สมถภาวนา กับ วิปัสสนาภาวนา

 
ปุจฉา
วันที่  9 พ.ย. 2550
หมายเลข  5475
อ่าน  5,357

๑. ทำไมบางท่านบอกว่า ให้เน้นวิปัสสนามากกว่าสมถะ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญทั้งสองภาวนา เพราะเป็นทางที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศล และเจริญกุศลได้เช่นกัน แม้สมถภาวนาอย่างเดียวจะไม่ทำให้ถึงนิพพาน แต่ก็มีประโยชน์เกื้อกูลมิใช่น้อย

๒. กุศลควรเจริญทุกประการ แต่ถ้าบอกว่าเน้นวิปัสสนา ทำไมต้องเน้น เป็นตัวตนไหม ที่จะเลือกทางนี้หนักกว่าทางนั้น อีกอย่าง ถ้าอย่างนั้น เวลาที่สติไม่เกิดก็แย่สิ เพราะส่วนใหญ่ ปุถุชนมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ต้องคลุกคลีอยู่กับผู้อื่น ถ้าไม่เจริญเมตตาไปด้วย ไม่เจริญมรณานุสสติไปด้วย และไม่ศึกษาสมถะ ให้เกิดปัญญาแล้วเจริญ ประกอบไปด้วย ปรมัตถบารมีจะเต็มได้อย่างไร

๓. อันที่จริงไม่ควรบอกว่าเน้นวิปัสสนาได้หรือไม่ ควรบอกว่า ควรเจริญทั้งสองภาวนา แต่ศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจ เพื่อละความไม่รู้ คลายความเห็นผิด ที่ยึดถือว่ามีตัวตนก่อน จะได้ไม่หลงผิด คิดว่าจะอาศัยแต่สมถภาวนาเป็นบาทสู่วิปัสสนาด้วย

ความมีตัวตนเต็มๆ เป็นความเห็นที่ถูกหรือไม่ อย่างไร

ขอขอบพระคุณในคำตอบจากทุกท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 10 พ.ย. 2550

คำว่า "วิปัสสนา" แปลว่า เห็นแจ้งคือ เห็นแจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติเพื่อถึงการดับทุกข์ อันได้แก่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง ซึ่งเป็นทางสายเอกทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น

ส่วน สมถะ คือ การเจริญความสงบ โดยให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศล ตามกำลังของสมาธิหรือฌาน แต่ไม่ได้ขัดเกลากิเลส เพียงแต่ข่มไว้ได้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในยุคที่พระธรรมวินัยยังอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ จึงเป็นโอกาสอันประเสริฐ ที่ท่านควรจะได้ศึกษา และน้อมมาประพฤติปฏิบัติตาม เพราะเป็น "ขณะที่หาได้ยากยิ่ง" ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบแล้ว โดยไม่ต้องขวนขวายแสวงหาวิธีการใดๆ เพื่อให้จิตสงบ และปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจในพระธรรม ก็จะปรุงแต่งให้เกิดโยนิโสมนสิการมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติไปจากชีวิตประจำวัน ... เพราะไม่มีใครทำได้ นอกจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ดังนั้นจึงควรศึกษาเพื่อให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ... ศึกษาเพื่อรู้แล้วละ ไม่ใช่เพื่อความสงบแล้วไม่รู้อะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ขอเชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

ปฐมฌานไม่ใช่สัลเลขธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ขอบูชาคุณพระรัตนตรัย

๑. ทำไมบางท่าน บอกว่า ให้เน้นวิปัสสนามากกว่าสมถะ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญทั้งสองภาวนา เพราะเป็นทางที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศล และเจริญกุศลได้เช่นกัน แม้สมถภาวนาอย่างเดียวจะไม่ทำให้ถึงนิพพาน แต่ก็มีประโยชน์เกื้อกูลมิใช่น้อย

- กุศลอะไรดับกิเลสได้ กุศลอะไรดับกิเลสไม่ได้ สมถภาวนาดับกิเลสไม่ได้ วิปัสสนาดับกิเลสได้ รู้ว่ากุศลขั้นใดดับกิเลสได้ แต่ไม่มีปัญญา ไม่มีเหตุปัจจัยให้กุศลขั้นนั้นเกิด จึงเลือกให้วิปัสสนาเกิดไม่ได้ตามใจชอบ เพราะเป็นธรรม รู้ว่ากุศลขั้นทานดับกิเลสไม่ได้ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ก็ให้ บังคับไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าทานดับกิเลสไม่ได้ แต่ก็เกิดกุศลขั้นนี้ขึ้นได้ เพราะอะไร เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา บังคับไม่ได้ไม่มีใครเลือก ไม่มีใครเน้น เป็นธรรมทั้งนั้น สะสมสิ่งใด กุศลขั้นใดก็เป็นปัจจัยให้กุศลขั้นนั้นเกิด จะเลือกได้อย่างไร แต่เข้าใจตามความเป็นจริงด้วยความเห็นถูกว่า กุศลขั้นใดดับกิเลสได้ แต่กุศลขั้นใดจะเกิดก็ไม่มีทางบังคับได้ เพราะเป็นไปตามความเข้าใจพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

