คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อรรถกถา ปริพาชกวรรค ทีฆนขสูตร แสดงเรื่องของวันมาฆบูชา มีข้อความว่า
ทีฆนขปริพาชกซึ่งเป็นหลานของท่านพระสารีบุตรนั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน ก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสูกรขาตา ท่านพระสารีบุตรขณะที่ฟังธรรม และถวายอยู่งานพัดได้บรรลุอรหันต์ ส่วนทีฆนขปริพาชกบรรลุโสดาบัน แต่ไม่ได้ขออุปสมบท ขอเป็นเพียงอุบาสกซึ่งถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
อรรถกถา ปริพาชกวรรค ทีฆนขสูตร มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อดวงอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ ทรงจบเทศนานี้แล้วเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ เสด็จไปพระวิหารเวฬุวันได้ทรงประชุมพระสาวก ได้มีสันนิบาตประกอบด้วยองค์ ๔
องค์ ๔ เหล่านี้ คือ องค์ที่ ๑ วันนั้นเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ประกอบด้วยมาฆนักษัตร องค์ที่ ๒ ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันตามธรรมดาของตนๆ ไม่มีใครนัดหมายมา องค์ที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นไม่มีแม้สักรูปหนึ่งที่เป็นปุถุชน หรือพระโสดาบัน พระสกกาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ได้ อภิญญา ๖ ทั้งนั้น องค์ที่ ๔ มิได้ปลงผมด้วยมีดโกนบวชแม้แต่รูปเดียว ภิกษุทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ
นี่คือวันมาฆบูชา ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากที่ท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ๑๕ วัน ส่วนอีกวันหนึ่ง ท่านผู้ฟังก็จะสนุกสนานรื่นเริง เพราะเป็นวันประเพณี ลอยกระทง วันนั้นก็เป็นวันปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร
เพราะฉะนั้น การระลึกถึงวันสำคัญต่างๆ จะทำให้เกี่ยวข้องกับพระธรรม ก็เป็นได้ คือ แทนที่จะระลึกว่าเป็นวันเพ็ญ วันลอยกระทง ก็จะระลึกว่า วันนั้นเป็นวันที่ท่านพระสารีบุตรปรินิพพาน
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
นาที 3.30
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกิเลสมากมายในวันหนึ่งๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็น พระมหากรุณาคุณ เพราะแม้แต่การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะระลึกถึงกุศลหรือความดีของตนเอง ให้ทราบว่าในขณะนั้น ตราบใดที่ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ ขณะที่ระลึกถึง กุศลนั้นมีอกุศลหรือเปล่า หรือจิตที่หลังจากระลึกถึงกุศลแล้วเป็นอกุศลหรือเปล่า เพราะอาจจะระลึกด้วยความสำคัญตนก็ได้
แสดงให้เห็นว่า เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่งที่ได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศล อย่างมาก อย่างละเอียด เพื่อให้แต่ละบุคคลได้พิจารณาเห็นโทษ และละคลายจนกว่าจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้จริงๆ
เรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ใครจะคิดว่า นั่งสงบๆ หรือไม่รู้อะไรเลยก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และดับกิเลสได้ แต่เป็นเรื่องของความละเอียด เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องของสติที่จะระลึกได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ตาม
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค จังกมสูตรที่ ๕ จะแสดงให้เห็นว่า แม้ในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน อกุศลของบุคคลในครั้งนั้น หรือกุศลของบุคคล ในครั้งนั้น ก็ไม่ต่างกับอกุศล และกุศลของบุคคลในครั้งนี้
ณ เขาคิชฌกูฏ ท่านพระสารีบุตรจงกรมอยู่ด้วยกันกับพระภิกษุหลายรูปในที่ ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหากัสสปะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอนุรุทธะก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระปุณณมันตานีบุตรก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอุบาลีก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับ ภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค แม้ท่านพระเทวทัตก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า
ที่ท่านพระเทวทัตจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคนั้น เพื่อปกปิดโทษอันตนกระทำแล้ว เพื่อเป็นเหตุให้คนอื่นคิดว่า ผู้นี้ไม่ทำ ถ้าทำ เขาก็ไม่มา ณ ที่นี้
