างนั้นๆ เป็นสมมติสัจจะ
ท่านอาจารย์ ที่กล่าวถึงชื่อ เพื่อสะดวก จริงไหมคะ แทนที่จะต้องอธิบายมากมาย ว่ามีรูปร่างอย่างนี้ มีอะไรอยู่ตรงกลาง มีสิ่งที่ยาวเรียกว่า เข็ม ยาว หรือสั้น อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นการลำบาก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงชื่อ เพื่อความสะดวก ไม่ว่าจะเรียกโต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา หนังสือ แว่นตา อะไรๆ ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการเห็น แล้วก็มีความพอใจ ถ้าเป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น เพราะตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แล้วเวลาที่จะอธิบายว่า พอใจอะไร เพื่อความสะดวกก็กล่าวว่า ชอบนาฬิกาเรือนนี้ หรือว่าชอบวิทยุเครื่องนั้น หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อความสะดวกทั้งหมด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีความยินดี พอใจในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ความเห็นผิด ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุต เป็นแต่เพียงว่า เมื่อเห็นแล้ว ที่จะยับยั้งไม่ให้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เป็นจิตนิยาม ซึ่งเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจักขุทวารดับไปแล้ว จิตเกิดขึ้นทางมโนทวารรู้อารมณ์นั้นต่อ ใครจะบอกว่าเมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว มโนทวารไม่เกิดต่อ ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไม่ได้ ทางมโนทวารนี้เกิดขึ้นต่อ แล้วยังมีการเห็น มีการตรึกนึกถึงสิ่งที่ปรากฏโดยละเอียด ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด แล้วที่กล่าวถึงชื่อก็เพื่อความสะดวก เพราะฉะนั้นที่ชอบ ชอบสิ่งที่ปรากฏ พร้อมกับนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นที่พอใจ
เพราะฉะนั้นจึงเป็นโลภมูลจิตทิฏฐคตวิปปยุตต์ ในขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นใดๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะใดก็ตาม ถ้ามีการพูดถึงธรรม แล้วมีความเห็นต่างๆ บุคคลนี้มีความเห็นว่าอย่างนี้ ตายแล้วสูญ อีกท่านหนึ่งมีความเห็นว่า บาปไม่มี บุญไม่มี เป็นต้น ในขณะนั้นไม่ใช่เพียงโลภมูลจิตแล้ว แต่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ขณะนั้นโลภมูลจิตเป็นไปกับความเห็นผิด จึงบัญญัติเรียกว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ให้ทราบว่า ถ้าพอใจเฉยๆ ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ แม้ไม่เรียกก็คือความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง จึงเป็นเพียงโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุต์
ซึ่งแม้พระโสดาบันและพระสกทาคามีบุคคลก็ยังมี ผู้ที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็คือพระอนาคามีบุคคลและพระอรหันต์ ซึ่งดับกิเลสหมด ไม่มีกิเลสอะไรเหลืออีกเลย แต่สำหรับพระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิดทุกอย่าง เพราะเหตุว่าเวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความเห็นผิดทั้งหมดที่เป็นอนุสัย แม้แต่ความเห็นผิดอย่างอ่อน อย่างละเอียด ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตก็ไม่มีที่จะเกิดขึ้นอีกเลย
เพราะฉะนั้นพระโสดาบันยังเห็น ยังพอใจในสิ่งที่เห็น ยังนึกถึงรูปร่าง ยังนึกถึงชื่อ แต่ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด
7344 ญาณสัมปยุตต์ - ญาณวิปปยุตต์
ผู้ฟัง ก็เป็นอันเข้าใจ และดิฉันขออนุญาตต่อถึงคำว่า “ญาณสัมปยุตต์และญาณวิปปยุตต์” ได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของกุศลสัมปยุตต์ หรือโสภณสัมปยุตต์ เวลาที่กล่าวถึงโสภณสัมปยุตต์ ก็มีแต่ที่ประกอบด้วยญาณ คือ ปัญญา หรือไม่ประกอบ เพราะเหตุว่าญาณหรือปัญญานั้นเป็นโสภณเจตสิก ซึ่งไม่ประกอบกับอกุศลจิต
แต่สำหรับอกุศลจิต จำแนกออกแล้วเป็นสัมปยุต ๔ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ เกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น ปฏิฆสัมปยุตต์ ๑ เกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ในขณะใดที่เป็นโทสมูลจิต จะเห็นได้เลย สภาพของจิตต่างจากโลภะ โลภะเป็นสภาพที่พอใจ ไม่เดือดร้อน ยินดี ติดข้อง แต่สภาพของโทสะตรงกันข้าม ในขณะนั้นถ้าจะสังเกตจะรู้ว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือ ความหยาบกระด้าง จิตหยาบ จิตกระด้าง และความรู้สึกในขณะนั้น ไม่แช่มชื่น นั่นเป็นลักษณะของโทสมูลจิต ที่จะให้รู้ว่าขณะใดเป็นโทสะ ก็จะต้องรู้ได้ เพราะเหตุว่าประกอบด้วยสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ซึ่งเป็นปฏิฆะ หรือโทสะนั่นเอง มิฉะนั้นแล้วไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ใช่ไหมคะ
โทสมูลจิต ๒ ดวง ประกอบด้วยปฏิฆะ คือ โทสะ จึงสามารถจะรู้ความต่างกันว่า ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ขณะไหนเป็นโทสมูลจิต ขณะไหนเป็นโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าถ้าโทสมูลจิตไม่ประกอบด้วยโทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นปฏิฆะ คือ ความหยาบกระด้าง ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นโทสมูลจิต
