ธรรมในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๒
ท่านอาจารย์ แต่เพียงเข้าใจขึ้นก็เป็นประโยชน์แล้ว และจากความเข้าใจนี้เอง จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วเห็นโทษของกิเลสเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะอบรมปัญญา ตามระดับขั้นยิ่งขึ้น เพราะว่าบางคนก็ฟังธรรม เรียนพระอภิธรรม เข้าใจเรื่องจิต ถามว่าอยากดับกิเลสไหม ก็ยัง
นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญญามีหลายขั้น และปัญญาแต่ละขั้น ก็จะต้องอาศัยการศึกษาหรือการฟังธรรม จึงจะเพิ่มขึ้น ไม่มีใครเลยในที่นี้ ที่จะรู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร อย่างไร นอกจากจะศึกษาธรรม เมื่อศึกษาแล้วก็ยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยตนเอง จึงจะสามารถเข้าใจได้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่เพราะเพียงฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก ในครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ พระองค์เป็นโชติปาลมาณพ ศึกษาธรรมมากมาย นั่นไม่ใช่ แต่ต้องเป็นการที่สามารถตรัสรู้สภาพธรรมในขณะนี้ แล้วต้องอาศัยการศึกษา การฟัง ไม่ใช่เพียงวันนี้วันเดียว วันนี้วันเดียวไม่มีทางพอ ชาตินี้ชาติเดียวก็ยังไม่พอ นี่ถึงจะเป็นผู้เห็นพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ แต่ถ้าคิดว่าชาตินี้ ประเดี๋ยวก็คงจะถึงนิพพาน นั่นคือผู้ที่ไม่เห็น ไม่เข้าใจในพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
นาที ๑.๔๐
ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องปัญญา คงจะมีอีกหลายๆ ท่าน มีความคิด ส่วนความคิดนั้นก็มีทั้งผิด และถูกได้ เช่น ปัญญาที่จะเกิดขึ้น ที่จะค่อยๆ ละคลายกิเลส ถ้าอาศัยข้อปฏิบัติเรื่องของสมถะหรือสมาธิ จะสามารถทำให้เกิดปัญญาแล้วละคลายกิเลส หรือดับกิเลสได้ไหม
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่พูดกัน แต่ไม่เข้าใจ อย่างพูดว่าต้องอาศัยปัญญาของสมถะ สมาธิ รู้หรือเปล่าว่า สมถะคืออะไร สมาธิคืออะไร เพียงแต่พูด เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา
ผู้ฟัง ถ้าเป็นปัญญาที่ถูก ที่ตรงจริงๆ ควรเป็นข้อปฏิบัติอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญา ปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง แค่นี้ก็ต้องรู้แล้วว่า อะไรเป็นธรรม อะไรกำลังปรากฏขณะนี้ แล้วรู้อย่างไรที่ว่า รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ต้องฟัง ต้องเรียนทั้งนั้น
ผู้ฟัง ในตอนแรกคงต้องอาศัยการท่อง หรือคิดตามก่อน
ท่านอาจารย์ จะท่องว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ท่องว่า ทางที่จะรู้สภาพธรรม มีไม่เกิน ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้ว ต้องท่องไหม
ผู้ฟัง แล้วแต่อัธยาศัย
ท่านอาจารย์ ถ้าเวลานี้ที่เราเกิดมาในโลกนี้ ก็มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายกระทบสัมผัส มีใจคิดนึก ทั้งหมดนี้เป็นธรรม ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรม ใช่ไหม แต่เมื่อใดที่รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ธรรมเมื่อไร กำลังเห็นขณะนี้ต้องรู้ เพราะว่าเป็นธรรม กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังคิดนึก ขณะนี้เป็นธรรม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องท่อง ทั้งหมดขอให้เป็นความเข้าใจจริงๆ
