คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
ข้อความต่อไปใน สัมโมหวิโนทนี วิภังคปกรณ์ มีว่า
ทุกข์นั้นตัณหามิได้สร้างแล้วย่อมไม่มา ทุกข์ย่อมมีเพราะเหตุภายนอก มีเพราะพระอิศวรบันดาลก็หาไม่ ที่แท้ทุกข์ย่อมมีเพราะตัณหานี้
เป็นข้อความสั้นๆ แต่เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนซึ่งมีทุกข์ คงไม่มีใครเลย ที่เกิดมาแล้วไม่มีทุกข์ เพียงแต่ว่าจะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย จะทุกข์กายหรือทุกข์ใจ แต่มีใครบ้างที่จะพิจารณาอริยสัจจธรรมที่ว่า ทุกข์นั้นตัณหามิได้สร้างแล้วย่อมไม่มา
ถ้าไม่มีตัณหา ทุกข์ย่อมเกิดไม่ได้ แม้แต่เพียงความเป็นเราด้วยตัณหา ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ ความเป็นเราด้วยมานะ ก็ไม่พ้นจากโลภมูลจิตเลย
ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเกิดร่วมกับสักกายทิฏฐิที่ยึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ในขณะนั้นควรจะพิจารณาว่า เป็นทุกข์แค่ไหน ทุกข์ทั้งหมดย่อมมาจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา ซึ่งขณะนั้นเกิดร่วมกับโลภะ ความยินดีพอใจในความเห็น ในการยึดถืออย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาที่สามารถรู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา เพียงละคลายการยึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นตัวตน และสามารถเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ก็จะทำให้ความทุกข์เบาบางได้ แม้ในขั้นของการพิจารณาว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ที่จะดับได้จริงๆ เป็นสมุจเฉทต้องถึงโสตาปัตติมรรคจิต จึงจะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และความเห็นผิดต่างๆ ได้ แต่ถ้ายังไม่ถึง ในบางกาลก็ต้องเป็นทุกข์เพราะการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และถ้ายึดถือเหนียวแน่นมาก ทุกข์นั้นก็ต้องเพิ่มมากขึ้น
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1758
นาที 2.36
ก่อนที่การเจริญปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นได้ ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปตามกรรม และสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้สังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ก็เกิดขึ้นเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าทุกคนมีความมั่นคง ในเรื่องของกรรม ในเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตดำเนินไป ในแต่ละวัน ซึ่งมีทั้งสุขบ้าง ทุกข์บ้าง บางครั้งตื่นเต้นดีใจ บางครั้งเสียใจ ตกใจ สมหวัง ผิดหวัง มีทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย มีทั้งเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย ก่อนที่สติปัญญาแต่ละวันๆ จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร สติปัฏฐาน และปัญญาก็ต้องระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ
เช่น ในขณะที่ได้ข่าวการสิ้นชีวิตอย่างกะทันหันของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในขณะที่กำลังได้ยินเรื่องนั้น สติปัฏฐานก็สามารถเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในขณะที่ได้ยินได้ฟังเรื่องนั้น เพราะว่าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม สติระลึกลักษณะของเสียง ก็ได้ ระลึกลักษณะของเสียงขณะใด ขณะนั้นก็รู้ในสภาพที่ไม่ใช่นามธรรม เพราะว่า มีลักษณะของเสียงปรากฏเป็นเสียง
ในขณะนี้เสียงที่กล่าวว่าเป็นรูปธรรม ก็เพราะว่ามีลักษณะของเสียงปรากฏนามธรรมเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้น ไม่มีลักษณะของเสียง ไม่มีลักษณะของกลิ่น ในขณะที่นามธรรมเกิดขึ้น แต่ว่านามธรรมเป็นสภาพที่รู้เสียง
