กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    มีข้อความในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องของอัทธาน การเดินทางไกล ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เพื่อที่จะให้เห็นว่า ก่อนปรินิพพานนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลไปสถานที่ใดบ้าง เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์

    ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า

    ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ แม้นั้นทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า

    อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา

    สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

    ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

    จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวสวะ อวิชชาสวะ

    จะเห็นได้ว่า เมื่อทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงธรรมเหล่านี้เป็นอันมากแก่ภิกษุ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในพระนครราชคฤห์ แล้วตรัสเรียกพวกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า

    ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังอัมพลัฏฐิกา ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงอัมพลัฏฐิกาแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับ ณ พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกา แม้นั้น ทรงกระทำธรรมีกถาอันนี้แหละเป็นอันมากแก่พวกภิกษุ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพลัฏฐิกา แล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า

    ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังบ้านนาลันทคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงหมู่บ้านนาลันทคามแล้ว ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในปาวาทิกอัมพวัน ในบ้าน นาลันทคามนั้น ทรงแสดงธรรม คือ ธรรมีกถาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญาเป็นอันมาก

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในบ้านนาลัทคามแล้วตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า

    ดูกร อานนท์ มาไปกันเถิด เราจักไปยังปาฏลิคาม ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงปาฏลิคามแล้ว พวกอุบาสกชาวปาฏลิคามไปเฝ้ากราบทูลให้ทรงรับเรือนสำหรับพัก แล้วก็จัดแจงปูลาด แต่งตั้งอาสนะ ตั้งหม้อน้ำไว้ ตามประทีป

    พระผู้มีพระภาคเสด็จไปประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วก็ทรงแสดงธรรมแก่อุบาสก ในเรื่องของศีลวิบัติ ศีลสมบัติ จนสว่าง

    พวกอำมาตย์ผู้ใหญ่ในแคว้นมคฤไปเฝ้า กราบทูลให้ทรงรับภัตตาหารพร้อมด้วยภิกษุ เสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ มีความว่า

    บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่านผู้มีศีล ผู้สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริโภคในประเทศนั้น เทวดาเหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา ได้รับความนับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบเขา แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อก ฉะนั้น บุรุษผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ

    จากนั้นเสด็จไปโกฏิคาม ประทับ ณ ที่นั้น รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เรา และพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้

    เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ เป็นไฉน

    เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เรา และพวกเธอจึงเร่ร่อนท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มี

    ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคาม แม้นั้นทรงกระทำธรรมีกถา

    นี่เป็นการเสด็จดำเนินก่อนที่จะปรินิพพาน และได้ทรงแสดงธรรมพร่ำสอนเป็นอันมาก ซึ่งมีข้อความเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแสดงไว้ชัดทีเดียว

    จากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังนาทิกะคาม ทรงพยากรณ์คติ และภพเบื้องหน้าของภิกษุที่เป็นอริยสาวก และของอุบาสกอริยสาวกในนาทิกะคาม และได้ทรงกระทำธรรมีกถาในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอันมาก

    จากนั้นเสด็จไปยังเมืองเวสาลี ประทับในอัมพปาลีวัน ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา รับสั่งว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี่เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก อย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีสติ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำความรู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในกายเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน ในการดื่ม ในการเคี้ยว ในการลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง อย่างนี้แลภิกษุจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสัมปชัญญะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอ

    ข้อนี้ก็คงจะทำให้หายสงสัยว่า มีสติคืออย่างไร

    มีสติ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

    มีสัมปชัญญะอย่างไร มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก เป็นต้น

    เวลานี้แลอยู่หรือไม่ เหลียวหรือไม่ คู้เข้าบ้างไหม เหยียดออกบ้างไหม เป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะไหม ในการก้าว ในการถอย ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว

    และพยัญชนะของการเป็นผู้มีสติกำกับไว้ว่า

    อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีสติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่

    ในขณะที่ก้าว มีเวทนาไหม มีจิตไหม มีรูปไหม อยู่ในหมวดใดในมหาสติปัฏฐาน ๔

    ทางตา อะไรปรากฏ อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางหู อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางจมูก อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางลิ้น อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางกาย อะไรเป็นนาม เป็นรูป ทางใจ นามอะไรปรากฏ รูปอะไรปรากฏ

    ไม่ใช่ให้เจาะจงไปสร้างอะไรขึ้น แต่ทุกขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียด คู้ พูด นิ่ง คิด เป็นผู้มีการรู้สึกตัว พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 56


