คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
ต่อจากนั้นท่านพระสารีบุตรก็ได้สนทนาธรรมกับท่านพระฉันนะ โดยได้สอบถามเรื่องการเกิดดับของสภาพธรรม นี่คือประโยชน์สูงสุดของการเกื้อกูลให้เกิดกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ท่านพระสารีบุตรเถระแม้รู้ว่าท่านพระฉันนเถระเป็นปุถุชน ก็ไม่ได้บอกท่านว่าเป็นปุถุชน ส่วนท่านมหาจุนทเถระคิดว่า เราจะให้รู้ว่าท่านเป็นปุถุชน แล้วได้ให้โอวาท
ซึ่งท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวกับท่านพระฉันนะว่า
ดูก่อน ท่านพระฉันนะ เพราะเหตุนั้นแลแม้การพิจารณาเห็นนี้ เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ท่านพึงทำไว้ในใจให้ดีตลอดกาลเป็นนิตย์ไป ความหวั่นไหวของบุคคลที่มีตัณหา มานะ และทิฏฐิอาศัยอยู่ ยังมีอยู่ ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีตัณหา มานะ และทิฏฐิอาศัยอยู่ เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิก็ไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี เมื่อความมาความไปไม่มี จุติ และอุปบัติก็ไม่มี เมื่อจุติ และ อุปบัติไม่มี โลกนี้ และโลกหน้าก็ไม่มี และระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี่แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์
ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาจุนทะครั้นกล่าวสอนท่าน พระฉันนะด้วยโอวาทนี้แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นเมื่อท่านทั้งสองหลีกไปแล้ว ไม่นาน ท่านพระฉันนะก็นำศาตรามาฆ่าตัวตาย
ท่านรู้ว่าท่านเป็นปุถุชน ท่านก็ได้ฟังพระธรรม และมีความสลดในการเป็น ผู้หวั่นไหวด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ
ถ้าปัญญาเกิดสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้นจริงๆ ย่อมมีปัสสัทธิ คือ ความสงบ และไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี และท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์
นี่คือประโยชน์ของการฟัง และอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ฟังพระธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกัปว่าจะเป็นกี่กัปก็ตาม ขอให้เข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ มีพระธรรมประการใดที่จะทำให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ก็จะเป็นสิ่งที่เมื่อฟังแล้วไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ความเข้าใจนั้นจะเก็บสะสมทำให้เมื่อได้ฟังอีกบ่อยๆ ก็เป็นปัจจัยทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกได้บ้าง แม้จะไม่บ่อยในวันหนึ่งๆ ก็ยังรู้ว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ทุกท่านไม่ต้องห่วงเวลาที่วิปัสสนาญาณจะเกิด หรือเวลาที่มรรคผลนิพพาน จะเกิด ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน มีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นกับท่านก็ตาม ถ้าเหตุสมควร แก่ผล วิปัสสนาญาณก็เกิดได้ มรรคผลนิพพานก็เกิดได้
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
นาที 4.30
กุกกุจจะเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ ทำให้จิตใจไม่สงบ ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพียงความคิดในใจ ไม่ได้กล่าวออกมา ก็ยังทำให้เดือดร้อนใจได้ถ้าเป็นอกุศล
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปังกธาสูตร ข้อ ๕๓๑ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ได้ยินว่า สมัยนั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ นิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุชื่อกัสสปโคตรเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลาย ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบท
ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขาบทอยู่ ภิกษุกัสสปโคตร ได้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่พระอภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์ ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์
ครั้งนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปได้ไม่นาน ได้เกิดความรำคาญเดือดร้อนว่า เราผู้เกิดความขัดใจไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีถกาอันปฏิสังยุตด้วยสิกขา ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ ไม่มีลาภ ได้ชั่ว ไม่ได้ดีแล้วหนอ ถ้ากระไรเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ แล้วพึงแสดงโทษโดยความเป็นโทษในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด
ลำดับนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตร และจีวร หลีกไปทางพระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แล้วกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด
แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงความคิด ยังไม่กล่าววาจาหรือแสดงด้วยกาย ก็ทำให้เดือดร้อนรำคาญใจได้ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้วิธีที่จะทำให้หมดความเดือดร้อนรำคาญใจ โดยพระวินัยจะเห็นได้ว่า ถ้าเห็นโทษโดยความเป็นโทษ และขอโทษ จะทำให้ความเดือดร้อนรำคาญใจนั้นหมดไปได้ ไม่ต้องมีกุกกุจจะในเรื่องนั้นอีก แต่การขอโทษก็เป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับบางคน แม้ว่าจะเห็นโทษของตัวเองแล้ว ก็ยังมีอกุศลที่ทำให้ไม่สามารถขอโทษได้ แต่ก็พยายามแก้ตัวใหม่ด้วยการประพฤติสำรวมระวังต่อไป ซึ่ง ควรจะพิจารณาว่า เพราะอะไรทำให้ขอโทษไม่ได้ และถ้ายังขอโทษไม่ได้ในชาตินี้ ในชาติต่อๆ ไปก็เป็นผู้ที่ขอโทษยากอยู่นั่นเอง จะต้องมีความเดือดร้อนใจอยู่เสมอ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมจะมีความคิด หรือการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1402
นาที 8.50
ใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ โคปกโมคคัลลานสูตร มีตัวอย่างของผู้ที่สะสมอกุศลมามาก และไม่เห็นโทษของอกุศล แม้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ ข้อความมีว่า
ได้ยินว่า วันหนึ่งท่านวัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธนั้น เห็นพระมหากัจจายนเถระลงจากเขาคิชฌกูฏ จึงกล่าวคำหยาบประมาทหมิ่นว่าบรรพชิตผู้นี้เหมือนวานร
ใครๆ ก็อาจจะคิดนึกอย่างนี้ได้ใช่ไหม แต่ว่าเวลาที่พูดโดยขาดสติ ขาดความระวัง ขาดความเคารพ ผู้พูดในขณะนั้นไม่รู้สึกตัวเลย เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหลายละเอียด และมีปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้เป็นเพียงขั้นความคิด หรือว่าเป็นทุจริตทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เพราะขาดสติ จึงสามารถที่จะกล่าวคำหยาบประมาทหมิ่น พระเถระว่า บรรพชิตผู้นี้เหมือนวานร
เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม ยังไม่ถึงกับพูด หรือว่าบางครั้งก็เคยพูดเหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช่ถ้อยคำอย่างเดียวกัน อาจจะดูหมิ่นในเรื่องอื่นก็ได้ ถ้าสติไม่เกิดจะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น คือ เห็นว่าบรรพชิตผู้นี้เหมือนวานร แต่ในขณะนั้นอกุศลของตนเองที่คิดอย่างนั้นไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้น การสะสมอกุศลก็ย่อมเป็นไปอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นขณะเห็น ขณะได้ยิน ซึ่งอาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจาขณะใดก็ได้
ข้อความต่อไปมีว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับคำนั้นแล้ว ตรัสให้พราหมณ์ขอขมาโทษเสีย ข้อนั้น
เป็นการดี ถ้าไม่ขอขมาโทษ เมื่อจุติจากชาตินี้แล้ว เขาจักเกิดเป็นลิงเที่ยวอยู่ใน พระเวฬุวันป่าไม้ไผ่นี้
วัสสการพราหมณ์นั้นฟังพระดำรัสนั้นแล้วคิดว่า ธรรมดาพระดำรัสของ พระสมณโคดมไม่เป็นสอง ภายหลังเมื่อเวลาเราเป็นลิงจักได้มีที่เที่ยวหากิน จึงปลูกต้นไม้นานาชนิดในพระเวฬุวัน แล้วให้การอารักขา กาลต่อมาวัสสการพราหมณ์ถึงอสัญกรรมแล้วเกิดเป็นลิง เมื่อใครพูดว่า วัสสการพราหมณ์ ก็ได้มายืนอยู่ใกล้ๆ
ทั้งๆ ที่วัสสการพราหมณ์ไม่ใช่คนที่ไม่ฉลาด เป็นถึงมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธ เคยได้เฝ้าฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเสมอ และรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสคำนั้นจะไม่เป็นสอง คือ ที่จะไม่เป็นไปอย่างที่ทรงพยากรณ์นั้น ไม่มี แต่ด้วยมานะอย่างแรงกล้าที่ถือว่าตัวเป็นผู้ใหญ่จึงไม่ยอมขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ นี่ก็เป็นไปได้ เมื่อเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะประมาทแต่ละขณะที่สะสมอกุศลว่า ถ้าสะสมไว้มากๆ ทิฏฐิก็แรง มานะก็กล้า อกุศลธรรมทั้งหลายก็มีกำลัง จนกระทั่งกุศลไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้
