ภัยที่แท้จริง - ภยสูตร

 
พุทธรักษา
วันที่  4 มี.ค. 2552
หมายเลข  11495
อ่าน  1,171

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอกล่าวถึงเรื่อง ภัย

ซึ่งทุกท่านก็คงจะกลัว ไม่มีใครที่ต้องการจะประสบกับภัยใดๆ ทั้งสิ้นบางท่าน ก็ถือว่า ภัยนั้น เป็น ภัยใหญ่ ภัยนี้ใหญ่กว่า ร้ายแรงกว่าภัยนั้น ฯลฯ แต่ว่า ภัยที่แท้จริงนั้น คืออย่างไร

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภยสูตร ข้อ ๕๐๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้ ว่า เป็น "อมาตาปุตติกภัย" ภัย ๓ อย่าง คืออะไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ มีอยู่ เมื่อเกิดไฟไหม้ใหญ่ แม้บ้าน ก็ถูกไฟเผาแม้นิคม ก็ถูกไฟเผา แม้นคร ก็ถูกไฟเผาเมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกไฟเผาอยู่ในที่นั้นๆ แม้มารดา ก็ไม่พบบุตร บุตร ก็ไม่พบมารดา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ กล่าวว่า "อมาตาปุตติกภัย" ข้อ ๑ คือ การพลัดพรากกันของมารดากับบุตร ก็มีประการหนึ่ง ที่คนทั่วไปมองเห็น ถ้าเกิดไฟไหม้ใหญ่มารดา ก็พลัดพรากจากบุตร บุตร ก็พลัดพรากจากมารดา ซึ่งเคยเป็นที่รัก ที่เคยเกี่ยวข้องกัน ก็ต้องพลัดพรากกัน ด้วยภัยใหญ่ ซึ่งปุถุชนผู้มิไดสดับ ก็เห็นว่า ภัยนั้น คือ ไฟไหม้

เมื่อมีไฟไหม้ใหญ่ ก็มีการพลัดพราก จริงหรือเปล่าคะ กลัวไหม ไฟไหม้ อันตรายมาก ทำให้เกิดการพลัดพรากจากกัน ระหว่างมารดากับบุตรนี่เป็นความเห็น ของปุถุชนผู้มิได้สดับ

ข้อความต่อไปมีว่า อีกประการหนึ่ง สมัยที่มหาเมฆ ตั้งขึ้น มีอยู่ก็เมื่อมหาเมฆ ตั้งขึ้นแล้ว ย่อมเกิดห้วงน้ำใหญ่ เมื่อเกิดห้วงน้ำใหญ่แล้ว แม้บ้านก็ถูกน้ำพัดพาไป แม้นิคม ก็ถูกน้ำซัดไป แม้นคร ก็ถูกน้ำซัดไป เมื่อบ้านก็ดี นิคมก็ดี นครก็ดี ถูกน้ำซัดไปอยู่แม้ในที่นั้นๆ มารดาก็ไม่พบบุตร แม้บุตรก็ไม่พบมารดา

อีกประการหนึ่ง สมัยเมื่อมหาเมฆ ตั้งขึ้นแล้วย่อมเกิดห้วงน้ำใหญ่ เมื่อเกิดห้วงน้ำใหญ่ แม้บ้านก็ถูกน้ำพัดพาไป ฯ สมัยที่มารดาพบกับบุตร แม้บุตรก็พบกับมารดาเป็นบางครั้ง บางแห่ง มีอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมกล่าว "มาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ข้อที่ ๒ นี้ว่าเป็น "อมาตาปุตติกภัย"


น้ำท่วม แยกย้าย พลัดพรากจากกันก็ยังกลับมาพบกันได้ ถ้ายังไม่แยกขาดกันจริงๆ เพราะฉะนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับยังไม่เห็นว่า ภัยจริงๆ ที่ยิ่งกว่านั้น มีอยู่ก็กล่าวว่า น้ำท่วม เป็นภัยใหญ่ ซึ่งความจริงแล้วเป็น สมาตาปุตติกภัย ไม่ใช่ อมาตาปุตติกภัยวันนี้ ทุกคนที่เป็นบุตร ยังอยู่กับมารดา บิดา ยังไม่มีการพลัดพราก ในความรู้สึกของท่านยังไม่พรากจากกัน ยังไม่ขาดจากกัน จะแยกจากกันก็เมื่อมีไฟไหม้บ้าง น้ำท่วมบ้าง

