จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047


    หรือว่ายังไม่ได้สะสมบุญในอดีตมาพร้อมและพอที่จะให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะท้อถอย แต่เป็นเรื่องที่เมื่อรู้เหตุผลแล้ว ก็สะสมเหตุที่จะให้เกิดผลที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้บ่อยๆ

    7686 กุศลมีหลายขั้น-ลักษณะของเสียง-สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ซึ่งกุศลจิตก็มีหลายขั้น ซึ่งทุกท่านก็พิจารณาได้ว่า ท่านมีกุศลจิตประเภทใดบ้างในวันหนึ่งๆ มีทาน มีศีล มีความสงบของจิต และสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องอาศัยการอบรม การเจริญบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าสติจะมีกำลังพอที่สามารถจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ต่างกัน เช่นเดียวกับเสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่ต่างกัน เพราะถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรมแท้ๆ จะเห็นในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ของสภาพธรรมนั้นๆ

    เช่นในคราวก่อน ก็ได้กล่าวถึงลักษณะของเสียง ถ้าทุกท่านเข้าใจว่ารู้ลักษณะของเสียงแล้ว ก็คงจะอธิบายได้ว่า เสียงมีลักษณะอย่างไร สิ่งใดที่ดัง สิ่งนั้นเป็นเสียง ไม่มีเสียงปรากฏโดยไม่ดัง ใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรทั้งนั้น ต้องมีลักษณะที่ดัง เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่กำลังรู้ดัง มีสิ่งที่ดังปรากฏ นั่นคือ “เสียง” ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็น “สัทท” หรือ “สัททารมณ์” เพราะเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้ยิ่งขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ทางตา มีท่านผู้ฟังถามว่า จะมีคำอะไรบ้างซึ่งสั้นๆ แล้วจะทำให้สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เหมือนอย่างกับที่ว่า “เสียง” คือ ลักษณะที่ดัง

    สำหรับ “ทางตา” ก็คือ “สว่าง” ขณะนี้กำลังสว่าง จึงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งคนที่ตาบอดไม่มีโอกาสเลย ซึ่งจะรู้ลักษณะของสิ่งซึ่งสว่างที่ปรากฏทางตาได้ เพราะเหตุว่าเมื่อจักขุปสาทไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถที่จะกระทบกับสิ่งซึ่งสว่าง หรือว่าปรากฏทางตาได้ คนที่ตาบอดเป็นเวลานาน แล้วก็สามารถที่จะมองเห็น เพราะเหตุว่ามีการผ่าตัด ทำให้มีจักขุปสาทเกิดขึ้น แล้วก็มองเห็น ครั้งแรกที่เห็นตกใจมาก ไม่ใช่ว่าดีใจอย่างเดียวที่มองเห็น แต่ตกใจจริงๆ เพราะไม่เคยเห็นอะไรที่สว่างอย่างนี้ เป็นอีกโลกหนึ่งจากโลกมืด เป็นโลกสว่าง

    เพราะฉะนั้นเวลานี้ที่กำลังสว่างปรากฏ แสนที่จะธรรมดา สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท ก็ควรที่จะรู้ว่า เป็นรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะระลึกถึงคำ ก็ให้ระลึกถึงสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏจริงๆ สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท คือ เป็นลักษณะของรูปที่สว่าง เป็นโลกที่สว่างทางตา เช่นเดียวกับโลกเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดัง เวลาที่ปรากฏทางหู

    เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นผู้ที่มีสติ สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนชำนาญได้ ก็ต้องอย่าลืมว่า เป็นผู้ที่สะสมบุญในขณะนี้ เพื่อในอนาคตจะได้เป็นผู้ที่สะสมบุญมาแล้วในปางก่อน ที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ได้

    มีท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    7687 กามาวจรจิต ๕๔ ดวง เป็นอโสภณจิต ๓๐ ดวง เป็นโสภณจิต ๒๐ ดวง

    ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ ๑๘ ดวง เป็นกามโสภณจิต ๒๔ ดวง

    สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ดวง เป็นอโสภณจิต ๓๐ ดวง และเป็นโสภณจิต ๒๔ ดวง

    7688 อโสภณจิตเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    อโสภณจิต เป็นจิตซึ่งไม่ดีงาม เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งมี ๒ จำพวก คือ เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

    สำหรับอเหตุกจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่ทั้งอกุศลจิตและอเหตุกจิต ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก สำหรับอเหตุกจิตนั้นไม่ประกอบทั้งโสภณเจตสิกและอกุศลเจตสิก

    แต่สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก

    7689 เหตุที่จำแนกอกุศลจิต ๑๒ ดวง โดยแยกตามเหตุที่ประกอบ

    และเหตุที่จำแนกอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต ๘ เป็นโทสมูลจิต ๒ เป็นโมหมูลจิต ๒ ตามลำดับนั้น โดยแยกตามเหตุที่ประกอบ คือ

    สำหรับโลภมูลจิตประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ ประกอบด้วยโลภเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑

    สำหรับโทสมูลจิตประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ ประกอบด้วยโทสเจตสิก ๑ และโมหเจตสิก ๑

    แต่สำหรับโมหมูลจิตประกอบด้วยเหตุเดียว คือ ประกอบด้วยโมหเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ เหตุเดียว

    7690 การที่ทรงแสดงโลภมูลจิต ๘ ก่อนอกุศลจิตประเภทอื่น

    การที่ทรงแสดงโลภมูลจิต ๘ ก่อนอกุศลจิตประเภทอื่น ก็เพราะเหตุว่าในทุกภพที่มีการเกิดขึ้น มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นและดับไป เป็นภวังคจิตสืบต่อ ชวนวิถีแรกทางมโนทวารเป็นโลภมูลจิต มีความยินดีพอใจในภพ ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น จะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวก็แล้วแต่นะคะ แต่ว่าทุกท่านที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นไปในภูมิไหนทั้งสิ้น ย่อมมีความยินดีพอใจในการที่จะดำรงภพชาติอยู่ในภูมินั้น

    บางท่านก็อาจจะคิดว่า ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็น่าพอใจ หรือถ้าเกิดในสวรรค์ก็น่าเพลิดเพลินยินดีพอใจ แต่ตามที่ปรากฏในอรรถกถา อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา แสดงว่า ถึงแม้ในภูมิอื่น เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว วิถีจิตแรกเป็นโลภมูลจิตทางมโนทวาร

    ท่านผู้ฟังคงไม่ทราบว่า ถ้าไปเกิดในนรก หรือว่าเกิดเป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉาน จะมีความยินดีพอใจในภพภูมินั้นๆ หรือเปล่า แต่ให้ทราบว่าหนีไม่พ้นเลย เรื่องความยินดีพอใจในการมีชีวิต ในการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรในขณะนั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะรู้หรือเข้าใจได้ ว่าเป็นภูมิที่ไม่น่าปรารถนาเลย แต่เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความยินดี พอใจในการเกิดขึ้น ในการเป็นอย่างนั้น มิฉะนั้นแล้วสัตว์ทั้งหลายก็คงจะไม่รื่นเริง แต่ว่าบางทีก็เห็นความสนุกสนาน การวิ่งเล่น ก็แสดงให้เห็นว่า มีความยินดี มีความพอใจ แม้ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน

    7701 ความหมายของคำว่า มูล

    สำหรับความหมายของคำว่า “มูล” ก็ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า ธรรมดาโลภเจตสิก เป็นเหตุ โทสเจตสิก เป็นเหตุ โมหเจตสิก เป็นเหตุ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ

    และทางโสภณธรรมที่เป็นโสภณเหตุ ก็ได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นเหตุ

    แต่เหตุใด สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง จึงทรงแสดงว่า เป็นโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒

    ทำไมจึงใช้คำว่า “มูล” ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า “เหตุ” ว่า โลภเหตุ หรือโทสเหตุ หรือว่าโมหเหตุ ถ้าใช้คำว่า “เหตุ” จะหมายความถึง เจตสิก เพราะเหตุว่าโลภเจตสิกเป็นตัวเหตุ โทสเจตสิกเป็นตัวเหตุ โมหเจตสิกเป็นตัวเหตุ แต่เมื่อเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเหล่านี้เกิดกับจิต ซึ่งเป็นอกุศลธรรม ทำให้อกุศลธรรมเหล่านั้นเจริญยิ่งขึ้น งอกงามยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า “มูล” สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต และโมหมูลจิต

    ข้อความในอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ มีว่า

    ชื่อว่า “มูล” โดยความหมายว่า เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นตัวให้เกิด เป็นสมุฏฐาน เป็นที่บังเกิด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ก็รู้ว่า เจตสิกใดเป็นเหตุ เพราะจิตที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดพร้อมกับเจตสิกหลายประเภท ไม่ใช่มีเจตสิกเพียงโลภะอย่างเดียว แต่ว่าจิตดวงหนึ่งๆ ที่จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่น้อยกว่า ๗ ดวง และสำหรับจิตที่เป็นอกุศลย่อมมีเจตสิกมากกว่า ๗

    เพราะฉะนั้นเวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย แต่ให้ทราบว่า เจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งเป็นมูล ให้เกิดสภาพของจิตที่ยินดีพอใจในขณะนั้น เป็นเพราะโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุและเป็นมูลสำคัญ อุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ต้นไม้เติบโตเจริญขึ้น จนกระทั่งลึกและยากแก่การที่จะขุดถอนขึ้น ซึ่งก็ควรจะพิจารณาว่า เป็นความจริงไหมในชีวิตประจำวัน โลภมูลจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดแล้ว เกิดอีก แล้วก็เป็นตัวเหตุ เป็นตัวมูล ที่จะทำให้มีความยินดีพอใจ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งเหมือนกับรากของต้นไม้ ซึ่งฝังลึกและทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้น เพราะได้โอชะจากดินและน้ำ

    เพราะฉะนั้นความยินดีพอใจซึ่งเกิดขึ้นแต่ละขณะ ซึมซาบทั่วไปทั้งราก ทั้งลำต้น ทั้งกิ่ง ทั้งใบ ทั้งดอก ในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    7702 ปฐมมหารุกขสูตร

    ซึ่งข้อความในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฐมมหารุกขสูตร ข้อ ๒๐๖ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ไปข้างๆ รากทั้งหมดนั้นย่อมดูดโอชารสไปเบื้องบน เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงเป็นอยู่ตลอดกาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา และมรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเหตุของทุกข์เนืองๆ บ่อยๆ เพื่อจะให้เข้าใจชัดว่า ทุกข์ทั้งหลายย่อมมาจากมูลรากสำคัญ คือ “ตัณหา” ซึ่งเป็นความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    7703 ขณะนี้กำลังอยู่ใกล้พระรัตนตรัยหรือไม่

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังอยู่ใกล้พระรัตนตรัยหรือเปล่าคะ ท่านผู้ฟังผู้เป็นพุทธศาสนิกชน ขณะนี้กำลังอยู่ใกล้พระรัตนตรัยหรือเปล่า ธรรมนี้มีเรื่องที่จะคิดได้หลายๆ อย่าง แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังธรรม อาจจะคิดถึงเรื่องอื่นๆ ประกอบก็ได้ เช่น ในขณะนี้อยู่ใกล้ หรือไม่ใกล้ ท่านผู้ฟังเห็นพระพุทธรูป อยู่ใกล้พระรัตนตรัยหรือยังคะ หรือว่าอยู่ใกล้เพราะมีพระพุทธรูปอยู่ใกล้ๆ แต่ถ้ามีพระพุทธรูปอยู่ใกล้ เพื่อจะเตือนว่า อยู่ไม่ไกลพระรัตนตรัย แต่ไม่ได้มีโอกาสฟังพระธรรม จะชื่อว่า อยู่ใกล้ไหมคะ มีตั้งไว้เตือนอยู่ให้เห็น แต่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ย่อมไม่ชื่อว่า อยู่ใกล้ เพราะพระพุทธรูปเป็นเพียงแต่รูป