แม้ในครั้งนั้นก็จะเห็นได้ว่า สภาพของจิตใจไม่ต่างกันเลยเวลาที่อกุศลเกิด จะมีการลวง จะมีการปกปิด จะมีมายาต่างๆ คนที่เดินอยู่ด้วยกันในที่นั้นทั้งหมด ดูอาการภายนอกจะรู้ไหมว่า ใครคิดอะไร ฉันใด จะนั่งอยู่ด้วยกันไม่ว่าในที่ไหนทั้งหมด ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า จิตใจของแต่ละบุคคลในที่นั้นคิดอะไร นอกจาก ผู้นั้นเองจะเป็นผู้พิจารณาตนเองเท่านั้นจึงจะรู้ได้
เรื่องของกิเลสมีมาก และกิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานของกิเลส กิเลสจะทำกิจการงานของกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น กิเลสเกิดขึ้นขณะใด ก็ทำกิจของกิเลสขณะนั้น และสมมติเรียกชื่อของอกุศลธรรม และกุศลธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แต่บางท่านก็มีวิริยะในการอบรมเจริญปัญญา เห็นโทษของกิเลส และละคลายกิเลสได้ แต่ก็ต้องอาศัยวิริยะอย่างมากจริงๆ ในการเป็นผู้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
นาที 7.50
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ลักขณสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ อัฏฐิสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ
สารัตถปกาสินี อรรถกถา ลักขณสังยุต อัฏฐิสูตร มีข้อความว่า
ท่านพระลักขณเถระนั้นอยู่ในจำนวนชฎิล ๑,๐๐๐ รูป อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา บรรลุพระอรหันต์ในที่สุดแห่งอาทิตตปริยายสูตร เป็นพระมหาสาวกองค์ หนึ่ง เพราะเหตุที่ท่านเป็นผู้ที่มีอัตภาพสมบูรณ์ด้วยลักษณะ บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่างเสมอพรหม จึงได้ชื่อว่าลักขณะ
ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า
ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระมหาโมคคัลลานะนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปหาท่านพระลักขณะจนถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวชวนท่านพระลักขณะว่ามา ไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ด้วยกันเถิดท่านลักขณะ ท่านพระลักขณะรับคำท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า อย่างนั้น
ถ้าท่านสังเกต จะเห็นได้ว่า ชีวิตปกติของพระอรหันต์ก็ดำเนินไปตามปกติ ตอนเช้าท่านก็ไปมาหาสู่กัน ชักชวนกันไปบิณฑบาตได้ไหม หรือว่าถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องปลีกตัวอยู่คนเดียว ไม่พูดอะไรกับใครทั้งนั้น เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ชีวิตของพระอรหันต์ท่านจะกระทำกายวาจาอย่างใด ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสมของท่าน ท่านเคยสะสมมาที่จะไปมาหาสู่กัน เคยสะสมมาที่จะชักชวนกันกระทำในสิ่งที่ไม่ใช่อกุศลธรรม ท่านก็กระทำเป็นปกติ เป็นชีวิตธรรมดา แต่ว่าหลังจากที่บรรลุการเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีเจตนากรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลที่จะเป็นปัจจัยทำให้มีการปฏิสนธิอีก และปกติชีวิตของท่านก็เป็นธรรมดา ซึ่งอาจจะผิดความคาดหวัง หรือความเข้าใจของบางท่าน ถ้าคิดว่าเป็นพระอรหันต์แล้วจะต้องไม่พูดกับใคร ไม่เกี่ยวข้องกับใคร อยู่เฉยๆ ตามลำพัง ซึ่งหากท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นว่า พระอรหันต์แต่ละรูป ท่านก็มีชีวิตดำเนินไปตามปกติ ตามที่ท่านได้สะสมมาตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปมีว่า
ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังลงจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้ยิ้มแย้มขึ้นในที่แห่งหนึ่ง ทีนั้นท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ท่านโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ยิ้มแย้ม
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า
ท่านลักขณะ มิใช่เวลาที่จะเฉลยปัญหาข้อนี้ ท่านจงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด
การยิ้มแย้มต้องมีเหตุ หรือไม่มีเหตุ และเหตุอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้ม โสมนัสเวทนาที่เกิดกับจิตในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่ากายจะเป็นอย่างไร ถ้าขณะนั้นท่านระลึกรู้ถึงสภาพของจิต ท่านทราบได้ว่า ที่กายเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เพราะจิตประเภทนั้นๆ เป็นปัจจัย ถ้าท่านกำลังหัวเราะรื่นเริงสนุกสนาน และท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะนั้นที่กำลังหัวเราะสนุกสนาน สติระลึกรู้ลักษณะของจิต จะรู้ว่าเป็นจิตที่โสมนัส ประกอบด้วยความยินดีในขณะนั้น ทำให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น
