กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขาร ตลอดเวลาหลังจากนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงโอวาทเรื่องการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานมากที่สุด ไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใดก็ตาม ซึ่งท่านผู้ฟังก็ควรจะเห็นว่า เป็นกิจที่ควรกระทำอย่างยิ่งสำหรับ ท่านเอง และสำหรับบุคคลอื่น สำหรับญาติมิตรสหายด้วย ที่จะอุปการะเกื้อกูลกันให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    คนเหล่าใด ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่นายช่างหม้อกระทำแล้ว ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ ทั้งสุก ทั้งดิบ ทุกชนิด มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ฯ

    พระศาสดาได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเป็นของน้อย เราจักละพวกเธอไป เรากระทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีลอันดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นดีแล้ว ตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร แล้วกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้ ฯ

    จบ ภาณวารที่สาม ฯ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 851


    นาที 2.00

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จต่อไปยังบ้านภัณฑคาม ทรงแสดงธรรมอันได้แก่ ศีลอันเป็นอริยะ สมาธิอันเป็นอริยะ ปัญญาอันเป็นอริยะ ทรงกระทำธรรมีกถาเป็นอันมากในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา

    ต่อจากนั้น เสด็จไปยังบ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม และโภคนคร ในโภคนครนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ทรงแสดงมหาปเทส ๔

    ซึ่งมหาปเทส ๔ ก็ได้แก่ข้อความที่ตรัสเตือนให้พุทธบริษัทสอบสวนบทพยัญชนะในพระสูตร และเทียบเคียงในพระวินัย เพื่อความแจ่มแจ้งไม่คลาดเคลื่อนของธรรม

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จต่อไปยังเมืองปาวา ประทับ ณ อัมพวันของนายจุณทกัมมารบุตร นายจุนทกัมมารบุตรไปเฝ้าฟังธรรม และกราบทูลนิมนต์ให้ทรงรับภัตตาหาร ซึ่งภัตตาหารนั้นก็ได้แก่ สูกรมัททวะ

    ซึ่งมีข้อความอธิบายว่า เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ปรุงด้วยเห็ดชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็ดชนิดนั้นหมูชอบกิน

    พระผู้มีพระภาคเสวยแล้ว เกิดอาพาธอย่างร้ายแรงใกล้จะปรินิพพาน ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึง เสด็จต่อไปยังกุสินารา ระหว่างทาง เสด็จแวะจากหนทางเข้าไปยังโคนไม้เพื่อทรงพักผ่อน เพราะว่าขณะนั้นทรงกระหายน้ำ

    ปุกกุสมัลลบุตร โอรสเจ้ามัลละเดินทางจากกุสินาราไปปาวา เห็นพระผู้มีพระภาคจึงได้เข้าไปเฝ้า และมีโอกาสได้ฟังธรรม ได้ถวายผ้าเนื้อละเอียด มีสีดังทองสิงคี ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ให้ถวายท่านพระอานนท์ครองผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งนั้นพระอานนท์ก็น้อมมาถวายพระผู้มีพระภาค

    ในขณะที่ท่านพระอานนท์น้อมผ้าเนื้อละเอียดเข้ามาถวายพระผู้มีพระภาคนั้น พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคผุดผ่องมาก ทำให้ผ้าที่น้อมไปถวายนั้นปรากฏดังถ่านที่ปราศจากเปลว

    ซึ่งการที่พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาคจะผุดผ่องถึงเช่นนี้นั้น ย่อมเป็นไปในกาล ๒ คือ ในราตรีที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้ง ๑ แล้วก็ในราตรีที่จะปรินิพพานในปัจฉิมยามระหว่างไม้สาระทั้งคู่

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จไปยังแม่น้ำกกุธานที ทรงสรง เสวยแล้วเสด็จขึ้น เสด็จไปยังอัมพวัน ทรงพักผ่อน พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญวดี เมืองกุสินารา และสาลวัน อันเป็นที่แวะพักแห่งเจ้ามัลละ ตรัสให้ท่านพระอานนท์ตั้งเตียงหันศีรษะไปทางทิศอุดร ระหว่างไม้สาระทั้งคู่ ทรงสำเร็จสีหไสยา ซึ่งขณะนั้นดอกมณฑารพ จุณแห่งจันทร์อันเป็นทิพย์ ดนตรีทิพย์ ก็ได้ประโคมบูชา

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57


    นาที 5.45

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า

    ดูกร อานนท์ ไม้สาละทั้งคู่เผล็จดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่าก็ประโคมอยู่ในอากาศเพื่อบูชาตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็เป็นไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต

    ดูกร อานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นแหละอานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ

    ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่บูชาด้วยการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการบูชาอย่างยิ่ง