นาที ๓.๕๔
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ลืมตามองเห็น สิ่งที่เป็นธรรมทางตาขณะนี้ ไม่ทราบจะบอกว่าอย่างไรดี
ท่านอาจารย์ เป็นของจริง มองเห็นด้วย และจะไม่ใช่ธรรมได้อย่างไร เพราะเหตุว่า ธรรม หมายความถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ไม่ต้องไปนึก ไม่ต้องไปฝัน ไม่ต้องค้นคิด แต่มีลักษณะที่ปรากฎให้รู้ได้ ขณะนี้ในห้องนี้ หรือที่ไหนก็ตามแต่ นอกห้องทะลุกระจกไปก็ได้ ลืมตาแล้ว มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ใครจะยับยั้งไม่ให้สิ่งนี้ปรากฏก็ไม่ได้ นี่คือของจริง
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ธรรม เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ง่าย ถ้าจะให้เข้าใจถูกจริงๆ เพราะเหตุว่าต้องฟังมาก และต้องพิจารณาด้วย นี่เพียงขั้นที่บอกว่า ธรรม หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ทุกคนก็รับรอง ว่าต้องมีลักษณะ ซึ่งมีจริงๆ ให้พิสูจน์ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็พูดเรื่องเลื่อนลอย มาพูดเรื่องธรรม แล้วไม่มีอะไรให้รู้สักอย่างหนึ่ง ก็กลายเป็นพูดเรื่องเลื่อนลอยไป แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย เป็นเรื่องของที่มีจริงๆ แต่สิ่งที่มีจริงๆ เราใช้คำว่า “ธรรม” ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ของหลอก แต่ว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงได้
นี่แสดงให้เห็นว่า วิชชากับอวิชชาต่างกันไกลแสนไกล เพราะเหตุว่าแม้ธรรมปรากฏ อวิชชาก็รู้ไม่ได้ รู้ไม่ได้จริงๆ ว่านี่เป็นธรรม แต่ถ้าเป็นปัญญา จะไม่มีความสงสัยเลยว่า ชั่วขณะที่ตาลืมขึ้นมา มีจิตใจ ไม่ใช่คนตาย ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นมีสภาพเห็น เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง
นี่เป็นเรื่องซึ่งเราเกิดมาก็เห็น ตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่รู้ความจริง เห็นก็เห็นไปชาติหนึ่ง แต่ไม่รู้เลยว่า ธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมคืออะไร แต่ถ้าค่อยๆ ฟังจะรู้ได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีใครเกิด แต่มีธรรมเกิด และที่เรียกว่า “เห็น” ก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึกก็เป็นธรรม และธรรมนั่นแหละตาย เป็นสมมติมรณะ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว สภาพธรรมก็คือจิต เจตสิก รูป ซึ่งกำลังเกิดดับ ก็เป็นเรื่องยาว เป็นเรื่องที่จะต้องฟังอีกหลายๆ ครั้ง แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งสามารถเข้าใจ ในลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้จริงๆ