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังนี้ ถ้าจะย้อนระลึกถึงในสมัยอดีตที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนี้กับพระภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่ว่าแม้ในยุคนี้สมัยนี้ มีพระพุทธรูปซึ่งอยู่ไม่ไกล แต่จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้นการที่อยู่ใกล้นี้ คือ การที่ไม่ลืม และระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วก็พิจารณาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนกระทั่งพระสังฆรัตนะอยู่ที่ไหน นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องคิดนะคะ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะไหน จะเป็นสังฆรัตนะในขณะนั้นได้ไหม

    เพราะฉะนั้นสังฆรัตนะไม่จำเป็นต้องนึกถึงบุคคลอื่นซึ่งอยู่ไกล แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้บุคคลทั้งหลายเป็นสังฆรัตนะ

    7704 ฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นการที่จะฟังพระธรรมก็เพื่อที่จะให้เข้าใจ แล้วก็ให้สติสามารถจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับแต่ละท่านตามความเป็นจริงได้ แม้แต่โลภมูลจิตซึ่งเกิดบ่อยเป็นประจำตามเหตุตามปัจจัย ที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ที่จะให้เข้าใจลักษณะของโลภะ ที่จะให้เห็นโทษของโลภะ ที่จะให้เห็นความเป็นมูลรากของอกุศลทั้งหลาย ก็เพื่อที่จะให้สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดง รวมทั้งลักษณะของโลภะซึ่งมีมากในชีวิตประจำวันด้วย

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่สติไม่เกิดขึ้น เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้น เป็นโลภมูลจิตบ้าง หรือเป็นโทสมูลจิตบ้าง เป็นโมหมูลจิตบ้าง แม้ในขณะนั้นๆ สติก็สามารถที่จะเกิด แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลนั้น เพื่อปัญญาจะได้รู้ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    และการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอกุศลโดยประการต่างๆ ก็เพื่อที่จะให้เห็นโทษ และให้รู้ลักษณะของอกุศลนั้นๆ

    7705 เห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน

    ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส และกองทุกข์ทั้งมวลจึงดับ

    ทุกท่านฟังธรรมเพื่อที่จะให้ถึงอย่างนี้ ขณะที่ทุกข์ทั้งหลายดับ แต่เมื่อยังดับไม่ได้ หรือว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ดับ ก็จะต้องพิจารณาจนกระทั่งเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่

    7706 ละตัณหาที่เกิดกับความเห็นผิดก่อน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ตั้งอยู่อย่างนั้น ที่นั้นบุรุษเอาจอบและภาชนะมาตัดต้นไม้นั้นที่โคนต้นแล้ว ขุดลงไป ครั้นขุดลงไปแล้ว คุ้ยเอารากใหญ่เล็กแม้เท่าก้านแฝกขึ้น บุรุษนั้นพึงทอนต้นไม้นั้นเป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่แล้ว พึงผ่า ครั้นผ่าแล้ว เจียกให้เป็นชิ้นๆ ครั้นเจียกให้เป็นชิ้นๆ แล้วพึงผึ่งลม ตากแดด ครั้นผึ่งลม ตากแดดแล้ว พึงเอาไฟเผา ครั้นเอาไฟเผาแล้ว พึงทำให้เป็นเขม่า ครั้นทำให้เป็นเขม่าแล้ว พึงโปรยที่ลมแรง หรือลอยในแม่น้ำมีกระแสอันเชี่ยว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นถูกตัดเอารากขึ้นแล้ว ถูกทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี ไม่เกิดอีกต่อไป แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

