เรื่องของสักกายทิฏฐิ....พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า.....
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๓๓ บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
สำหรับเรื่องของสักกายทิฏฐิ ๒๐ จำแนกตามขันธ์ ๕ คือ
ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑
ย่อมเห็นตนมีรูป ๑
ย่อมเห็นรูปในตน ๑
ย่อมเห็นตนในรูป ๑
ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังมีสักกายทิฏฐิ ๒๐ นี้
ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน คือ ทุกท่านมีรูป ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตนจะอ่อนจะแข็งก็ยึดถือว่าเป็นตน เพราะว่าไม่รู้ว่าเป็นเพียงแต่ลักษณะของรูปชนิดหนึ่งจะอ่อนก็เป็นตัวเรา จะแข็งก็เป็นตัวเราจะเย็นก็เป็นตัวเรา จะแข็งก็เป็นตัวเรา จะตึงไหวก็เป็นตัวเรา เห็นรูปว่าเป็นตน
ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน คือ ถือว่ารูปนั้นเองว่าเป็นของตน พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนเปลวไฟกับแสงสว่าง
ย่อมเห็นตนมีรูป คือ เรื่องของสักกายทิฏฐิ เป็นเรื่องของการที่ไม่รู้ชัดในขันธ์ทั้ง ๕ ในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
เพราะฉะนั้นในข้อที่ว่า ย่อมเห็นตนมีรูป หมายถึง ผู้ที่มีความยึดมั่นในขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตน คือเห็นนามขันธ์ว่ามีรูป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนกับต้นไม้ที่มีเงา
ย่อมเห็นรูปในตน นี่ก็โดยนัยที่ว่า ยึดถือนามขันธ์ ๔ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตน แล้วก็เห็นรูปในตน
พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนกับดอกไม้ที่มีกลิ่น กลิ่นดอกไม้ก็เป็นกลิ่น ดอกไม้ก็เป็นดอกไม้ดังนั้น ผู้ที่ยึดถือในนามขันธ์ ๔ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตนย่อมเห็นรูปในตน เหมือนกับกลิ่นดอกไม้ ที่มีอยู่ในดอกไม้
ย่อมเห็นตนในรูป คือการเห็นว่ามี ขันธ์ทั้ง ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ในรูป
พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนกับขวดที่มีแก้วมณีอยู่ข้างในมากมายเหลือเกินนะคะ เรื่องของสักกายทิฏฐิจะเห็นได้จริงๆ ว่ากว่าจะละคลายได้ปัญญาจะต้องรู้มาก รู้ทั่ว รู้ยิ่งจริงๆ สำหรับเรื่องของขันธ์อื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน คือเปลี่ยนแต่พยัญชนะ เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทีละขันธ์ ขันธ์ละ ๔ ลักษณะก็รวมเป็น สักกายทิฏฐิ ๒๐ โดยมากมักพูดกันย่อๆ ว่าสักกายทิฏฐิ คือ ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนเพราะความไม่รู้ชัดใน "ลักษณะ" ของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง
อย่างน้อยที่สุด ก็จะทำให้ท่านผู้ฟังได้ระลึกว่าสักกายทิฏฐินั้นมีมาก หนาแน่นและเหนียวแน่นเพราะหากกล่าวเพียงว่า สักกายทิฏฐิ คือการยึดถือในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตนแต่เวลาเกิดขึ้นจริงๆ ก็ต่างกันไปเป็นในแต่ละขันธ์โดยละเอียด คือ ขันธ์ละ ๔ ลักษณะดังกล่าวไว้ข้างต้น
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่และสรรพสัตว์
.
พระผู้มีพระภาค ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จลุกขึ้น เข้าสู่วิหารที่ประทับพวกภิกษุไม่ได้โอกาสเพื่อจะทูลถามเนื้อความที่ตรัสโดยย่อให้เข้าใจ จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะให้อธิบาย
พระเถระกล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุ เรารู้ภาษิตที่ทรงแสดงโดยย่อนั้นโดยพิสดารว่า เมื่อบุคคลคิดว่า ในกาลล่วงแล้วตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสิ่งที่พึงถูกต้องกาย ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเราแล้ว อย่างนั้นความกำหนัดพอใจ ในสิ่งเหล่านั้น ก็ผูกพันวิญญาณเพราะวิญญาณ อันความกำหนัด ผูกพันแล้ว
ผู้นั้นย่อมเพลิดเพลิน ในสิ่งนั้นๆ อย่างนี้ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่คิดอย่างนั้น ไม่กำหนัดพอใจในสิ่งนั้นๆ ก็ไม่ผูกพันวิญญาณ ผู้นั้นย่อมไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ ผู้ไม่เพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว"
ภัทเทกรัตตคาถา
จากหนังสือเนตติปกรณ์แปลโดย อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
สักกายทิฏฐิเป็นทิฏฐิสามัญ ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน มีกันทุกคน ถ้าไม่ศึกษาธรรมะก็จะหลงผิด จำผิด คิดผิดว่ามีเรา มีของเรา โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้าสะสมมากๆ ขึ้นไป ก็อาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดทิฏฐิพิเศษอีกมากมาย ที่จะยิ่งทำให้ไกลออกไปจากหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ คือ สัมมามรรคมีองค์ ๘
...ขออนุโมทนาครับ...