คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย สำหรับติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ วันแล้ววันเล่า เพราะฉะนั้น มีแต่หนทางที่จะเกิดอีก เกิดอีก ไม่ใช่หนทางที่จะดับสังสารวัฏฏ์ ถ้าปัญญาไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2060
อายตนะที่ ๙ กายายตนะ
ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่า เป็นบ่อเกิดของธรรมมีอาสวะอันบัณฑิตเกลียด
คำว่า อาโย คือ ที่เกิด
ต้องบัณฑิตจึงจะเกลียด ถ้าไม่ใช่บัณฑิตก็ตรงกันข้าม คือ ชอบ ตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้า ชอบหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่บัณฑิตเห็นโทษตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า
ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่า เป็นบ่อเกิดของธรรมมีอาสวะอันบัณฑิตเกลียด
เห็นแล้วก็มีแต่อกุศล ได้ยินก็มีแต่อกุศล ได้กลิ่นก็มีแต่อกุศล ลิ้มรสก็มีแต่อกุศล กระทบสัมผัสก็มีแต่อกุศล เพราะฉะนั้น กายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามี ประโยชน์อะไรจริงๆ มีประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าไม่ใช่ปัญญาไม่อยากจะดับกายนี้เลย ตา หู จมูก ลิ้น ทั้งหมดที่กาย ไม่มีใครคิดที่จะดับ เพราะไม่เห็นว่าเป็นโทษ แต่ผู้ที่เป็นบัณฑิตเห็นตามความเป็นจริงว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นบ่อเกิดของธรรม มีอาสวะอันบัณฑิตเกลียด
มีใครเริ่มจะเกลียดหรือเปล่า ยังอีกนาน ฟังไปก่อน และพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และรู้ชัดในแต่ละอายตนะว่า เป็นเพียงอายตนะ เป็นองค์หนึ่งของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเพราะมีอายตนะจึงมีผัสสะ เมื่อมีผัสสะก็มีเวทนา เมื่อมีเวทนาก็มีตัณหา เมื่อมีตัณหาก็มีอุปาทาน คือ ความยึดมั่น เมื่อมีอุปาทานก็มีกรรม และต้องมีชาติ เพราะกรรม ได้แก่ กรรมภพ เมื่อมีชาติ เกิดมาแล้วชาตินี้ก็ต้องชรา ซึ่งก่อนจะชราก็ต้องมีพยาธิ มีโสกะ มีปริเทวะ มีทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะฉะนั้น มีอะไรที่ดีบ้าง
อายตนะที่ ๑๐ โผฏฐัพพายตนะ
ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่า อันกายย่อมถูกต้อง
จะรู้ว่าแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ก็เพราะมีกายปสาท อาศัยตา มองเท่าไรก็ไม่เย็น ไม่ร้อน ไม่อ่อน ไม่แข็ง แต่จะรู้ว่าอ่อนแค่ไหน ร้อนแค่ไหน เย็นแค่ไหน ต้องกระทบสัมผัสด้วยกายคือกายปสาทเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่า อันกายย่อมถูกต้อง
อายตนะที่ ๑๑ มนายตนะ
ชื่อว่ามนะ เพราะอรรถว่า ย่อมรู้
ไม่มีข้อสงสัยเลย มนะเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีจิตเกิดขึ้น จะไม่มีสภาพรู้อารมณ์ไม่ได้เลย
อายตนะที่ ๑๒ ธัมมายตนะ
เป็นอารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ ถ้ามีใครสงสัยว่า ธัมมายตนะคืออะไร ธัมมายตนะก็คืออารมณ์อะไรก็ตามซึ่งไม่สามารถรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้ได้เฉพาะทางใจทางเดียวเท่านั้น
ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่า ย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน
เพราะฉะนั้น ก็หมายถึงเฉพาะปรมัตถธรรมเท่านั้น
นี่คือข้อความที่แสดงความแปลกกันของอายตนะแต่ละอายตนะ
ข้อความต่อไปมีว่า
แต่เมื่อว่าโดยอรรถไม่แปลกกัน พึงทราบว่า ที่ชื่อว่าอายตนะ เพราะเป็น เครื่องต่อ (อายตนโต) ๑ เพราะการแผ่ธรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาสวะทั้งหลาย (อายานํ ตนนโต) ๑ เพราะนำไปสู่สังสารต่อไป (อายตสฺส จ นยนโต) ๑
