การรู้ลักษณะของสี เสียง กลิ่น รส - จะละกิเลสได้อย่างไร

 
พุทธรักษา
วันที่  19 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10716
อ่าน  1,772

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


สนทนาธรรม ณ ถนนสุสานประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากรพ.ศ. ๒๕๔๔

จากความคิดเห็น ของท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านมีความคิดเห็นว่า ดังนี้

อยากจะเน้น หรือ ทบทวนปัญหาที่ได้ถามมาเมื่อกี้นี้ เพราะว่า มันอาจเป็นคำถาม ที่ (มักจะ) ถูกถาม

ประเด็นที่ ๑

เพราะเรามีเพื่อนใช่ไหม เราก็อยากแนะนำเพื่อนที่เราชอบพอ ให้สนใจในการศึกษาพระธรรม ให้สนใจการอบรมปัญญา เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม

พอมีการแนะนำ ก็อาจจะสนใจ พอมีการยกตัวอย่าง เช่น ให้รู้สภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเริ่มอธิบายออกไปว่าการที่รู้เย็นๆ ร้อนๆ อ่อนๆ แข็งๆ มีประโยชน์อย่างไร

มีคำถามเหมือนกัน แต่ใช้คำพูดต่างกัน ว่า การที่รู้ลักษณะของสี เสียง กลิ่น รส สัมผัสนี้ จะละกิเลสได้อย่างไร คนถามคนที่ ๑ นี้ มีการศึกษา "ชื่อของธรรมะ" ก็จะตั้งปัญหาถามว่า "จะละกิเลสได้อย่างไร"

แต่คนถามคนที่ ๒ นั้น ยังไม่ได้ศึกษา "ชื่อของธรรมะ" มุ่งแต่ประโยชน์จึงถามว่า จะเกิดประโยชน์อย่างไร

ประเด็นที่ ๒

พอพูดถึง "ละกิเลส" ก่อนจะตอบว่า ใครละกิเลสนี้น่ะต้องตรวจสอบว่าตนเองมีความเข้าใจ เรื่อง อนุสัยกิเลส มากน้อยเพียงใด เพราะว่าอนุสัยกิเลสนั้น ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณาให้ดี จะรู้แต่ชื่อ

เมื่อมีคนถามว่า "จะละกิเลสได้อย่างไร" คนที่ถาม เขาก็ยังไม่รู้ว่า ขั้นตอนของกิเลส มีอย่างไร เขารู้จักแต่กิเลสที่ปรากฏ แต่เขาไม่รู้จัก "อนุสัยกิเลส" ทีนี้ ถ้าเราจะอนุเคราะห์เขา จะตอบเขา เราก็ต้องย้อนมาถามตัวเองว่า เรามีความเข้าใจเรื่อง อนุสัยกิเลส หรือเปล่า มิฉะนั้น ก็จะเขวกันไปทั้งผู้ถาม และผู้ตอบ จะกลายเป็นการโต้แย้งกันไม่เป็นการอนุเคราะห์กัน เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก

ประเด็นที่ ๓

และประการสำคัญที่สุดก็คือ ข้อความในพระไตรปิฎกถ้าเราอ่านไม่ทั่วถึง หรือไม่ได้ฟังอย่างดี จะรู้สึกเหมือนมีขั้นตอนพอบอกว่า "ศึกษาธรรมะ" ก็มาคุยกันทุกที ไม่เห็นจะมาปฏิบัติกันตรงไหนเลยเรา (ท่านผู้ถาม) จะต้องถูกถามแน่นอน ว่า ไม่เห็นปฏิบัติกันตรงไหนบางคนไม่พอใจก็ลุกหนีไปเลย เพราะฉะนั้นจะต้องมีความเข้าใจมั่นคงในคำว่า "อนัตตา" ไม่ใช่จำได้ แต่ทีนี้มันบังคับกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อกล่าวคำว่า "อนัตตา" (ก็ถูกถามกลับว่า) จำมา หรือ เข้าใจจริงๆ ว่า ต้องเป็นอนัตตา ไม่มีรูปแบบ แล้วจะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร เราก็อย่าไปโกรธ ผู้ที่จะอนุเคราะห์เขาก็ต้องย้อนถามตัวเองว่าเราเข้าใจดีพอแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องกลัวเสียหน้าเราไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ถ้าเขาถามว่า"เจริญสติปัฏฐาน..เจริญอย่างไร" อาจเป็นคำถามลวงก็ได้ถามเพื่อตรวจสอบดูว่า คุณเข้าใจไหม หรือเป็นการถามลวงว่า เจริญสติปัฏฐานนั้นทำอย่างไร