ข้อความต่อไปมีว่า อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีภัย คือ โจรป่ากำเริบพวกชาวชนบท พากันขึ้นยาน หนีไป ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมัยที่มีภัย คือ โจรป่ากำเริบเมื่อพวกชาวชนบท พากันขึ้นยาน หนีไปในที่นั้นๆ แม้มารดา ก็พบกับบุตร แม้บุตร ก็พบมารดาเป็นบางครั้ง บางแห่ง มีอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าว "สมาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ข้อที่ ๓ นี้ ว่า เป็น "อมาตาปุตติกภัย"

ดูกร ภิกษุทั้งหลายปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้แลซึ่งเป็น "สมาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ว่า เป็น "อมาตาปุตติกภัย"

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าว "มาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ๓ อย่างนี้ว่าเป็น "อมาตาปุตติกภัย" ภัย ๓ อย่างนี้ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมัยที่เกิดไฟไหม้ใหญ่ แม้บ้านก็ถูกไฟเผาแม้นิคมก็ถูกไฟเผา แม้นครก็ถูกไฟเผา เมื่อบ้านก็ดี นครก็ดี ถูกไฟเผาอยู่สมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็กลับมาพบมารดาบ้างเป็นบางครั้ง บางแห่ง ก็มีอยู่.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าว "สมาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ข้อที่ ๑ นี้ ว่าเป็น "อมาตาปุตติกภัย"

ซึ่งความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าถึงแม้ว่าจะมีไฟไหม้ใหญ่ มารดาก็ยังพบบุตรได้อีก บุตรก็ยังพบมารดาได้อีก เพราะฉะนั้น จึงม่ใช่ภัยใหญ่ ที่แท้จริง.!แต่ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นภัย ที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ เพราะฉะนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็กล่าวแต่เพียงว่าไฟไหม้ใหญ่นี้ เป็นภัยที่พราก ที่แยกมารดา จากบุตร แยกบุตร จากมารดา

ข้อความต่อไปมีว่า อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีโจรป่ากำเริบ พวกชาวชนบท พากันขึ้นยาน หนีไป เมื่อมีภัย จากโจรป่ากำเริบเมื่อพวกชาวชนบท พากันขึ้นยาน หนีไปสมัยที่มารดาก็พบบุตร แม้บุตรก็พบมารดาเป็นบางครั้ง บางแห่ง มีอยู่.

ดูกร ภิกษุทั้งหลายปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าว "สมาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ข้อที่ ๓ นี้ ว่าเป็น "อมาตาปุตติกภัย"

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมกล่าวภัย ๓ อย่างนี้แล ซึ่งเป็น "สมาตาปุตติกภัย" แท้ๆ ว่าเป็น "อมาตาปุตติกภัย"

สมัยที่บ้านเมืองแตก บ้านแตกสาแหรกขาดต้องพลัดพรากจากกันมารดาไม่พบบุตร บุตรไม่พบมารดา ปุถุชนผู้ไม่ไดสดับ ก็คิดว่า นั่นเป็นภัยใหญ่ยิ่งในชีวิตนะคะแต่ความจริงแล้ว แม้ว่า บ้านแตกสาแหรกขาดอย่างไรก็ตาม โอกาสที่มารดาจะพบบุตร หรือ บุตรจะพบกับมารดา ก็ยังมี

เพราะว่า ภัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ภัยที่แยกขาดกันจริงๆ ภัยที่พรากมารดาจากบุตร และ พรากบุตรจากมารดาจริงๆ แล้วนั้น คือ ภัยอะไร

ข้อความต่อไปมีว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่างนี้ เป็น "อมาตาปุตติกภัย" ภัย ๓ อย่างนี้ เป็นไฉน คือ

