กรรม ตอนที่ 08
มุญจนเจตนา คือ เจตนาในขณะที่กำลังทำกุศล หลังจากนั้นถ้าเป็นกุศลที่มีกำลัง ก็ไม่ลืม ยังมีอปรเจตนา คือ กุศลจิตระลึกถึงกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วบ่อยๆ แล้วแต่กำลังของกรรมนั้น ถ้าเป็นกรรมซึ่งมีกำลังมาก ก็ระลึกถึงบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เกิดความปีติโสมนัสมากเท่าไร ทำแล้วก็ลืมไป เยอะแยะ เช่น ถ้าจะถามท่านผู้ฟังว่า ทำกุศลกรรมอะไรบ้าง อาจจะนึกไม่ออก ใช่ไหมคะ แต่ว่าบางกุศลกรรมก็อาจจะนึกออก
เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าเป็นกรรมที่ไม่มีเจตนา ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลจิต ในขณะนั้นหมายถึงกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปุพพเจตนา คือ ไม่มีความตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้นก่อนที่จะกระทำกรรมนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั้นไม่มีเจตนาเลย ต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิตทุกครั้ง
ก่อนที่จะมาฟังธรรม มีเจตนาที่จะมาหรือเปล่า มี เป็นปุพพเจตนา เมื่อมาแล้วกำลังฟัง ก็เป็นมุลจนเจตนา เป็นกุศลจิต นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมแต่ละกรรม บางกรรมมีปุพพเจตนา มีมุลจนเจตนา มีอปรเจตนา แต่ว่าบางกรรมมีมุลจนเจตนา ไม่มีปุพพเจตนา ไม่มีอปรเจตนา แต่ที่จะกล่าวว่า ไม่มีเจตนาเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ ลองคิดดูซิคะ เจตนาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักดวงเดียวซึ่งปราศจากเจตนาเจตสิก แล้วแต่ว่าเจตนานั้นจะเป็นกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา หรือวิบากเจตนา หรือกิริยาเจตนา
3098 สภาพของจิต กับ กรรม
ถาม ที่อาจารย์อธิบายมา เป็นเรื่องที่ผมยังไม่เคยรู้ เช่น เรื่องเจตสิก เรื่องบุพพเจตนา คือ กฏัตตากรรม กรรมที่ขาดเจตนา ท่านอาจารย์กล่าวว่า เจตนานั้นต้องปราศจากบุพพเจตนาก่อนใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขาดเจตนาไม่ได้ แต่ขาดบุพพเจตนาได้
ผู้ถาม แต่เจตนาหลังๆ เช่น มุลจนเจตนา อปรเจตนา ในกรณีตัวอย่างที่ผมถามนี้ อาจจะมีบุพพเจตนา คือ โยนของแข็งลงไป โดยปราศจากความรู้ว่ามีคนข้างล่าง และเขาไม่ได้ติดตามผลตลอดไป มุลจนเจตนาก็ย่อมไม่เกิดกับตัวเขา แต่ปรากฏว่าผลเกิดแล้ว คือ คนนั้นหัวแตก อปรเจตนาเขาก็ไม่มีอีกต่อไป เขาก็ไม่ทราบว่าเขาทำความผิด อันนี้แหละครับ ที่กรรมที่ทำแล้วนั้นจะสนองผลเป็นวิบากกับเขาในชาติหน้าหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ แต่อย่าโยนบ่อยๆ นะคะ เพราะคิดว่าไม่มี ต้องระมัดระวังค่ะ
ขอประทานโทษค่ะ ที่ว่าไม่มี หมายความว่าไม่มีเจตนาที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายใครในขณะนั้นแน่นอน ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาถึงเจตนา ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะที่กำลังโยนของทิ้งไป เป็นกุศลหรืออกุศล
ผู้ถาม เป็นอัพยากฤตก็แล้วกันครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ ไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วจะเป็นกิริยาจิตไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ นอกจากวิบากจิต คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ หลังจากนั้นแล้วก็เป็นกุศลหรืออกุศลต่อจากโวฏฐัพพนะซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง
นี่ก็เป็นเรื่องละเอียด แต่ให้ทราบว่าสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะกล่าวว่าเป็นกิริยาจิตในขณะที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