ประเด็นที่ ๔

ในฐานะที่ในกลุ่มนี้ เป็นผู้ที่ได้ติดตามฟังและมีความเข้าใจความหมายของ "อนัตตา" มานานหลายปีมันไม่เหมือนกับผู้ที่ยังไม่เคยฟัง ทุกคนเคยฟัง แต่ความละเอียด ในการพิจารณาธรรม ของแต่ละคนมีมากนัอยต่างกันทุกคนต่างมีเพื่อน มีคนที่จะอนุเคราะห์ คำถามทุกอันมีประโยชน์นะ เพราะเป็นการทดสอบความเข้าใจของเราด้วยถ้าเราตอบไม่ได้ ก็ไม่ต้องกลัวเสียหน้า เพราะความรู้ทางธรรมนี้มันยากถ้าใครคิดจะตั้งตัวเป็นผู้รู้น่ะ ขอโทษนะ มันแย่ อาตมาพบข้อความ ดูเหมือนจะในวิสุทธิมรรค ว่า "อย่าทำตนเป็นปราชญ์ในพระพุทธศาสนา" ถ้าใครยกย่อง ใครพอใจในตำแหน่งนี้ อันตราย เพราะปุถุชน จะเป็นปราชญ์ไปได้อย่างไร เพราะว่าเรายังเป็นผู้ที่กำลังศึกษาเหมือนกัน อะไรที่พอรู้ได้ก็ตอบเท่าที่เข้าใจแล้วก็จะปลอดภัย และจะได้ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ อาตมามีความเห็นอย่างนี้

แล้วสหายธรรมท่านอื่นๆ มีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้างคะ

ขออนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ajarnkruo
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ขอร่วมสนทนาตามความเห็นส่วนตัวดังนี้ครับ

ประเด็นที่ ๑

เรื่องของความสงสัยในพระธรรมที่ทรงแสดงนั้น มีมากทีเดียวสำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน และคำถามที่แสดงถึงความวิจิตรของจิตที่มากกว่าคำถามในทำนองนี้ก็มีเยอะครับ แต่ไม่สำคัญว่าจะมีวิธีวิเคราะห์คำถามแต่ละประเด็นๆ อย่างไร สำคัญอยู่ที่ว่า เราเข้าใจสิ่งที่ผู้ถามได้ถามจริงๆ หรือไม่ เพื่อที่จะได้เห็นความเหมาะสมในการที่จะได้เกื้อกูลให้ผู้นั้นได้เข้าใจธรรมะตามสมควรในขณะนั้นๆ หรือ อาจจะเห็นแล้วว่ายังไม่ควรจะเป็นในขณะนั้น ควรจะเป็นในโอกาสต่อๆ ไป เพราะพระธรรมนั้นยาก และไม่สาธารณะกับผู้ที่ไม่ได้สะสมปัญญามา ผู้ที่เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรม จึงเป็นผู้ที่อดทน ที่จะไม่เร่งรัดผู้ใดให้เข้าใจธรรมได้ในทันทีและในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งความคิดที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น คือเป็นผู้ที่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ทุกเมื่อครับ

ประเด็นที่ ๒

การเกื้อกูลให้ผู้อื่นเข้าใจธรรมะ เป็นการให้ธรรมทาน ซึ่งเลิศกว่าอามิสทานทั้งปวง แต่ก็ควรเป็นไปด้วยความแยบคายครับ ไม่ควรคิดว่าเราเข้าใจธรรมะแล้ว สามารถอาศัยพระธรรมที่ได้ศึกษามา กล่าวข่มผู้ที่เราร่วมสนทนาด้วยได้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเลยครับ ไม่ควรลืมเตือนตนเองบ่อยๆ ว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมะนั้น ยังเป็นปุถุชน เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสหนา และกิเลสก็มีช่องทางของกิเลสเสมอทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง โดยเฉพาะทางวาจา ผู้ที่จะเกื้อกูลให้ผู้อื่นเข้าใจ ก็ควรให้วาจาที่กล่าวนั้นเป็นไปด้วยความเอื้อเฟื้อ เป็นมิตร หวังดี มีเมตตา ไพเราะ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องให้ถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยเป็นประโยชน์ และถูกกาลด้วย ครับ