ภัย คือ ความแก่ ๑

ภัย คือ ความเจ็บ ๑

ภัย คือ ความตาย ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลายเมื่อบุตรแก่ มารดาย่อมไม่ได้ดังใจหวัง ดังนี้ว่าเราจงแก่ บุตรของเรา จงอย่าได้แก่ก็หรือว่า เมื่อมารดาแก่ บุตรย่อมไม่ได้ดังใจหวัง ดังนี้ว่าเราจงแก่ มารดาของเรา จงอย่าได้แก่
.
จริงไหม แยกขาดจากกัน บุตร ก็ส่วนบุตร มารดา ก็ส่วนมารดา ถึงคราวที่มารดา บิดาแก่ บุตรไม่ต้องการให้มารดา บิดา ท่านแก่เฒ่าเลย ท่านจะลำบาก ท่านจะมีความเบื่อหน่ายในชีวิต

เพราะฉะนั้น ผู้เป็นบุตรนั้น บางที ท่านอาจจะขอแก่แทนมารดา บิดา ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแยกขาดกันจริงๆ

เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะไปทดแทนความแก่ ให้กันได้ทุกคน จะต้องเป็นไป ตามเหตุ ตามปัจจัย แม้มารดา จะขอแก่แทนบุตร ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

นี่คือภัยจริงๆ ภัยที่แยก ภัยที่พรากมารดา บิดา จากบุตร ธิดาด้วยประการทั้งปวง

ข้อความต่อไปมีว่า เมื่อบุตรเจ็บไข้ มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่าเราจงเจ็บไข้ บุตรของเรา จงอย่าเจ็บไข้ หรือมารดาเจ็บไข้ บุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่าเราจงเจ็บไข้ มารดาของเรา จงอย่าเจ็บไข้ เมื่อบุตรกำลังจะตาย มารดาย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่าเราจงตาย บุตรของเรา จงอย่าได้ตาย ก็หรือว่า มารดากำลังจะตายบุตรย่อมไม่ได้ตามใจหวัง ดังนี้ว่าเราจงตาย มารดาของเรา จงอย่าได้ตาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่าง นี้แล เป็น "อมาตาปุตติกภัย" (ภัย คือ ความแก่ ๑ ภัย คือ ความเจ็บ ๑ ภัย คือ ความตาย ๑)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย "มัคคาปฏิปทา" ซึ่งเป็นไปเพื่อการละ เพื่อการก้าวล่วง "สมาตาปุตติกภัย" ๓ อย่างนี้ และ "อมาตาปุตติกภัย" ๓ อย่างนี้ มีอยู่

แนวทางเจริญวิปัสสนาบรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 มี.ค. 2552

ขอเรียนถามว่า

มาตาปุตติกภัย แปลว่าอะไร

สมาตาปุตติกภัย แปลว่าอะไร

อมาตาปุตติกภัย แปลว่าอะไร

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 5 มี.ค. 2552

มาตาปุตติกภัย หมายถึง ภัยของมารดาและบุตรที่ต้องประสบ

สมาตาปุตติกภัย หมายถึง ภัยที่ทำให้มารดาและบุตรพลัดจากกัน แต่ยังพบกันอีกภัยคือ ไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น

อมาตาปุตติกภัย หมายถึง ภัยที่ทำให้มารดาและบุตรพลัดจากกัน แล้วไม่พบกันอีกภัยคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 มี.ค. 2552

ขอบพระคุณมากค่ะขออนุโมทนาเช่นกันค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 5 มี.ค. 2552

สาธุ

ผมขอเสนอลิ้งค์ของพระสูตรที่กระทู้นี้อ้างถึงครับ

ภยสูตร .. อมาตาปุตติกภัย ๓ อย่าง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 5 มี.ค. 2552

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๓ อย่าง นี้แล เป็น "อมาตาปุตติกภัย" (ภัย คือ ความแก่ ๑ ภัย คือ ความเจ็บ ๑ ภัย คือ ความตาย ๑)

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย "มัคคาปฏิปทา" ซึ่งเป็นไปเพื่อการละ เพื่อการก้าวล่วง "สมาตาปุตติกภัย" ๓ อย่างนี้ และ "อมาตาปุตติกภัย" ๓ อย่างนี้ มีอยู่

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 5 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 5 มี.ค. 2552

เมื่อ "มัคคาปฏิปทา" ซึ่งเป็นไปเพื่อการละ เพื่อการก้าวล่วง

"สมาตาปุตติกภัย" ๓ อย่างนี้ และ "อมาตาปุตติกภัย" ๓ อย่างนี้ มีอยู่


คุณ พุทธรักษา พึงกล่าวต่อไปเถิด

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 8 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาบุญครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 8 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