ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
ท่านอาจจะเป็นผู้มีความเห็นผิดในครั้งที่ได้พบพระผู้มีพระภาค ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ในปัจจุบันนี้ ท่านก็จะยังคงอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เป็นภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่สำหรับผู้ที่ได้พบ และมีความเข้าใจถูก แต่ยังไม่บรรลุคุณธรรม ท่านก็จะมีภพชาติต่างๆ กันไป แต่ว่าไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก เหมือนชีวิตของบุคคลทีซึ่งได้พบพระผู้มีพระภาค และปรากฏในพระไตรปิฎก
เรื่องของชีวิตต่างๆ ที่ท่านจะได้รับฟังจากพระไตรปิฎก ท่านก็จะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่ท่านรับฟัง พระผู้มีพระภาคก็ทรงเน้นเรื่องของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องสมาธิ เพราะถ้าเป็นเรื่องสมาธิแล้ว ก็จะไม่มีการศึกษาในเรื่องของพระธรรมต่างๆ ที่ปรากฏ เช่น ในเรื่องของการสังคายนา และในเรื่องของการนอบน้อมต่อสงฆ์ แต่ผู้ที่เข้าใจแล้ว ทราบได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นข้อความตอนใดทั้งหมด แม้ในขณะที่ฟัง ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีการรู้เรื่อง มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือความรู้สึกเป็นอทุกขมสุข คือ ไม่ทุกข์ ไม่สุข เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 602
นาที 1.45
ต่อไปเป็นเรื่องที่ท่านพระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์กับท่านพระฉันนะ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่สะสมปัญญามาที่จะเป็นบัณฑิต การลงพรหมทัณฑ์จะเกิดผลกับท่านอย่างไร
ข้อความต่อไป
ลงพรหมทัณฑ์
ข้อ ๖๒๗
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยังวัดโฆสิตาราม ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ท่านพระฉันนะเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
ท่านฉันนะ สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้ว ฯ
ท่านพระฉันนะกล่าวว่า
ท่านพระอานนท์ ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ท่านฉันนะ ท่านปรารถนาจะพูดคำใดพึงพูดคำนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงพร่ำสอนท่าน
ท่านพระฉันนะกล่าวว่า
ท่านพระอานนท์ ด้วยเหตุเพียงที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่พร่ำสอนข้าพเจ้านี้ เป็นอันสงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือ
แล้วสลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง
ต่อมาท่านพระฉันนะอึดอัด ระอา รังเกียจอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงหลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี
ก็แล ท่านพระฉันนะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้นท่านพระฉันนะบรรลุพระอรหัตแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วกล่าวว่า
ท่านพระอานนท์ ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์แก่ผมในบัดนี้เถิด
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า
ท่านฉันนะ เมื่อใดท่านทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตแล้ว เมื่อนั้นพรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว ฯ
ข้อ ๖๒๘
ก็ในการสังคายนาพระวินัยนี้มีภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่หย่อนไม่เกิน เพราะฉะนั้น การสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า แจง ๕๐๐ ดังนี้แล ฯ
ปัญจสติกขันธกะที่ ๑๑ จบ
นี่เป็นเรื่องของการอ่อนน้อม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตของท่าน ถ้าพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด ท่านก็จะไม่ทราบเลยว่า ตามฐานะที่ท่านเป็นอยู่ จิตใจของท่านเป็นกุศลหรืออกุศลมากน้อยประการใด แต่ในการอ่อนน้อมก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ท่านรู้ได้