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 770


    นาที 7.40

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมก่อนปรินิพพาน และแล้วลำดับนั้นพระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

    ซึ่งข้อความนี้ย่อมาก จากมหาปรินิพพานสูตรซึ่งได้แสดงไว้อย่างละเอียดทีเดียวว่า มีผู้ใดได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคบ้าง และมีเหตุการณ์โดยละเอียดที่เกิดขึ้นก่อนที่จะปรินิพพาน

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 57


    ข้อสำคัญก็คือพระปัจฉิมวาจา ที่ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด

    รวมพุทธดำรัสทั้งหมดในความไม่ประมาท เพราะว่าไม่มีใครทราบจริงๆ ในเรื่องของภพภูมิต่อไป การที่มีโอกาสได้อยู่ในภพภูมินี้ และมีโอกาสได้ศึกษาธรรม ได้ฟังธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถ้าจะยิ่งประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วยความไม่ประมาท

    เพราะฉะนั้น ควรจะพิจารณาความหมายของคำว่า ไม่ประมาทในที่นี้ เพราะบางท่านที่ยังเป็นผู้ที่หมกมุ่นในชีวิต ในลาภ ก็จะเข้าใจว่าเป็นความไม่ประมาทในการแสวงหาลาภ การแสวงหาปัจจัย แต่ว่าความไม่ประมาทนั้นควรจะเป็นในการเจริญกุศล ไม่ใช่ในอกุศล

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทสขัคควิสาณสุตตนิทเทส มีข้อความกล่าวถึง ความหมายของความไม่ประมาทไว้ว่า

    พึงกล่าวความประมาทในคำ ปมตฺตํ ดังต่อไปนี้ ความปล่อยจิตไป ความตามเพิ่มการปล่อยจิตไปในกายทุจริตก็ดี ในวจีทุจริตก็ดี ในมโนทุจริตก็ดี ในเบญจกามคุณก็ดี หรือทำโดยไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่ทำเนืองๆ ความทำหยุดๆ ความประพฤติย่อหย่อน ความปลงฉันทะ ความทอดธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจ ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการบำเพ็ญธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล ความประมาท กิริยาที่ประมาท ความเป็นผู้ประมาท เห็นปานนี้ ท่านกล่าวว่า ความประมาท

    เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทก็ตรงกันข้าม คือ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ปล่อยจิตไป หรือไม่ตามเพิ่มการปล่อยจิตไปในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต เหล่านั้นเป็นต้น

    ข้อนี้คงจะเป็นเครื่องเตือนท่านที่ยังรีรอในการเจริญสติปัฏฐาน คิดที่จะผัดผ่อน ไม่พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    พระอริยสาวกรู้แจ้งธรรมใด มีผู้หวั่นไหว คิดว่าจะรู้ไม่ได้บ้างไหม มีการรู้สึกตัวขณะหนึ่ง พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เย็นบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น อ่อนบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น เห็นบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น ได้ยินบ้างนิดหนึ่งเท่านั้น

    ในตอนต้นๆ ท่านเกือบจะมองไม่เห็นประโยชน์เลย บางท่านถึงกับถามว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไร เป็นความหวั่นไหวไหม เป็นความสงสัยหรือไม่ เป็นความเคลือบแคลงไม่มั่นใจหรือไม่

    ที่จริงแล้วที่ท่านจะรู้ความจริง ก็เป็นเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง คิดนึกบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ซึ่งแต่ละลักษณะนี้ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะให้ท่านพิจารณา ให้ท่านเพิ่มความรู้ขึ้นเพื่อละคลายการยึดถือ หรือความเห็นผิดที่เคยมี

    นี่ก็ควรพิจารณาเทียบเคียงว่า ท่านหวั่นไหวไหมเวลาที่ท่านคิดว่า รู้นามรู้รูปในขณะนี้ไม่ได้ ซึ่งมิใช่ว่าพระผู้มีพระภาคจะมิได้ทรงตรัสรู้ความจริงข้อนี้ ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน อินทขีลสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย เป็นของเบา คอยจะลอยไปตามลม บุคคลวางไว้ที่ภาคพื้นอันราบเรียบแล้ว ลมทิศบูรพาพึงพัดปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นไปทางทิศปราจีนได้ ลมทิศปราจีนพึงพัดเอาไปทางทิศบูรพาได้ ลมทิศอุดรพึงพัดเอาไปทางทิศทักษิณได้ ลมทิศทักษิณพึงพัดเอาไปทางทิศอุดรได้

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุยนุ่นหรือปุยฝ้ายนั้นเป็นของเบา ฉันใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่

