มิจฉาฌานมีหรือไม่

 
WS202398
วันที่  13 ก.พ. 2552
หมายเลข  11251
อ่าน  2,638

จาก มิจฉาสมาธิ...สัมมาสมาธิ

อยากทราบเพิ่มเติมครับว่า ชื่อว่า ฌานๆ นั้น มีแยกเป็นสัมมาฌาน มิจฉาฌานหรือไม่ มิจฉาสมาธิจะก่อฤทธิ์ได้หรือไม่ มีองค์ต่างๆ เหมือนกับที่ระบุในเรื่ององค์แห่งฌานหรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ก.พ. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ตามความเป็นจริงแล้วได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎกว่าฌานนั้นมีทั้งที่เป็นฝ่ายกุศลและอกุศล ฌานที่เป็นฝ่ายอกุศลก็มีองค์ธรรมคือต้องมีวิตกและวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วยอยู่แล้วเพราะวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกดวง ขณะใดที่เป็นอกุศล วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย หากเกิดกับโสมนัสเวทนาก็มีปิติได้แต่เป็นไปในอกุศลมีโลภะ เป็นต้น รวมทั้งเอกัคคตาเจตสิก (สมาธิ) ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวงก็เกิดขึ้นร่วมด้วยแม้เป็นฌานที่เป็นอกุศล ดังนั้นขณะใดก็ตามที่จิตจดจ่อ หมกมุ่น เป็นไปในอกุศลธรรม เช่น ในนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป..เสียง เป็นต้น ก็เป็นอกุศลฌาน แต่อกุศลฌานไม่สามารถทำฤทธิ์ได้อย่างกุศลฌานครับ

ในทางตรงกันข้ามฌานที่เป็นฝ่ายกุศลก็มี วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตาเจตสิกซึ่งก็แล้วแต่ระดับของฌาน แต่จะเป็นไปในฝ่ายกุศลคือสงบระงับความยินดีพอใจ สงบจากนิวรณ์นั่นเองครับ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญฌานทั้งหมดและไม่ติเตียนฌานทั้งหมดเพราะฌานที่เป็นในกุศลและอกุศลก็มีครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ

ฌานที่ทรงสรรเสริญและไม่สรรเสริญ [โคปกโมคลัลลานสูตร]

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
WS202398
วันที่ 16 ก.พ. 2552

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 153 - 168

๘. โคปกโมคคัลลานสูตร

ว่าด้วยเหตุที่ไม่มีใครถึงธรรมเท่าเทียมพระพุทธเจ้า

[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์ อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน อันเคยเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระเจ้าอชาตสัตรู เวเทหิบุตร แห่งมคธรัฐ ทรง ระแวงพระเจ้าปัชโชต๑ จึงรับสั่งให้ซ่อมแซมกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระ อานนท์นุ่งสบง ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ในเวลาเช้า ขณะนั้น ท่านมีความดำริดังนี้ ว่า ยังเช้าเกินควรที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุง- ราชคฤห์ก่อน ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาพราหมณ์ โคปกโมคคัลลานะยังที่ ทำงานและที่อยู่เถิด ครั้นแล้วท่านพระอานนท์จึงไปยังที่นั้น พราหมณ์ โคปกโมคคัลลานะแลเห็นท่านพระอานนท์เดินมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกะท่าน พระอานนท์ดังนี้ว่า นิมนต์เถิด ท่านพระอานนท์ ท่านมาดีแล้ว นานทีเดียว ที่ท่านได้แวะเวียนมาที่นี่ นิมนต์นั่งเถิด นี่อาสนะแต่งตั้งไว้แล้ว ท่านพระอานนท์นั่งบนอาสนะที่แต่งตั้งไว้แล้ว ฝ่ายพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะก็ถือ เอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งนั่งลง.