ผู้ถาม สรุปแล้ว บุพพเจตนาย่อมจะเกิดเสมอ จะไม่เกิดไม่ได้ ยกเว้นพระอรหันต์ อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ตรงกันข้ามนะคะ ทุกท่านย่อมมีกุศลจิต และอกุศลจิตสลับกัน ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิต และกิริยาจิต ซึ่งสำหรับปุถุชนแล้วมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น แต่สำหรับพระอรหันต์แล้วมีกิริยาจิตแทนกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต เพราะฉะนั้นมีกิริยาจิต
เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังเป็นปุถุชนจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด จะรับประทานอาหาร จะมีชีวิตอยู่เป็นปกติประจำวัน ย่อมไม่พ้นจากกุศลจิต และอกุศลจิต ในขณะที่พระอรหันต์ ท่านก็นั่ง นอน ยืน เดิน พูด คิด บริโภคอาหารเป็นประจำ ทำกิจบริหารร่างกายเป็นประจำ แต่ด้วยกิริยาจิต เพราะฉะนั้นสำหรับปุถุชนจะไปเป็นกิริยาจิตอย่างพระอรหันต์ ในขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ไม่ได้
เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังโยนของ เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต
นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมเพิ่มขึ้นจากสภาพของจิต ซึ่งจะต้องเข้าใจก่อนว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ถ้าไม่ได้โยนของในขณะนี้ กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต กำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต กำลังคิดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต
ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นผมขอแยกสักนิด ขณะที่กำลังฟังบรรยายของท่านอาจารย์ ผมยังไม่กระจ่าง ยังมีความสงสัยอยู่ เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต
ท่านอาจารย์ ขณะสงสัยเป็นกุศลไม่ได้ แต่ขณะที่เข้าใจเป็นกุศล ขณะที่สงสัยไม่ใช่กุศล
นี่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา ขณะที่ไม่ฟัง เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตคะ
ผู้ถาม เป็นอัพยากฤต
ท่านอาจารย์ อัพยากฤต เป็นไม่ได้ไงคะ อัพยากฤต หมายถึง วิบากหรือกิริยา แต่หลังเห็นแล้วจะพ้นจากอกุศลหรือกุศลไม่ได้ สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน หลังได้ยินแล้วจะพ้นจากอกุศลหรือกุศลไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์
ผู้ถาม ...
ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง หรือ ๒ ประเภท
ผู้ถาม กิริยาจิตคืออะไรครับ
ท่านอาจารย์ กิริยาจิต คือ จิตซึ่งไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดผล คือ ไม่ใช่กุศล และอกุศล กิริยาจิต คือ จิตที่ไม่ใช่วิบาก คือ จิตที่เป็นผลของกุศล และอกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีกุศลจิต และอกุศลจิต เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทั้งกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการเกิดอีกหลังจากปรินิพพานแล้ว และเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็มีเพียงวิบากจิตกับกิริยาจิตแทนกุศล และอกุศล กิริยาจิตของพระอรหันต์แทนกุศล และอกุศลของผู้ที่เป็นปุถุชน หรือผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์
3099 รู้ว่าเป็นอกุศลจิตเมื่อสติเกิด
ประวิทย์ ขณะที่ผมเดินมานี่ คิดว่าอาจจะเป็นอกุศลจิต โดยที่ไม่ครบองค์ ผลของมันก็ต้องมี ใช่ไหมครับ ขณะที่ถือไมค์อยู่นี่ อาจจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้
ท่านอาจารย์ อาจจะ แล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ได้แน่ล่ะคะ ว่าเป็นหรือไม่เป็น
ประวิทย์ สติต้องเกิด แต่ว่าถึงจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม
ท่านอาจารย์ ถ้าอาจจะนะคะ มีบางคนคิดว่าตนเองมีกุศลเยอะมากเลย ในขณะที่ไม่ทำอกุศล คิดว่าเป็นกุศลโดยตลอด แต่ว่าต้องเป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้จริงๆ ลองคิดดูอีกทีว่า เป็นกุศลหรืออกุศล