ก็เป็นการดีที่เราจะพูดเรื่องการเห็น เพราะว่าเห็นอยู่ แล้วก็ไม่รู้ ใช่ไหม ถึงจะรู้ก็รู้โดยฟัง แค่ฟังมาเท่านั้นเองว่า เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง และเห็นก็มีจริงๆ และก็ฟังมาว่า เห็นเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่รู้ตามที่บอกว่า ไม่ใช่ตัวตนที่เห็น และถ้าไม่ใช่ตัวตนแล้วเห็นเป็นอะไร ก็เป็นธาตุ หรือเป็นสภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับธาตุชนิดอื่น ถ้าเป็นธาตุอื่นก็อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ร้อนบ้าง หวานบ้าง เค็มบ้าง โกรธบ้าง โลภบ้าง นั่นเป็นแต่ละธาตุ แต่ธาตุชนิดนี้ จะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากเห็นอย่างเดียว ในขณะนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าจะกล่าวว่า อยู่ที่ตัวของแต่ละคน เพราะว่าปัญญายังไม่สามารถแยกสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างละเอียด จนกระทั่งไม่มีตัวตนออกได้
เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็จะกล่าวกว้างๆ ว่า เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเราเคยยึดถือว่าเป็นเรา และอยู่ที่ตัวเราด้วย แต่ความจริงแล้วก็เป็นธาตุเห็น เหมือนกับธาตุไฟ ธาตุอ่อน ธาตุแข็ง แต่ว่าธาตุชนิดนี้เป็นธาตุรู้ และธาตุรู้นี้ทุกคนมี เป็นจิต และเจตสิก ซึ่งใช้คำว่า “นามธาตุ” หรือ “นามธรรม” ก็เริ่มเข้าใจตัวเองว่า ที่เคยเป็นตัวตนก็คือธาตุ แม้แต่กำลังเห็นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง
นาที ๘.๓๐
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงการเห็น ก็ได้ยินคำถามหลายครั้งว่า เห็นทีไรก็จะเห็นเป็นโต๊ะ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล จะพูดเสมอว่า เห็นก็เห็นเป็นอย่างนี้เลย แต่ตามที่ได้ศึกษามาบอกว่า ก่อนที่เราจะเห็นเป็นอะไร ต้องลืมตาขึ้นมาเห็น และก่อนที่จะทราบว่าเป็นอะไร ก็ต้องเป็นทางมโนทวารที่จะรับรู้ต่อ ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่กล่าวว่า เห็นทุกครั้ง ที่เห็นเป็นอะไร ก็เป็นการไม่ถูก
ท่านอาจารย์ ถูกแบบชาวโลกที่ว่า พอเห็นปุ๊บ ก็นึกทันที
ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่า จากที่เข้าใจตัวเอง ถ้าจะพิสูจน์อันนี้ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้เลย คือ หลับตาแล้วลืมขึ้นมาเร็วๆ ปั๊บ ในช่วงนั้นจะบอกไม่ได้เลยว่า เป็นอะไร จะพิสูจน์ได้ ยิ่งในขณะที่เราง่วง แล้วเราลืมตาขึ้นมาปั๊บ จะไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร จะต้องใช้เวลานาน ข้อนี้เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่ง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นการที่เราพยายามจะเข้าใจธรรม แต่ยังไม่ใช่สติที่ระลึกจริงๆ เป็นแต่เพียงว่า เราฟังแล้วเราจะเปรียบเทียบให้รู้ว่า เป็นไปได้ที่ว่าเมื่อลืมตาแล้วก็เห็น
ผู้ฟัง ในการที่จะให้เชื่อว่า ไม่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นตัวตนจริงๆ ก็ต้องมาศึกษาว่าเป็นมันเป็นธาตุ ใช่ไหม ถึงจะละลายสิ่งที่คิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเก้าอี้ เราก็ต้องมาพิสูจน์กันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุ
ท่านอาจารย์ เหมือนอย่างกับวิชาการทางโลก ที่เราเรียนเรื่องธาตุต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์ เราก็มีแต่รูปธาตุ แต่ความจริงแล้วมีธาตุ ๒ อย่างที่ต่างกัน คือ นามธาตุประเภทหนึ่ง และรูปธาตุอีกประเภทหนึ่ง รูปธาตุก็เป็นธาตุ ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย โต๊ะ เก้าอี้ พวกนี้ เพียงอ่อน เพียงแข็ง เพียงเย็น เพียงร้อน ไม่สามารถรู้ว่า มีสิ่งใดกำลังมากระทบสัมผัส แต่นามธาตุเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่ขณะที่กำลังหลับ นามธาตุก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป สืบต่ออยู่เรื่อยๆ จะต้องรู้อารมณ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ แม้ว่าอารมณ์นั้นจะไม่ปรากฏ
นาที ๑๑.๐๐
ผู้ฟัง ธาตุ หมายถึง ความบริสุทธิ์หรืออย่างไร ตอนที่ผมเรียนตอนเด็กๆ ธาตุ เช่น ซีเรเนียม อ๊อกซิเจน ไฮโดรเจน อะไรต่างๆ คือ ความบริสุทธิ์ของสิ่งนั้นใช่ไหม ถึงเรียกว่าธาตุ
ท่านอาจารย์ เป็นธาตุทางวิทยาศาสตร์ แต่ธาตุทางธรรม ถ้ามาจากภาษาบาลีก็คือสภาพซึ่งทรงไว้ ที่มีลักษณะเฉพาะๆ ของตนๆ แต่ละธาตุๆ ซึ่งอาจจะใช้สำหรับรูปธาตุหรือนามธาตุ หรือทางวิทยาศาสตร์อาจจะมีอีกหลายธาตุ ก็หมายความถึงสภาพซึ่งทรงไว้ ซึ่งสภาวะที่มีจริงของตนๆ อย่างเห็น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เป็นธาตุชนิดหนึ่ง
จริงๆ แล้ว ถ้าคิดถึงว่า เห็น จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยจักขุปสาท และอาศัยรูปารมณ์ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น แต่ต้องเป็นแสง หรือรูปที่สามารถกระทบกับตาได้ ขณะนั้นก็ทำให้เกิดธาตุรู้ คือ เห็นสีขึ้น ก็เป็นเฉพาะธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วดับทันที
นาที ๑๒.๒๐
ผู้ฟัง สำหรับคำว่า “รูป” กับ “นาม” สำหรับตัวดิฉันเอง กว่าจะเข้าใจคำว่า “รูป” กับ “นาม” ก็กินเวลาเป็นปีๆ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมนานขนาดนั้น แต่เมื่อมาพิจารณาแล้วก็คงเป็นเพราะเหตุที่ ไม่ได้สนใจ เอาใจใส่ เพราะไม่คิดว่า การฟังธรรมจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องอภิธรรมด้วย เมื่อไม่เข้าใจรูปนามก็ปล่อยไป และอีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่า “รูป” คือ สิ่งที่จะต้องเห็นด้วยตา เช่น รูปคน ต่างๆ และนามธรรม คือ สิ่งที่มองไม่เห็น พอมาฟังคำว่า “เสียง กลิ่น รส” ว่าเป็นรูป ก็เลยทำให้งงว่า ๓ สิ่งนี้มองไม่เห็น ก็น่าจะเป็นนามธรรม แต่เป็นรูปธรรม อย่างนี้ แล้วไม่ได้ไต่ถามอะไร ก็เลยงง ติดอยู่ตรงนี้ ในที่สุดมาฟังท่านอาจารย์บ่อยๆ เข้า ก็เลยเข้าใจ ก็จะขอพูดว่า รูป คือ สิ่งที่จะมองเห็นหรือไม่เห็นก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่รู้อะไร ส่วนนามธรรมเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่รับรู้อารมณ์ ถ้าจะสรุปอย่างนี้ จะถูกผิดอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถูก เพราะเหตุว่ารูปในทางธรรม ไม่เหมือนกับรูปที่เราเคยเข้าใจ ทางธรรม มีสภาพธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง โดยประเภทใหญ่ คือ สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่มีความรู้ใดๆ เลย เป็นรูปธรรม ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรมทั้งหมด
