ระวังเรื่องความคิด
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๐๕๗ บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ระวังเรื่องความคิด
ระวังเรื่องความคิด เพราะต้องให้เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ถ้าไม่เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ค่อยๆ ผิดไปทีละนิดทีละหน่อยแล้วล่ะก็ สักวันหนึ่งก็จะมีความเห็นผิดอย่างมากทีเดียว ข้อความในสุมังคลวิลาสินี ได้แสดงลักษณะของนักตรึก คือ ตกฺกี คนช่างคิด มี ๔ อย่าง คือ
ประเภทที่ ๑ อนุสฺสุติโก เป็นคนที่ช่างคิดตามเรื่องราวที่ได้ฟังมา เช่น ได้ฟังมาว่า ในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระราชา ชื่อ เวสสันดร ก็คิดเอาว่า ถ้าพระผู้มีพระภาคคือพระเวสสันดร อัตตาก็เที่ยง เป็นต้น เป็นไปได้ไหมคะ ความคิดอย่างนี้ ลองสอบถามคนที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ที่จะเห็นว่าเที่ยง อัตตาเที่ยง ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
ประเภทที่ ๒ ชาติสฺสโร คือ เป็นคนช่างคิดโดยที่ระลึกชาติได้ ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ก็เลยคิดว่า อัตตาเที่ยง เป็นต้น
ประเภทที่ ๓ ลาภิตกฺกิโก คือ คนช่างคิดโดยที่ได้แก่ตัวมาในปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันเห็นว่าเรามีความสุขอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในอดีตก็เป็นอย่างนี้ ในอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่รู้เหตุที่จะทำให้มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง
ประเภทที่ ๔ สทฺธตกฺติโก เป็นคนช่างคิดโดยคิดเอาเอง โดยบริสุทธิ์ทีเดียว คือ ไม่ใช่ตามที่ได้ฟังเรื่องราวมา หรือมิใช่เพราะระลึกชาติได้ หรือว่าไม่มีเหตุอื่นเหตุใด แต่เป็นคนช่างคิด โดยคิดเอาเอง คือเพียงแต่คิดเอาเองว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นอย่างนี้
ผู้ที่มีความคิดเห็นอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นจึงมีความเห็นด้วยตนเอง คิดเอาเองต่างๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
[๑๖๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าคิดถึงอกุศลจิตอันลามก ว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะความคิดนี้ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
ก็เมื่อเธอทั้งหลายจะคิด พึงคิดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะความคิดนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
จบจินตสูตรที่ ๘
๗. วิตักกสูตร
ว่าด้วยการตรึกในอริยสัจ ๔
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๑๕
คลิกเพื่ออ่าน -->
อนุรุทธสูตร มหาปุริสวิตก ๘ ประการ
ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์
ผู้ไม่ได้ศึกษาธรรม หลัง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส ก็จะคิดนึกทันที่ ผู้ที่ได้ศึกษาธรรม หลัง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส ยังมีโอกาสที่สติปัฎฐานเกิด หรือกุศลจิตเกิด ก่อนที่จะตามมาด้วยการคิดนึกก็ได้ เป็นการรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้สมุทัย นี้นิโรธ นี้มรรค ครับ
ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ เห็น ได้ยิน ก็คิด และผู้ที่ศึกษาธรรมะ เห็น ได้ยินก็คิด แต่ต่างกันที่ปัญญารู้ว่าลักษณะคิดเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ อาการรู้ เป็นธรรมะอย่างหนึ่งไม่ใช่เราค่ะ
"ระวังเรื่องความคิดนะคะ เพราะต้องให้เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ถ้าไม่เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ ค่อยๆ ผิดไปทีละนิดทีละหน่อยแล้วล่ะก็ สักวันหนึ่งก็จะมีความเห็นผิดอย่างมากทีเดียว"
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บุคคลผู้ที่ตรงเท่านั้นถึงจะได้สาระจากพระธรรม ตรงในที่นี้ คือ เพราะยังไม่รู้ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยกิเลสอกุศลประการต่างๆ มากมาย จึงศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน การศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นแต่เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และประการที่สำคัญธรรมไม่ใช่เรื่องคิดเอาเอง เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นธรรมที่ละเอียด ลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจได้ แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ตั้งใจที่จะศึกษา จึงต้องอาศัยกาลเวลาในการสั่งสมความเข้าใจถูก เห็นถูก จากการฟัง การศึกษาไปตามลำดับ ไม่รีบร้อนค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