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองมีเสียงซึ่งเป็นรูปธรรม และสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของเสียงซึ่งเกิดปรากฏแล้วหมดไป สภาพของเสียงก็คือเท่านั้นเอง มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เสียงเกิดขึ้น และดับไป ในขณะนั้นสติปัฏฐานอาจจะระลึกลักษณะของได้ยิน เพราะในขณะที่เสียงปรากฏต้องมีสภาพรู้เสียง มีลักษณะที่รู้เสียง ในขณะที่ระลึกลักษณะของได้ยินซึ่งเป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ในขณะนั้นก็ เป็นการระลึกถึงลักษณะของวิญญาณขันธ์
แสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของขันธ์หนึ่งขันธ์ใดใน ๕ ขันธ์ ซึ่งชินหู คำว่า รูปขันธ์ ก็ไม่ใช่อื่นไปจากในขณะที่เสียงปรากฏ และสติระลึก ขณะที่ได้ยิน กำลังรู้เสียง ขณะนั้นกำลังระลึกลักษณะของได้ยิน ขณะนั้นก็เป็นวิญญาณขันธ์
ไม่ใช่เพียงแต่คล่องเรื่องชื่อ แต่ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์จริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏ
และสำหรับวิญญาณขันธ์ มีตั้งแต่เกิดจนตาย สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีจิตซึ่งเป็นวิญญาณขันธ์จนกระทั่งถึงขณะสุดท้ายที่จุติจิตเกิด และดับไปสำหรับชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้น สภาพรู้ ธาตุรู้ มีอยู่จนชิน ความชินทำให้ ไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ก็เป็นสภาพรู้ หรือในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ได้ยินในขณะนี้ก็เป็นสภาพรู้นั่นเอง
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นการระลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นจริง มีจริง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
เรื่องของรูปขันธ์ก็มีปรากฏให้สติระลึก เรื่องของวิญญาณขันธ์ก็มีปรากฏให้สติระลึกได้ ในขณะที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น สำหรับบางท่าน สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นการเห็นอะไร ได้ยินได้ฟังเรื่องอะไร จะสุข จะทุกข์ จะดีใจ จะเสียใจ ลักษณะของสภาพความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอย่างไร สติปัฏฐานก็สามารถระลึกรู้ได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความเสียใจก็เป็นสภาพความรู้สึก ที่ไม่สบายใจอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามกับความดีใจซึ่งเป็นความรู้สึกสบายใจนั่นเอง เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานระลึกลักษณะของความรู้สึกขณะใด ขณะนั้นก็เป็นเวทนาขันธ์นั่นเอง
สำหรับลักษณะของสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็นเรื่องที่ต้องระลึกต่อไปอีก จะหยุด จะไม่ระลึก เป็นไปไม่ได้ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ในขณะที่จำเรื่องราวต่างๆ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ชั่วขณะที่จำได้ขณะนั้นก็เป็นสัญญาขันธ์ หรือได้แก่ สัญญาเจตสิกนั่นเอง
เคยระลึกบ้างไหม ความต่างกันของสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ถ้าไม่ได้ฟัง และไม่ได้กล่าวถึงสภาพธรรมในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็ไม่มีเครื่องที่จะทำให้พิจารณาระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งจะต้องแยก แม้ในขณะนี้ เพื่อที่สติจะได้ระลึก และศึกษาจนกระทั่งรู้ชัดขึ้น
นามขันธ์ทั้ง ๔ ต้องเกิดร่วมกัน คือ ทั้งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ นามขันธ์ทั้ง ๔ ไม่แยกกันเลยในขณะนี้ และสติปัฏฐานต้องระลึกลักษณะของนามขันธ์ทั้ง ๔ เพื่อละคลายความเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง การที่จะรู้ว่าลักษณะอย่างใดเป็นสัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ และลักษณะอย่างใดเป็นเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ จะต้องเริ่มสังเกตรู้ลักษณะของสัญญาอย่างหยาบๆ ไปก่อน เช่น รู้ว่าขณะใดที่ไม่ลืม ขณะนั้นคือจำ