[๑๐๖] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะ ได้ กล่าวกะท่านพระอานนท์ดังนี้ ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้าง ไหมหนอ ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่ท่านพระ โคดมพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว. ๑. พระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระ ภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงทราบมรรค ทรงรู้มรรค และทรงฉลาด ในมรรค ส่วนเหล่าสาวกในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมใน ภายหลังอยู่ ก็แหละคำพูดระหว่างท่านพระอานนท์กับพราหมณ์โคปกโมคคัล ลานะได้ค้างอยู่เพียงนี้

[๑๐๗] ขณะนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ เที่ยว ตรวจงานในกรุงราชคฤห์ ได้เข้าไปยังที่ทำงานของพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะ ที่มีท่านพระอานนท์อยู่ด้วย แล้วได้ทักทายปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านคำทักทายปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ข้าแต่ท่าน อานนท์ผู้เจริญ ณ บัดนี้ พระคุณท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และ พระคุณท่านพูดเรื่องอะไรค้างอยู่ในระหว่าง. ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องที่พูดกันอยู่นี้ พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะ ได้ถามอาคมภาพอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระ อานนท์ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ ผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อและทุกๆ ประการที่ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึง พร้อมแล้ว เมื่อพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะถามแล้วอย่างนี้ อาตมาภาพได้ ตอบ ดังนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ถึงพร้อมด้วยธรรม ทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มี ใครบอก ทรงทราบมรรค ทรงรู้มรรค และทรงฉลาดในมรรค ส่วนเหล่า สาวกในบัดนี้เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมภายหลังอยู่ นี่แลคำพูดระหว่าง อาตมภาพกับพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะได้ค้างอยู่ ต่อนั้นท่านก็มาถึง.

[๑๐๘] ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ อันท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุ รูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไป หาได้ในบัดนี้

 อา. ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงแต่งตั้ง ไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย อันอาตมาภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้

[๑๐๙] ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมเล่า อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้. อา. ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระ มากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับ ไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย อันอาตมภาพทั้งหลายจะ พึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้

ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ก็เมื่อไม่มีที่พึ่งพาอาศัยอย่างนี้ อะไรเล่า จะเป็นเหตุแห่งความสามัคคีกันโดยธรรม

อา. ดูก่อนพราหมณ์ อาตมาภาพทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัยเลย พวกอาตมภาพมีที่พึ่งอาศัย คือ มีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

[๑๑๐] ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้าถามพระคุณเจ้าดังนี้ว่ามี ภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ อันท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุ รูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย อันอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ ในบัดนี้ ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมเล่า อันสงฆ์ที่ภิกษุ ผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณ เจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่ พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ และ ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า ก็เมื่อไม่มีที่พึ่งอาศัยอย่างนี้ อะไรเล่าจะเป็นเหตุแห่ง ความสามัคคีกันโดยธรรม พระคุณเจ้าตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ อาตมภาพ ทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัย พวกอาตมภาพมีที่พึ่งอาศัย คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อาศัย ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ก็คำที่พระคุณเจ้ากล่าวแล้วนี้ ข้าพเจ้าจะพึง เห็นเนื้อความได้อย่างไร

[๑๑๑] อา. ดูก่อนพราหมณ์ มีอยู่แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุทั้งหลาย ทุกๆ วันอุโบสถ อาตมภาพทั้งหลายเท่าที่มีอยู่นั้น จะเข้าไปอาศัยตามเขตแห่งหนึ่งอยู่ ทุกๆ รูป จะประชุมร่วมกัน ครั้นแล้วจะเชิญภิกษุรูปที่สวดปาติโมกข์ได้ ให้สวด ถ้า ขณะที่สวดปาติโมกข์อยู่ ปรากฏภิกษุมีอาบัติและโทษที่ล่วงละเมิด อาตมภาพ ทั้งหลายจะให้เธอทำทามธรรม ตามคำที่ทรงสั่งสอนไว้ เพราะฉะนั้น เป็น อันว่า ภิกษุผู้เจริญทั้งหลาย มิได้ให้พวกอาตมภาพกระทำ ธรรมต่างหากให้ พวกอาตมภาพกระทำ.

ว. ข้าแต่พระอานนท์ มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ ซึ่งพระคุณ เจ้าทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อม เข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้.