นี่คือความหมายของอายตนะ ซึ่งแม้ว่าจะเข้าใจแล้วว่า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ถ้าเข้าใจความหมายละเอียดขึ้น ก็จะทำให้เห็นสภาพธรรมถูกต้อง ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเพิ่มขึ้น
อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่ เพราะอรรถว่า เป็นอากร (คือ บ่อเกิด) เพราะอรรถว่า เป็นที่ประชุม เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะอรรถว่า เป็นการณะ (คือ เหตุ)
แม้แต่อายตนะคำเดียว แต่ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นสามารถแสดง ส่องไปถึงสภาพที่เป็นอนัตตาโดยนัยต่างๆ ได้แก่
โดยอรรถว่า เป็นที่อยู่
แสดงให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายต้องมีที่อยู่อาศัย จะเกิดขึ้นโดยไม่มีที่อยู่อาศัยไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น อย่างเจตสิกเกิดขึ้นก็ต้องเกิดกับจิต อยู่กับจิต ต้องมีที่อยู่ หรือจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดด้วย เป็นที่อยู่ เป็นที่อาศัย
รสมีที่อยู่อาศัยไหม มีมหาภูตรูปเป็นที่อยู่อาศัย สีก็มีมหาภูตรูปเป็นที่อยู่อาศัย กลิ่นก็มีมหาภูตรูปเป็นที่อยู่อาศัย สภาพธรรมทั้งหมดย่อมมีที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่า เป็นที่อยู่
มีอะไรที่ไม่มีที่อยู่บ้าง หาดู มีไหม
โดยอรรถว่า เป็นอากร เป็นบ่อเกิด
จักขุวิญญาณกับเจตสิกซึ่งเกิดกับจักขุวิญญาณต้องมีที่เกิด คือ เกิดที่ จักขุปสาทรูป นามธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องมีที่เกิด ส่วนในภูมิที่ไม่มีรูปเลย จิตเจตสิกอาศัยกัน และกันเกิด แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเจตสิกต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด
ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ เมื่อศึกษาเรื่องจิต คือ จักขุวิญญาณ และศึกษาว่าจักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ทั้งจิต และเจตสิก ๗ ดวงนี้อยู่ที่ไหน เกิดที่ไหน อาศัยที่ไหน ก็จะรู้ได้ว่า สำหรับจักขุวิญญาณขณะนี้ที่กำลังเห็น เกิดที่ จักขุปสาท ดับที่จักขุปสาท รวดเร็วอย่างนั้น แต่ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้น จะเห็นความเป็นอนัตตาได้อย่างไร ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง เพราะขณะนี้ คือ กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แม้แต่ความหมายของอายตนะก็คือเป็นบ่อเกิด คือ จักขุปสาทรูปเป็นบ่อเกิดของจักขุวิญญาณ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
เพชรมีบ่อเกิดไหม ทองมีบ่อเกิดไหม นั่นเป็นเรื่องของรูป ฉันใด จักขุวิญญาณก็มีบ่อเกิด คือ จักขุปสาทรูปนั่นเองเป็นบ่อเกิด เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
กำลังได้ยิน มีบ่อเกิดไหม ก็ต้องมีบ่อเกิด คือ โสตปสาทรูปเป็นบ่อเกิดของ โสตวิญญาณ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย โสตวิญญาณจะไปเกิดที่จักขุปสาทรูปได้ไหม ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นอนัตตานั้น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้
โดยอรรถว่า เป็นที่ประชุม
ก็เข้าใจกันแล้วว่า ในขณะหนึ่งๆ ที่สภาพธรรมเกิดขึ้นนั้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการประชุมกัน แม้แต่การเห็น มีจักขุปสาทรูปจริง แต่ถ้ารูปารมณ์ ไม่มาประชุมคือกระทบจักขุปสาทรูป การเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้
โดยอรรถว่า เป็นถิ่นเกิด
ก็มีความละเอียดต่อไปว่า จิตเจตสิกซึ่งเกิดสืบต่อกันในวาระๆ หนึ่ง อาศัยถิ่นไหนเกิด เช่น โลภะ ความติดข้องเป็นลักษณะของโลภะ โทสะก็เป็นลักษณะที่ หยาบกระด้าง ขุ่นเคือง ไม่พอใจ เวลาที่เกิดทราบถิ่นไหมว่า โลภะนั้นเกิดถิ่นไหน ถ้าเกิดโดยอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นถิ่น คือ อาศัยตาแล้วก็เห็น เพราะฉะนั้น โลภะ ที่เกิดทางตาก็อาศัยตาเป็นถิ่นเกิด และเวลาที่ได้ยินเสียงที่พอใจ เสียงเพลงเพราะๆ เกิดความสบายใจ ชอบใจ ยินดีติดข้อง ขณะนั้นเป็นโลภะ เกิดที่ไหน อาศัยถิ่น ไหนเกิด ก็อาศัยถิ่นโสตปสาทเกิด
