ได้ยินแล้วคิด_13
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ได้ยินท่าน อ. สุจินต์ แสดงอยู่บ่อยๆ "สังขาร สังขารนิมิต นิมิต นิมิตอนุพยัญชนะ" ได้ยินแล้วคิด อย่างไร...
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ
ข้อความบางส่วนจากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
อาทิตตปริยายสูตรที่ ๘
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อนไฟติดลุกโพลงแล้ว ยังดีกว่าการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรูป อันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง จะดีอะไร วิญญาณอันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาเสียในสมัยนั้นไซร้ ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราเห็นโทษอันนี้ จึงกล่าวอย่างนี้.
อรรถกถา อาทิตตปริยายสูตรที่ ๘
การถือเอาโดยนิมิต ก็เช่นเดียวกับร่างจระเข้ ย่อมถือเอาทั้งหมดทีเดียว การถือเอาโดยอนุพยัญชนะแยกถือเอาส่วนนั้นๆ บรรดาส่วนทั้งหลายมีมือและเท้า เป็นต้น
บทว่า นิมิตฺตสฺสาเทคธิต ได้แก่ เจริญ คือติดพันด้วยความยินดีในนิมิต
บทว่า วิญฺาณ ได้แก่ กรรมวิญญาณ.
บทว่า ตสฺมึเจ สมเย กาล กเรยฺย ความว่า ใครๆ ที่ชื่อว่า กำลังกระทำกาละด้วยจิตอันเศร้าหมอง มีอยู่หามิได้. ด้วยว่าสัตว์ทั้งปวงย่อมทำกาละด้วยภวังคจิตเท่านั้น. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงภัยแห่งกิเลส จึงตรัสอย่างนั้น
สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิกและรูป เป็นธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของสังขารธรรมเป็นสังขารนิมิต เมื่อไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง จึงเห็นเป็นคน สัตว์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงและยั่งยืน แท้จริงแล้วสิ่งที่ปรากฎทางตาเป็นเพียงรูปนิมิต เพราะอวิชชาปิดกั้น ตัณหาร้อยรัดจึงไม่รู้ความจริงของธรรมที่มีในขณะนี้ ติดข้องไม่เพียงแต่นิมิต สังขารขันธ์ยังปรุงแต่งให้ติดข้องในอนุพยัญชนะของสิ่งที่ปรากฎทางตา ด้วยความยึดถือว่านั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา
คลิกเข้าอ่านใน ...
ขอความเข้าใจสังขารนิมิตด้วยค่ะ
แสดงว่าสติปัฏฐานขั้นต้นก่อนโคตรภูยังไม่สามารถออกจากสังขารนิมิตรภายนอกได้สังขารนิมิตรภายนอก หมายถึงอะไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงแล้ว มี ๒ ประเภทคือ สังขารธรรมกับวิสังขารธรรม สังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นแล้วดับไป ได้แก่ จิต เจตสิกและรูป ทั้งหมด ส่วนวิสังขารธรรม หมายถึงพระนิพพาน, สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เป็นสังขาร-นิมิต (เครื่องหมายของสภาพธรรมที่เกิดดับ) เพราะตัวจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ย่อมเห็นผิด ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่ดับไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว หมดไป ไม่มีอะไรเหลือ ส่วนพระนิพพานไม่มีนิมิต เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ
ส่วนคำว่า นิมิตและอนุพยัญชนะ
ขอเชิญคลิกอ่านความหมายเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ ...
ข้อความบางตอน จากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
"ขณะใดที่เห็นแล้ว สนใจ เพลินในนิมิต คือรูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะ คือส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะสีปรากฏ จึงทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐานและส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มี-พระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญา ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น"
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ได้ความเข้าใจมากขึ้นครับ ที่นำข้อความท่านอาจารย์สุจินต์มาให้อ่านรวมทั้งวิทยากร แต่ละท่านที่ช่วยอธิบายให้เข้าใจและลิ้งที่มีประโยชน์ ขออนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ได้ความเข้าใจมากขึ้นจริงๆ ค่ะ แต่ มีข้อเรียนถามว่า ความว่า ใครๆ ที่ชื่อว่า กำลังกระทำกาละด้วยจิตอันเศร้าหมอง มี อยู่หามิได้. ด้วยว่าสัตว์ทั้งปวง ย่อมทำกาละด้วยภวังคจิตเท่านั้น. ขอเรียนถามว่า เพราะเหตุใดจึงทำกาละด้วยภวังคจิตเท่านั้น
ขอขอบพระคุณมากค่ะ
โดยปรมัตถธรรมแล้ว ที่กล่าวว่าคนตายก็คือ จุติจิต เกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากภพชาตินั้น สำหรับปฏิสนธิจิต ภวังคจิตและจุติจิต เป็นจิตประเภทเดียวกัน ในชาติหนึ่งๆ เป็นผลของกรรมเดียวกัน อย่างไรก็ตามข้อความที่ว่า ด้วยว่าสัตว์ทั้งปวงย่อมทำกาลด้วยภวังคจิตเท่านั้น ต้องรบกวนคุณคำปั้นสอบทานภาษาบาลี เพื่อจะได้นำเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ในการประชุมวิชาการต่อไป
ขณะที่สติปัฏฐานเกิดไม่มีเรื่องราว ไม่มีชื่อ ไม่มีนิมิตอนุพยัญชนะ มีแต่สภาพธรรมะค่ะ
การอ่านพระสูตรควรประกอบความเข้าใจในพระอภิธรรมด้วย จากการสนทนากับท่านอาจารย์สุจินต์ สรุปได้ว่าให้พิจารณาที่กิจของจิต จุติจิตทำกิจเคลื่อนจากภพชาติ ส่วนภวังคจิตทำกิจดำรงภพชาติ และเมื่อพิจารณาการเกิดขึ้นของจุติจิตตามพระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ ถ้ายังเป็นวิถีจิตอยู่ จุติจิตจะยังเกิดไม่ได้ ต่อเมื่อวิถีจิตใกล้ตาย (มรณาสันนวิถี) ดับไปก่อน ดังนั้นวิถีจิตใกล้ตายจึงแสดงไว้ ๔ ประเภท คือประเภทที่ ๑ ชวนจิต ๕ ขณะ ตทารัมมณจิต ๒ ขณะ แล้วจุติจิตจึงเกิด ประเภทที่ ๒ ชวนจิต ๕ ขณะ แล้วจุติจิตจึงเกิด ประเภทที่ ๓ ชวนจิต ๕ ขณะ ตทารัมมณจิต ๒ ขณะ ภวังคจิตแล้วจุติจิตจึงเกิด ประเภทที่ ๔ ชวนจิต ๕ ขณะ ภวังคจิตแล้วจุติจิตจึงเกิด