ประเด็นที่ ๓

ถ้าพอที่จะเข้าใจธรรมะ ก็สามารถอธิบายให้ผู้อื่น ได้เข้าใจถูกตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้ ตามกำลังของปัญญาครับ เพราะธรรมะนั้นไม่ใช่เรื่องคิดเอาเอง แต่เป็นการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าธรรมะไม่ใช่สิ่งที่หลอกลวง แต่เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่สามารถพิสูจน์ได้เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงการจดจำคำหรือเรื่องราวของธรรมะมาพูดตามๆ กันไป โดยไม่มีร่องรอย ไม่มีเหตุผล ไม่ใช่การคิดนึกประติดประต่อเอาเอง แล้วแสดงวิธีให้ใครทำอะไรเพื่อเจริญรอยตามกัน แต่ต้องมาจากความเข้าใจที่เกิดจากการศึกษาพระธรรม ตามกำลังปัญญาของผู้นั้น ครับ

ประเด็นที่ ๔

ผู้ที่ศึกษาพระธรรม ศึกษาตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค ยิ่งเข้าใจถูก ยิ่งอ่อนน้อม มีท่านพระสารีบุตร เป็นต้น มีเพียงผู้ที่เข้าใจผิด เห็นผิดไปจากความจริงที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเท่านั้น ที่จะตั้งตนเป็นปราชญ์ในพระพุทธศาสนาด้วยความสำคัญตน ครับ

ขออนุโมทนาครับ...

คุณ พุทธรักษา มีความคิดเห็นว่าอย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ขอเชิญท่านอื่นที่มีความประสงค์จะแสดงความคิดเห็น เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาพระธรรมต่อไปกรุณาแสดงความเห็นก่อนส่วนข้าพเจ้าก็มีความเห็นส่วนตัวอยู่ค่ะแต่ขอเวลาพิจารณาให้รอบคอบก่อนนะคะ

เพราะการสนทนาธรรม เพื่อประโยชน์ตน - ประโยชน์ท่าน เป็นเรื่องน่าพิจารณามาก.
เพราะเราต่างเป็นผู้ศึกษาธรรม และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า อกุศลจิตยังเกิดได้ แม้ในการสนทนาธรรม (เช่นที่พระคุณเจ้าท่านแสดงความเห็นมาข้างต้น)

ขออนุโมทนา อาจารย์ครูโอ เช่นกัน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
choonj
วันที่ 20 ธ.ค. 2551

ขอแสดงความเห็นด้วยคน เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีหญิงกลางคนผู้หนี่งมาฟังธรรมที่มูลนิธิฯ ในขณะที อ. เปิดโอกาสให้หญิงผู้นี้ตอบคำถาม ในขณะที่ตอบหญิงผู้นี้ก็ร้องให้ขึ้นมาทันทีโดยไม่มีเหตุผลคือพูดไปก็ร้องให้ไป บอกว่ามาตามหามูลนิธิฯ หลายครั้ง มาหา อ. สองสามครั้ง ในที่ตั้งซอยนี้ เพิ่งจะเจอ มีคำถามมากมายที่จะถาม แล้วก็ถามในลักษณะที่ อ. ตอบคำถามแรกยังไม่จบ คำถามที่สองก็ออกมาแล้ว คือ ถามอย่างสับสนผมมีความคิดขึ้นมาทันทีอยากจะช่วยเหลือ อยากจะแนะนำ อยากจะสนทนาด้วย และเชื่อว่าหลายท่านในมูลนิธิฯ ก็มีความคิดอย่างผม ทุกท่านว่าไงหญิงผู้นี้น่าจะสนทนาธรรมด้วยไหม การที่จะสนทนาธรรมกับใคร ทั้งที่มีความรู้และไม่มี ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้นั้น ถ้าไม่สนใจก็เปล่าประโยชน์ ถ้าสนใจเช่นทุกท่านทีเข้าเว็บนี้ ก็จะเป็นสาระจะผิดถูกก็อีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาที่ว่า จะมีประโยชน์อย่างไร จะละกิเลสอย่างไร สติปัฏฐานเจริญอย่างไร ก็พอที่จะสนทนากันได้ ผมเคยฟัง อ. ว่า ผู้สนใจเขาจะถามเองโดยที่เราไม่ต้องชวน ครับ สิ่งที่น่าสนใจของผมคือทำไมหญิงผู้นี้ร้องให้ ผมมีคำตอบของผมอยู่ แต่อยากทราบของท่านอื่น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sam
วันที่ 20 ธ.ค. 2551