อา. ดูก่อนพราหมณ์ มีอยู่รูปหนึ่งแล ซึ่งอาตมภาพทั้งหลาย สัก- การะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัย อยู่ในบัดนี้.

[๑๑๒] ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้าถามพระคุณเจ้าดังนี้ว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ อันท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงแต่งตั้งไว้ ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่ง พระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูก่อน พราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรง รู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับ ไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ กระผมถามต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมเล่า อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูก่อน พราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปด้วยกัน สมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ เมื่อพระมู้มีพระภาคเจ้าเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูป นี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจักพึงเข้าไปหาได้ใน บัดนี้ ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งบ้างไหมหนอ ซึ่งพระคุณเจ้า ทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้า ไปอาศัย อยู่ในบัดนี้ พระคุณเจ้าตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ มีอยู่รูปหนึ่งแล ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ครั้นสักการะ เคารพ แล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ คำที่พระคุณเจ้า กล่าวแล้วนี้ ข้าพเจ้าจะพึงเห็นเนื้อความได้อย่างไร

[๑๑๓] อา. ดูก่อนพราหมณ์ มีอยู่แล ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระ- องค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสบอกธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสไว้ ๑๐ ประการ บรรดาพวกอาตมาภาพ รูปใดมี ธรรมเหล่านั้น อาตมภาพทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชารูปนั้น ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้ ธรรม ๑๐ ประการเป็น ไฉน ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

(๑) เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจรอยู่ ย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน สิกขาบททั้งหลาย

(๒) เป็นพหูสูต ทรงการศึกษา สั่งสมการศึกษา ธรรมที่งามใน เบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เห็นปานนั้น ย่อมเป็นอันเธอ ได้สดับแล้วมาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก เพ่งตามได้ด้วยใจ แทงตลอดดี ด้วยความเห็น

(๓) เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร

(๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิตเครื่องอยู่สบายในปัจจุ- บัน ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก

(๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคน ก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ปรากฏตัวหรือหายตัวไปนอกฝา นอกกำแพง นอกภูเขาได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ทำการผุดขึ้นและดำลงใน แผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศโดยขัดสมาธิเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากปานฉะนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึง พรหมโลกก็ได้

(๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ ไกลและที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์

(๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือ จิต มีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมี โทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ จิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิต ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น

(๘) ย่อมระลึกถึงขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัป บ้าง หลายสังวัฏวิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้นเรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่าง นี้ มีผิวพรรณอย่างนี้. มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนด อายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวย สุขและทุกข์อย่างนี้ ก็มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึง เข้าถึงในชาตินี้ ย่อมระลึกถึงขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้

(๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอัน บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมเช่นนี้

(๑๐) ย่อมข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันอยู่

ดูก่อนพราหมณ์ เหล่านี้แล ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ๑๐ ประการ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธตรัสบอกไว้ บรรดาพวกอาตมภาพ รูปใดมีธรรมเหล่า นี้อาตมภาพทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชารูปนั้น ครั้นสักการะ เคารพแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอยู่ในบัดนี้.

[๑๑๔] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวแล้วอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แหงมคธรัฐ ได้เรียกอุปนันทะเสนาบดีมาพูดว่า ดูก่อนเสนาบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ที่พระคุณเจ้าเหล่านั้น สักการะธรรมที่ควร สักการะ เคารพธรรมที่ควรเคารพ นับถือธรรมที่ควรนับถือ บูชาธรรมที่ ควรบูชาอยู่อย่างนี้ ตกลงพระคุณเจ้าเหล่านี้ ย่อมสักการะธรรมที่ควรสักการะ เคารพธรรมที่ควรเคารพ นับถือธรรมที่ควรนับถือ บูชาธรรมที่ควรบูชา ก็ ในเมื่อพระคุณเจ้าเหล่านั้นจะไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสิ่งนี้. พระ- คุณเจ้าเหล่านั้น จะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสิ่งไร แล้วจะเข้าไปอาศัย สิ่งไรอยู่ได้เล่า

[๑๑๕] ต่อนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ถาม ท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ก็เวลานี้ ท่านพระอานนท์อยู่ที่ไหน

อา. ดูก่อนพราหมณ์ เวลานี้ อาตมภาพอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน

ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ก็พระวิหารเวฬุวัน เป็นที่รื่นรมย์ เงียบ เสียงและไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่หรือ.