นี่กำลังมีสัญญาขันธ์ ขณะใดที่ไม่ลืมขณะนั้นคือจำ ขณะนี้ทางตาที่รู้ว่า เห็นสิ่งใด ขณะนั้นคือจำ รู้ไหมว่าขณะนี้เห็นอะไร ถ้ารู้ว่าเห็นอะไร ขณะนั้นคือจำ จึงรู้ว่าเห็นอะไร และขณะได้ยินเสียงเป็นเรื่องราวของบุคคลนั้นบุคคลนี้ ในขณะที่ รู้เรื่องราวนั้นในขณะนั้นก็คือจำ ถ้าไม่จำจะรู้เรื่องได้ไหม เสียงผ่านไปทีละคำๆ จะไม่เป็นเรื่องเลยถ้าจำไม่ได้ แต่นี่เพราะจำ ในขณะที่ได้ยินเสียงจึงได้รู้ว่าเรื่องอะไร นี่คือลักษณะของสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์
ขณะที่ได้กลิ่น และรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร ขณะนั้นก็คือจำ ขณะที่รู้นั้นคือขณะที่จำ ขณะที่ลิ้มรส และรู้ว่าเป็นรสอะไร วันนี้รับประทานอาหารอะไรบ้าง วันนี้รับประทานผลไม้อะไรบ้าง ที่ตอบว่ารับประทานมะม่วง หรือรับประทานองุ่น หรือรับประทานเงาะ นั่นคือจำรสที่ปรากฏ ถ้าไม่จำจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นรสอะไร
เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่จำ ต่อไปนี้ก็ระลึกได้เลยว่า ขณะที่จำนี่เองเป็นสัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิก ขณะที่กระทบสัมผัส และรู้ว่ากระทบสัมผัสอะไร ขณะนั้นก็จำเหมือนกัน เช่น กระทบสัมผัสก็รู้แล้วว่าสัมผัสอะไรทั้งๆ ที่แข็ง ที่จำลักษณะที่แข็งเป็นสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใด คือ รู้ว่ากระทบสัมผัสอะไร ขณะนั้นก็เป็นสัญญาเจตสิกที่เป็นสัญญาขันธ์นั่นเอง
นี่เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึก เพื่อเห็นสภาพที่ไม่ใช่เราในขณะที่จำ
ส่วนสังขารขันธ์ คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่งหลังจากที่จำรู้ว่าเป็นอะไรแล้ว ขณะนี้เห็นแมวตัวหนึ่ง เป็นสัญญาหรือเปล่าที่รู้ว่าเป็นแมว เป็น รู้สึกอย่างไรกับ แมวตัวนั้น สวย ชอบ น่ารัก นั่นคือสังขารขันธ์ แต่บางคนไม่ชอบแมว สังขารขันธ์ ก็ปรุงแต่งให้ไม่น่ารัก หรือน่ารังเกียจก็แล้วแต่ แมวตัวนั้นอาจจะผอมหรือพิกลพิการต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นแล้วจำว่าเป็นสิ่งใด แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่งเป็นความชอบ ความไม่ชอบ เป็นความรัก เป็นความชัง เป็นความเมตตาหรือความกรุณา เป็นความอาฆาตพยาบาท เป็นความคิดดีหรือคิดร้ายในสิ่งที่ปรากฏซึ่งสัญญากำลังจำ
นี่คือความต่างกันของสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่พิจารณาลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมในขณะที่จำ ในขณะที่ปรุงแต่งเป็นรักบ้าง ชังบ้าง คิดดี คิดร้ายบ้างว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง
ในชีวิตประจำวันของยุคนี้สมัยนี้ทุกคนก็ดูโทรทัศน์ เวลาที่ดูโทรทัศน์จำใคร ในโทรทัศน์ นั่นคือ สัญญาขันธ์ รู้เรื่องเพราะว่ามีทั้งภาพ และเสียง ชอบหรือไม่ชอบ ในขณะนั้น มีความห่วงใย กังวล ตื่นเต้น ตกใจอะไรบ้างจากเห็น และได้ยินเรื่องราวในโทรทัศน์ นั่นคือสังขารขันธ์กำลังปรุงแต่งพร้อมกับสัญญาที่กำลังจำ ซึ่งจะต้อง แยกสังเกตรู้ จนกว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
นั่นคือช่วงเวลาพักผ่อนยามว่างขณะที่ดูโทรทัศน์ นอกจากนั้นคือขณะที่ ทำธุรกิจการงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของสัญญาจำทั้งนั้น ตั้งแต่จำว่าไปไหน นั่งที่ไหน โต๊ะไหน พูดกับใคร เรื่องอะไร ปากกา ดินสอ สมุดอยู่ที่ไหน โทรศัพท์ วันนี้มี แขกมาก ยุ่งมาก เรื่องมาก ติดต่อมาก ต้องเดินทาง ต้องคิดตัวเลข หรืออะไรต่างๆ ทั้งหมด ขณะที่จำคือเห็นแล้วรู้ และสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งเป็นเรื่องราวเป็นความคิดตามธุรกิจการงานของแต่ละคน