เพราะฉะนั้น สำหรับการยิ้มแย้มของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการยิ้มแย้มขึ้น ซึ่งก็ต้องเป็นจิตประเภทโสมนัสนั่นเอง แต่ไม่ใช่ด้วยกุศลหรืออกุศล เพราะจิตของพระอรหันต์ไม่มีกุศล และอกุศล จึงเป็นกิริยาจิต สำหรับวิบากจิตก็เป็นผลของอกุศลกรรม และกุศลกรรมในอดีต ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์จึงมีเฉพาะวิบากจิต กับกิริยาจิตเท่านั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระลักขณะกับท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตตาหารแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระลักขณะได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏได้ยิ้มแย้มขึ้นแล้วในที่แห่งหนึ่ง ดูกร ท่านมหาโมคคัลลานะ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ยิ้มแย้มขึ้น
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่า
เมื่อผมลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นโครงกระดูกลอยอยู่ในเวหาส พวกแร้งบ้าง กาบ้าง นกตะกรุมบ้าง ต่างก็โผถลาตามเจาะจิกทึ้งโครงกระดูกนั้น ได้ยินว่า โครงกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญคราง ผมคิดว่า อัศจรรย์จริงหนอ ไม่เคยมีมาหนอ สัตว์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี ยักษ์แม้เห็นปานนี้ก็จักมี การได้อัตภาพแม้เห็นปานนี้ก็จักมี
ท่านคิดว่าเป็นไปได้ไหม เรื่องของเปรต เป็นอบายภูมิอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งก็ได้รับความทุกข์ทรมาน และมีรูปร่างกายวิจิตรต่างๆ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สาวกทั้งหลายเป็นผู้มีจักษุหนอ เป็นผู้มีญาณหนอ เพราะว่าแม้สาวกก็จักรู้ จักเห็นสัตว์เช่นนี้ หรือจักเป็นพยาน เมื่อก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์ตนนั้นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้พยากรณ์ไว้ หากว่าเราพึงพยากรณ์สัตว์นั้นไซร้ คนอื่นๆ ก็จะไม่พึงเชื่อถือเรา ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้ไม่เชื่อถือเรา
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์นี้เป็นคนฆ่าโค อยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง ด้วยผลของกรรมนั้น เขาจึงหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นปี สิ้น ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปีเป็นอันมาก ด้วยผลของกรรมนั้นแหละยังเหลืออยู่ เขาจึงต้องเสวยการได้อัตภาพเห็นปานนี้
ซึ่งการเกิดเป็นเปรตมีอัตภาพที่เป็นทุกข์ต่างๆ กันนั้น ก็ยากที่ท่านจะเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะเหตุว่าถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า นอกจากเปรตโครงกระดูกนี้ ยังมีเปรตก้อนเนื้อ เปรตบุรุษไม่มีผิวหนังเลย เปรตบุรุษผู้มีขนเป็นดาบ มีขนเป็นเข็ม เป็นต้น แต่ถ้าท่านระลึกถึงอกุศลกรรมที่วิจิตรต่างๆ กันในปัจจุบันชาติ ซึ่งท่านก็คงจะได้ยินได้ฟังมาบ้างว่า มีการกระทำอกุศลกรรมในลักษณะต่างๆ กันมาก เมื่อเหตุที่วิจิตรอย่างนั้นมี ผลต่างๆ ก็จะต้องเป็นไปตามเหตุเหล่านั้นด้วย
ถ้าท่านพิจารณาดูชีวิตของท่านเองในวันหนึ่งๆ มีเรื่องยุ่งบ้างไหม เรื่องยุ่งนี้คงจะมีมากเหมือนกัน และบางท่านก็คงจะบ่อยเหมือนกัน เรื่องยุ่งๆ พวกนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร อยู่ดีๆ วันนี้ไม่ยุ่ง แต่พรุ่งนี้อาจจะมีเรื่องยุ่งมากมากมายทีเดียว เรื่องยุ่งมากๆ เหล่านั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเป็นผลที่เป็นอกุศลวิบากต่างๆ ก็ต้องมาจากเหตุในอดีตที่เป็นอกุศลกรรม
นี่คือผลที่ได้รับในปัจจุบันชาติที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้าในกำเนิดอื่น ความวิจิตรของ
อกุศลกรรมที่ได้กระทำมาต่างๆ กัน ย่อมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นภูมินรก หรือภูมิสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นภูมิเปรต สำหรับมนุษย์ก็ยังมีกายที่วิจิตร สัตว์ดิรัจฉาน ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ก็มีรูปกายที่วิจิตรมาก เพราะฉะนั้น พวกเปรตซึ่งเป็นอบายภูมิๆ หนึ่ง ก็ย่อมมีรูปร่างกายที่วิจิตรตามควรแก่กรรมนั้นๆ ด้วย
สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายความในพระสูตรนี้ว่า
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้แย้มยิ้ม เพราะได้เห็นสัตว์ที่เกิดในเปตโลกผู้หนึ่งร่างกระดูก ด้วยทิพยจักษุไม่ใช่ด้วยปสาทจักษุ จริงอยู่ อัตภาพทั้งหลายเหล่านั้นไม่มาสู่คลองแห่งปสาทจักษุ
