ควรรู้ว่า ปัญญาระดับไหน
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ท่านผู้ฟัง อย่างเช่นว่า ที่อาตมาได้ยกตัวอย่าง จากสังยุตตนิกายนิทานวรรคมาว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "บุคคลบางคน อาจเห็นว่า รูปเที่ยงได้บ้าง" แต่จริงๆ แล้วรูปไม่เที่ยง เพราะว่าตั้งอยู่ ๑ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้างและพระองค์ทรงตรัสต่อไปอีกว่าจิตนี้ ทุกคนไม่พึงเห็นว่าเที่ยง เพราะเกิดแล้วดับ.
ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนเห็นจิตเกิดดับ หมายความว่า พระองค์ทรงตรัสรู้ "ลักษณะของจิต" ที่เกิดดับ.
ท่านผู้ฟัง ใช่ แต่รูปนี้ ก็ทรงตรัสให้เหมือนกับว่า คิดตาม ว่า รูปไม่เที่ยงเพราะเมื่อก่อนนี้อายุ ๑๖ ปี ต่อมา ก็แก่เฒ่า
ท่านอาจารย์ โดยนัยของพระสูตร เจ้าคะ
ท่านผู้ฟัง พระสูตรกับพระอภิธรรม ไม่เนื่องด้วยกันหรือ
ท่านอาจารย์ พระไตรปิฏก ต้องสอดคล้องกัน
โดยนัยของโวหารเทศนา ที่ทรงแสดงให้ทราบว่าการที่จะเห็นความไม่เที่ยง ก็ต่อเมื่อได้เปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาวจากวัยหนุ่มสาวไปสู่วัยแก่ หรือไปสู่ความเจ็บ ความตาย แต่โดยนัยของพระอภิธรรม ละเอียดกว่านั้นมากจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ คนหนุ่มสาว ถ้าไม่มีรูป ก็ไม่สามารถปรากฏความแก่ ถ้าไม่มีนาม ขณะนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต
ท่านผู้ฟัง ชั่วลัดนิ้วมือหนึ่ง จิตเกิดดับตั้งแสนโกฏิขณะ แล้วรูปก็เกิดช้ากว่าจิตเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าแสนโกฏิขณะนั้นอยู่ไหน.
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องนับ แต่ว่าเป็นปัญญาของเรา ขณะนี้เองที่เจริญขึ้นตามลำดับเพียงแค่รู้ว่า "ทุกอย่างเป็นธรรมะ" เรารู้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเราไม่รู้จริงๆ ทำไมเราไม่รู้ตั้งแต่ตอนต้น แต่เราจะไปรู้ตอนแสนโกฏิขณะ
ท่านผู้ฟัง กำลังจะสาวไปให้รู้ว่า ปัญญารู้อะไรและรู้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ เพราะฉะนั้น ควรรู้ว่า การศึกษาพระไตรปิฏก คือการศึกษาพระปัญญาธิคุณของพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาสามารถรู้ตัวเองว่า ปัญญาของเรานี้ ระดับไหน ระดับที่จะไปรู้อย่างพระองค์ทั้งหมดที่ทรงแสดง หรือว่า ระดับที่เราสามารถที่จะ เริ่มฟัง เริ่มพิจารณา เริ่มสะสมความเข้าใจ ว่า ปัญญาที่รู้สภาพธรรม ไม่ใช่ไปนึกเอาเอง แต่มีสภาพที่มีจริงๆ มีลักษณะจริงๆ แต่ละอย่าง โดยที่ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าโดย "ลักขณาทิจตุกะ กิจการงาน อาการปรากฏ โดยเหตุใกล้ให้เกิด"
นี่ก็คือ พระมหากรุณาคุณ ที่ทรงแสดงโดยประการทั้งปวง ที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมมีจริง และมีลักษณะอย่างนั้นๆ เพื่อให้เราสามารถที่จะ "ระลึกลักษณะ" ของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่ ขั้นคิด และไม่ใช่ ขั้นที่เข้าใจว่ามีปัญญาแล้ว แท้ที่จริงแล้ว ขณะนี้จิตก็กำลังเกิดดับ อย่างจิตเห็นนี้ ก็เกิดดับไปเยอะแยะแล้วเราก็มานั่งคิดถึง "จิตคิด" มานั่งคิดถึง "จิตเห็น" โดยที่สติปัฏฐาน ไม่ได้ "ระลึกลักษณะของสภาพเห็น" ซึ่งเกิดแล้วก็ดับ จริงๆ
สนทาธรรมที่วัดพระสิงห์วรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ พ.ศ. ๒๕๔๔
ขออนุโมทนา
ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วยค่ะ
"ลักขณาทิจตุกะ"
"กิจการงาน"
"อาการปรากฏ"
"โดยเหตุใกล้ให้เกิด"
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา เมื่อแสดงสภาพธรรมที่มีจริง ย่อมประกอบด้วยลักษณะ กิจ อาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น จิตจิต มีการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นลักษณะ อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ มีการเป็นหัวหน้า เป็นกิจ ปุพฬพํคมนรสํ มีการสืบต่อ เป็นผล หรืออาการปรากฏ มีนามและรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิดดังนั้นสภาพธรรมประเภทอื่นก็เช่นกัน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗ - หน้าที่ 585
ข้อความบางตอนจาก ...
สรภังคชาดก
(สรภังคดาบส ทูลว่า) บุคคลควรคบหาท่านผู้รู้ทั้งหลาย ผู้ละเอียดลออ เป็นพหูสูต ควรเป็นนักเรียน นักสอบถาม พึงตั้งใจฟังคำสุภาษิตโดย เคารพ นรชนทำอย่างนี้ จึงจะเป็นผู้มีปัญญา
ขอเชิญอ่าน..
เหตุให้เกิดปัญญาและกำลังของปัญญา
สาธุ