อา. ดูก่อนพราหมณ์ แน่นอน พระวิหารเวฬุวัน จะเป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นที่พักผ่อนของ มนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีผู้รักษาคุ้มครองเช่นท่าน

[๑๑๖] ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ความจริง พระวิหารเวฬุวันจะ เป็นที่รื่นรมย์ เงียบเสียง และไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย เป็น ที่พักผ่อนของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกออกเร้นอยู่ ก็ด้วยมีพระคุณเจ้าทั้ง หลายเพ่งฌานและมีฌานเป็นปกติต่างหาก พระคุณเจ้าทั้งหลายทั้งเพ่งฌานและ มีฌานเป็นปกติทีเดียว ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ข้าพเจ้าขอเล่าถวาย สมัยหนึ่ง ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้นยังที่ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ณ ที่นั้น พระองค์ได้ตรัสฌานกถาโดยอเนก ปริยาย พระองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปกติ และก็ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวง.

[๑๑๗] อา. ดูก่อนพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรง สรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ ไม่ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวงก็มิใช่ พระองค์ไม่ ทรงสรรเสริญฌานเช่นไร ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีใจ รัญจวนด้วยกามราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดกามราคะอัน เกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจมุ่งหมาย เฉพาะกามราคะ ทำกามราคะไว้ในภายใน มีใจปั่นป่วนด้วยพยาบาท ถูกพยา บาทครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดพยาบาทอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจมุ่งหมายเฉพาะพยาบาท ทำพยาบาทไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยถีนมิทธะ ถูกถีนมิทธะครอบงำอยู่และไม่รู้จักสลัดถีนมิทธะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่ง หมายเฉพาะถีนมิทธะ ทำถีนมิทธะไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำอยู่ และไม่รู้จักสลัดอุทธัจจกุกกุจจะอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่งเล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะอุทธัจจกุกกุจจะ ทำ อุทธัจจกุกกจจะไว้ในภายใน มีใจกลัดกลุ้มด้วยวิจิกิจฉา ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ อยู่ และไม่รู้จักสลัดวิจิกิจฉาอันเกิดขึ้นแล้ว ตามความเป็นจริง เธอย่อมเพ่ง เล็ง จดจ่อ ปักใจ มุ่งหมายเฉพาะวิจิกิจฉา ทำวิจิกิจฉาไว้ในภายใน ดูก่อน พราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นไม่ทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล. ดู ก่อนพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภาย ใน มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะ อยู่ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌานที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วาง เฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่ เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ดู ก่อนพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล

[๑๑๘] ว. ข้าแต่ท่านพระอานนท์ เป็นอันว่า ท่านพระโคดม พระองค์นั้น ทรงติเตียนฌานที่ควรติเตียน ทรงสรรเสริญฌานที่ควรสรรเสริญ เอาละ ข้าพเจ้ามีกิจมาก มีกรณียะมาก จะขอลาไปในบัดนี้.

อา. ดูก่อนพราหมณ์ ขอท่านโปรดสำคัญกาลอันควรในบัดนี้ เถิด ต่อนั้น วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ชื่นชมยินดีภาษิตของท่าน พระอานนท์แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป

[๑๑๙]. ครั้งนั้น เมื่อวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐหลีก ไปแล้วไม่นาน พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะ ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ ดังนี้ว่า ปัญหาของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าได้ถามท่านพระอานนท์นั้นพระคุณเจ้า ยังมิได้พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าเลย. ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราได้กล่าวแก่ท่านแล้ว มิใช่หรือว่า ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่งผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงถึงพร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรง ให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใคร บอก ทรงทราบมรรค ทรงรู้มรรค และทรงฉลาดในมรรค ส่วนเหล่าสาวก ในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินตามมรรค จึงถึงพร้อมในภายหลังอยู่

จบ โคปกโมคลัลลานสูตรที่ ๘

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ 165

อรรถกถาโคปกโมคคัลลานสูตร

โคปกโมคคัลลานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว อย่างนี้.

พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรนั้นดังต่อไปนี้.

บทว่า อจิรปรินิพฺพุเต ภควติ ความว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว คือในกาลที่พระอานนท์ แบ่งพระธาตุแล้ว มายังกรุงราชคฤห์เพื่อจะทำการสังคายนาพระธรรม

บทว่า รญฺโ ปชฺโชตสฺส อาสงฺกมาโน ความว่า พระราชาพระนามว่าจัณฑปัชโชตพระองค์นี้ เป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสารมหาราช ก็ตั้งแต่เวลา ที่ส่งหมอชีวกไปปรุงเภสัชถวาย ก็ยิ่งเป็นมิตรกันแน่นแฟ้นขึ้น. ท้าวเธอทรง สดับว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเชื่อคำของพระเทวทัต ปลงพระชนม์พระบิดา จึง ได้ตรัสในที่ประชุมว่า พระเจ้าอชาตศัตรูนี้ฆ่าสหายรักของเราแล้ว สำคัญ (มั่นหมาย) ว่าจักครองราชสมบัติ ดังนี้ เราจะให้เขารู้ว่า เรายังมีอยู่ในบรรดา เหล่าสหายผู้มียศใหญ่ พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นทรงเกิดความระแวง เพราะได้ทรง สดับคำนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า ทรงระแวงพระเจ้าปัชโชต ดังนี้

บทว่า กมฺมนฺโต ได้แก่ สถานที่ทำงาน เพื่อต้องการซ่อมแซมด้านนอกพระนคร

บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า พระอานนท์รู้อยู่ว่า พวกเราเที่ยวไป ด้วยหมายใจว่า จักให้ทำการร้อยกรองพระธรรมวินัย พราหมณ์โคปก โมคคัลลานะนี้เป็นข้าราชการผู้มีศักดิ์ใหญ่ เมื่อเขาสนับสนุน เขาพึงทำการ อารักขาพระเวฬุวันดังนี้ จึงเข้าไปหา

บทว่า เตหิ ธมฺเมหิ ได้แก่ ด้วยธรรม คือ พระสัพพัญญุตญาณเหล่านั้น

บทว่า สพฺเพน สพฺพ ได้แก่ ทุกข้อ โดยอาการทั้งปวง

บทว่า สพฺพถา สพฺพ ได้แก่ ทุกข้อโดยส่วนทั้งปวง พราหมณ์ กล่าวว่า ข้าพเจ้าขอถามอะไร (สักอย่าง) ข้าพเจ้าขอถามข้อนี้ว่า ก็ ครูทั้ง ๖ เกิดก่อน ออกบวชจากตระกูลที่ไม่มีใครรู้จัก พวกเขาตายในเมื่อพระ ตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ แม้สาวกทั้งหลายของพวกเขาก็ออกบวชจากตระกูลที่ ไม่มีใครรู้จัก เหมือนกัน. ต่อเมื่อพวกเขาล่วงลับไป สาวกทั้งหลายเหล่านั้น ได้ก่อการวิวาทกันใหญ่. ส่วนพระสมณโคดมเสด็จออกผนวชจากตระกูลใหญ่ ต่อเมื่อพระสมณโคดมนั้นล่วงไปแล้ว พระสาวกทั้งหลายจักก่อการวิวาทกัน ใหญ่ ถ้อยคำดังว่ามานี้ ได้เกิดแพร่ไปทั่วชมพูทวีป ด้วยประการดังนี้ ก็ เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ ภิกษุทั้งหลายมิได้วิวาทกันเลย แม้ความวิวาทที่ได้มีขึ้นนั้น ก็ได้สงบไปในที่นั้นแหละ ก็ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายมากมายเกิดความสลดใจใหญ่หลวง ว่า มัจจุราชไม่อดสูต่อพระศาสดา ผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศให้บริบูรณ์แล้ว บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเหมือนใบไม้แก่ (จะตั้งอยู่ได้อย่างไร) ข้างหน้าลม ที่สามารถพัดพาภูเขาสิเนรุอันสูงหกล้านแปดแสนโยชน์ให้เคลื่อนได้ จักอดสู ต่อใครกัน ดังนี้แล้ว ได้เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน สงบราบเรียบยิ่ง ข้อนี้เพราะ เหตุไร?