ประวิทย์ เป็นอกุศลครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าในขณะนั้นเป็นไปในทานหรือเปล่า เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในภาวนา คือ ความสงบของจิต หรือว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นอกุศลนี่ชิน และชำนาญมาก ชำนาญจนนั่งด้วยอกุศล นอนด้วยอกุศล เดินด้วยอกุศล คิดด้วยอกุศล พูดด้วยอกุศล เพียงแต่ว่าจะเป็นอกุศลประเภทใด จะถึงขั้นเป็นกรรมบถหรือไม่เป็นกรรมบถ
ประวิทย์ อกุศลหรือกุศลเหล่านั้น ชื่อว่า มีวิบาก ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ เฉพาะกรรมเท่านั้น เจตนาเป็นกรรมที่ทำให้จิต และเจตสิกที่เป็นวิบากเกิด กัมมปัจจัยเป็นปัจจัยให้วิปากธรรมเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นกรรม เป็นเจตนาซึ่งเป็นกุศล และอกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศลจิต ซึ่งยังไม่เป็นกรรมบถหนึ่งกรรมบถใดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่ใช่ธรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก
ถ้าเห็นดอกไม้สวยๆ แล้วชอบ จะทำให้เกิดวิบากอะไรคะ ถ้าชอบรสหวาน แล้วก็เอาน้ำตาลใส่ในอาหาร แล้วก็รับประทาน จะทำให้เกิดวิบากอะไรคะ อกุศลจิตธรรมดาไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก แต่อกุศลกรรม คือ เจตนาที่เป็นอกุศลในอกุศลกรรมบถ ๑๐ จะทำให้วิบากธรรมเกิดขึ้น
ถ้าเพียงแต่พอใจเฉยๆ ไม่ได้ทำกรรมหนึ่งกรรมใดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ไม่ทำให้เกิดวิบาก แต่สะสมเป็นอุปนิสสยปัจจัย ทำให้มีอัธยาศัยต่างๆ กัน บางคนชอบดนตรี เล่นดนตรี เป็นอกุศลกรรมอะไรหรือเปล่า จะทำให้เกิดวิบากอะไรหรือเปล่า ก็ไม่เป็น แต่ก็สะสมอุปนิสัยรักดนตรี ชอบดนตรี หรือฟังดนตรี หรือถ้าเป็นนักดนตรีที่สะสมมามาก ก็เป็นผู้ที่เล่นดนตรีอย่างชำนาญแม้ในวัยเด็กได้ โดยการสะสมที่เป็นอุปนิสัยปัจจัย
3100 รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม - รูปซึ่งเกิดเพราะจิต
ประวิทย์ ที่ผมเรียนถามเมื่อกี้นี้ วิบากไม่มี แต่กัมมชรูปจะมี ไหมครับ กรรมที่ไม่ครบองค์ ไม่ถึงกรรมบถ ไม่มีวิบาก ใช่ไหมคะ แต่ผลของมันก็จะไม่มีด้วย ใช่ไหมครับ หมายถึงรูปหรือว่าอื่นๆ
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังต้องแยกนะคะ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม และรูปซึ่งเกิดเพราะจิต รูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานกับรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดในอุปาทขณะนั่นเอง กรรมก็ทำให้กัมมชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต ในขณะนั้นรูปที่เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตไม่ใช่จิตตชรูป แต่เป็นกัมมชรูป
เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม ไม่ใช่รูปซึ่งเกิดเพราะจิต แต่ในเวลาที่กุศลจิตเกิดกระทำกรรมหนึ่งกรรมใด รูปในขณะนั้นเป็นจิตตชรูป ไม่ใช่เป็นกัมมชรูป
ประวิทย์ คือผมไม่ได้หมายถึงจิตตชรูป แต่หมายถึงรูปภายหลัง
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเกิดเพราะกรรม
ประวิทย์ แต่ไม่ใช่กรรมที่ว่านี้ ใช่ไหมครับ กรรมเล็กๆ อย่างถือไมโครโฟนนี่ ไม่ครบองค์ ไม่อยู่ในกรรมบถ กุศลกรรมบถหรืออกุศลกรรมบถ ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กรรมบถ แต่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ท่านผู้ฟังถือไมโครโฟนอย่างนี้ ในขณะที่ท่านผู้ฟังท่านอื่นอาจจะถืออีกอย่างหนึ่งตามการสะสม ตามการคุ้นเคยของการถือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งแต่ละคนสะสมมา การนั่ง การนอน การยืน การเดิน การพูด ไม่ใช่เป็นกรรมทั้งหมดค่ะ แต่ว่าสะสมเป็นอุปนิสัยทำให้กิริยาอาการที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดินก็ต่างๆ กันไป การพูดก็มีลักษณะของรูปต่างๆ กันไป ตามการสะสม ซึ่งไม่ใช่กรรม
