เป็นทางเดียวที่เร็วที่สุด

 
สารธรรม
วันที่  10 ก.พ. 2552
หมายเลข  11223
อ่าน  2,419

(พระเจดีย์ ณ วัดพระธาตุหริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน)

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... ข้อความบางตอนจาก ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๑๙๑

อาทิตย์ที่ ๑๖ ม.ค. ๒๕๒๖

... บรรยายโดย ... ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


... เป็นทางเดียวที่เร็วที่สุด ...

มีท่านผู้ฟังบางท่านอยากจะหาวิธี ทำอย่างไร? ท่านจึงจะได้เข้าใจธรรมเร็วๆ หรือว่าสามารถจะปฏิบัติธรรมได้เร็วๆ

ทางที่เร็วที่สุด ก็ยังคงเป็นทางเดียวอยู่นั่นเอง คือ การฟังธรรมต่อไป จะไม่มีทางอื่นเลย จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงข้อปฏิบัติอื่นเช่น ให้ไปนั่ง หรือให้ไปยืน หรือให้ไปทำอะไรเป็นชั่วโมง นาทีแต่ว่าข้อความทั้งหมดจะแสดงว่า "การตั้งอยู่ในอรหัตตผลย่อมมีได้ ด้วยการศึกษาโดยลำดับ"

และการศึกษาโดยลำดับ ไม่ใช่ว่าให้ทำอย่างอื่น นอกจาก "เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลง" เป็นเรื่องของการฟังและการพิจารณา และธรรมที่ได้ฟังก็ทนต่อการพิสูจน์ แต่ "บุคคลใดก็ตาม ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงสดับก็ดี การฟังธรรมก็ดี การพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดีนั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว" เพราะฉะนั้น บางท่านขอปฏิบัติ แต่ไม่ขอฟังพระธรรมเพราะฉะนั้น จะเห็นได้ "ถ้าไม่ได้มีแล้วอย่างนั้นๆ เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลายโมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ ไกลเพียงไร"

เพราะฉะนั้น ก็มีหนทางเดียวจริงๆ คือฟังไปเรื่อยๆ พร้อมกับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่มีหนทางอื่น เพราะเหตุว่า การฟังเหมือนกับเครื่องมือ หรือเครื่องประกอบ ในการที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามต้องมีอุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องมือต่างๆ แม้แต่ในการที่จะทำอาหาร ปรุงอาหาร ก็ต้องมีอาหารต่างๆ พร้อมจึงจะทำได้ ฉันใดการที่สติระลึก แล้วปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ก็จะต้องอาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรม จนเข้าใจขึ้นๆ ๆ ๆ พร้อมที่เมื่อสติระลึกเมื่อไร ปัญญาที่เคยสะสมอบรมมามากพร้อมแล้ว ก็ย่อมจะทำให้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ แต่ถ้าบอกว่า มีแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องไประลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นไม่พอนะคะ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ฟังเรื่องของนามธรรมและรูป-ธรรม จนกระทั่งเข้าใจชัดขึ้น แม้แต่ในเรื่องของอินทรีย์ทั้ง ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะขาดจากกันแต่ละอินทรีย์จริงๆ ก็จะต้องอาศัยการฟังและระลึกตามว่า แม้แต่อารมณ์ที่กำลังปรากฏต่างกัน ก็เป็นปัจจัยให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ กัน

เพราะฉะนั้น สติ จึงระลึกเพียงเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ส่วนที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว ส่วนที่ยังไม่เกิดขึ้น ถ้าใครอยากจะรอเวลา และจะไปปฏิบัติธรรม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ประมาท เพราะเหตุว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลัง

ปรากฏ ถ้าไม่ศึกษาในขณะนี้ รอเวลาอื่น ก็ไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้


(พระพุทธรูปในพระวิหารวัดพระธาตุหริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน)

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การตั้งอยู่ในอรหัตตผล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผล ด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้น ย่อมมีได้ ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ ในอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับอย่างไร? .

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟังธรรมย่อมทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกาย และย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดี การนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี ความพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันทนได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี นั้นๆ ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษเหล่านี้ ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ ไกลเพียงไร

(ข้อความบางตอนจาก)

กีฎาคีรีสูตร (ภิกขุวรรค) ข้อ ๒๓๘

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 417

... คลิกเพื่ออ่าน ...

ทราบได้อย่างไรว่า เราเข้าใจธรรมะจริงๆ และปฎิบัติถูกต้อง

(ดอกบัวบานที่บ้านธัมมะ)

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สุภาพร
วันที่ 11 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 ก.พ. 2552

สาธุ ได้เห็นรูปวัดพระธาตุหริภุญไชย และ ได้พิจารณาข้อความที่ไพเราะ ศิษย์เก่าเมธีวุฒิกร

ขออนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ศิณอนงค์
วันที่ 11 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ เป็นขณะที่ประเสริฐที่ได้อ่านข้อความท่านค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 13 ก.พ. 2552

สาธุ

ขออนุโมทนาคุณสารธรรม ที่นำเนื้อหาส่วนนี้ของ กีฎาคีรีสูตร มาเผยแพร่ครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม 36 หน้าที่ 448

๒. ธัมมัสสวนสูตร

ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการ

[๒๐๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑ ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑ ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๑ จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล

จบธัมมัสสวนสูตรที่ ๒

ขอพระสัทธรรมอันงดงาม บังเกิดแต่ดอกบัว คือพระโอษฐ์ของพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ ทำให้ใจของเบิกบาน

 

มิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
arin
วันที่ 13 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
นายเรืองศิลป์
วันที่ 17 ก.พ. 2552

"เพราะฉะนั้น ก็มีหนทางเดียวจริงๆ คือฟังไปเรื่อยๆ พร้อมกับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่มีหนทางอื่น"

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
มกร
วันที่ 15 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 15 พ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