เพราะฉะนั้น เราก็มาดู สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ใช่สภาพรู้ เสียงไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ รสหวาน เค็มต่างๆ ไม่ใช่สภาพรู้ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็น รูปธรรม แต่ที่ได้ยินเสียง ที่เสียงกำลังปรากฏ แสดงว่าต้องมีสภาพได้ยิน สภาพที่รู้เสียง เสียงนั้นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง ต่อให้เสียงเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม ในป่า หรือที่นี่ แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง เสียงนั้นก็ปรากฏไม่ได้
เพราะฉะนั้นสภาพรู้เสียงมีจริงๆ ไม่มีรูปร่างเลย ให้ทราบได้ว่า นามธรรมแล้ว ไม่มีรูปใดๆ ปะปนทั้งสิ้น ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส จะไปกระทบสัมผัสนามธรรมไม่ได้ จะไปจับต้องนามธรรมไม่ได้ จะเอานามธรรมไปเข้าห้องทดลองพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็น
เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า เรามีจิต แล้วจิตอยู่ที่ไหน เอาจิตมาให้ดูไม่ได้ แต่รู้หน้าที่ของจิต คือ ขณะนี้จิตกำลังเห็น นี่คือกิจการงานหนึ่งของจิต จิตไม่ได้อยู่เฉยๆ เลย จิตเกิดแล้ว จิตทำงาน โดยที่เราจะรู้หรือไม่รู้ แม้แต่เราเกิด แล้วก็นอนหลับ แล้วก็ฝัน แล้วก็ตื่น แล้วก็เห็น แล้วก็คิด แล้วก็ตาย ทั้งหมดก็คือจิต ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่เราไม่เคยรู้ว่า จิตไหนทำกิจอะไร และก็ไม่ได้รู้ด้วยว่า นั่นเป็นจิต แต่ให้ทราบว่า จิตทำกิจ ในขณะนี้ที่เห็น เป็นจิต โต๊ะ เก้าอี้ ไม่เห็นเลย
เพราะฉะนั้น อาการเห็น ลักษณะเห็น สีที่กำลังปรากฏ มีสภาพที่กำลังเห็นสีนั้น การเห็นสีนั้น สภาพที่เห็นสีนั้น เป็นจิต เป็นนามธรรม ทางหูก็เสียง เวลาเสียงปรากฏ เสียงก็เป็นเสียง เสียงจะเป็นนามธรรมไม่ได้ เสียงเป็นสภาพรู้ไม่ได้ เสียงเป็นความดัง สูงต่ำของเสียงที่ปรากฏ แต่มีสภาพรู้เสียง ขณะนี้ได้ยินเสียง เดี๋ยวก็มีเสียงอื่นอีก เดี๋ยวก็มีเสียงอื่นอีก สภาพที่กำลังรู้เสียง เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นหน้าที่ของจิต
เพราะฉะนั้น จิตก็มีหน้าที่เห็นทางตา จิตมีหน้าที่ได้ยินทางหู จิตได้กลิ่นทางจมูก จิตลิ้มรสขณะที่กำลังรับประทานอาหาร เพลินเลย เป็นเรา แต่ความจริงทุกขณะที่รสปรากฏ เพราะจิตลิ้มรสนั้น
ที่มา ...
แล้วทางกาย ขณะที่กระทบสัมผัส หรือมีความรู้สึกหนาว สบาย ไม่สบายกาย ขณะนั้นก็คือจิต ที่กำลังรู้อารมณ์ที่กระทบ หรือถึงแม้ไม่มีอะไรมากระทบเลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็คิด
นี่คือลักษณะของจิต จิตคิดทีละคำ แล้วจิตก็ดับไปแต่ละคำ แต่เราไม่เคยประจักษ์เลยว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก
เพราะฉะนั้น เรื่องนามธรรมกับรูปธรรม โดยขั้นการฟังต้องแยก จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเรา มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม แล้วค่อยๆ เจริญปัญญา เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ
ที่มา ...