นี่คือชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่ทุกขณะจะไม่พ้นจากขันธ์ ๕ ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น และสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทุกคนจะเห็นได้ว่า ชีวิตชาติหนึ่งๆ มากหรือน้อย สำหรับการที่จะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เพราะว่าวันหนึ่งๆ เต็มไปด้วยความวุ่นวายของธุรกิจการงานต่างๆ และยังมีการการรื่นเริง การขวนขวายเพลิดเพลินพักผ่อนต่างๆ การที่จะสนุกสนานโดยวิธีฟังเพลงบ้าง หรือวาดภาพ ต่างๆ บ้าง หรือซื้อของบ้าง ปรุงอาหารบ้าง ปลูกต้นไม้บ้าง เพราะฉะนั้น ชีวิตของชาติหนึ่งซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้น ที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของ สภาพธรรมจะมากหรือจะน้อย เพราะบางชีวิตก็สั้นมาก บางชีวิตก็อาจจะยืนยาวพอสมควร แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้สาระ เพราะไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏ
แต่ละคนจะต้องจากโลกนี้ไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ สะสมกุศลบ้างอกุศลบ้างมากน้อยต่างกันไป และสิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ต้องจากเหตุการณ์ และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้โดยสิ้นเชิงในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะติดตัวไปก็ ควรจะเป็นการเจริญกุศล และการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นโดยการฟัง การพิจารณา และการอบรมเจริญสติปัฏฐาน
บางท่านสะสมสมบัติไว้มากมาย เช่น มีความพอใจที่จะสะสมภาพเขียนต่างๆ แต่ว่ารูปทั้งหลายไม่ใช่สภาพรู้ รูปทั้งหลายไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ว่าผู้ที่เป็นเจ้าของ จะมีความหวงแหนรักษาสมบัตินั้นเพียงใด รูปธรรมก็เกิดขึ้น และดับไปๆ โดยไม่มีใครเป็นเจ้าของ แม้ว่าใครจะคิดว่าเป็นเจ้าของสมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แต่ตามความ เป็นจริงแล้วรูปก็เกิดดับ แม้ว่าเจ้าของจะจากไปหรือไม่จากไป รูปก็เกิดขึ้น และดับไปๆ โดยที่ว่าใครจะหลงคิดว่าเป็นเจ้าของรูปหนึ่งรูปใด ก็เป็นแต่เพียงการยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นรูปภายนอก เช่น สมบัติต่างๆ หรือรูปร่างกายซึ่งทุกคนยึดครองว่าเป็นของเรา รูปก็ไม่ใช่สภาพรู้ รูปเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไปเท่านั้นเอง
สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นเขา ในที่สุดก็ต้องถึงกาลที่จะต้องแตกสลาย กลายสภาพเป็นกองกระดูกหรือเถ้าถ่าน
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1759
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1760
นาที 19.44
ธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก คนที่ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคในครั้งนั้น เมื่อจบพระธรรมเทศนา บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะที่ฟังนั้นไม่เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง
แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะรู้ชัดตามความเป็นจริงในสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดสืบต่อกัน เช่น หลังจากที่ได้ยินเสียงแล้ว ก็ยังมีการเข้าใจความหมายของเสียง และเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจิตที่กำลังรู้เรื่องไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ก็ต้องเป็น ผู้ละเอียดที่จะไม่ฝืน หรือไม่คิดว่าจะตัด ไม่ให้คิดถึงเรื่องราว ให้ได้ยินแต่เพียงเสียง ซึ่งนั่นแสดงว่า ยังมีความเป็นตัวตนที่ต้องการ และมีความเป็นตัวตนที่กำลังทำ อย่างนั้นด้วย
มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความละเอียดจริงๆ ที่จะต้องเตือนตนเองเสมอว่า ไม่ต้องทำอะไร