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 603
นาที 5.36
ขอกล่าวถึงตัวอย่างความนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์เถระ ซึ่งข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย อรรถกถามงคลสูตร กถาพรรณนาปฐมมหาสังคายนา มีว่า
เมื่อท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอุบาลี ท่านพระอานนท์ และท่าน พระอรหันต์เถระอื่นๆ รวม ๕๐๐ รูป ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก ณ ใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ เขตพระนครราชคฤห์ เพราะเหตุที่เทวดาบางเหล่าเห็นท่านพระอานนท์นั่งเหนือธรรมาสน์ ห้อมล้อมด้วยพระอรหันต์เถระทั้งหลาย จึงเกิดจิตคิดว่า ท่านพระอานนท์นี้เป็นเวเทหมุนี (คือ เป็นมุนีผู้รู้) แม้โดยปกตินับอยู่ในศากยตระกูล เป็นทายาทของพระผู้มีพระภาค แม้แต่พระผู้มีพระภาค ก็ทรงยกย่องไว้ในเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ประกอบด้วยอัจฉริยัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นที่รักเจริญใจของบริษัท ๔ บัดนี้ เห็นทีจะเป็นรัชทายาทโดยธรรมของ พระผู้มีพระภาค เกิดเป็นพุทธะ ผู้รู้
แสดงให้เห็นว่า อย่าเดาว่าใครจะเป็นผู้รู้ หรือใครจะเกิดเป็นผู้ที่ตรัสรู้ด้วยตัวเอง
ท่านพระอานนท์รู้ทั่วถึงความคิดต่างๆ ของเทวดาเหล่านั้น ทนการยกย่อง คุณที่ไม่เป็นจริงนั้นไม่ได้ เพื่อแสดงภาวะที่ตนเป็นเพียงสาวกจึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา
ข้อความต่อไป ท่านผู้ฟังก็คงจะคุ้นหูที่ว่า
สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ
คือ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
คำนี้ ท่านพระอานนท์กล่าวไว้อย่างนี้
จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดได้ฟังคำที่มีความว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็จะรู้ซึ้งถึงความคิดของท่านพระอานนท์ เมื่อท่านกล่าวคำนี้ในการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่แสดงตนว่าเป็นเพียงสาวก จึงได้กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ คือ ไม่ใช่เป็นคำของท่านเอง เพราะท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่าน เป็นเพียงสาวก และได้สดับมาจากพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้ พระอรหันต์ทั้งหลาย และเทวดาหลายพัน ก็ชื่นชมท่านพระอานนท์ว่า สาธุ สาธุ แผ่นดินก็ไหว ความอัศจรรย์อย่างอื่นก็ปรากฏมากมาย และเทวดามากหลายก็เกิดความสังเวชว่า คำใด เราฟังมาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค คำนั้นแม้เหตุการณ์ผ่านพ้นสายตามาแล้ว ก็มาเกิดได้
คือ แม้พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว และพระอรหันต์เถระทั้งหลายที่ทำสังคายนาก็เคยได้ฟังคำนั้นมาแล้ว แต่แม้กระนั้น คำที่ได้ยินนั้น เหตุการณ์นั้น ผ่านพ้นสายตามาแล้ว คือ ไม่ได้เห็นอีกแล้ว แต่ก็มีโอกาสได้ยินคำนั้นอีก ซึ่ง เป็นอนุสสติที่จะทำให้ท่านผู้ฟังระลึกได้ถึงการเคารพพระรัตนตรัย แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานแสนนาน แต่ทุกครั้งที่ได้ยินพระธรรม ก็จะเห็นคุณค่า และเห็นเหตุปัจจัยที่ทำให้โสตวิญญาณกุศลวิบากในชาตินี้เกิด เพราะว่ามีการสะสมของกุศลในปางก่อน ที่ทำให้ได้ยินคำนี้อีก
ท่านพระอานนท์ปลอบใจผู้มีใจกระสับกระส่ายเพราะไม่พบพระผู้มีพระภาคว่า ปาพจน์ คือ พระธรรมวินัยนี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้วหามิได้ ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย
ความหมายของ เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็โดยที่ท่าน พระอานนท์ต้องการที่จะปลอบใจพุทธบริษัทรุ่นหลัง ซึ่งอาจจะรู้สึกโทมนัสที่ไม่ได้พบพระผู้มีพระภาค แต่ให้ทราบว่า ปาพจน์คือพระธรรมวินัยนี้ ชื่อว่ามีศาสดาล่วงแล้วหามิได้ เพราะว่า ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย
ที่จะรู้ว่า มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาจริงๆ หรือไม่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้อง
ก็พระเถระเมื่อกล่าวว่า เอวํ ชื่อว่าแสดงเทศนาสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยเทศนา
เพราะว่าต้องมีผู้แสดงจึงมีผู้ฟัง ถ้ามีแต่ผู้ฟัง ไม่มีผู้แสดง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพียงคำว่า เอวํ ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นเทศนาสมบัติ คือ ความถึงพร้อมด้วยเทศนา
เมื่อกล่าวคำว่า เม สุตํ ชื่อว่าแสดงสาวกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งสาวก
ไม่ใช่คนอื่น แต่ข้าพเจ้า คือ ท่านพระอานนท์ ผู้เป็นเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ที่กล่าวว่า เม สุตํ ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
เมื่อกล่าวคำว่า เอกํ สมยํ ชื่อว่าแสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา
วันนี้ หลายชั่วโมงผ่านไป กาลสมบัติหรือเปล่า ขณะที่ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่ขณะที่กำลังฟังพระธรรม ให้ทราบว่า ขณะนี้เป็นขณะที่ถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรม เพราะโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่ง่าย ถ้ามีธุระสำคัญนิดเดียวก็ไม่ได้ฟังแล้ว เป็นโอกาสของการฟังสิ่งอื่น เพราะฉะนั้น เอกํ สมยํ ชื่อว่า แสดงกาลสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งกาลที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา
เมื่อกล่าวว่า ภควา ชื่อว่าเทศกสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งผู้แสดง
ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ภควา คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้แสดง
ส่วนคำว่า ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ เขตพระนคร สาวัตถี ในคำทั้ง ๒ นั้น ท่านพระเถระแสดงการอนุเคราะห์คฤหัสถ์ของ พระผู้มีพระภาคด้วยการระบุกรุงสาวัตถี แสดงการอนุเคราะห์บรรพชิตด้วยการระบุพระเชตวันเป็นต้น
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
นาที 14.48
อานันทเถรคาถา
สำหรับท่านพระอานนท์ ท่านเป็นเอตทัคคะหลายทาง ท่านผู้ฟังควรที่จะได้ทราบคาถาของท่านพระอานนท์เมื่อท่านตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้วว่า จากการเกิดแล้วเกิดอีก สะสมบารมีมาเป็นชาติๆ นั้น เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านมีคาถาอะไรที่เป็นโอวาทเตือนใจพุทธบริษัทบ้าง
ขุททกนิกาย เถรคาถา อานันทเถรคาถา มีข้อความว่า
บัณฑิตไม่ควรทำตนให้เป็นมิตรสหายกับบุคคลที่ชอบส่อเสียด มักโกรธ ตระหนี่ และผู้ปรารถนาให้ผู้อื่นพินาศ เพราะการสมาคมกับคนชั่วเป็นความลามก
คาถาของพระอรหันต์ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านเห็นความสำคัญของการคบหาสมาคมมากทีเดียวว่า ถ้าคบผู้ที่เป็นพาลจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ถ้าคบกับผู้ที่เป็นบัณฑิตจะได้รับประโยชน์มาก
ข้อความต่อไปมีว่า
แต่บัณฑิตควรทำตนให้เป็นมิตรสหายกับคนผู้มีศรัทธา มีศีลน่ารัก มีปัญญา และเป็นคนได้สดับเล่าเรียนมามาก เพราะการสมาคมกับคนดี ย่อมมีแต่ความเจริญอย่างเดียว
เชิญดูร่างกายอันมีกระดูก ๓๐๐ ท่อน ซึ่งมีเอ็นใหญ่น้อยผูกขึ้นเป็นโครงตั้งไว้ อันบุญกรรมตกแต่งให้วิจิตร มีแผลทั่วทุกแห่ง กระสับกระส่าย คนโง่เขลาพากันดำริเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น
พระอานนท์เถระ ผู้โคตมโคตร เป็นผู้ได้สดับมามาก มีถ้อยคำไพเราะ เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ปลงภาระลงแล้ว บรรลุอรหันต์ สำเร็จการนอน พระอานนท์เถระสิ้นอาสวะแล้ว ปราศจากกิเลสเครื่องเกาะเกี่ยวแล้ว ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องแล้ว ดับสนิท ถึงฝั่งแห่งชาติ และชรา ทรงไว้แต่ร่างกายอันมีในที่สุด
ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ตั้งอยู่แล้วใน บุคคลใด บุคคลนั้น คือ พระอานนท์เถระผู้โคตมะ ชื่อว่า ย่อมตั้งอยู่ในมรรค เป็นทางไปสู่นิพพาน