นาที ๑๗.๔๕
ผู้ฟัง ผมขอเรียนถามท่านผู้ฟังเมื่อสักครู่นี้ เกี่ยวกับภายหลังได้ทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นทาน ถวายสิ่งของต่างๆ มักจะมีผู้กล่าวนำว่า ควรอุทิศส่วนกุศลให้กับ “เจ้ากรรมนายเวร” อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายให้เข้าใจคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” กับ “ผู้มีพระคุณในอดีตอนันตชาติ” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่ทุกคนเกิดมานั่งที่นี่ เจ้ากรรมนายเวรทำให้เกิดขึ้นหรือเปล่า ต้องคิดตั้งแต่ขณะแรก ที่เราเกิดมาในโลกนี้เลย มีเจ้ากรรมนายเวรไหน ที่ทำให้เราเกิด มีไหม
ผู้ฟัง จากที่ได้ศึกษามาก็บอกว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง หมายความว่ามีการกระทำทั้งที่เป็นบุญ และเป็นบาป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีเจ้ากรรมนายเวรแน่ ที่จะทำให้เราเกิดมา ใช่ไหม เราเกิดมาเพราะกรรมที่เราได้ทำแล้ว ซึ่งเลือกไม่ได้ด้วย เพราะว่ากรรมในวันหนึ่งๆ มีมาก ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้วชาติหนึ่งจะมีกรรมสักเท่าไร แล้วเราเกิดมากี่ชาติแล้วในแสนโกฏิกัปป์นับไม่ถ้วน แต่ว่ากรรมหนึ่ง กรรมเดียวเท่านั้น ที่สุกงอมพร้อมที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น โดยที่เราเลือกไม่ได้
แต่ละคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ มีกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดา มีกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเปรต มีกรรมที่จะทำให้เกิดในนรก มีกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเศรษฐี มีกรรมที่จะทำให้เกิดยากไร้ แต่ว่าทำไมต่างกัน เพราะเหตุว่าแล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใด จะสุกงอมพร้อมที่จะเกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เป็นเฉพาะชาตินี้ ช่วงนี้เท่านั้นที่จะเป็นคนนี้ เมื่อสิ้นกรรมนี้ ถึงแก่กรรม หมดแล้ว ก็จะมีกรรมอื่น ซึ่งสุกงอมพร้อมที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ต่อไป
เพราะฉะนั้น ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่จะให้ใครเกิดมา นี่เป็นของที่แน่นอน เป็นกรรมของเราเอง นี่หนึ่ง ขณะที่เกิด และกรรมก็ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ เพราะว่าปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกแล้วดับไป แต่กรรมก็ยังทำให้ ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลนี้ ยังไม่ให้ตาย ยังให้จิตเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส การคิดนึก ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ทางตาที่เห็น ก็เป็นเพราะกรรมหนึ่ง ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ดี มีเจ้ากรรมนายเวรไหน ที่จะทำให้เรา หลังจากปฏิสนธิจิตแล้ว ยังไม่ให้ตาย เจ้ากรรมนายเวรทำได้ไหม นอกจากกรรมนั้น ที่เมื่อยังมีโอกาสเป็นบุคคลนั้น ก็ให้เป็นบุคคลนั้นไปตราบจนกว่าจะหมดกรรมนั้น เจ้ากรรมนายเวรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย และแม้แต่การเห็น เจ้ากรรมนายเวรก็ทำให้เราเห็นไม่ได้ ใช่ไหม มีจักขุปสาทเกิดเพราะกรรม เวลาที่ใครไม่มีจักขุปสาท คือ คนที่ตาบอด ก็แสดงว่าไม่มีกรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด คนนั้นจึงตาบอด ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรไหนที่จะสร้างตา ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรไหนที่จะสร้างหู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดตลอดเกิดขึ้นเพราะกรรม
เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ทุกคนเมื่อได้กระทำเหตุ คือ กรรม กรรมนั้นแหละเมื่อเป็นเหตุแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ให้ทราบว่า นี่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรจะมามีอิทธิพลใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตนจริงๆ
ถ้าเป็นผู้มั่นคงในกรรม ทุกคนจะทำกรรมดี เพราะเห็นโทษของอกุศลกรรม
ที่มา ...