ประวิทย์ ผลก็ไม่มีเลย เว้นจิตตชรูป
ท่านอาจารย์ ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยไงคะ ที่ทำให้แต่ละคนมีการเดินลักษณะต่างๆ การพูดลักษณะต่างๆ แต่ไม่ใช่เป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด เป็นผลของการสะสมของกุศลจิต และอกุศลจิต ซึ่งทำให้เกิดจิตตชรูปนั้นๆ ขึ้น
ขณะนั้นไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย เพราะเหตุว่าเจตนาเป็นกรรม แต่ถ้าลืมว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือจิตเป็นอกุศล ถึงแม้ไม่ใช่อกุศลกรรม เป็นอกุศลจิตหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา แยกอกุศลกรรมออกจากอกุศลจิต ถึงแม้ว่าไม่ใช่อกุศลกรรม ขณะนั้นเป็นอกุศลหรือเปล่า ขณะนั้นไม่ใช่กรรม เพราะเหตุว่าไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้าย แต่อย่าลืมนะคะ อกุศลจิตมี ถึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม แต่อกุศลจิตสะสมแล้วที่จะเป็นผู้ประมาท ผู้เลินเล่อ
3236 วิบากจิต กับ อกุศลจิตต่างกัน
ถาม สำหรับในเรื่องอกุศลจิตตามที่ผมศึกษามา แม้กระทั่งว่าเราอยู่คนเดียวโดยปราศจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ภายนอก เกิดจากเหตุปัจจัยภายใน คือ ความคิด คือสังขารธรรม เกิดขึ้นจากความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แล้วก็ตั้งประเด็นออกมา แล้วก็ได้ผล ด้วยตัวเองว่า สิ่งเหล่านี้ที่เราคิดนี่มันถูกในความรู้สึกของเรา แต่นั่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดอยู่ คือ มีคนกล่าวว่า บางคนอยู่เฉยๆ ทั้งวัน ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็คิดว่าตัวเองไม่ได้ประกอบกรรมชั่ว เพียงแค่นี้ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็พอแล้ว แต่ปรากฏว่าการเฉยๆ แต่ความคิดเบียดเบียนตัวเองให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ สิ่งเหล่านั้นเป็นความผิด ไม่ทำให้ยกตัวเองไปสู่ความเจริญได้ ปัญหาที่ผมจะเรียนถามนะครับ เมื่อกี้กล่าวถึง อกุศลจิตที่เรียกว่า อุปนิสสยปัจจัย ถ้าทำบ่อยๆ แล้วไม่มีวิบากกรรมเป็นผล แต่ว่ามันจะสะสมเป็นนิสัยไปในภพหน้า ชาติหน้าต่อไป ผมยกตัวอย่างเช่น คนที่พูดจาโดยปราศจากความระมัดระวัง อาจจะเป็นผมเอง มันเป็นวาสนา พูดไปๆ โดยปราศจากเจตนาแล้ว ผลกรรมที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าไม่มี แต่ปรากฏว่าสังคมเขาไม่ยอมรับ เขาบอกว่า คนพูดนี่ปากไม่ค่อยดีนัก อันนั้นน่าจะเรียกว่าเป็นวิบากอย่างหนึ่ง คือ พูดจาแม้ว่าเจตนาจะดี แต่สังคมเขาไม่ยอมรับภาษาที่พูดอย่างนี้ๆ ซึ่งมันเรื่องของวาสนา เราจะไม่เรียกอย่างนั้นว่าเป็นผลของวิบากหรือครับ
ท่านอาจารย์ วิบากเป็นในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นั่นเป็นขณะที่เป็นวิบาก ส่วนความรู้สึกพอใจไม่พอใจ หรือคนอื่นจะกล่าวอย่างไร นำมาซึ่งสุขทุกข์อย่างไร นั่นไม่ใช่เรื่องของวิบาก วิบากเพียงชั่วขณะที่หูกระทบเสียง โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น
3237 ปุพพจริยา กับ อนันตริยกรรม
อดิศักดิ์ อย่างในทางโลก ทางสังคมทางกฎหมาย ถ้านาย ก. ยกปืนขึ้นมาจะยิง เจตนาจะยิงนาย ข. บุพพเจตนาของเขาก็คือยิงนาย ข. และเมื่อลั่นปืนไปแล้วพลาดไปถูกบิดาของนาย ก. เอง ตามกฎหมายไม่ถือว่าผิดฐานฆ่าบิดา ทีนี้ทางธรรมเท่าที่ฟังอาจารย์ก็คงจะเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวค่ะ ฆ่าใครคะ ลูกปืนนั้นฆ่าใคร
อดิศักดิ์ ก็เป็นบิดา แต่ทางกฎหมายไม่ถือว่าฆ่าบิดา ไม่เป็นอนันตริยกรรม
ท่านอาจารย์ แล้วความจริงคือฆ่าใคร
อดิศักดิ์ ความจริงจะฆ่านาย ข. บุพพเจตนาจะฆ่านาย ข.