ธรรมทานเลิศกว่าทานทั้งปวง แม้กระนั้น การแสดงธรรมไม่ใช่ของง่าย

ขอเชิญคลิกอ่าน..

อุทายิสูตร...การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ไม่ใช่ทำได้ง่าย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 20 ธ.ค. 2551

โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในฐานะ บริษัทใดบริษัทหนึ่งแล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละคนจริงๆ ที่สำคัญคือ ต้องศึกษาพระธรรมด้วยตนเองเสียก่อนเป็นอย่างแรกส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ประสบการณ์ของพระคุณเจ้าต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเป็นผู้ตรงต่อตนเอง ก็ไม่ควรจะมีอะไรให้เดือดร้อน และที่สำคัญกว่านั้น คือ

ประโยชน์

ประโยชน์ ในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่มีแต่คุณ ไม่มีโทษสิ่งใดที่เป็นเหตุให้ อกุศลจิตเกิดมาก เป็นโทษสิ่งใดเป็นเหตุให้ กุศลจิตเจริญ เป็นคุณ ถ้าเราเพียงแต่จะพิจารณาก่อน ว่า "เป็นประโยชน์ หรือ เปล่าประโยชน์" ก็ไม่ควรจะเป็นปัญหา และควรจะเป็น "ประโยชน์ยิ่งขึ้น"

ถ้าเพียงแต่เราจะพิจารณาก่อน แล้วเข้าใจจริงๆ ว่า"อะไรเป็นสาระ อะไรไม่ใช่สาระ" ก็ไม่ควรจะเสียเวลา ไม่ควรจะมีปัญหา และถ้าเพียงแต่เราจะพิจารณาก่อน...แล้วเข้าใจความหมายของ "ความเป็นอนัตตา" บ้างเพราะว่า เรายังไม่มีปัญญา ขั้นประจักษ์แจ้งแทงตลอดการศึกษาพระธรรมวินัย และการทำหน้าที่พุทธบริษัท เท่าที่เหตุปัจจัยจะอำนวยก็ควรจะเป็นเรื่องเบา ไม่หนัก ไม่เครียด ไม่เป็นโทษแก่ใครเลย

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าอย่างนี้ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 21 ธ.ค. 2551

ชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่โดยไม่เข้าใจธรรมเป็นชีวิตที่คับแคบและอัดแน่นไปด้วยความสงสัย เต็มไปด้วยความไม่รู้ในความจริงกำลังที่ปรากฏคลางแคลง หวั่นไหว เดือดร้อนไปกับความผันแปรของชีวิต

คิดแล้วก็น่าเห็นใจแต่สัจจธรรมของชีวิตก็เป็นอย่างนี้ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสก็จะต้องกรำอยู่กับความทุกข์ ด้วยความไม่รู้และความเห็นผิดไปอีกยาวนานในสังสารวัฏฏ์ทุกคนเป็นไปตามกรรมของตนแม้แต่เราเองก็ยังไม่ได้เข้าใจธรรมมากเท่าไรเพียงขนหางกระต่ายที่จุ่มลงในมหาสมุทรเท่านั้นยังจะต้องฟังพระธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาและกุศลทุกประการต่อไปถ้ามีโอกาสก็ไม่ลืมที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นตามกาล ตามความเหมาะสม

ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 ธ.ค. 2551

แม้แต่เราเองก็ยังไม่ได้เข้าใจธรรมมากเท่าไรเพียงขนหางกระต่ายที่จุ่มลงในมหาสมุทรเท่านั้นยังจะต้องฟังพระธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาและกุศลทุกประการต่อไปถ้ามีโอกาสก็ไม่ลืมที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นตามกาล ตามความเหมาะสม

เป็นเช่นนั้นจริงๆ ค่ะและถ้ามีโอกาสเกื้อกูลกันได้ เช่นการสนทนาธรรม ย่อมดีกว่ากิจกรรมอื่นที่ไม่เป็นไปเพื่อปัญญาผู้เข้าใจมากกว่า ย่อมเกื้อกูล ผู้เข้าใจน้อยกว่าได้ เป็นการอนุเคราะห์ ที่ควร ผู้เข้าใจน้อยกว่า ย่อมได้รับประโยชน์ หากยอมรับฟังความเห็นของท่านอื่นเพื่อนำมาพิจารณาเทียบเคียงต่อไป พอลงรายละเอียด ยากจังเลยค่ะ

ขออนุโมทนากุศลจิตของทุกท่านค่ะ

ท่านที่มีความเข้าใจมากๆ ถ้าพอจะมีเวลา กรุณาแวะเข้าเกื้อกูลกันบ้างนะคะเป็นธรรมทานค่ะ



 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
suwit02
วันที่ 23 ธ.ค. 2551

ขอเชิญอ่านกระทู้

จดหมายจากท่านผู้ฟัง [12]

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Noparat
วันที่ 24 ธ.ค. 2551

ที่นี่...น่ารื่นรมย์จริงๆ ค่ะ เพราะมีสหายธรรมคอยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ไม่มีเรา
วันที่ 30 ธ.ค. 2551
อยากทราบว่าหญิงกลางคนนั้นร้องไห้เพราะอะไรค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
narong.p
วันที่ 31 ธ.ค. 2551

การศึกษาธรรมะก็เพื่อขัดเกลากิเลสของตน มิใช่เพื่อพิจารณากิเลสผู้อื่นเลย การจะเกื้อกูลผู้อื่นก็ต้องดูตามความเหมาะสม กาลอันควร เท่าที่ความเข้าใจที่มีอยู่ขณะนั้นจะเป็นประโยชน์ได้ มิควรแสดงความเข้าใจในลักษณะโต้เถียงกันเลย ควรเจริญกุศลทุกประการ ไม่มีเขา ไม่มีเรา เป็นเพียงสภาพธรรม จึงไม่ควรเดือดร้อน ในการสนทนาธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Siva
วันที่ 31 ธ.ค. 2551

สิ่งมีชีวิตใดใด ที่มีอาการครบ 32 ย่อมไม่สามารถละกิเลส แต่ย่อมสามารถขจัดกิเลสได้ เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงรู้จักวิธีการ และหลักการ ย่อมสามารถขจัดกิเลส เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ฉะนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
choonj
วันที่ 2 ม.ค. 2552

ตอบความเห็นที่ 10 คุณ ไม่มีเรา

ผมว่าน่าจะเกิดจากการสั่งสมของเขานะครับธรรมชาติของจิตคือสั่งสมสันดาน การสังสมอยู่ในจิตบางที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ แต่พอมีปัจจัยก็แสดงออกนอกเหนือการควบคุม ผมอาจผิดก็ได้ บางทีอาจไม่ใช่การสั่งสมที่ได้ฟังธรรมที่ถูกต้องที่เคยได้ฟังมาก่อนในอดีตเป็นปัจจัยที่ทำให้ร้องไห้ แต่เป็นการสั่งสมธรรมดาที่เป็นคนร้องไห้ง่าย ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ ผมก็ไม่เห็นเขามามูลนิธิฯ อีกตั้งแต่วันนั้น แต่อาจมาอีกก็ได้ในอนาคต ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pornpaon
วันที่ 5 ม.ค. 2552

มีความคิดเห็นว่า...

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านที่เกื้อกูล สนทนาซักถามธรรมะกัน ได้ฟังก็เบิกบาน ได้อ่านก็เบิกบาน ถึงจะบานชั่วแว้บเดียว หรือบานๆ หุบๆ ก็ยังดี

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
pamali
วันที่ 25 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