เมื่อวัสสการพราหมณ์ไม่ยอมขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ ก็ให้ผู้คนปลูกต้นไม้ที่มีผลไว้ต่างๆ ชนิดในเวฬุวัน ป่าไม้ไผ่ และให้คนดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ผลเหล่านั้นอย่างดี เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดเป็นลิงอยู่ในป่าไม้ไผ่จริงดังพระพุทธฎีกา เวลาที่ใครเรียกชื่อ วัสสการะ ลิงวัสสการะนั้นก็เข้ามายืนอยู่ใกล้ๆ
หมดโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาตลอดชาติที่ไม่ได้เกิดในสุคติภูมิ แต่ทั้งๆ อย่างนั้นก็ยังยอม เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นบุคคลที่สะสมอกุศลมาน้อยกว่าวัสสการพราหมณ์ ก็อาจจะขอขมาโทษท่านพระมหากัจจายนะ แต่สำหรับบุคคลที่สะสมมาอย่างวัสสการพราหมณ์ ไม่สามารถที่จะทำได้ แม้พระผู้มีพระภาคตรัสซึ่งเป็นผู้ที่วัสสการพราหมณ์ก็เคารพ เลื่อมใส นับถืออย่างที่สุด แต่ว่าอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะเป็นอย่างไร ก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 806
นาที 14.10
ขอกล่าวถึงข้อความใน พระไตรปิฎก เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เปรียบเทียบประโยชน์ และการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านในชีวิตประจำวัน ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสาโรปมสูตร ข้อ ๓๔๗ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตหลีกไปไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ เขาบวชอย่างนั้น แล้ว ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะ และความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่ปรากฏ มีศักดาน้อย เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่ง และใบถือไป สำคัญว่าแก่น บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่ง และใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่ง และใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปยาสท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะ และความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ (หรือมีคนรู้จักน้อย) มีศักดาน้อย เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอากิ่ง และใบของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กิ่ง และใบนั้น
จะเห็นได้ว่า ก่อนจะบวชมีศรัทธา เห็นว่าตนเองเป็นผู้ที่มีชาติ ชรา มรณะ โสกะท่วมทับแล้ว มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะดับทุกข์ ที่จะกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล แต่ว่ากิเลสที่มีอยู่มากในใจก็ย่อมจะปรากฏสำหรับผู้ที่ยังประมาทอยู่ เพราะว่าบางท่านเมื่อบวชแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีลาภ สักการะ และสรรเสริญ ทำให้เกิดกิเลส ยกตนข่มผู้อื่น และเป็นผู้ที่มัวเมาถึงความประมาท จึงไม่สามารถที่จะบรรลุธรรม เพราะฉะนั้น อุปมาเหมือนบุคคลที่มีความคิดที่จะแสวงหาแก่นไม้ และก็พบต้นไม้ที่มีแก่น แต่ก็ถือเอาเพียงกิ่ง และใบไม้ของพรหมจรรย์เท่านั้น
สำหรับบางคน ก็มีคุณธรรมที่สูงกว่านั้น คือ เป็นผู้ไม่ติดในลาภสักการะ ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
… เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ฯ
สำหรับบุคคลนี้ อุปมาเหมือนบุคคลผู้ถากเอาสะเก็ดถือไป โดยสำคัญว่าแก่น
เพราะฉะนั้น กุศลมีตามลำดับขั้น แต่ไม่ควรติดสักขั้นเดียว มิฉะนั้นจะไม่ได้รับแก่นของพรหมจรรย์ เพราะบางท่านไม่ติดในลาภสักการะ ทำให้เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล แต่ด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั่นเอง ก็เป็นผู้ที่ยกตนข่มผู้อื่น และเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งใจที่จะได้แก่นไม้ แต่ก็เพียงถากเอาสะเก็ดแล้วก็ถือไป
อีกบุคคลหนึ่ง เป็นผู้ไม่ยินดี ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ในเมื่อถึงพร้อมด้วยศีล ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
… เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ฯ
สำหรับบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ทั้งๆ ที่ตั้งใจที่จะได้แก่นไม้ แต่ก็ไม่ถึงแก่น ได้เพียงเปลือก ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องละทั้งหมด แม้แต่ขณะที่กุศลจิตเกิดถึงขั้นของสมาธิ ก็ยังต้องศึกษารู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป
ในขณะที่กำลังยินดีด้วยศีลบ้าง หรือว่ายินดีในสมาธิบ้าง ในขณะนั้น สติปัฏฐานเกิดไหม หรือว่ามีความคิดระลึกได้ว่า ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของความสงบที่ปรากฏในขณะนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือลักษณะของความสงบนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนที่กำลังเป็นกุศล เพราะว่าแม้กุศลจิตเกิด ก็ยังเป็นที่ตั้งของความยินดีได้ เมื่อยังยินดีในกุศลขั้นนั้น ก็ยังเป็นผู้ที่ประมาท เป็นผู้ที่มัวเมาอยู่
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงบุคคลผู้ไม่ยินดี ไม่มัวเมา ไม่ประมาทในความถึงพร้อมด้วยสมาธิ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ เป็นผู้ที่ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น เพราะที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือ แก่นของพรหมจรรย์นั้น ไม่ใช่เพียงการบรรลุถึงญาณทัสสนะเท่านั้น แต่จะต้องถึงการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นอรหันต์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องอบรมเจริญสติมากจนกระทั่งเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใดในขณะนั้น ก็ไม่ควรที่จะติด
ผู้ที่บวชแล้ว มีผลของกุศลคือการบวช ทำให้ได้ลาภ สักการะ สรรเสริญ ซึ่งก็ไม่ควรติด เพราะถ้าเป็นผู้ที่มัวเมาประมาท ย่อมไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมสูงขึ้น เท่ากับได้เพียงกิ่ง และใบของพรหมจรรย์
และสำหรับผู้ที่ไม่ประมาท ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สามารถที่จะละความยินดีในลาภ ในสรรเสริญ ในสักการะ เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่มีสาระ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็รักษาศีลได้อย่างเคร่งครัด เป็นผู้ที่ถึงความสมบูรณ์ด้วยศีล แต่แม้กระนั้นถ้าเกิดความยินดีพอใจในศีลของตน ก็เป็นผู้ที่มัวเมา ยังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมสูงขึ้นไปกว่านั้นได้ คือ ความสงบ เพราะว่ายังยินดี และมัวเมาในศีลของตน
และเมื่อมีความสงบแล้ว อย่าลืม ขาดการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ถึงแก่น คงจะถึงเพียงเปลือกบ้าง กระพี้บ้าง สะเก็ดบ้าง ใบบ้าง กิ่งบ้าง
ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสาโรปมสูตร ข้อ ๓๕๓ มีข้อความโดยนัยเดียวกัน แต่กล่าวถึงบุคคลที่สามารถจะบรรลุคุณธรรมทั้งสมถะ และวิปัสสนาถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ จนกระทั่งสามารถที่จะถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล และใน มหาสาโรปมสูตร ไม่ได้กล่าวถึงการที่จะบรรลุถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งหมายถึงผู้ที่จะดับนามธรรมได้แม้ว่ายังมีชีวิตอยู่ โดยต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคลที่อบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ เป็นสมาธิที่มั่นคง ไม่มีสมถภาวนาความสงบที่จะมั่นคงยิ่งไปกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมนี้ได้ พระผู้มีพระภาคก็ให้อบรมเจริญปัญญา และความสงบ เพราะว่าบุคคลนั้นสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมได้ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ สมาบัติซึ่งดับจิตเจตสิกแม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านควรจะได้พิจารณาว่า ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานที่จะดับกิเลส ก็หมายความว่าท่านยังติดอยู่ในขั้นหนึ่งขั้นใด อาจจะเป็นในลาภ สักการะ สรรเสริญ หรืออาจจะเป็นในศีล พอใจแล้ว ยินดีแล้ว มัวเมาแล้ว หรือว่า ในความสงบซึ่งมั่นคงเป็นสมาธิ แต่ว่าแก่นของพรหมจรรย์ คือ การบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นอรหันต์ ดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือเลย ซึ่งสามารถจะประพฤติปฏิบัติได้ และผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ก็มีแล้วเป็นจำนวนมากด้วย
สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ใช่กาลสำหรับผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ก็จริง แต่ก็สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล และพระโสดาบันบุคคลได้ ถ้าไม่ติดอยู่ในศีลบ้าง ในสมาธิบ้าง หรือว่าในลาภสักการะบ้าง
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)