ท่านอาจารย์ แต่ใครตาย
อดิศักดิ์ ก็บิดาตาย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฆ่าใคร
อดิศักดิ์ ก็พลาดไปฆ่าบิดาเข้า แต่บุพพเจตนาไม่มี เขาจะยิงนาย ข.
ท่านอาจารย์ บุพพเจตนา คือ เจตนาฆ่า
อดิศักดิ์ แล้วอย่างนี้ถือว่า อนันตริยกรรม
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ
ถาม การกระทำปิตุฆาต ผู้ถามถามในลักษณะที่ผู้ทำร้ายเขามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ในกรณีที่ผมจะถามท่านอาจารย์ ผู้ฆ่ากระทำปิตุฆาตหรือมาตุฆาต โดยที่เขาขาดสติสัมปชัญญะ เรียกภาษาธรรมดา คือ วิกลจริต ผลก็คือครุกรรมในฝ่ายชั่วเหมือนกัน คือ ฆ่าบิดามารดา จะต้องรับผลของกรรม ในชาติปัจจุบันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ในชาติปัจจุบันนี้ให้ผลน้อยมาก ไม่เหมือนในชาติต่อไป เหมือนดอกไม้ย่อมให้ผลเพียงเป็นดอกไม้ ไม่ใช่เป็นผลไม้ซึ่งจะสืบต่อพันธ์ุไม้นั้นต่อไปอีก
เพราะฉะนั้นบาปหรือบุญที่ให้ผลในปัจจุบันย่อมน้อยกว่า มีกำลังที่จะให้ผล และให้ผลน้อยกว่าบาปหรือบุญที่จะให้ผลในชาติต่อไป ซึ่งอาจทำให้เกิดในสุคติภูมิหรือทุคติภูมิได้ และผลของกรรมก็ย่อมติดตามให้ผลมากกว่า
ถ้าให้ผลในปัจจุบันชาติก็เพียงเล็กน้อย
ผู้ถาม คนบ้าฆ่าบิดามารดา ถือว่าให้ผลน้อยในชาตินี้หรือครับ
ท่านอาจารย์ กรรมมีโอกาสให้ผลทั้งในชาตินี้ หรือในชาติต่อไป คือ ชาติหน้า หรือในชาติต่อจากนั้นไปอีก
ผู้ถาม ในกรณีของครุกรรมที่กล่าวกันว่า ฆ่าบิดามารดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ และอะไรต่ออะไร กระผมจำได้ไม่หมด ปรากฏว่า กรรมประเภทนี้ถ้าเผื่อใครประพฤติปฏิบัติแล้ว ต้องได้รับวิบากในชาตินั้น ในปัจจุบันชาติเสมอ
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นค่ะ
ผู้ถาม ยกเว้นว่า ผู้กระทำนั้นวิกลจริต
ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นอนันตริยกรรม คือ ให้ผลในชาติต่อไป โดยกรรมอื่นไม่สามารถจะขัดขวางได้ เช่น ถ้าฆ่าบิดา เมื่อจุติ เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้แล้ว ทำให้ปฏิสนธิในนรก ในอบายภูมิ โดยไม่มีกรรมอื่นมาขัดขวาง จึงเป็นอนันตริยกรรม คือ กรรมที่ให้ผล โดยที่กรรมอื่นไม่สามารถจะขัดขวางได้ แม้ว่าจะทำบุญสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะขัดขวางอนันตริยกรรมที่จะให้ผล
3238 ประโยชน์ในการศึกษาเรื่องกรรม
สำหรับประโยชน์ในการรู้เรื่องกรรม มอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องกรรม เรื่องสติปัฏฐาน ก็ย่อมจะต้องได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลกรรม สิ่งใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น และถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลกรรมยิ่งขึ้น อย่างเจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียนทั้งหมดเป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดา หรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยเลยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล แต่ว่าแม้ว่าจะเป็นสัตว์ และเป็นอาหารที่ไม่บริโภค เหลือแล้ว ทิ้งแล้ว แต่ถ้ามีเจตนาที่เป็นกุศล รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นกุศลกรรม ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการรู้เรื่องกรรม และเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น
นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรม ซึ่งเป็นเหตุ และขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เช่นในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศลก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา เพราะเหตุว่ากุศลธรรมก็เป็นแต่เพียงนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง ทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
นี่คือประโยชน์ในการที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมละเอียดขึ้น มิฉะนั้นแล้ว ก็ยังเป็นตัวตนอยู่ว่า เป็นกรรมของเรา หรือเราทำกรรม หรือว่าเป็นวิบากของเรา แต่ว่าตามความจริงแล้ว ไม่มีสภาพธรรมใดเลยทั้งสิ้นซึ่งจะพึงยึดถือว่า เป็นของเราได้ บางคนคิดว่า จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ขณะนั้นเป็นเราจริงๆ ที่กำลังคิด และเมื่อได้รับผลจากความคิดที่จะกระทำสิ่งนั้น ก็คิดว่าเป็นเราที่ได้รับผลของสิ่งที่เราคิด แต่เมื่อมีเราคิด ก็ต้องมีผลของการกระทำของเราด้วย
เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าไม่ใช่เราที่คิด คิดเป็นชั่วขณะหนึ่ง เห็นเป็นอีกขณะหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะเป็นผลของขณะที่คิดได้ไหม ถ้าสติปัฏฐานเกิดจริงๆ จะรู้ได้ทีเดียวว่าไม่ใช่ เพราะเหตุว่าขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นวิบาก
ถาม จะแนะนำพูดที่ไม่สนใจธรรมให้มาสนใจนั้น ควรมีวิธีอย่างไร
ท่านอาจารย์ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องของปรมัตถธรรม บางท่านเข้าใจว่า ธรรมควรจะสนใจนั้นควรจะเป็นในขั้นศีลธรรม ไม่ใช่ธรรมขั้นสูง แต่ความจริงเรื่องของศีล ๕ ก็เป็นที่ได้รับฟังได้เข้าใจกันมามากแล้ว แต่การที่จะปฏิบัติศีล ๕ ได้ครบถ้วนจริงๆ นั่นเป็นสิ่งที่ยาก ไม่ต้องถือศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เพียงศีล ๕ ที่จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี พอที่จะรักษาศีล ๕ ได้สมบูรณ์ ก็เป็นสิ่งซึ่งแสนยาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมากขึ้นก็ย่อมยากต่อการที่จะเป็นผู้สมบูรณ์ในศีล ๕ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมขั้นสูงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดเห็นประโยชน์ของการที่จะได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น เพื่อที่จะน้อมปฏิบัติตามพระธรรมได้มากขึ้นจึงจะสนใจที่จะศึกษา
- เมตตา ตอนที่ 01
- เมตตา ตอนที่ 02
- เมตตา ตอนที่ 03
- เมตตา ตอนที่ 04
- เมตตา ตอนที่ 05
- เมตตา ตอนที่ 06
- เมตตา ตอนที่ 07
- เมตตา ตอนที่ 08
- เมตตา ตอนที่ 09
- เมตตา ตอนที่ 10
- เมตตา ตอนที่ 11
- เมตตา ตอนที่ 12
- เมตตา ตอนที่ 13
- เมตตา ตอนที่ 14
- เมตตา ตอนที่ 15
- เมตตา ตอนที่ 16
- เมตตา ตอนที่ 17
- เมตตา ตอนที่ 18
- เมตตา ตอนที่ 19
- เมตตา ตอนที่ 20
- กรรม ตอนที่ 01
- กรรม ตอนที่ 02
- กรรม ตอนที่ 03
- กรรม ตอนที่ 04
- กรรม ตอนที่ 05
- กรรม ตอนที่ 06
- กรรม ตอนที่ 07
- กรรม ตอนที่ 08
- กรรม ตอนที่ 09
- กรรม ตอนที่ 10
- กรรม ตอนที่ 11
- กรรม ตอนที่ 12
- กรรม ตอนที่ 13
- กรรม ตอนที่ 14
- กรรม ตอนที่ 15
- กรรม ตอนที่ 16
- กรรม ตอนที่ 17
- กรรม ตอนที่ 18
- กรรม ตอนที่ 19
- กรรม ตอนที่ 20