บทว่า อนุสญฺายมาโน แปลว่า ตรวจตราอยู่. อธิบายว่า รู้ การงานที่ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำ อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ติดตาม (ผลงาน)

บทว่า อตฺถิ นุ โข ได้แก่ วัสสการพราหมณ์นี้ถามเรื่องที่มีในหน หลัง

บทว่า อปฺปฏิสฺสรเณ ได้แก่เมื่อธรรมวินัยไม่เป็นที่พึ่งอาศัย

บทว่า โก เหตุ ธมฺมสามคฺคิยา ความว่า ใครเป็นเหตุ ใครเป็นปัจจัยแห่ง ความพร้อมเพรียงของท่านทั้งหลาย. ด้วยบทว่า ธมฺมปฏิสฺสรโณ แสดงว่า ธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมเป็นที่อาศัยของเราทั้งหลาย

บทว่า วตฺเตติ (การสวดปาติโมกข์ย่อมเป็นไป) คือเป็นคุณที่คล่อง แคล่วมา. คำทั้งสองนี้ว่า อาปตฺติ วา วีติกฺกโม วา ต้องอาบัติหรือล่วง ละเมิด ดังนี้ เป็นการล่วงละเมิดพระบัญญัติของพระพุทธเจ้านั่นแหละ

บทว่า ยถาธมฺม ยถานุสิฏฺ กาเรม (พวกเราจะให้เธอทำตามธรรมตามที่ ทรงสั่งสอนไว้) อธิบายว่า พวกเราจะให้เธอทำตามธรรมและคำสั่งสอนที่ทรง ตั้งไว้. โน อักษร แม้ใน ๒

บทว่า น กิร โน ภวนฺโต กาเรนฺติ ธมฺโมว กาเรติ เป็นเพียงนิบาต. ในคำนี้มีอธิบายดังนี้ว่า นัยว่าเมื่อเป็น อย่างนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลายให้ทำหามิได้ แต่ธรรมให้ทำ

คำว่า ตคฺฆ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า ส่วนเดียว.

บทว่า กห ปน ภว อานนฺโท มีอธิบายว่า ย่อมไม่รู้ว่า พระเถระอยู่ในพระเวฬุวัน หรือ รู้ ก็วัสสการพราหมณ์นี้ ให้การอารักขาพระเวฬุวัน เพราะฉะนั้น ประสงค์จะยกตน จึงได้ถามอย่างนั้น. ก็เพราะเหตุไร วัสสการพราหมณ์นั้น จึงให้การอารักขาในพระเวฬุวันนั้น? (เพราะ) ได้ยินว่า วันหนึ่ง ท่านวัสสการพราหมณ์นั้นเห็นพระมหากัจจายนเถระ ลงจากเขาคิชฌกูฏ จึงกล่าวว่า นั่นเหมือนลิง. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้สดับคำนั้นแล้วตรัสว่าเขาขอขมาโทษเสีย ข้อนั้นเป็นการดี ถ้าไม่ขอขมาโทษเขาจักเป็นลิงหางโคในพระเวฬุวันนี้๑. วัสสการพราหมณ์นั้นฟังพระดำรัสนั้นแล้ว คิดว่า ธรรมดาพระดำรัสของพระ สมณโคดมไม่เป็นสอง ภายหลังเมื่อเวลาเราเป็นลิง จักได้มีที่เที่ยวหากิน จึง ปลูกต้นไม้นานาชนิดในพระเวฬุวัน แล้วให้การอารักขา กาลต่อมา วัสสการพราหมณ์ถึงอสัญญกรรมแล้วเกิดเป็นลิง. เมื่อใครพูดว่า วัสสการพราหมณ์ ก็ได้มายืนอยู่ใกล้ๆ