    นาที 11.12

    ขอกล่าวถึงข้อความต่อไปใน มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    จากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังบ้านเวฬุวคาม ทรงจำพรรษาในบ้าน เวฬุวคามนั้นแหละ และทรงโปรดให้ภิกษุทั้งหลายจำพรรษารอบเมืองเวสาลี ตามที่เป็นมิตรกัน ตามที่เคยเห็นกัน ตามที่เคยคบกัน

    ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ทรงประชวรอย่างหนัก ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไรเราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด

    ที่ว่าทรงพระดำริว่า การที่เราจะไม่บอกภิกษุผู้อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานเสียนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย ถ้ากระไร เราพึงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่เถิด

    ความเจ็บไข้ได้ป่วย มีวิธีอะไรที่จะขับไล่ได้บ้างไหม สำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเลยก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร นอกจากว่าจะรับประทานยารักษาโรค แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างนั้นถึงแม้ว่าจะใช้ยารักษาแล้ว ก็ยังไม่หาย แต่ที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ จะกระทำโดยวิธีการใด

    ท่านที่เจ็บไข้ได้ป่วย มีวิธีอะไรบ้างไหมที่จะเป็นประโยชน์ เจริญสติเจริญได้ ถ้าเข้าใจ เพราะว่าในขณะนั้นเมื่อพิจารณาสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลสก็จะละคลายการที่ยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน แต่เวลานี้นามรูปที่ปรากฏก็ยังยึดถือว่า เป็นเราสุข เราทุกข์ เราเจ็บ เราปวด เราเมื่อยต่างๆ นั้น ก็เป็นเพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้เจริญขึ้น ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงจนกระทั่งชิน จนกระทั่งหมดสงสัยในนาม และรูปนั้น

    การเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ห้ามไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์สาวกที่เป็นพระอริยบุคคล หรือบุคคลใดๆ ก็ตาม แต่ว่าถ้าผู้นั้นได้เจริญสติอยู่เสมอ ไม่เลือกอารมณ์ ไม่เลือกสถานที่ เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังสามารถที่จะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นได้ และทำให้เห็นความไม่ใช่สาระของทุกสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็จะทำให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นบรรเทาลง ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ ความโทมนัส ความเดือดร้อนมากเหมือนกับเวลาที่ไม่เคยเจริญสติ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายประชวร คือ หายจากความเป็นคนไข้ ไม่นานก็เสด็จออกจากวิหาร ไปประทับนั่งบนอาสนะที่ภิกษุจัดถวายไว้ที่เงาวิหาร

    ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นความสำราญของพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพระองค์เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็แต่ว่าเพราะการประชวรของพระผู้มีพระภาค กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งกับข้าพระองค์

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระองค์มามีความเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคจักยังไม่เสด็จปรินิพพาน จนกว่าจะได้ทรงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นปัจฉิมโอวาท

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังอะไรในเราเล่า ธรรมอันเราได้แสดงแล้ว กระทำไม่ให้มีในภายใน ไม่ให้มีในภายนอก กำมืออาจารย์ในธรรมทั้งหลายมิได้มีแก่ตถาคต ผู้ใดจะพึงคิดอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเราดังนี้ ผู้นั้นจะพึงปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่

    ดูกร อานนท์ ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง

    นี่เป็นเรื่องที่ให้เห็นว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเพราะหวังที่จะบริหารภิกษุสงฆ์ หรือหวังที่จะให้ภิกษุสงฆ์เชิดชูพระองค์ เพราะเหตุว่าบางคนที่คิดอย่างนั้น หวังอย่างนั้น แล้วก็แสดงธรรม แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคนั้นตรัสว่า

    ตถาคตมิได้มีความดำริอย่างนี้ว่า เราจักบริหารภิกษุสงฆ์ หรือว่าภิกษุสงฆ์จะเชิดชูเรา ตถาคตจักปรารภภิกษุ แล้วกล่าวคำอย่างใดอย่างหนึ่งในคราวหนึ่ง

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร อานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของเราเป็นมาถึง ๘๐ ปีแล้ว เกวียนเก่ายังจะใช้ไปได้ เพราะการซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ แม้ฉันใด กายของตถาคตฉันนั้นเหมือนกัน ยังเป็นไปได้ ก็คล้ายกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่

    ดูกร อานนท์ สมัยใดที่ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่ สมัยนั้นกายของตถาคตย่อมผาสุก

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่เถิด

    ดูกร อานนท์ อย่างไรเล่าภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลก

    อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

    ดูกร อานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

    ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักปรากฏอยู่โดยความเป็นยอดยิ่ง

