สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๐๓๐ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ในการที่จะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ เลยนะคะ แต่ว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้เกิดความอุตสาหะ ให้เกิดความเพียร ที่จะพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็จนกว่า จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงเรื่องอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือว่า ไม่ใช่ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ทรงแสดงเรื่องของจักขุวิญญาณ เรื่องของการเห็น เรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงเรื่องของโสตวิญญาณ เรื่องของสภาพธรรมที่ได้ยินเสียง ทรงแสดงเรื่องของเสียงที่ปรากฏทางหู ทรงแสดงธรรมที่กำลังมีอยู่ กำลังปรากฏให้พิสูจน์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ก็จะเกิดความอาจหาญ คืออุตสาหะในการที่จะพิจารณา จนกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
คำว่า “ให้ร่าเริง” คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีลักษณะของ "สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง บ้างหรือยัง? แต่ให้ทราบความหมายว่า ท่านสามารถที่จะร่าเริงได้ในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะว่า บางท่านนี้เป็นทุกข์เพราะอกุศล เป็นห่วงเป็นกังวลขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอกุศล บางท่านก็ห่วงว่าอายุมากแล้ว สติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็เป็นห่วงจริงๆ ว่าจะไม่ทัน เพราะมีอายุมากแล้ว ขณะนั้นเป็นอกุศล พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรม ให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีอกุศลมากๆ หรือว่าเป็นห่วงมากๆ แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อ "ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง"
อกุศลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ ในเมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิดขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดแล้ว แต่ร่าเริงได้ ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ ไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้น เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ว่าให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังมี กำลังปรากฏ จะเห็นได้ชัดจริงๆ ว่าขณะที่สติกำลังระลึกรู้นั้น ไม่เศร้าหมองเลย เพราะไม่กังวลเดือดร้อน ที่จะถือเอาอกุศลนั้นเป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา
หนทางเดียวที่จะละคลาย จะบรรเทา จะดับอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้ เพราะสติระลึกรู้ ไม่ให้อกุศลที่เกิดปรากฏเสียไปเปล่าๆ โดยเพิ่มความเป็นห่วงกังวลขึ้น แต่โดยการที่ สติระลึกและ (ปัญญา) สามารถที่จะรู้ว่าลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลประการต่างๆ ลักษณะต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะถึงคำว่าให้ร่าเริง คือ ให้ผ่องใส และให้รุ่งเรืองด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว คือ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน
คำว่า “ทำให้สำเร็จประโยชน์” คือ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ ดังนี้แล้ว ก็ชื่อว่ามีประโยชน์แก่เทศนานั้น ไม่ได้เป็นเรื่องให้ท้อถอย ท่านผู้ฟัง ฟังเรื่องของสติปัฏฐาน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สามารถจะแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ได้ ในขณะที่พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้ เราทั้งหลายควรบรรลุได้ ไม่หมดหวัง ใช่ไหม รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะบรรลุได้ วันหนึ่ง ยังไม่ใช่วันนี้ อย่าเพิ่งเป็นห่วงนะคะว่า จะไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ในวันนี้ แต่ว่าสติสามารถจะเริ่มระลึกได้ในวันนี้ แต่ส่วนการที่จะประจักษ์แจ้ง และแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมย่อมเป็นวันหนึ่ง ในเมื่อวันนี้สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้นะคะ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ ประโยชน์คือ ให้รู้ว่า “เราควรบรรลุได้ ไม่ควรที่จะท้อถอย” เพราะฉะนั้น ก็จะต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดต่อๆ ไป เพื่อจะให้ไม่หลงลืมสติ
ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 421
ข้อความบางตอนจาก
อรรถกถาโคปาลสูตร
บทว่า สมาทเปสิ ความว่า ให้เธอยึดเอาธรรมมีศีลเป็นต้นโดยชอบ คือ ให้เธอตั้งอยู่ในธรรมมีศีลเป็นต้นนั้น โดยนัยมีอาทิว่า เพื่อบรรลุสัจจะ เธอให้ธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในตน.
บทว่า สมุตฺเตเชสิ ความว่า ทรงให้ธรรมเหล่านั้นที่สมาทานแล้ว อบรมโดยลำดับ อันเป็นส่วนแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้มีความเข้มแข็งและสละสลวย ให้อาจหาญโดยชอบ คือให้รุ่งเรืองโดยชอบทีเดียว โดยประการที่จะนำมาซึ่งอริยมรรคโดยพลัน.
บทว่า สมฺปหํเสสิ ความว่า ทรงให้ร่าเริงด้วยดี โดยทำจิตให้ผ่องแผ้ว ด้วยการแสดงภาวะแห่งภาวนา มีคุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย.
อีกอย่างหนึ่ง ในข้อนี้ พึงทราบการชี้แจงด้วยบรรเทาสัมโมหะ ในธรรมที่มีโทษและหาโทษมิได้ และในสัจจะมีทุกขสัจ เป็นต้น การให้สมาทานด้วยการบรรเทาความประมาทในสัมมาปฏิบัติ การให้อาจหาญด้วยการบรรเทา การถึงความคร้านแห่งจิต และความร่าเริงด้วยการสำเร็จสัมมาปฏิบัติ.
ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...
สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง [อรรถกถาโคปาลสูตร]
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
อกุศลทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ในเมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิดขึ้น หรือว่า เกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดแล้ว แต่ร่าเริงได้
ในขณะที่ระลึกรู้ ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ ไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ว่าให้สติระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และถ้าสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะ ของอกุศลที่กำลังมี กำลังปรากฏ จะเห็นได้ชัดจริงๆ ว่า ขณะที่สติกำลังระลึกรู้นั้น ไม่เศร้าหมองเลย เพราะไม่กังวลเดือดร้อน ที่จะถือเอาอกุศลนั้นเป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ.
สาธุ
ขอพระสัทธรรมอันงดงาม บังเกิดแต่ดอกบัว คือพระโอษฐ์ของพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ ทำให้ใจของท่านทั้งหลายเบิกบาน
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้นะคะ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ ประโยชน์คือ ให้รู้ว่า “เราควรบรรลุได้ ไม่ควรที่จะท้อถอย” เพราะฉะนั้น ก็จะต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดต่อๆ ไปเพื่อจะให้ไม่หลงลืมสติ
...กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ด้วยค่ะ...