จักษุธรรมดาไม่เห็นเปรตเหล่านั้น แต่ว่าผู้ที่มีทิพยจักษุอย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ เมื่อน้อมระลึกถึงย่อมเห็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าสมัยนี้จะมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่รู้สึกเหมือนกับว่าเห็นเปรต หรือเห็นเทพ จะเป็นเพราะมีทิพยจักษุ หรือว่าจะเป็นเพราะมโนภาพ ความคิดคำนึงทำให้รูปนิมิตอย่างความฝันปรากฏขึ้น แต่จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นความจริง ถ้าบุคคลนั้นไม่มีทิพยจักษุก็ยากที่จะทราบได้ เพราะเหตุว่าการที่จะเห็นอย่างละเอียดถึงลักษณะของเปรตที่เป็นร่างกระดูกลอยอยู่ในอากาศหรือว่าเป็นพวกก้อนเนื้อ เป็นบุรุษมีขนเป็นดาบต่างๆ เหล่านี้ ต้องเป็นด้วยทิพยจักษุ
ข้อสารัตถปกาสินี อรรถกถา มีว่า
เมื่อเห็นอัตภาพเห็นปานนี้แล้ว คือ ท่านพระมหาโมคคัลลานะเห็นเปรตร่างกระดูกนั้นแล้ว ควรทำความกรุณา แต่ทำไมท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงยิ้ม
อธิบายว่า พระเถระยิ้ม เพราะระลึกถึงสมบัติของตน และสมบัติแห่งพระ พุทธญาณ คือ พระญาณของพระผู้มีพระภาค จริงอยู่ท่านพระเถระเห็นเปรตนั้นแล้ว ระลึกถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเช่นนี้ อันบุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะพึงได้ เราได้พ้นแล้วจากอัตภาพนั้น เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้ว แล้วระลึกถึงสมบัติแห่งพระ พุทธญาณอย่างนี้ว่า ญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคน่าอัศจรรย์ พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิบากแห่งกรรมเป็นอจินไตย ใครๆ ไม่พึงคิด พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ย่อมทรงแสดงกรรมวิบากนั้นให้ประจักษ์ ธรรมธาตุทั้งหลายอัน พระผู้มีพระภาคทั้งหลายทรงแทงตลอดดีแล้ว
เมื่อท่านพระเถระระลึกอย่างนี้แล้วจึงยิ้ม
ซึ่งท่านพระลักขณเถระก็ได้ถามท่าน พระมหาโมคคัลลานเถระว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการยิ้ม แต่ว่าท่านพระมหาโมคคัลลานะต้องการที่จะให้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพยาน ท่านจึงให้ท่านพระลักขณะถามเมื่อได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะท่านพระมหาโมคคัลลาทราบว่า ชนเหล่าใดไม่เห็นการอุบัตินี้ด้วยตนเอง จะให้ชนเหล่านั้นเชื่อนั้นยาก
ข้อความที่ว่า พระเถระเห็นเปรตนั้นแล้วระลึกถึงสมบัติของตนว่า อัตภาพเช่นนี้ อันบุคคลผู้ไม่เห็นสัจจะพึงได้
หมายความว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีโอกาส มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ด้วยการสะสมของกรรมที่วิจิตรที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีบุคคลใดจะทราบเลยว่า จุติจากชาตินี้แล้ว อาจจะไปเกิดเป็นเปรตมีรูปร่างลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ซึ่งเป็นความวิจิตรมากทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงยิ้มด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ท่านพ้นจากอบายภูมิแล้วประการที่หนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพราะญาณสมบัติของพระผู้มีพระภาคนั้นน่าอัศจรรย์ ทรงรู้ทั้งกรรม และวิบาก คือ ผลของกรรมว่า เมื่อบุคคลใดประกอบกรรมนั้นแล้วจะให้ผลเป็นวิบากอย่างไร
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
นาที 22.34
สำหรับประโยชน์ของการสะสมอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา สามารถทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นชีวิตได้ ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนสูตร ข้อ ๑๐๔ ซึ่งมีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่าน พระฉันนะ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักแล้วเข้าไปหา ท่าน พระมหาจุนทะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะว่า
ดูก่อน ท่านจุนทะ เราจงพากันเข้าไปหาท่านพระฉันนะถามถึงความเป็นไข้เถิด
ถ้าศึกษาอภิธรรมจะทราบว่า มหากิริยาจิตของพระอรหันต์นั้นมีกรุณาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังทุกข์ยาก เช่น ในขณะที่กำลังป่วยไข้