พระอานนท์เถระได้เรียนธรรมจากพระพุทธเจ้ามา ๘๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ ได้ เรียนมาจากสำนักพระภิกษุ มีพระธรรมเสนาบดี เป็นต้น ๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ จึงรวมเป็นที่คล่องปากขึ้นใจ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์
คนที่เป็นชาย มีการศึกษาเล่าเรียนมาน้อย ย่อมแก่เปล่า เหมือนกับโคที่มีกำลัง แต่เขาไม่ได้ใช้งาน ฉะนั้น เนื้อย่อมเจริญแก่เขา ปัญญาไม่เจริญแก่เขา
ผู้ใดเล่าเรียนมามาก ดูหมิ่นผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาน้อยด้วยการสดับ แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติตามที่เล่าเรียนมา ย่อมปรากฏแก่เราเหมือนคนตาบอดถือดวงไฟไป ฉะนั้น
สรรเสริญการปฏิบัติ ไม่ใช่สรรเสริญเพียงการศึกษา แต่ไม่ปฏิบัติตาม
ข้อความต่อไปมีว่า
บุคคลควรเข้าไปนั่งใกล้ผู้ที่ศึกษามาก แต่ไม่ควรทำสุตตะที่ตนได้มาให้พินาศ
ถ้าการศึกษาไม่ตรงกับการปฏิบัติ การศึกษานั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะสุตตะที่ตนได้มานั้น เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม บุคคลผู้รู้อักษรทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลาย รู้อรรถะแห่งภาษิต ฉลาดในนิรุติ และบท ย่อมเล่าเรียนธรรมให้เป็นการเล่าเรียนดี และพิจารณาเนื้อความ เป็นผู้กระทำความพอใจด้วยความอดทน พยายามพิจารณา ตั้งความเพียร ในเวลา พยายาม มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในภายใน บุคคลควรคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปัญญา เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า หวังการรู้แจ้งธรรมเช่นนั้นเถิด บุคคลผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของโลกทั่วไป ผู้ที่เป็นพหูสูตนั้น เป็นผู้อันมหาชนควรบูชา
ภิกษุมีธรรมเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในธรรม ค้นคว้าธรรม ระลึกถึงธรรม ย่อมไม่เสื่อมไปจากสัทธรรม เมื่อกาย และชีวิตของตนเสื่อมไป
ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย ติดอยู่ด้วยความสุขทางร่างกาย ไม่ขวนขวายบำเพ็ญเพียร ความผาสุกทางสมณะ จะมีแต่ที่ไหน
ทิศทั้งหมดไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้า ในเมื่อท่านธรรมเสนาบดีผู้เป็นกัลยาณมิตร นิพพานแล้ว
ในครั้งนั้นท่านเป็นเพียงพระเสกขบุคคล ในขณะที่ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ก็มีความเศร้าโศกอย่างยิ่ง
โลกทั้งหมดนี้ปรากฏเหมือนความมืดมน กายคตาสติ ย่อมนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว ฉันใด กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้มีสหายล่วงลับไปแล้ว มีพระศาสดานิพพานไปแล้ว ฉันนั้น
ข้อความต่อไปนี้หลังจากที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว มีว่า
มิตรเก่าพากันล่วงลับไปแล้ว จิตของเราไม่สมาคมด้วยมิตรใหม่ วันนี้เราจะเพ่งฌานอยู่ผู้เดียว เหมือนกับนกที่อยู่ในรังในฤดูฝน ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ด้วยพระคาถาหนึ่งพระคาถาว่า
เธออย่าห้ามประชาชนเป็นอันมาก ที่พากันมาแต่ต่างประเทศ ในเมื่อล่วงเวลาเทศนาเลย เพราะประชุมชนเหล่านั้น เป็นผู้มุ่งจะฟังธรรม จงเข้ามาหาเราได้ เวลานี้เป็นเวลาที่จะเห็นเรา
ทรงแสดงให้เห็นว่า การฟังธรรมเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่ควรที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเสียโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรม
พระอานนท์เถระจึงกล่าวเป็นคาถาต่อไปว่า
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ ทรงประทานโอกาสให้ประชุมชน ที่พากันมาแต่ต่างประเทศ ในเมื่อล่วงเวลาเทศนา ไม่ทรงห้าม เมื่อเรายังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี กามสัญญาไม่เกิดขึ้นเลย เชิญดูความที่ธรรมเป็นธรรมดี เมื่อเรายังเป็น พระเสขบุคคลอยู่ ๒๕ ปี โทสสัญญาไม่เกิดขึ้นเลย เชิญดูความที่ธรรมเป็นธรรมดี
เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตาวจีกรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม เหมือนพระฉายาติดตามพระองค์อยู่ ๒๕ ปี
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดำเนินไป เราก็ได้เดินตามไปเบื้องพระปฤษฏางค์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ฌานเกิดขึ้นแก่เรา เราเป็นผู้มีกิจที่จะต้องทำ ยังเป็นพระเสกขะ ยังไม่บรรลุอรหัตต์
ศาสดาพระองค์ใดเป็นผู้ทรงอนุเคราะห์เรา พระศาสดาพระองค์นั้นได้เสด็จปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ถึงความเป็นผู้ประเสริฐโดยอาการทั้งปวงเสด็จปรินิพพานแล้ว ครั้งนั้นได้เกิดมีความหวาดเสียว และได้เกิดขนพองสยองเกล้า
พระสังคีติกาจารย์ เมื่อจะสรรเสริญท่านพระอานนท์เถระ ได้รจนาคาถา ๓ คาถา ความว่า
พระอานนท์เถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของชาวโลกทั่วไป ปรินิพพานไปเสียแล้ว พระอานนท์เถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม เป็นผู้รักษาคลังพระธรรมของ พระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นดวงตาของชาวโลกทั่วไป เป็นผู้กำจัดความมืดมน ที่เป็นเหตุทำให้เป็นดังคนตาบอดได้แล้ว
พระอานนท์เถระเป็นผู้มีคติ มีสติ และฐิติ เป็นผู้แสวงคุณ เป็นผู้ทรงจำพระสัทธรรมไว้ได้ เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ ท่านพระอานนท์เถระก่อนแต่นิพพาน ได้กล่าวคาถาความว่า เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว
เป็นคาถาที่พระสังคีติกาจารย์สรรเสริญท่านพระอานนท์ เพราะถ้าท่านพระอานนท์ไม่ทรงจำข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมไว้ในครั้งนั้น พุทธบริษัทในสมัยนี้ไม่มีโอกาสที่จะได้พ้นจากสภาพของความมืดมน ที่เปรียบเหมือนกับคนตาบอดได้เลย ไม่ทราบว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมอย่างไร แต่เพราะเหตุว่าพระธรรมได้ทรงแสดงไว้มาก และท่านพระอานนท์เถระได้ทรงจำไว้อย่างดี เป็นการเกื้อกูลพุทธบริษัทด้วยความเป็นเอตทัคคะ คือ ความเป็นผู้เลิศในทางความทรงจำ ในความเป็นพหูสูต และอดีตชาติของท่านตลอดกาลนานมาจนถึงชาติสุดท้ายที่ท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็กล่าวคาถาก่อนปรินิพพานว่า
เรามีความคุ้นเคยกับพระศาสดา เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเป็นเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว
ท่านคุ้นเคยกับพระศาสดามาตลอดอดีตกาล หลายชาติทีเดียว โดยการเป็นน้องบ้าง โดยการได้พบ ได้ฟังธรรมบ้าง แม้ในชาติสุดท้าย ก็ได้เป็นพระญาติของพระผู้มีพระภาคอรหันสัมมาสัมพุทธเจ้า การได้พบ การได้คุ้นเคยตั้งแต่อดีตชาติมาจนถึงปัจจุบันชาติของท่านพระอานนท์นั้น ไม่ไร้ประโยชน์ เพราะท่านกล่าวคาถาว่า เราทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพได้แล้ว
เพราะฉะนั้น ในอดีตชาติท่านผู้ฟังจะเคยเป็นใครมาอย่างไรก็ตาม เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อาจจะเป็นพระผู้มีพระภาคก็ได้ หรือว่าพระอรหันตสาวกที่ท่านปรินิพพานไปแล้ว แต่กิจของท่านผู้ฟังยังไม่เสร็จ ยังต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติ เจริญปัญญา แม้ว่าจะได้คุ้นเคยบ้างแล้วในอดีต กับบุคคลที่ท่านปรินิพพานไปแล้วก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าท่านเหล่านั้นก็ได้สำเร็จกิจของท่านแล้ว แต่ท่านผู้ฟังซึ่งอาจจะมีอดีตที่เคยสัมพันธ์กันมายังไม่เสร็จกิจ ยังไม่ได้ปลงภาระ ก็จะต้องเป็นผู้ที่อบรมกระทำกิจ สะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต่อไป ระลึกอดีตชาติของท่านเองไม่ได้ แต่ฟังอดีตชาติของบุคคลอื่น คล้ายคลึงกันไหม อาจจะเป็นไปได้เหมือนอย่างนั้นไหม หรืออาจจะวิจิตรกว่าก็ได้ ตามความวิจิตรของจิตที่ได้สะสมมา
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)