คำว่า ตคฺฆ เป็นนิบาตลงในคำว่า ส่วนเดียว เท่านั้น ในทุกๆ วาระ

บทว่า ตคฺฆ โถ อานนฺท ความว่า พราหมณ์ ๑. ม. โคนงฺคลมกฺกโฏ ลิงหน้าดำหรือชะนี รู้ว่า พระเถระยกย่องตนในท่ามกลางบริษัทอย่างนี้ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า แม้เราก็ ยกย่องพระเถระ

บทว่า น โข พฺราหฺมณ ความว่า นัยว่า พระเถระคิดว่า ฌาน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรรเสริญก็มี ที่ไม่สรรเสริญก็มี แต่พราหมณ์นี้สรรเสริญทั้งหมดเลย กล่าวปัญหาให้คลาดเคลื่อน เราไม่อาจมองหน้าพราหมณ์นี้ ได้ ไม่อาจรักษาบิณฑบาต เราจักกล่าวปัญหาให้ตรง ดังนี้ จึงเริ่มกล่าวคำนี้.

บทว่า อนนฺตร กริตฺวา แปลว่า กระทำไว้ภายใน

บทว่า เอวรูป โข พฺราหฺมณ โส ภควา ณาน วณฺเณสิ ความว่า ในที่นี้ ตรัส ฌานที่รวบรวมเอาไว้ทั้งหมด

บทว่า ยนฺโน มย ความว่า ได้ยินว่า พราหมณ์นี้ริษยาวัสสการพราหมณ์ หวังจะไม่กล่าวถึงปัญหาที่วัสสการพราหมณ์ นั้นถาม ครั้นรู้ว่าเขากล่าวแล้วก็ไม่สบายใจว่า พระอานนท์เอาปัญหาที่วัสสการพราหมณ์ถาม มาเป็นชื่อของฌานนั้นบ่อยๆ กล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหา ที่เราถาม ท่านกล่าวเป็นบางส่วนเท่านั้น เหมือนเอาปลายไม้เท้าจี้ ฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวอย่างนั้น. คำที่เหลือในทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล

จบ อรรถกถาโคปกโมคคัลลานสูตรที่ ๘

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
WS202398
วันที่ 16 ก.พ. 2552

ขอขอบพระคุณ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
WS202398
วันที่ 16 ก.พ. 2552

"ดังนั้นขณะใดก็ตามที่จิตจดจ่อ หมกมุ่น เป็นไปในอกุศล ธรรม เช่น ในนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป..เสียง เป็นต้น ก็เป็นอกุศลฌาน แต่อกุศล ฌานไม่สามารถทำฤทธิ์ได้อย่างกุศลฌาน"

เช่นนั้นจะกล่าวว่า ขณะที่ทำฤทธิวิธีด้วยฌาน ขณะนั้นเป็นกุศลจิตใช่หรือไม่? ขอถามเพิ่มเติมครับว่า ฌาน ความหมายทั่วไปแปลว่า เพ่ง จดจ่อ ใช่หรือไม่ คำว่า ฌาน ต่างจาก คำว่า สมาธิหรือไม่อย่างไร ใครจดจ่อสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่ากุศลหรืออกุศล เรียกว่าเพ่งจดจ่อ เรียกว่าฌานใช่หรือไม่

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2552

การทำฤทธิ์ด้วยฌานที่เป็นไปในสมถภาวนา ต้องเป็นไปในกุศลเท่านั้นครับส่วนฌานหมายถึงการเพ่ง การพิจารณา จดจ่อ

ฌาน หมายถึงการเข้าไปเพ่ง จดจ่อในอารมณ์หรือลักษณะของสภาพธรรม ส่วนสมาธิหมายถึงเอกัคคตาเจตสิกคือความตั้งมั่นในสิ่งนั้น ไม่ใข่การเพ่ง จดจ่อครับ ส่วนใครเพ่ง จดจ่ออันเป็นไปในนิวรณ์ 5 ก็หมายถึงอกุศลฌานได้ครับ ตามพระสูตรที่ได้ยกมาข้างต้นครับ (โคปกโมคคัลลานสูตร)

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 17 ก.พ. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
WS202398
วันที่ 18 ก.พ. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