    ข้อนี้เพราะเหตุไร เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน

    นี่คือความเป็นผู้ที่รวนเรตามวิสัยของปุถุชน ซึ่งไม่รู้แจ้งในสภาพของทุกข์ซึ่งมีอยู่ทุกๆ ขณะ ไม่รู้แจ้งในเหตุของทุกข์ คือ ทุกขสมุทัย ไม่รู้แจ้งในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่ เปรียบเหมือนเสาเหล็ก เสาหิน มีรากลึก เขาฝังไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง ถึงแม้ลมฝนอย่างแรงจะพัดมาแต่ทิศบูรพา ทิศปราจีน ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็ไม่สะเทือนสะท้านหวั่นไหว

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะรากลึก เพราะเสาหินเขาฝังไว้ดีแล้ว ฉันใด สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ต้องมองดูหน้าของสมณะหรือพราหมณ์เหล่าอื่นว่า ท่านผู้นี้เมื่อรู้ย่อมรู้แน่ เมื่อเห็นย่อมเห็นแน่

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเห็นอริยสัจ ๔ ดีแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน

    อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทัยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

    ถ้าไม่เจริญสติ ไม่พิจารณาสภาพธรรมที่มีเป็นปกติ จะทำให้รู้แจ้งในความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งในอริยสัจธรรม หรือว่าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องในเหตุในผลของอริยสัจธรรม ก็ไม่ต้องมองหน้าสมณะเหล่าอื่นหรือพราหมณ์เหล่าอื่น เพราะเหตุว่า ดูข้อประพฤติปฏิบัติก็รู้ได้ว่า ข้อประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นจะทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม หรือว่าไม่สามารถจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจในเหตุ ในผล ในข้อประพฤติปฏิบัติ และไม่ได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หวั่นไหว รวนเร

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 58


    นาที 18.11

    มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตาย เป็นอารมณ์หนึ่งที่จะทำให้จิตสงบ

    กุศลจิตเกิดได้ถ้ามนสิการ หรือพิจารณาความตายด้วยความแยบคาย แต่ไม่ใช่หมายความว่า ใครก็ตามที่ระลึกถึงความตายแล้วสงบ เป็นไปไม่ได้ จิตที่จะสงบได้ จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่ควรที่จะมีความยินดี มีความติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในตัวตน หรือในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ ในวัตถุซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นของเราอย่างแท้จริง แม้แต่สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนของเราก็ไม่เที่ยง อยู่ได้เพียงแค่อายุซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้

    บางท่านอาจจะสิ้นชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยที่ยังเป็นเพียงกลละ คือ ก้อนของรูปซึ่งยังไม่ครบส่วนต่างๆ แต่ว่าเมื่อมีปฏิสนธิแล้ว ก็สามารถที่จะมีการตายหรือจุติได้ ไม่ว่าจะในระยะเวลายาวสั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกคนไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตของท่านจะยาวหรือจะสั้นแค่ไหน

    สำหรับท่านที่ระลึกถึงความตายแล้วกลัว ขณะนั้นไม่ใช่มรณสติ เพราะสติไม่เกิดในขณะที่ระลึกถึงความตาย ด้วยเหตุนี้เมื่อคิดถึงแล้วจึงกลัว แต่ถ้าระลึกด้วยปัญญาที่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ความไม่เที่ยง การกลัวความตายก็จะน้อยลง แต่ว่าต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยด้วย

    ทุกคนตอนที่เป็นเด็ก ไม่มีใครที่ไม่กลัวความตาย เด็กทุกคนกลัว บางคนก็คิดว่า ถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไร ก็อยากจะหนีไปให้สุดขอบโลกถ้าสามารถจะเป็นไปได้ แต่เมื่อโตขึ้นก็เห็นว่า ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ต้องมีการตาย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่การอบรมเจริญปัญญาของแต่ละท่านที่จะรู้ว่า ท่านมีการระลึกถึงความตายบ่อยๆ เนืองๆ จนรู้ความจริง จนสามารถที่จะหวั่นไหวน้อยลง ไม่มีการหวาดกลัวความตายเหมือนตอนที่ยังเป็นเด็กหรือตอนที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วหรือยัง

    สำหรับท่านที่กลัว ท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วที่ท่านกลัวความตายนี้ ท่านกลัวอะไร ซึ่งส่วนมากแล้ว กลัวการพลัดพรากจากความเป็นบุคคลนี้ และจากทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นที่รักเป็นที่พอใจที่ท่านยึดถือ ยึดมั่น เกี่ยวข้องในชีวิตนี้ นอกจากนั้น ยังกลัวความเจ็บ ความปวด ความทรมานต่างๆ ก่อนที่จะตาย ซึ่งบางท่านอาจจะกลัวมากกว่าความตายจริงๆ