    ถ้าจะพึ่งพระผู้มีพระภาค พึ่งโดยอย่างไร สมัยนี้พึ่งได้ไหม หรือว่าพึ่งไม่ได้แล้ว ยังพึ่งได้ ถ้าศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แล้วประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วย เพราะเหตุว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงในชีวิต จะพึ่งอะไรได้ พึ่งทรัพย์สมบัติได้ไหม พึ่งบุคคลอื่นได้ไหม อย่าลืมว่า ถ้าคิดจะพึ่งอย่างอื่นแล้ว ขอให้ระลึกถึงพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคที่ว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง

    และการที่ตนจะเป็นที่พึ่งได้นั้น ก็ต้องเป็นการเจริญกุศลที่เป็นประโยชน์ที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ เพราะเหตุว่ากุศลก็มีหลายระดับขั้น แต่กุศลที่จะเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นคือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพื่อจะได้มีปัญญาละความเห็นผิด จนกระทั่งหมดกิเลสในที่สุดได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57


    นาที 21.12

    ข้อความใน มหาปรินิพพานสูตร มีต่อไปว่า

    พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ครั้นแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูลาดถวาย ฝ่ายท่านพระอานนท์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านพระอานนท์เรื่อง อิทธิบาท ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอด (อายุ) กัปป์ หรือเกินกว่า (อายุ) กัปป์

    อายุกัปป์ในสมัยนั้น คือ ๑๐๐ ปี ท่านพระอานนท์มิได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปป์ พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า "เธอจงไปเถิดอานนท์ เธอรู้กาลอันควรในบัดนี้" ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำปทักษิณ แล้วไปนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า

    " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ว่า ดูกร มารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำ ให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทะที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น

    ก็บัดนี้ ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำ ให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทะที่บังเกิดขึ้นโดยเรียบร้อย โดยสหธรรมได้

    ต่อจากนั้น มารก็ได้กล่าวถึงภิกษุณีสาวิกา อุบาสกที่เป็นสาวก อุบาสิกาผู้เป็นสาวก เป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว และได้ขอให้พระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกร มารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีก ๓ เดือน แต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงเพียงให้ภิกษุผู้เป็นสาวกเป็นผู้เฉียบแหลมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภิกษุณีสาวิกา อุบาสกผู้เป็นสาวก อุบาสิกาผู้เป็นสาวกด้วยว่า ต้องเป็น ผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสม ควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้

    ฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของอุบาสิกาด้วย ไม่ใช่ว่า จะมอบหมายภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าพุทธบริษัททั้งหมดจะต้องศึกษาธรรม และปฏิบัติตามธรรม ถ้าในครั้งนั้น ภิกษุเป็นผู้ที่เฉียบแหลมแล้ว แกล้วกล้าแล้ว แต่ภิกษุณีสาวิกา หรืออุบาสกผู้เป็นสาวก อุบาสิกาผู้เป็นสาวกนั้น ยังไม่เฉียบแหลม ยังไม่แกล้วกล้าแล้ว พระผู้มีพระภาคก็จักยังไม่ปรินิพพาน แต่เพราะว่าพรหมจรรย์ของพระองค์นั้นสมบูรณ์แล้ว เป็นประโยชน์แล้วแก่เทวดา และแก่มนุษย์ทั้งปวง ฉะนั้น ก็เป็นกาลสมัยที่พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพาน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5


    นาที 27.00

    ข้อความใน มหาปรินิพพานสูตร มีต่อไปว่า

    พระผู้มีพระภาคก็เสด็จไปยังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน แล้วรับสั่งให้ภิกษุทุกรูปในเมืองเวสาลีมาประชุมที่อุปัฏฐานศาลา ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ในตอนนี้ยังไม่ใช่ขณะที่จะปรินิพพาน เป็นก่อนการปรินิพพาน ๓ เดือน

    ครั้นนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ธรรมเหล่านั้น พวกเธอเรียนแล้ว พึงซ่องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์ชนเป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ก็ธรรมที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ... เหล่านั้นเป็นไฉน คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ... ฯ

    ไม่ใช่ให้เจริญความสงบเฉยๆ แต่ว่าธรรมที่จะมีประโยชน์ที่สุด ที่เมื่อเรียนแล้วพึงซ่องเสพ พึงให้เจริญ พึงกระทำให้มากด้วยดี โดยประการที่พรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืน ที่จะสืบต่อไปถึงอนาคต ก็คือการที่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะให้ พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน เพื่อประโยชน์ของชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย และอย่าลืมว่า ธรรมนี้เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ตั้งแต่ขั้นของการฟัง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และอบรมไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขาร ตลอดเวลาหลังจากนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเรื่องการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานมากที่สุด ไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใดก็ตาม

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