๒. กุศลควรเจริญทุกประการ แต่ถ้าบอกว่าเน้นวิปัสสนา ทำไมต้องเน้น เป็นตัวตนไหมที่จะเลือกทางนี้หนักกว่าทางนั้น อีกอย่าง ถ้าอย่างนั้น เวลาที่สติไม่เกิดก็แย่สิ เพราะส่วนใหญ่ ปุถุชนมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ต้องคลุกคลีอยู่กับผู้อื่น ถ้าไม่เจริญเมตตาไปด้วย ไม่เจริญมรณานุสสติไปด้วย และไม่ศึกษาสมถะให้เกิดปัญญาแล้วเจริญประกอบไปด้วยปรมัตถบารมีจะเต็มได้อย่างไร

- คำว่าควรเจริญกุศล ต้องรู้ว่ามีตัวตนที่จะทำ หรือว่าเป็นธรรมที่ทำหน้าที่ปรุงแต่งให้เห็นประโยชน์ของกุศลประการต่างๆ เพราะขณะที่ไม่เป็นกุศลก็ไหลไปกับอกุศล เมื่อเข้าใจ ดังนี้ ธรรมก็ทำหน้าที่เองให้เกิดสติประการต่างๆ ที่เป็นไปในทาน ศีล ... วิปัสสนาโดยไม่ได้บังคับ ไม่ได้เลือกเพราะเกิดจากการฟังพระธรรมจนเข้าใจนั่นเอง เพียงแต่มีความเห็นถูกว่า เมื่อกุศลขั้นที่ไม่ใช่วิปัสสนาเกิด เช่น ทาน ศีล ก็เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลที่ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นและที่สำคัญ กุศลที่เป็นไปในทาน ศีล สมถภาวนาก็คือธรรมทั้งนั้น รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือ วิปัสสนา โดยมีกุศลประการต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วรู้ตามความเป็นจริงในกุศลที่เกิดขึ้นนั่นเอง ปุถุชนก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ (ได้ยินเสียง เป็นต้น) พระอริยะก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ (ได้ยินเสียง เช่นกัน) ปุถุชนก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ พระอริยบุคคลก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ (เห็นเป็นคนนั้นคนนี้) แต่ต่างกันที่ปัญญา พระอริยะเห็นถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ปุถุชนก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ และรู้บัญญัติด้วย ส่วนสติเกิดและไม่เกิดก็เป็นอนัตตาเช่นกัน และการจะเป็นบารมีได้ ต้องประกอบด้วยความเห็นถูก ไม่ใช่กุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นถูก คือเห็นถูกในการเข้าใจหนทางและโทษของกิเลสและสังสารวัฏฏ์ ดังนั้นกุศลทุกประการเป็นบารมีได้ ถ้าเข้าใจถูก แต่ไม่เลือกและบังคับเพราะเป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

๓. อันที่จริง ไม่ควรบอกว่าเน้นวิปัสสนาได้หรือไม่ ควรบอกว่า ควรเจริญทั้งสองภาวนา แต่ศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจเพื่อละความไม่รู้ คลายความเห็นผิดที่ยึดถือว่ามีตัวตนก่อน จะได้ไม่หลงผิด คิดว่าจะอาศัยแต่สมถภาวนาเป็นบาทสู่วิปัสสนาด้วยความมีตัวตนเต็มๆ เป็นความเห็นที่ถูกหรือไม่ อย่างไร

- อย่างที่กล่าวข้างต้น เข้าใจก่อนว่าทุกอย่างเป็นธรรมและบังคับไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่จะเลือก การเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็คือการเข้าใจอภิธรรมเบื้องต้นนั่นเอง เพราะอภิธรรมก็คือธรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าใจว่าเลือกได้ที่จะนำเอาสมถเป็นบาท ก็ลืมความเป็นอนัตตาและความเป็นธรรมก็เป็นโลภะที่อยาก ต้องการที่จะเลือก แต่ไม่ใช่สติที่เกิดขึ้นเอง เพราะสตินั้นเกิดจากความเข้าใจพระธรรม โดยเริ่มจากความเข้าใจ ว่าธรรมคืออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