ถึงแม้ท่านผู้ฟังจะยังไม่ทราบว่า เวลาที่กุศลจิตเกิดจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แม้ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เวลาที่คิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น และใคร่ที่จะช่วยเหลือ ขณะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า มีโสภณเจตสิก คือ กรุณาเจตสิก เกิดร่วมด้วย เพราะว่าบางครั้งก็มีความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่คิดที่จะช่วย บางครั้งก็ผ่านเลยไป แต่ถ้าเกิดความคิดที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ขณะนั้นก็เพราะ กรุณาเจตสิกเกิดกับมหากุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และแม้จะเป็น พระอรหันต์แล้ว กรุณาเจตสิกก็ยังเกิดกับมหากิริยาจิตด้วย
ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะเข้าไปหาท่านพระฉันนะถึงที่อยู่ แล้วนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้วท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะว่า
ดูก่อน ท่านฉันนะ ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลดลงไม่กำเริบขึ้น ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ
ท่านพระฉันนะกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนักไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลา ไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาเหล็กแหลมคมแทงศีรษะ ฉันใด ลมอัน กล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นอาการของผู้ที่ป่วยหนักทุกคน แสดงให้เห็นว่า ถึงคราวที่ร่างกายกำเริบด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา แม้แต่ผู้ที่เป็นภิกษุก็ทนไม่ไหว
ท่านผู้ฟังไม่ทราบจะมีอาการอย่างนี้บ้างแล้วหรือยัง คือ เหมือนกับเหล็กแหลมคมทิ่มแทงศีรษะ และลมอันกล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะ
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาเส้นเชือกหนังอันเหนียวขันที่ศีรษะ ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเสียดแทงที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เปรียบเหมือน นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ขยัน เอามีดสำหรับแล่เนื้อโคที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งย่อมเสียดแทงท้องของกระผม ฉันนั้นเหมือนกัน
ท่านที่เคยผ่าตัด คงจะรู้สึกเข้าใจดีในข้อความนี้ เพราะเคยได้ยินบางท่าน กล่าวว่า หลังจากผ่าตัดแล้วรู้สึกเหมือนกับมีมีดสัก ๑๐๐ เล่มกำลังแทงอยู่ในท้อง
เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ๒ คน จับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าคนละแขน ลนให้เร่าร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของกระผมก็มากยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ
ท่านพระฉันนะกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมจักนำศาตรามาฆ่าตัวตาย ไม่ปรารถนาเป็นอยู่ ดังนี้แล้ว ก็นำศาตรามา
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ท่านพระฉันนะ จงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่ ถ้าโภชนะเป็นที่สบายมิได้มีแก่ ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าเภสัชเป็นที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าพวกอุปัฏฐากที่สมควรมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักอุปัฏฐากท่านเอง
นี่คือพระอัครสาวก ความกรุณาของท่านที่จะเป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระฉันนะ ด้วยตนเอง
ท่านพระฉันนะอย่านำศาตรามาเลย จงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่
ท่านพระฉันนะกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมิใช่ไม่มี โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้เภสัชเป็นที่สบายของกระผมก็มิใช่ไม่มี เภสัชเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมิใช่ไม่มี อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมีอยู่ ก็พระศาสดาอันกระผมบำเรอแล้วด้วยอาการเป็นที่พอใจอย่างเดียว ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจตลอดกาลนานมา ข้อที่พระสาวกบำเรอพระศาสดาด้วยอาการเป็นที่พอใจ ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจ นี้สมควรแก่พวกสาวก ความบำเรอนั้นไม่เป็นไป ฉันนะภิกษุจักนำศาตรามา ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำความนี้ไว้อย่างนี้ ดังนี้เถิด
ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะฆ่าตัวตาย เพราะทนความเจ็บไข้ไม่ได้
ต่อจากนั้นท่านพระสารีบุตรก็ได้สนทนาธรรมกับท่านพระฉันนะ โดยได้สอบถามเรื่องการเกิดดับของสภาพธรรม
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)