จักขุปสาทรูปเป็นบ่อเกิดหรือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ และเจตสิกที่เกิด กับจักขุวิญญาณ แต่ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดที่หทยวัตถุ ไม่ได้เกิดที่จักขุปสาทรูป แต่อาศัยการกระทบกันของสิ่งที่ปรากฏทางตากับจักขุปสาทรูป เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตอาศัยถิ่นนั้นเกิดคือทางตาที่กำลังเห็น ส่วนวิถีจิตขณะต่อๆ ไป ซึ่งเกิดสืบต่อกันก็อาศัยแล้วแต่ว่าจะอาศัยถิ่นตา หรืออาศัยถิ่นหู หรืออาศัยถิ่นจมูก ถิ่นลิ้น ถิ่นกาย ถิ่นใจเกิดขึ้น
ผลไม้บางอย่างก็เกิดตามท้องถิ่นต่างๆ ใช่ไหม สับปะรดถิ่นไหน ทุเรียน ถิ่นไหน กระท้อนถิ่นไหน ฉันใด สภาพธรรมก็เหมือนกัน ขณะที่มีการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ก็ถิ่นไหน ถิ่นตา หรือถิ่นหู หรือถิ่นจมูก หรือถิ่นลิ้น หรือถิ่นกาย หรือถิ่นใจ
โดยอรรถว่า เป็นการณะ คือ เหตุ
ถ้าจักขุปสาทรูปไม่มี จักขุวิญญาณ และเจตสิกทั้งหลายก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงถึงความเป็นที่อาศัยที่เป็นเหตุ เป็นการณะ ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น
ถ. อายตนะทั้งภายใน และภายนอกต้องเป็นปรมัตถธรรม ถ้าธัมมายตนะ ก็ต้องเว้นบัญญัติ
สุ. ต้องเว้น บัญญัติเป็นธัมมารมณ์ แต่ไม่ใช่ธัมมายตนะ
ข้อความใน อายตนวิภังคนิทเทศ มีว่า
ธัมมายตนะเป็นไฉน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รูปที่เห็นไม่ได้ กระทบไม่ได้ นับเนื่องในธัมมายตนะ และอสังขตธาตุ ซึ่งได้แก่ พระนิพพาน
บางท่านอาจจะสงสัยในเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลำดับของอายตนะ ซึ่งข้อความใน อายตนวิภังคนิทเทศ ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลำดับ มีข้อความว่า
… ลำดับแห่งเทศนาเท่านั้นย่อมควรในอายตนะวิภังค์แม้นี้
เพราะเหตุว่าลำดับมี ๕ อย่าง คือ
อุปฺปตฺติกฺกโม ลำดับแห่งการเกิด ๑
ปหานกฺกโม ลำดับแห่งการละ ๑
ปฏิปตฺติกฺกโม ลำดับแห่งการปฏิบัติ ๑
ภูมิกฺกโม ลำดับแห่งภูมิ ๑
เทสนากฺกโม ลำดับแห่งเทศนา ๑
เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงอายตนะ ๑๒ ก็เป็นแสดงโดยลำดับแห่งเทศนา ซึ่งมีข้อความว่า
เพราะว่าบรรดาอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายใน จักขายตนะชื่อว่าย่อมปรากฏเพราะความมีรูปที่เห็นได้ และกระทบได้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้นจึงทรงแสดง จักขายตนะก่อน ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงโสตายตนะเป็นต้น ซึ่งมีรูปที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้เป็นอารมณ์
อีกอย่างหนึ่ง ในบรรดาอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายใน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจักขายตนะ และโสตายตนะก่อน เพราะความที่อายตนะทั้งสองนั้นเป็นธรรม มีอุปการะมากโดยเป็นเหตุให้เกิดทัสสนานุตริยะ (การเห็นอันยอดเยี่ยม) และ สวนานุตริยะ (การได้ฟังอันยอดเยี่ยม) ต่อจากนั้นก็ทรงแสดงอายตนะ ๓ มีฆานายตนะเป็นต้น ในที่สุดทรงแสดงมนายตนะไว้ เพราะความที่ธรรมแม้ทั้ง ๕ ก็เป็นอารมณ์ เป็นที่เที่ยวไป (ของมนายตนะนั้น)
ทุกท่านเริ่มชีวิตจากขณะเกิด ปฏิสนธิจิต ซึ่งมีอวิชชาจึงเกิด ถ้าดับอวิชชาหมด ก็ไม่ต้องเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่เกิด แสดงว่าต้องมีอวิชชา มีความไม่รู้ ที่ยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉท ซึ่งอวิชชาในอดีตก็เป็นปัจจัยแก่สังขาร คือ เจตนา ที่เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรมในอดีต
อดีตไม่มีใครสามารถรู้ได้ ชาติก่อนจบแล้ว หมดแล้ว ย้อนกลับไปไม่มีใคร รู้เลยว่า ทำกรรมอะไรไว้บ้างที่เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่ชีวิตในปัจจุบันชาติย่อมสามารถพิจารณาได้ว่า ทำกุศลกรรม และอกุศลกรรมไว้ในขณะใด
ขณะที่ประสบสิ่งที่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย้อนระลึกถึงกรรม ในอดีตว่า ต้องเป็นกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วจึงทำให้จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ รู้อารมณ์ที่น่าพอใจขณะนั้นๆ แต่ขณะใดที่เป็นทุกข์เดือดร้อน ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ ใครทำ เมื่อไหร่ ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ในชาตินี้ทำให้ แต่ต้องทราบว่า อดีตกรรมที่ได้ กระทำแล้วนั่นเอง เป็นปัจจัยให้โสตปสาทรูปเกิด เป็นปัจจัยให้เสียงซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วนั้นกระทบกับโสตปสาทรูปซึ่งยังไม่ดับ และทำให้มีจิตที่ได้ยินเสียงซึ่ง ไม่น่าพอใจชั่วขณะ เป็นเรื่องของกรรมซึ่งไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
เริ่มต้นชีวิตด้วยการเกิดขึ้น ปฏิสนธิ เพราะอวิชชาในอดีตเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารในอดีต เพราะฉะนั้น สังขารในอดีต กรรมหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิต ในชาตินี้เกิดขึ้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็มีนามธรรม และรูปธรรมเกิดพร้อมกันในภูมิ ที่มีขันธ์ ๕ เมื่อมีนามรูป ก็มีสฬายตนะ และสฬายตนะก็กำลังเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ ในขณะนี้ ซึ่งผัสสะก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา ความรู้สึกในขณะนี้ ซึ่งบางคนอาจจะหลงลืมไม่ได้พิจารณาความรู้สึกต่างๆ ในขณะนี้
เมื่อผัสสะกระทบกับสฬายตนะ ก็เป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น มีความสุข หรือ มีความทุกข์ โสมนัส หรือโทมนัส หรืออุเบกขา เฉยๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิด ไม่มีใครยับยั้งได้ว่า เมื่อผัสสะกระทบแล้วจะไม่ให้มีเวทนา
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองก็มีเวทนา แล้วแต่ว่าเวทนาในขณะนี้จะเป็นปัจจัยแก่ตัณหาหรือไม่ ถ้าเป็นปัจจัยแก่ตัณหาซึ่งเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นเรื่องของการ เกิดอีกๆ ไม่จบ จนกว่าจะเป็นหนทางที่รู้สภาพธรรม จึงจะเป็นทางดำเนินไปสู่ทางดับ ซึ่งเป็นสัมมาปฏิปทา ซึ่งทุกคนสามารถพิจารณาได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ที่ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนานั้น เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดอะไร สำหรับทุกคน ส่วนใหญ่ก็เป็นปัจจัย ให้เกิดตัณหาแน่นอน
มีใครคิดว่าไม่จริง หรือมีใครจะปฏิเสธ
เมื่อมีตัณหาก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ คือ กรรมภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ท่านที่ยังไม่แก่ ยังไม่เจ็บ ยังไม่ทุกข์ ยังไม่ตาย ก็ไม่รู้สึกว่า ชีวิตในขณะนี้สั้น และเล็กน้อยมาก และเพียงชั่วขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง แต่ละขณะซึ่งเกิด และดับไป จะไม่กลับมาอีกเลย สภาพธรรมใดที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อดับแล้วก็ดับเลยแต่ละขณะ ท่านที่ยังไม่แก่ ก็กำลังเคลื่อนไป ก้าวเข้าไปสู่ชรา ท่านที่ยังไม่เจ็บ ไม่มีพยาธิใดๆ ก็กำลังเคลื่อนไป ก้าวไปสู่พยาธิ ท่านที่ยังไม่มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส คือ ทุกข์ทั้งมวล ก็ควรจะรู้ว่า แต่ละขณะไม่ได้อยู่นิ่งเลย กำลังก้าวไปสู่ แล้วแต่ว่าโสกะน้อยหรือมาก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส น้อยหรือมาก แต่ทุกคนจะไม่พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2061