- สมถภาวนาไม่ใช่หนทางดับกิเลส สูงสุดเพื่อเกิดในพรหมโลก หนทางเดียวคือวิปัสสนา นั่นคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ สติปัฏฐานนั่นเอง แต่ไม่มีตัวตนที่จะไปเลือก แต่เกิดจากความเข้าใจว่าหนทางใดดับกิเลสและธรรมนั้นเองย่อมน้อมไปในทางนั้น

[เล่มที่ ๑๔] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๕

มหาโควินทสูตร

ว่าด้วยอัฏฐังคิกมรรค (มรรคมีองค์ ๘)

... สมัยนั้น เราได้เป็นมหาโควินทพราหมณ์ เราแสดงทางนั้นเพื่อความเป็นสหายแห่งพรหมโลก แก่หมู่สาวก ก็แต่ว่า ปัญจสิขะ พรหมจรรย์นั้นแล เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายก็เปล่า เพื่อคลายกำหนัดก็เปล่า เพื่อดับโดยไม่เหลือก็เปล่า เพื่อเข้าไปสงบก็เปล่า เพื่อรู้ยิ่งก็เปล่า เพื่อตรัสรู้ก็เปล่า เพื่อพระนิพพานก็เปล่า เพียงเพื่อการเกิดขึ้นในพรหมโลกเท่านั้นเอง ดูก่อน ปัญจสิขะ ก็พรหมจรรย์ของเรานี้แล จึงจะเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับโดยไม่มีเหลือ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน. ก็แล พรหมจรรย์นั้นเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับโดยไม่มีเหลือ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อพระนิพพานเป็นไฉน ทางประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้แล อันได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ พูดจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ก็นี้แล คือพรหมจรรย์นั้น ที่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับโดยไม่มีเหลือ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปุจฉา
วันที่ 10 พ.ย. 2550

ขอเรียนถามคุณ takecare เพื่อความแน่ใจดังนี้

๑. ทุกอย่างเป็นธรรมะ ไม่มีตัวตนที่จะเลือก เพราะฉะนั้น ความเห็นถูกจากความเข้าใจขั้นฟัง ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้เกิดกุศลจิต กระทำทาน รักษาศีล เจริญความสงบ เห็นธรรมะตามความเป็นจริงเอง โดยนัยนี้ ท่านกำลังจะบอกว่า วิปัสสนานั้น สูงสุด ครอบคลุมทุกการเจริญกุศล ด้วยความเห็นถูกเบื้องต้นว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ไม่มีการเลือก ไม่บังคับ ไม่ฝืน ทุกอย่างเป็นไปตามสังขารขันธ์ ถูกต้องหรือไม่

๒. เท่าที่อ่านๆ มา พอจะเข้าใจว่า ท่านไม่แย้งว่า ไม่ควรเจริญสมถภาวนา แต่ชี้แจงว่า ไม่ใช่ทางให้หลุดพ้น และก็ไม่ใช่การเลือกเจริญอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ต้องมาจากการปรุงแต่งของธรรมะ ธรรมะกระทำกิจของธรรมะ ไม่มีเรากระทำอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น จะสมถะ หรือวิปัสสนา จะควรหรือไม่ควรเจริญก็เป็นเรื่องของธรรมะ เป็นกิจของกุศลธรรม ไม่มีเราเข้าไปยุ่งเกี่ยว ถูกต้องหรือไม่

ขอขอบพระคุณในคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Buppha
วันที่ 10 พ.ย. 2550

กุศลทุกประการควรเจริญ ถ้าเข้าใจถูก ไม่เลือก และบังคับ เพราะเป็นอนัตตา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ครูโอ
วันที่ 10 พ.ย. 2550

เชิญคลิกฟัง -- >

สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา

ปัญญาในสมถะ กับ ปัญญาในวิปัสสนา

ท่าน อ. สุจินต์ ท่านตอบได้ชัดเจนมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
takecare
วันที่ 10 พ.ย. 2550

จากความเห็นที่ 8

๑. ถูกต้องแล้วครับ

๒. ถูกต้องแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
jurairat
วันที่ 12 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Sam
วันที่ 12 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pornchai.s
วันที่ 12 พ.ย. 2550

สาธุ

สาธุ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 11 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 21 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