    จบสูตรที่ ๕

    ฟังดูเหมือนกับว่า ให้ดับตัณหา ซึ่งแสนที่จะดับยาก ถ้าจะเอาต้นไม้มาขุดราก แล้วทำให้ท่อนๆ แล้วผ่า ทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไฟเผา ก็ไม่ยากที่จะกระทำได้ แต่ตัณหาซึ่งฝังรากลึกอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นนามธาตุ ต้องเพราะการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะทำลายตัณหาออกได้เป็นประเภท คือ ต้องละตัณหา ซึ่งเกิดพร้อมกับความเห็นผิดเสียก่อน ไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังยังไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วก็เห็นโทษของตัณหา แล้วก็พยายามที่จะดับตัณหา โดยที่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะได้ผลจริงๆ คือ เพื่อที่จะรู้ได้ว่า ธรรมใดเป็นสิ่งซึ่งจะต้องละและดับก่อน มิฉะนั้นแล้วถ้าเพียรที่จะละตัณหา ย่อมไม่สามารถที่จะละตัณหาได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ละความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และยังไม่ประจักษ์ในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้

    7707 สัตติสูตรที่ ๑ - ละสักกายทิฏฐิก่อนที่จะละกามราคะ

    เพราะเหตุว่าแม้แต่ผู้ที่เป็นเทวดา ก็ยังมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติได้

    มีเทวดาท่านหนึ่ง สรรเสริญการละกาม ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต สัตติวรรคที่ ๓ สัตติสูตรที่ ๑ ข้อ ๕๖ ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า

    เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

    ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น

    ฟังดูถ้าไม่พิจารณาแล้ว ก็คงจะสรรเสริญตามว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ควรมีสติเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนกับคนที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก หรือเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น

    แต่ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า

    คาถาที่เทวดานี้นำมาตั้งไว้ ทำอุปมาให้มั่นคง ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้เธอจะกล่าวซ้ำๆ ซากๆ ก็เพราะคาถานี้ เทวดากล่าวถึงการละ โดยการข่มกามราคะเท่านั้น ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป เพราะเหตุนั้นเราจะถือเอาความอุปมานั้นนั่นแหละดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงเปลี่ยนเทศนาแสดงด้วยสามารถแห่งปฐมมรรค (คือ โสตาปัตติมรรค) จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ (ลำดับที่ ๕๗) ว่า

    ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฉะนั้น

    แสดงให้เห็นว่า ถ้ามุ่งที่จะดับกามราคะ คือ โลภะ โดยที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็กามราคะอันมรรคยังไม่ทำลายตราบใด ตราบนั้นก็ยังมีการตามผูกพันเรื่อยไป

    นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้เห็นความลึกของโลภเหตุซึ่งเป็นมูล เป็นตัวที่จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ยินดี เพลิดเพลิน และเห็นความน่าพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบว่า ในชีวิตประจำวันจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าพูดถึงชื่อว่า โลภะ แล้วก็รู้ลักษณะของโลภะ แต่เวลาใดบ้างที่โลภะกำลังเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โลภะก็จะอยู่ในตำรา แต่ถ้าพิจารณาแล้วจะทราบได้ว่า โลภะมีอยู่เกือบจะทุกขณะในชีวิตประจำวัน

    7708 อรรถสาลิณี นิกเขปกัณฑ์ -- ลักษณะของโลภะ

    ซึ่งขอกล่าวถึงอัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ เพื่อจะได้ทราบว่า ลักษณะขอองโลภะ เป็นอย่างไรในชีวิตประจำวัน

    ชื่อว่า “ความกำหนัด” เนื่องด้วยความยินดี

    นี่ก็พอที่จะเข้าใจได้ ขณะไหนที่รู้สึกยินดี หรือพอใจ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของโลภะซึ่งปรากฏให้เห็นว่าเป็นโลภะ

    ชื่อว่า “ความกำหนัดนัก” โดยความหมายว่า ยินดีรุนแรง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