    สรุปแล้วก็คือ กลัวประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เช่น ความทุกข์ ความทรมานก่อนที่จะตาย หรือว่ากลัวการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก คือ จากการเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ภพนี้ กลัวการที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่รักที่พอใจ และบุคคลซึ่งเป็นที่รักที่พอใจ แต่ให้ทราบว่า ถึงจะกลัวแค่ไหน ก็ไม่พ้น

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะกลัว ก็นึกถึงบ่อยๆ ว่า วันหนึ่งต้องจาก ต้องพลัดพราก ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ก็จะทำให้รู้สึกชินขึ้นกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เป็นการพลัดพรากอยู่ทุกขณะ ขณะเมื่อครู่นี้ก็เป็นขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ซึ่งจะไม่กลับมาอีก และสำหรับภพนี้ชาตินี้ ก็เป็นแต่เพียงชาติหนึ่งที่มีการเห็น การได้ยินอยู่ในโลกมนุษย์นี้ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งต่อไปก็ไม่ทราบว่าจะเป็นบุคคลไหน เกิดในภพไหน ในโลกไหน แต่ที่จะไม่เกิดอีกนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น น่ากลัวไหม ความตาย

    เพียงแต่เป็นการย้าย หรือเปลี่ยนจากการเป็นบุคคลที่เคยเป็นในชาตินี้ เป็นบุคคลใหม่อีกบุคคลหนึ่งในภพหน้า ในชาติหน้า แล้วแต่ว่าบุญกรรม หรือว่าบาปกรรมจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิไหน มีกำเนิดอย่างไร มีชาติ มีตระกูล มีลาภ มียศ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายต่างๆ แต่ไม่ผิดจากชาตินี้ เพราะยังจะต้องเป็นเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการรู้อารมณ์ต่างๆ การคิดนึกทางใจนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ชาติหน้าก็ไม่ต่างอะไรกับชาตินี้ ท่านซึ่งมีบุคคลเป็นที่รัก และวัตถุซึ่งเป็นที่รักในชาตินี้ ชาติหน้าท่านก็มีใหม่ เป็นบุคคลใหม่ มีบุคคลซึ่งเป็นที่รักใหม่ และมีวัตถุซึ่งเป็นที่ยินดีที่พอใจใหม่ ดูแล้วก็เหมือนว่า ไม่สูญเสียอะไร แต่ถึงอย่างนั้น การติดในความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ก็มาก จนกระทั่งทำให้ท่านหวั่นกลัว และไม่พอใจเลยที่จะพลัดพราก หรือว่าสูญเสียความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ไป

    เสียดายไหม การที่จะเป็นบุคคลนี้ หรือว่าพร้อม ขณะไหนก็ได้ที่จะเป็นบุคคลอื่นตามบุญกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้น ต้องเร่งประกอบกรรมดี นี่คือจุดประสงค์ของการที่ระลึกถึงความตาย

    สำหรับเรื่องของการกลัวความตาย และไม่กลัวความตาย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในปัจจุบันนี้ หรือในยุคนี้เท่านั้น ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๔ มีเรื่องของบุคคลที่กลัวความตาย และไม่กลัวตาย ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่

    ดูกร พราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ

    จริงไหม ลองนึกถึงความตายเดี๋ยวนี้ กลัวอะไร

    เวลาที่นึกถึงการที่จะต้องพลัดพรากจากบุคคลซึ่งเป็นที่รัก หรือว่าทรัพย์สมบัติที่เป็นที่พอใจ ทำให้ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม นั่นคือ อาการที่กลัวตาย

    กลัวเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น มรณสติทั้งหมด เป็นอารมณ์ซึ่งจะทำให้จิตสงบเป็นกุศล ถ้ารู้ว่ากลัวอบายภูมิ ก็ต้องอบรมเจริญกุศล และจิตจะสงบจากความกลัว

    ประการต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์แม้ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ

    ในข้อต้น เป็นห่วงกลัวที่จะต้องพลัดพรากจากกามซึ่งเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทรัพย์สมบัติ สิ่งของ หรือว่าญาติมิตรบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นที่รัก แต่ว่าอีกบุคคลหนึ่ง มีความติด ความห่วงใยในกายอันเป็นที่รัก เบื่อหรือยังตัวอันนี้ ร่างกายอันนี้ หรือว่ายังพอใจอยู่ ยังไม่อยากจะเปลี่ยนเป็นกายอื่น ตัวอื่น บุคคลอื่นในภพอื่น ยังพอใจอยู่ใช่ไหมในบุคคลนี้ ในร่างกายนี้ ใครได้ร่างกายอย่างไร มีร่างกายอย่างไร ก็พอใจในร่างกายนี้ ไม่ต้องการที่จะให้สูญไป หรือว่าเสียกายนี้ไป

    ประการต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 836


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 199
    8 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