ทันทีที่เริ่มจะทำ เพียงนิดเดียวก็ผิดแล้ว ผิดทันที เพราะว่าไม่เข้าใจลักษณะของสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึก ขณะใดที่สติเกิด ลักษณะของสติปรากฏ อารมณ์ที่ สติระลึกก็ปรากฏด้วย เป็นธรรมดา เป็นปกติจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใด เวลาที่สติเกิดขณะนั้นเห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราจะกั้น หรือไม่ใช่เราจะเปลี่ยน แต่เพราะสติเกิดจึงระลึกที่ลักษณะของ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ในขณะนี้โดยวิถีจิตทราบว่า สภาพธรรมเกิดสืบต่อกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยมีมโนทวารวิถีคั่นทุกวาระของการรู้อารมณ์ทางตาวาระหนึ่ง การรู้อารมณ์ทางหูวาระหนึ่ง เป็นความรวดเร็วมากจนกระทั่งถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่ตัวตน และไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้น
ขณะที่กำลังฟัง และรู้เรื่อง ให้ทราบว่า ขณะนั้นชั่วขณะหนึ่งที่รู้เรื่องก็เป็นสิ่งที่ มีจริง เป็นนามธรรม แล้วก็เปลี่ยนเป็นสภาพธรรมอย่างอื่นปรากฏ โดยไม่ต้องทำอะไร คือ ไม่ต้องมีการเปลี่ยน ได้ยินเกิดแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนจากเรื่องให้เป็นแค่ได้ยิน เพราะว่าสภาพที่รู้เรื่องก็ชั่วขณะหนึ่ง ต่อจากนั้นก็มีเหตุมีปัจจัยให้ได้ยินเกิดขึ้นตามปกติ เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ด้วยว่า เวลาที่สติเกิดระลึกได้จะรู้ความต่างกันของสภาพที่คิดกับสภาพที่เห็น หรือสภาพที่คิดกับสภาพที่ได้ยิน หรือสภาพที่คิดกับสภาพที่กำลังลิ้มรส คือ ล้วนเป็นสภาพธรรมตลอด ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ปราศจากจิตเจตสิกแต่ละชนิด และรูป แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ให้เป็นปกติ และให้เป็นสติที่ระลึก อย่าให้มีเราที่กำลังพยายามจะตัด จะไม่คิด หรือจะทำอย่างนั้นอย่างนี้
แม้จะได้ฟังพระธรรมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่คน ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แต่เวลาเห็นก็เป็นคน เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ท่านผู้ฟังที่อบรม เจริญสติปัฏฐานเห็นชัดอย่างนี้หรือยัง
ถ้าเห็นชัดจริงๆ จะถ่ายถอนการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จะเป็นไปอย่างละเอียด ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ช้าๆ จนกระทั่งเมื่อมีกำลังขึ้นทันทีที่เห็นก็จะระลึก เวลาที่สติเกิดก็รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น กำลังพูดกับสีที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะเข้าใจชัดถึงสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็นในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้ในสภาพที่กำลังคิดว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังรู้คำ
เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าสติสามารถที่จะยิงไว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏสั้นมาก ตามความเป็นจริง หรือเปล่า
ทางตาในขณะนี้กำลังเห็น ต้องสั้นที่สุด เพราะว่ามีธรรมชาติที่รู้เสียง มีจิตที่ ได้ยินเสียงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทางตาที่เหมือนเห็นติดต่อกันตลอด ความจริงแล้วต้องสั้น เพราะขณะที่จิตได้ยินเสียงเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ตามปกติ และรู้ทั่ว รู้ละเอียด มีกำลัง ไม่หวั่นไหว แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดในขณะที่ทั้งเห็น ได้ยิน และคิดนึก และกระทบสัมผัสในขณะนี้ แล้วแต่สติจะเกิดระลึกทางไหน สภาพธรรมที่กำลัง ปรากฏก็เป็นสิ่งที่มีจริง ก็รู้ลักษณะที่มีจริงของสภาพธรรมนั้นด้วยว่า เป็นเพียง สภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่เป็นเหตุที่จะทำให้คลายความยึดมั่นในสัตว์ ในบุคคล ในตัวตน
เป็นญาติพี่น้องกับสีที่กำลังปรากฏหรือเปล่า