นาที 21.40
ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ มีข้อความว่า
ชีวิต อัตภาพ สุข และทุกข์ทั้งมวล เป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วยจิตดวงเดียว
ที่คิดว่าทุกข์มาก เพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง แต่ละคนจะมีจิต ๒ ขณะ ๓ ขณะ ไม่ได้เลย ทุกข์ใหญ่หลวงสักเท่าไร โทมนัสอย่างไรๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า เพียง ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ขณะย่อมเป็นไปพลัน เทวดาเหล่าใดย่อมตั้งอยู่ตลอด ๘๔,๐๐๐ กัป แม้เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวงเป็นอยู่เลย ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ ที่ตาย หรือของสัตว์ที่ดำรงอยู่ในโลกนี้ดับแล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งปวงเทียว เป็นเช่นเดียวกันดับไปแล้ว มิได้สืบเนื่องกัน
คือ เมื่อสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้ว จะเป็นคนนั้นอีกต่อไปไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นคนนั้นอีกได้เลย ถ้าศึกษาจากพระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค จะเห็นได้ว่า แต่ละพระชาติก็คือการปรุงแต่งของจิตเจตสิก ซึ่งจะไม่กลับไปเป็นบุคคลนั้นอีก เพราะฉะนั้น ในชาติก่อนๆ ท่านผู้ฟังจะเคยเป็นใครอยู่ที่ไหน แม้เพียงชาติก่อนชาตินี้ ก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง และชาตินี้ก็กำลังใกล้ต่อการสิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้ และจะไม่กลับเป็นบุคคลนี้อีก
แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้สืบเนื่องต่อไปที่จะเป็นบุคคลนั้นในชาติต่อไป
ขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้วในอดีตเป็นลำดับ และขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้ว ในอนาคตเป็นลำดับ ความแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ดับไปในปัจจุบันกับ ขันธ์เหล่านั้น มิได้มีในลักษณะ
คือ ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าเป็นขันธ์ในชาติหนึ่งชาติใดในแสนโกฏิกัปป์ หรือ ในปัจจุบันชาติ หรือในชาติต่อไปข้างหน้า ขันธ์ทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีขันธ์ใดที่เกิดขึ้นมาแล้วจะพ้นจากลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ สัตว์โลกตายแล้วเพราะความแตกแห่งจิต นี้เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์
ขันธ์ทั้งหลายแปรไปโดยฉันทะ ย่อมเป็นไปดุจน้ำไหลไปตามที่ลุ่มฉะนั้น ย่อมเป็นไปตามวาระอันไม่ขาดสาย เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย
เหมือนกระแสน้ำไหม ที่ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีการหยุดชะงักเลย จิตเกิดดับสืบต่อ เดี๋ยวก็เป็นภวังค์ เดี๋ยวก็เป็นวิถีจิตวาระต่างๆ แล้วก็เป็นภวังค์ และก็เป็นวิถีจิต วาระต่างๆ ย่อมเป็นไปตามวาระอันไม่ขาดสาย เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย
ขันธ์ทั้งหลายแตกแล้ว ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ กองขันธ์มิได้มีในอนาคต ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วนั่นแล ย่อมตั้งอยู่เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ก็ความแตกแห่งธรรมขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว สกัดอยู่ข้างหน้าแห่งสัตว์เหล่านั้น ขันธ์ทั้งหลายมีความทำลายเป็นธรรมดา มิได้เจือปนกับขันธ์ที่เกิดก่อนตั้งอยู่ ขันธ์ทั้งหลายมาโดยไม่ปรากฏ แตกแล้วไปสู่ที่ไปไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้น และเสื่อมไปเหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่อย่างนี้