ปฏิฆะ หรือโทสะ เป็นไวพจน์ คือความหมายเหมือนกัน จะใช้คำว่า โทสะก็ได้ จะใช้คำว่า ปฎิฆะก็ได้ เพราะพูดถึงโทสะ ทุกท่านคิดถึงแต่ความโกรธ แต่เวลาที่ไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ และสภาพนั้นเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง เวลาที่โทสมูลจิตเกิดแล้ว กิริยาอาการเป็นอย่างไรคะ นั่นน่ะค่ะ คือ ความหมายของปฏิฆสัมปยุตต์
7346 ปฏิฆสัมปยุตต์ กับ พระโสดาบัน
ถาม ความรุนแรงของโทสะก็มี แต่บางครั้งก็ไม่แช่มชื่นเพียงเล็กน้อย หรือความไม่พอใจเพียงเล็กน้อยที่ปรากฏขึ้น อันนี้ก็เป็นลักษณะของปฏิฆะ และสำหรับโทสะที่สัมปยุตต์ด้วยปฏิฆะ พระโสดาบันก็ยังมีใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันบุคคลละโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง และโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง พระโสดาบันดับอกุศลจิต ๕ ดวง ไม่เกิดอีกเลย เหลือเพียง ๗ ดวงเท่านั้น คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิตซึ่งเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ ดวง และสำหรับวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดกับโมหมูลจิต
สำหรับอกุศลจิตมีทั้งหมด ๑๒ ประเภท คือ เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ เป็นโมหมูลจิต ๒
เมื่อชื่อว่า โลภมูลจิต ๘ ก็ต้องมีสภาพธรรมซึ่งแสดงความต่างของโลภะว่า ทำไมจึงต่างกันเป็น ๘ ซึ่งก็ได้ทราบว่า เพราะประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔ และไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ และใน ๔ แต่ละ ๔ นั้น ก็ยังแยกอีกว่า ที่ต่างกันเป็น ๔ เพราะเป็นโสมนัสเวทนา ๒ เป็นอุเบกขาเวทนา ๒ จึงต่างกัน และในโสมนัสเวทนา ๒ นี้ ก็ต้องรู้ด้วยว่า ทำไมจึงเป็น ๒ ที่ต่างกันเป็น ๒ เพราะโดยสังขาร คือ เป็นอสังขาริก เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักชวน ๑ เป็นสสังขาริก คือ เกิดขึ้นเองเพราะอาศัยการชักชวน ๑
นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่มีประเภทอย่างนั้นๆ มีจำนวนอย่างนั้น ต่างกันอย่างนั้น เพราะอะไร
และสำหรับปฏิฆสัมปยุตต์ มี ๒ ปฏิฆสัมปยุตต์เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง ในอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒
สำหรับโทสมูลจิต ๒ ดวง ต้องประกอบด้วยปฏิฆะ เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง
เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น แล้วจะไม่ประกอบด้วยโทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง เป็นปฏิฆสัมปยุตต์นั้นไม่ได้ ทุกครั้งที่โทมนสเวทนาเกิด ต้องเป็นปฏิฆสัมปยุตต์
แต่ที่ต่างกันเป็น ๒ เพราะเป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยการชักชวน ๑ และเป็นสสังขาริก คือ ต้องอาศัยการชักชวน ๑ นี่คือ ปฏิฆสัมปยุตต์
เพราะฉะนั้นสำหรับสัมปยุตต์ก็ต้องขอให้ชินกับคำว่า “สัมปยุต” ว่า ได้แก่ สัมปยุตต์ ซึ่งมีอยู่ ๕ คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ ปฏิฆสัมปยุตต์ ๑ วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ อุทธัจจสัมปยุตต์ ๑ และญาณสัมปยุตต์ ๑ และไม่มุ่งหมายให้ท่านผู้ฟังท่องจำ แต่ว่ามุ่งหมายให้เข้าใจประกอบพร้อมกันไปว่า สัมปยุตต์หรือวิปปยุตต์นั้น เกิดกับจิตดวงใด
เช่นเวลาได้ยินคำว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ทราบทันทีว่า ทิฏฐิที่นี่หมายถึง มิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด ซึ่งต้องเกิดกับโลภมูลจิต และถึงแม้ว่า โลภมูลจิต มี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท แต่ที่จะเกิดกับมิจฉาทิฏฐิได้ มีเพียง ๔ คือ ที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ๒ อุเบกขาเวทนา ๒ ในโสมนัสเวทนา ๒ นั้น เป็นอสังขาริก ๑ เป็นสสังขาริก ๑ ในอุเบกขาเวทนา ๒ ก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นอสังขาริก ๑ เป็นสสังขาริก ๑ นี่จบเรื่องโลภมูลจิต ๘
และสำหรับโทสมูลจิต ก็เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ทั้ง ๒ ดวง ต่างกันโดยเป็น อสังขาริก ๑ ดวง สสังขาริก ๑ ดวง
7347 โมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์ - โมหมูลจิต อุทธัจจสัมปยุตต์
และที่เป็นโมหมูลจิต มี ๒ ดวง ต่างกันคือ ดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เกิดพร้อมกับความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในอดีต ในขันธ์ ในธาตุ เป็นต้น
สภาพของโมหะ คือ การไม่รู้ เป็นสภาพที่ไม่รู้ แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอารมณ์ก็ไม่สามารถรู้ความจริงของอารมณ์ที่ปรากฏได้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นนี้ ขณะใดที่ไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริง ที่กำลังปรากฏให้เห็น ไม่ใช่เสียงที่รู้ได้ทางหู ซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่แม้ว่ากำลังเห็น โมหเจตสิกเป็นสภาพที่ไม่รู้ในอารมณ์ แม้ที่กำลังเผชิญหน้า
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050