เป็นเพื่อนกับสีที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า
แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของความคิดนึกหลังเห็น และก็มีเห็นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีจิตซึ่งหลังเห็นแล้วก็คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่เห็น ทำให้มีสัญญา ความจำ ในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา และของปรมัตถธรรมอื่นๆ
นี่เป็นทางที่จะถ่ายถอนความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยไม่ใช่ไปทำอะไร แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ อย่างในขณะนี้ ถ้าเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปกติชั่วขณะสั้นๆ และสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่น ที่ปรากฏ จะไม่มีเยื่อใยในสิ่งซึ่งหมดแล้ว ผ่านไปแล้ว เพราะว่าขณะใดที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมนั้นสั้นมากแล้วก็หมดไป และก็มีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่นซึ่งปรากฏ ซึ่งสั้นมาก แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น โลกนี้จะมีอะไร นอกจากสภาพธรรมที่เกิด และก็ดับ เกิด และก็ดับ
ฟังดูแล้วเหมือนกับเข้าใจ เรื่องจริงต้องเป็นอย่างนี้แน่ๆ คือ สภาพธรรมเกิดปรากฏสั้นมาก และดับไป นี่คือเรื่องจริงๆ ฟังดู พิจารณา เข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด มีการแทงตลอดจริงๆ ประจักษ์ความสั้นแสนสั้นของ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ซึ่งขณะนั้นความจริงต้องตรงกับขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ
เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจปัญญาที่ต่างขั้นว่า ปัญญาขั้นฟัง เริ่มฟัง เริ่มคิด เริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นความไม่เที่ยงโดยพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นปกติ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวาร และไม่มีตัวตนที่จะ ทำอะไร ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งรู้ว่า จะทำอะไรได้ ในเมื่อเห็นยังไม่ทันไรเลยได้ยินแล้ว ยังไม่ทันไรคิดอีก และความคิดของแต่ละคนก็บังคับบัญชาไม่ได้เลยที่จะให้คิดอย่างนี้ ไม่ให้คิดอย่างนั้น
นี่ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง มีความยึดมั่นในอกุศลใดมาก หรือมีการเจริญกุศลประเภทใดเพิ่มขึ้น ก็เห็น สภาพธรรมตามความเป็นจริงละเอียดขึ้น คลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็จะทำให้เพิ่มความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมขึ้น แต่ถ้ามีตัวตนที่จะทำ ไม่มีทางเลยที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทุกๆ อย่างที่กำลังเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นผู้มีปกติ ต้องปกติจริงๆ เพราะปกติอย่างนี้แหละ เมื่อมีเหตุปัจจัยสติก็เกิด สติก็ระลึก ไม่ใช่มีใครเตรียมจะทำ หรือตั้งใจไว้มากๆ ว่า จะให้ระลึกรู้ลักษณะของนามนั้น รูปนี้ ตั้งอกตั้งใจไว้ นั่นคือ ผู้ที่ไม่รู้ความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็มีโลภะ มีความต้องการเป็นเครื่องเนิ่นช้า และจะเข้าใจความหมายของพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงว่า เครื่องเนิ่นช้าไม่ได้อยู่ ที่อื่น แต่อยู่ในขณะที่มีความจงใจ มีความต้องการ มีความตั้งใจที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนั้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะมีการระลึกได้ และรู้ว่า มัชฌิมาปฏิปทาไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่ขณะที่จงใจ ไม่ใช่ขณะที่ต้องการ แต่เป็นขณะที่ปล่อยวาง เพราะรู้ว่าเป็นอนัตตา และสติก็เกิดตามปกติ
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)