เพราะเหตุว่าที่ใช้คำว่า ชีวิตน้อย คือ ชีวิตสั้นเล็กน้อย โดยเหตุ ๒ ประการ คือ ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่น้อย ๑ ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อย ๑
ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อย
ก็เกิดมาเพียงชั่วขณะเดียว จะให้ทำกิจอะไรกันหนักหนา ใช่ไหม จิตขณะหนึ่งก็ทำกิจได้เฉพาะกิจของจิตนั้นๆ เท่านั้น จะก้าวก่ายไปทำกิจอื่นไม่ได้เลย อย่างจิตเห็นก็กระทำกิจเห็น จะคิดนึกด้วยไม่ได้ จิตได้ยินก็ทำกิจเพียงได้ยิน คิดนึกด้วยไม่ได้ จิตคิดนึกก็เห็นไม่ได้ เพราะว่าเพียงคิดชั่วขณะ และดับไป
ข้อความต่อไปมีว่า
ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อยอย่างไร ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้า เนื่องด้วย ลมหายใจออก เนื่องด้วยลมหายใจเข้า และลมหายใจออก เนื่องด้วยมหาภูตรูป เนื่องด้วยไออุ่น เนื่องด้วยกวฬิงการาหาร เนื่องด้วยวิญญาณ
บอบบางเหลือเกิน ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ ขณะนี้ทุกคนนั่งอยู่รู้สึกว่า ร่างกายก็ครบถ้วนสมบูรณ์ดี แต่ชั่วขณะเดียวเท่านั้นอาจจะ หมดสิ้น หรืออาจจะเสียส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายก็ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่มีทั้งลมหายใจ ไออุ่น กวฬิงการาหาร และวิญญาณ
กรัชกายอันเป็นที่ตั้งแห่งลมหายใจเข้า และลมหายใจออกเหล่านี้ก็ดี อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ อันเป็นเหตุเดิมแห่งลมหายใจเข้า และ ลมหายใจออกก็ดี ปัจจัยทั้งหลายก็ดี ตัณหาอันเป็นแดนเกิดก่อนก็ดี รูปธรรม และอรูปธรรมที่เกิดร่วมกันก็ดี อรูปธรรมที่ประกอบกันก็ดี ขันธ์ที่เกิดร่วมกันแห่ง ลมหายใจเข้า และลมหายใจออกเหล่านี้ก็ดี ตัณหาอันประกอบกันก็ดี ก็มีกำลังทราม
แสดงว่า มีกำลังอ่อน ทุกอย่างพร้อมที่จะเสื่อมหรือแตกทำลาย
ธรรมเหล่านั้นมีกำลังทรามเป็นนิตย์ต่อกัน และกัน
ไม่ได้รับประทานอาหารหลายๆ วันเป็นอย่างไร หรืออากาศไม่ดี หายใจ ไม่สะดวกหลายๆ วันเป็นอย่างไร แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีปัจจัยที่ทำให้ชีวิตดำรงไปด้วยดี ตราบนั้นก็ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมทั้งหลายต้องอาศัย ปัจจัยแต่ละอย่างดำรงอยู่
ธรรมเหล่านั้นมีกำลังทรามเป็นนิตย์ต่อกัน และกัน มิได้ตั้งมั่นต่อกัน และกัน ย่อมยังกัน และกันให้ตกไป เพราะความต้านทานมิได้มีแก่กัน และกัน
จะช่วยกันพยุงไว้ว่า จิตอย่าดับ เจตสิกอย่าดับ รูปอย่าดับ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ
ธรรมเหล่านี้จึงไม่ดำรงกัน และกันไว้ได้ ธรรมใดให้ธรรมเหล่านี้เกิดแล้ว ธรรมนั้นมิได้มี ก็แต่ธรรมอย่างหนึ่งมิได้เสื่อมไปเพราะธรรมอย่างหนึ่ง ก็ขันธ์เหล่านี้แตกไปเสื่อมไปโดยอาการทั้งปวง ขันธ์เหล่านี้อันเหตุปัจจัยมีในก่อนให้เกิดแล้ว แม้เหตุปัจจัยอันเกิดก่อนเหล่าใด แม้เหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ดับแล้วในก่อน ขันธ์ที่เกิดก่อนก็ดี ขันธ์ที่เกิดภายหลังก็ดี มิได้เห็นกัน และกันในกาลไหนๆ ฉะนั้นชีวิตจึงชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีกิจน้อยอย่างนี้
จักขุวิญญาณเมื่อกี้ไม่เห็นจักขุวิญญาณขณะนี้เลย จิตแต่ละขณะที่ดับไป ก็ไม่เจอกัน ไม่เห็นกันทั้งนั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นทำกิจ และดับไป เกิดขึ้นทำกิจของตนๆ และดับไป
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)